ดินแดนมหัศจรรย์ของโลก (The world's wonderland)







โลก ที่เราอาศัยอยู่นี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่แสนวิเศษมากมาย ทั้งที่ตื่นเต้น  เป็นสิ่งลี้ลับที่รอการไขปริศนา และความมหัศจรรย์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้  ดุจดังมีเวทมนต์มายาชวนให้เราติดตามค้นหา 

  สถานที่บางแห่งสวยงามราวกับสวรรค์วิมาน  บางแห่งก็น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก   บางแห่งก็ช่างน่าตื่นเต้นหวาดเสียว ชวนขนลุกขนพอง ด้วยบรรยากาศที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา + กับคำเล่าลือเล่าอ้างของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งรอคอยการพิสูจน์จากนักเดินทางทุกคน
                                     
ดินแดนมหัศจรรย์นี้ เป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ไขปริศนา แปลกแต่จริง ก้อนหิน มันมี ชีวิต ! มันเดินได้ หรือบางเวลามันอาจจะแอบคุยกันเหมือนกับเราก็ได้  ตามไปพิสูจน์กัน







ก้อนหินเดินได้ แห่งหุบเขามรณะหรือ หุบเขาแห่งความตาย Death Valley

 อุทยานแห่งชาติ เดธวัลเลย์ ( Death Valley ) หรือ หุบเขามรณะ หรือหุบเขาแห่งความตาย เป็นทะเลทราย ทีมีพื้นที่ครอบคลุมบางส่วนของรัฐแคลิฟอร์เนีย และ รัฐเนวาดา  โดยอุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หุบเขาที่ต่ำที่สุด คือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 86 เมตร  และแห้งแล้ง ทุรกันดารที่สุด แทบไม่มีฝนตกเลยในแต่ละปี หรือ ฝนตกติดต่อกันนานถึง 1 เดือน 

เป็นสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 49 องศาเซลเซียส และมีลักษณะคล้ายเขาวงกต  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ สหรัฐอเมริกา จึงเป็นที่มาของชื่อหุบเขามรณะ  Death Valley และบริเวณดังกล่าว ถือว่าเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในอเมริกา และเป็นจุดต่ำสุดของซีกโลกตะวันตก หรือ ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 282 ฟุต หรือ 86 เมตร ทำให้เกิดทะเลสาบเกลือ หรือ ลานเกลือ ( Salt Flat ) ซึ่งเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวนิยมมากเช่นกัน

ก้อนหินเดินได้จริงไหม ? 

ก้อนหินเดินได้ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1948 หรือ พ.ศ.2491 ก้อนหินเหล่านี้เคลื่อนที่ไปทั่วบริเวณที่ราบเรซแทรก พลายา  (Racetrack Playa) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา   ซึ่งเคยเป็นทะเลสาบในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันน้ำได้แห้งไปหมดแล้วที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า   หุบเขาแห่งความตาย (Death Valley)  เป็นเวลากว่าหกสิบปีแล้วที่ นักวิทยาศาสตร์ยังคงเฝ้าสังเกตการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของหินอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งบางครั้งพวกมันมีการเคลื่อนตัวทิ้งร่องรอยเป็นทางยาว 300 เมตร
                 
 จึงได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นหินบางก้อนที่หนักกว่าคน  จะเคลื่อนที่ได้เองเป็นระยะทางไกลแบบนั้นได้อย่างไร  จากการค้นพบนั้น จึงได้มีการตั้งชื่อให้หินแต่ละก้อน (น่ารักดีนะ จะได้จำได้ด้วย แจ๊คอยู่ไหน ซนนะไปไกลเชียว) รวมถึงก้อนใหม่ ๆที่กลิ้งไปตามเนินเขาโดยรอบด้วย
                 
นักธรณีวิทยาพยายามจะเปิดเผยความลับที่แท้จริงนี้ พวกเขาอ้างถึงทฤษฏีมากมาย เช่น ทฤษฏีสิ่งมีชีวิตต่างดาว  ภูตผีปีศาจ สนามแม่เหล็กโลก  บางคนถึงกับเชื่อว่ามันคือ สิ่งประดิษฐ์ของหน่วยสืบราชการลับ
                 
หลังจากนั้นอีก 7 ปี คือ ในปี ค.ศ.1955 หรือ พ.ศ.2498 นายจอร์จ เอ็ม สแตนลีย์ ได้เสนอความคิดที่น่าเชื่อถือมาก จากการศึกษาการเคลื่อนที่ของก้อนหินที่บันทึกไว้นั้น ต่างเกิดการเคลื่อนตัวขึ้นในช่วงฤดูหนาวทั้งสิ้น  เขากล่าวว่า หินจะเคลื่อนตัวในช่วงฤดูหนาวหลังฝนตกหนัก  ก้อนหินจะไถลไปบนแพน้ำแข็งตามกระแสลม เขาเรียกว่า ทฤษฏีแพน้ำแข็ง  ซึ่งเป็นคำอธิบายที่มีความเป็นไปได้สูง เพียงแค่มีลมเบา ๆ ก็ทำให้ก้อนหินเคลื่อนที่ได้แล้ว  เพราะแพน้ำแข็งจะช่วยให้ก้อนหินไม่เกาะติดกับพื้นดินมากเกินไป
                 
แต่ก็ยังไม่เป็นที่สรุปฟันธงว่าใช่ เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงสงสัยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันช่างน่าอัศจรรย์ จึงต้องทำการศึกษาบันทึกต่อ
 
ในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็วจนถึง  -10องศาเซสเซียส ขณะที่อุณหภูมิช่วงฤดูร้อนในที่ร่มจะพุ่งสูงขึ้นถึง 48 องศาเซสเซียส  (ตายแน่เลยเรา) นักธรณีวิทยาจึงต้องหันมาทำการบันทึกในช่วงตั้งแต่ต้นฤดูใบไม้ผลิ คือช่วงเดือน มีนาคม – มิถุนายน ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า จะพบเห็นการเคลื่อนตัวของก้อนหินได้ในช่วงฤดูหนาว แต่ยังต้องพิสูจน์สิ่งที่เคลื่อนที่อย่าง คือ น้ำแข็ง
   
 สแตนลีย์ได้ตั้งสมมติฐานไว้กับลมกำลังแรงปานกลาง  จากข้อมูลของทางกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้ทำการค้นคว้ามานั้น พบว่า ลมที่หุบเขาแห่งความตาย จะพัดแรงที่ความสูง 1 – 2 เมตรเหนือพื้นดินเท่านั้น เนื่องจากหินเดินได้จะมีขนาดไม่สูงกว่า 10 เซนติเมตร ลมกำลังแรงจึงต้องพัดอยู่เหนือพวกมัน

แต่การพิสูจน์นี้ยังใช้ไม่ได้ เพราะว่าการตรวจวัดที่กล่าวถึงนี้ทำที่ทะเลสาบพานามินต์ ซึ่งอยู่ไกลออกไปทางทิศใต้นับสิบกิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่าลงไปอีก 500 เมตร  ถือว่ามีสภาพอากาศที่แตกต่างจากที่ราบเรซแทรก พลายา  (Racetrack Playa) ซึ่งปัจจุบันเรารู้ว่าลมที่เกือบจะเป็นไซโคลนจะมีกำลังแรงถึง 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมักจะเฉียดถึงพื้นดินแค่ไม่กี่เซนติเมตร
                 
นอกจากนี้ทฤษฏีของสแตนลีย์ยังอ้างถึง ในขณะที่ฝนตกหนักโอกาสที่จะมีลูกเห็บตกลงมาด้วยจะเกิดขึ้นน้อยมาก ขณะที่การเคลื่อนที่ของก้อนหินกลับพบบ่อยกว่า (อย่างน้อยปีละครั้ง) และจากการสังเกตการเคลื่อนที่ของก้อนหินซึ่งทำให้เกิดร่องรอยบนพื้นดินพบว่า หินบางก้อนชนกันไปมาและเกิดการกระดอนเหมือนลูกบิลเลียด ทฤษฏีแพน้ำแข็ง ยังคงอธิบายอีกว่า หินแต่ละก้อนมีเส้นทางการเคลื่อนที่ขนานกัน


                    ชาร์ลส์ เดอ คูลอมบ์ ได้อธิบายไว้ว่า  เมื่อฝนที่ตกลงมาในแต่ละครั้ง ทำให้ดินเหนียวบริเวณที่ราบเรซแทรก พลายา ลื่นขึ้นมาก แล้วลมก็ไปดันก้อนหิน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเป็นน้ำแข็ง แค่ชั้นน้ำบาง ๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้หินเคลื่อนที่ได้ และดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้

โดยเขาใช้หลัก วิธีการเอาชนะแรงเสียดทาน คือ เมื่อดันอิฐก้อนโตเพื่อให้มันไถลไปบนพื้นดิน เราจะต้องสู้กับน้ำหนักของมันโดยไม่รู้ตัว มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อน้ำหนักกระทำในแนวตั้ง แต่แรงผลักของเราเกิดขึ้นในแนวนอน เมื่อขยายภาพดูในจุดเล็กมาก ๆ พื้นผิวที่หยาบของก้อนหินและของพื้นดินมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย นั่นหมายความว่า พวกมันประกอบด้วยหยักเล็ก ๆขึ้นลงสลักกันไป ก้อนหินติดอยู่บนดินได้ก็เพราะเม็ดตะปุ่มตะป่ำบนพื้นผิวไปสอดประสานเข้ากับรูบนดินพอดี
                   
หากเราผลักเบาไปหรือไม่มีแรงพอที่จะทำให้น้ำหนักของหินดันตัวขึ้นบนเนินได้ หินก็จะไม่ขยับ  จริง ๆ แล้วแรงที่จะทำให้มันเคลื่อนไปข้างหน้าในแนวราบคือ ส่วนหนึ่งของน้ำหนักหินต่างหาก  อัตราส่วนนี้จะยิ่งมากตามเนินที่ลาดชันขึ้น เราเรียกว่า การยึดเกาะ และแน่นอนว่าขึ้นอยู่กับธรรมชาติของพื้นผิวด้วย และด้วยลมที่พัดมาอย่างสม่ำเสมอด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็พอที่จะทำให้หินเกือบทุกชนิดเคลื่อนที่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป การเคลื่อนที่ของก้อนหินก็แล้วแต่สถานการณ์พาไป

ทฤษฏียังไม่หมด  ได้มีการตั้งข้อสงสัยจากนักชีววิทยา  ว่า สำหรับก้อนหินที่มีน้ำหนัก 35 กิโลกรัม กระแสลมสามารถที่จะพัดให้มันเคลื่อนที่ได้นั้น  ถ้าเปรียบเทียบกับแรงยึดเกาะระหว่างหินและดิน ที่น้อยกว่า 20 % ซึ่งเกือบจะเท่ากับยางรถยนต์ที่ไม่มีดอกวิ่งอยู่บนถนนเปียก และถ้าก้อนหินที่มีน้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม สามารถเคลื่อนที่ไปได้  แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้การยึดเกาะน้อยลง ซึ่งข้อสงสัยนี้นักชีววิทยามีคำตอบให้


                    นักชีววิทยาได้ค้นพบ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวขนาดจิ๋ว 1 ที่เติบโตอยู่ใต้ร่มเงาของก้อนหิน และก่อตัวเป็นชั้นอยู่ที่ฐานของก้อนหินเหล่านั้น เมื่อมีฝนตกลงมา สาหร่ายเหล่านี้จะกลายเป็นสารหล่อลื่นอย่างดี  ที่ทำให้พื้นผิวใต้ก้อนหินลื่นยิ่งกว่าลานสเกตน้ำแข็งเสียอีก
                   
และในปี ค.ศ.2011 หรือ พ.ศ.2554  มีนักวิทยาศาสตร์รายหนึ่ง ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดสอบ สมมุติฐานเรื่องก้อนหินเดินได้ บนพื้นทรายที่ใส่ไว้ในกล่องใส่อาหาร Tupperware( แต่มีข้อขัดแย้งคัดค้านมากมาย) 

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองและตรวจสอบ โดยการติตตั้งกล้องถ่ายภาพไว้หลายจุดในพื้นที่เป้าหมาย พร้อมติดกล่องติดตาม GPS บนก้อนหินหลายลูก  บนพื้นผิวท้องทะเลทรายบริเวณ ที่ราบเรซแทรก พลายา  (Racetrack Playa)  ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2013  หรือ พ.ศ.2556สามารถจับภาพถ่ายเหตุการณ์จริงได้ พร้อมกับค่าวัดตามมาตรวัดต่าง ๆ ที่ต้องการ เพื่อพิสูจน์เรื่องก้อนหินเดินได้ 

สายลมพัดผ่านพื้นผิวน้ำแข็งบาง ๆ บางแผ่นรองรับก้อนหินไว้ทำให้ก้อนหินเดินได้ เพราะลอยไปบนน้ำที่ท่วมทะเลทราย ส่วนบางก้อนอาจถูกแผ่นน้ำแข็งกระแทกให้เดิน นักวิจัยสังเกตพบว่า แผ่นผื้นน้ำแข็งชั้นบาง ๆ หนาเหมือนแผ่นกระจำประมาณ 3 – 6มิลลิเมตร ที่ก่อตัวขึ้นบนพื้นผิวท้องทะเลทรายในที่ราบเรซแทรก พลายา  (Racetrack Playa)  มาจากฝนตกแล้วน้ำท่วมขังในเดือน พฤศจิกายน (ถ้าปีไหนฝนไม่ตกเลย จะไม่พบเห็นหินเดินได้) ในตอนกลางคืน/กลางวัน วันที่มีอากาศหนาวเย็นมาก 

     พื้นที่ชุ่มน้ำจะเริ่มกลายเป็นน้ำแข็ง แต่พอในเดือนธันวาคม น้ำแข็งจะเริ่มละลายและบางส่วนเป็นแอ่งน้ำอยู่บนผิวดิน ก้อนหินที่วางลอยอยู่บนก้อนน้ำแข็งส่วนหนึ่งจะเริ่มเดินได้ ต้องมีความเร็วลมต่อเนื่องอย่างน้อย 10 เมตรต่อนาที  จึงจะทำให้ก้อนหินเคลื่อนที่ได้ช้า ๆ 2 – 5 เมตรต่อนาที

ก้อนหินบางก้อนเดินไปได้ไกลถึง 200 ฟุต ทิ้งร่องรอยทางเดินของก้อนหินไว้บนพื้นโคลนในทะเลทรายที่น้ำท่วมขังไว้  ปรากฏการณ์นี้จะสิ้นสุดช่วงมกราคม –  มีนาคม ขึ้นอยู่กับน้ำแข็งในพื้นที่ดังกล่าว ไม่แปรสภาพเป็นน้ำละลายซึมลงผิวดินระเหยไปบางส่วน เพราะแสงแดดสาดส่องและกระแสลม ที่พัดผ่านพื้นที่ด้วยความเร็วลม 4 – 5 เมตรต่อวินาที

แต่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมก้อนหินขนาดใหญ่บางก้อนจึงไม่ร่วมเดินขบวนไปด้วย ในช่วงลมพายุพัดผ่านพื้นผิวทะเลทรายแห่งนี้ ทั้งที่ก้อนหินอยู่บนพื้นผิวน้ำแข็งชั้นบาง ๆ ลอยอยู่บนแอ่งน้ำอย่างเห็นได้ชัด ยังต้องรอค้นหาคำตอบเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ทำให้เรื่องก้อนหินเดินได้ (บางก้อน) ยังคงเป็นเรื่องลึกลับใน ที่ราบเรซแทรก พลายา  (Racetrack Playa)   ต่อไป 


 (เพิ่มเติม) 1. สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวขนาดจิ๋ว อยู่ในสกุลไมโครคอเลียส (Microcoleus sp.)

จะเติบโตอยู่ในบริเวณที่แห้งแล้งที่สุด พวกมันจะรวมตัวกันเป็นอาณานิคมที่เชื่อมโยงเกี่ยวเข้าด้วยกัน เมื่อมันแห้งจะมีลักษณะคล้ายกระดาษสีเทาแกมเขียว ราวกับกระดาษที่มีชีวิต มันจะจำศีลอยู่ในสภาพนี้จนกว่าจะได้รับความชื้นอีกครั้ง เราจะพบร่องรอยของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวชนิดนี้ในหุบเขาแห่งความตาย  โดยเฉพาะที่ก้อนหินซึ่งเกิดมาเป็นเวลานาน และไม่กี่วันหลังจากฝนกระหน่ำลงในทะเลทรายแห่งนี้ เมื่อพวกมันเปียกมันจะกลายเป็นวุ้นและลื่นมาก (คล้ายกับตะไคร่น้ำที่เกาะบนหินในน้ำ) ดังนั้นมันจึงช่วยลดแรงยึดเกาะระหว่างดินและก้อนหินได้มาก จนทำให้หินที่หนักมากกว่า 50 กิโลกรัมสามารถลื่นไถลไปบนพื้นดินตามแรงลมได้

ขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพประกอบ
1.หนังสือส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ Go Genius ปีที่ 5 ฉบับที่ 58 เดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ.2553  สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
2.วิกีพีเดีย
3.www.pinterest.com
4.www.ppantip.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่