[Review - ไม่สปอยล์] Where We Belong หนังการเมืองเรื่องใหม่ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี

หากเราจัดหนังยุคหลังๆ ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ไล่เรียงกันมาก็คงจะเห็นว่ามันได้บันทึกยุคสมัยการต่อสู้ทางการเมืองทั้งอย่างตรงไปตรงมาใน 'ตั้งวง' (2013) ปีที่เสื้อแดงปะทุและต่อสู้ ตามมาด้วย Snap (2015) กับภาวะระส่ำระสายของประเทศจากรัฐประหารปี 2557 และเรื่องล่าสุดนี้ Where We Belong มันว่าด้วยความสิ้นหวังของผู้คนในห้าปีให้หลังของการเรืองอำนาจของเผด็จการ

ซู (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) ผู้เกลียดชังบ้านและกิจการที่ต้องรับไม้ต่อการทำก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ของขึ้นชื่อบ้านเกิดต่อจากพ่อเลยพยายามหาทางไปเรียนต่อที่ฟินแลนด์ ระหว่างวุ่นวายอยู่กับการจัดกระเป๋าและการทำลิสต์สิ่งที่ค้างคาไว้ที่นี่ก่อนจากกันอย่างถาวร เธอก็ตะลอนออกเดินทางไปสังสรรค์กับ เบลล์ (แพรวา สุธรรมพงษ์) เพื่อนสนิทที่รอผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยรอบสาม และการเดินหน้าทำเช็คลิสต์สิ่งที่ค้าคานี่เองที่พาซูไปเจอกับความสั่นคลอนของชีวิตและหัวใจอย่างรุนแรง

ส่วนตัวแล้วชอบเกือบทุกๆ อย่างที่ปรากฏบนหนังแม้ว่าช่วงจังหวะท้ายๆ จะอดคิดไม่ได้ว่า phasing มันช้าและเอื่อยเนือยซึ่งก็คงจะด้วยความจงใจของคงเดชเอง เพื่อจะเล่นกันกับความหวังที่หนังหล่อเลี้ยงคนดูมาตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ปรากฏว่าดูออกมาแล้วสิ้นหวังจนชวนนึกถึง An Elephant Sitting Still (2018, หูปอ) บ้านเกิดของซูและเบลล์มีสภาพกึ่งกลางระหว่างการเป็นชนบทและการเป็นเมือง มันมีผับสำหรับวัยรุ่น มีร้านเช่าหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่เตรียมเจ๊งเพราะหลุดยุคสมัย แต่ถึงยังไงเด็กสาวก็ยังต้องมาเฝ้าหน้าร้านให้อยู่ดี คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบไม่มีที่ทางไปมากนัก สิ่งที่รอพวกเขามีแค่อาชีพพนักงานในห้างสรรพสินค้าเล็กๆ หากจะไปไกลกว่านั้นอีกหน่อยคือเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่เห็นมีประโยชน์ที่จะทำอย่างนั้น ถึงยังไงชีวิตก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายอยู่ดี
หนังมันทัชชิ่งเด็กต่างจังหวัดมากๆ โดยเฉพาะกับเราที่เคยพยายามดั้นด้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่ในจังหวัดเล็กแคบของบ้านเกิดซึ่งไม่มีอะไรเลย ชอบการที่มันถ่ายทำแบบไม่ได้ขายความเป็นต่างจังหวัดมากขนาดนั้น (นึกถึงหนังบางเรื่องที่ดึงเอาโลเคชั่นความเป็นชนบทออกมาเยอะมากๆ) แต่กลับฉายให้เห็นคุณสมบัติบางอย่างของจังหวัดจันทบุรี ทั้งการที่มันเป็นจังหวัดกึ่งในเมืองก็ดี เป็นจังหวัดที่มีทะเลและเกาะเล็กเกาะน้อยก็ดี

หนังไม่ได้พยายามทำให้เรารักซู ซูเป็นแค่เด็กผู้หญิงที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก แต่เธอก็น่าเห็นใจ เจนนิษฐ์ว่าดีแล้ว แต่ที่ดีมากๆ คือมิวสิค-แพรวาเพราะเบลล์เป็นตัวละครที่ไม่อยู่ตรงไหนในจักรวาลของใครเลย เธอเป็นลูกข้าราชการที่ต้องรอสอบรอบสาม -ที่ก็ไม่รู้ว่าจะติดไหม- สมัครเป็นพนักงานเซเว่นเพื่อหาเงิน อยากดูแลย่าที่ป่วยเป็นโรคคนแก่หลงๆ ลืมๆ ไปวันต่อวันแค่นั้น หากว่าฉาก 'ปล่อยของ' ของเจนนิษฐ์คือฉากรถหมุนปลาหมึก เราคิดว่าฉากขับมอเตอร์ไซค์ด้วยสีหน้านิ่งเนิบของเบลล์คือฉากปล่อยของของมิวสิคเหมือนกัน แถมยังมีอีกหลายฉาก ทั้งการจ้องมองอย่างเจ็บปวด หรือการกราดเกรี้ยวว่า "กูไม่แ-ก-ม่งแล้ว!!" (เป็นจังหวะการปาตะเกียบที่ดีมากๆ)


อีกคนที่ประทับใจเป็นพิเศษคือ ฝ้าย ที่มารับบทเป็นเพื่อนนักดนตรีของเบลล์ แถมยังต้องเฝ้าร้านการ์ตูนด้วยสีหน้าเซ็งทื่อทั้งเรื่อง ลุคในหนังคือดีมากๆ มีความเป็นสาวแว๊นหัวร้อน มัดผมลวกๆ ใส่เสื้อกล้ามลาย 20th Century Boys ตีกลอง น่ารักมากๆ 

ความแข็งแกร่งของหนังคือ คงเดชเป็นผู้กำกับที่ดึงศักยภาพนักแสดงออกมาได้ดีมากๆ รู้เลยว่าผ่านการแคสติ้งและผ่านการกำกับที่ละเอียดละออ ตัวนักแสดงเข้าใจมิติของตัวละครมากไปกว่าการเป็นแค่เด็กสาวต่างจังหวัด พวกเธอทำให้ตัวละครเหล่านี้มีชีวิต มีลมหายใจ และรู้สึกได้ว่า ชีวิตเราย่อมเคยผ่านพบสาวๆ แบบในหนัง เพื่อนเราสักคนที่อยู่ๆ มันก็ดันไม่พูดกัน เพื่อนที่ชีวิตไม่มีที่ทางนัก เขาหรือเธอต้องมาเป็นพนักงานในห้างเล็กๆ แถวบ้านเพื่อขายกระเป๋าหรือเป็นเซล หรือเป็นเด็กเชียร์เบียร์ หรือเพื่อนที่ทำงานเป็นพนักงานเซเว่นและไม่ได้มีฝันอะไรจริงจังในชีวิตนัก จะให้ฝันอะไร บ้านเมืองนี้มันไม่มีที่รองรับความฝันสำหรับพวกเราสักหน่อย

ฝากเพจหนังด้วยนะคะ  https://www.facebook.com/llkhimll/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่