เหตุใด การออกพระนามพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ยุคอยุธยา ถึง รัตนโกสินทร์ ตอนต้นถึงมีหลายพระนามในพระองค์เดียว

เวลาศึกษาประวัติศาสตร์ในด้านพระราชโองการ หรือ กฎหมายต่างๆทำให้เกิดข้อสงสัยมานานมากแล้วครับว่าทำไมธรรมเนียมถึงเป็นเช่นนั้น เช่น พระปรมาภิไธย ในพระสุพรรณบัฎ เป็นอย่างหนึ่ง ในราชโองการต่างๆเป็นอีกอย่างหนึ่ง ในพระราชบัญญัติต่างๆเป็นอีกอย่างหนึ่ง มิได้เป็นมาตรฐานอย่างในยุคหลัง แล้วเมื่อเป็นแบบนี้นักประวัติศาสตร์จะไม่เกิดการสับสนหรือครับว่า หลายๆพระนามนี้เป็นของพระองค์ใดกันแน่

ตัวอย่างอย่าง ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
สมเด็จพระรามาธิบดี (หลังจากขึ้นครองราชย์)

พระเจ้าอู่ทอง (กษัตริย์ผู้ครองเมืองอู่ทองแคว้นสุพรรณภูมิ)

สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทร บรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช (ในโองการแช่งน้ำ)

สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสุนทรบรมจักรพัตราธิราช (ในกฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์)

สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุรินทร บรมจักรพรรดิศร บวรมหาธรรมิกราชาธิราช (ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง)

ของพระเจ้าตากสิน
เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงใช้พระนามว่า
"พระศรีสรรเพชร
สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช รามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์
หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร
บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์
มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ
กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ
ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน"


พระราชพงศาวดาร กรุงศรีสัตนาคนหุต เรียกว่า
พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศร สมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวร และ สมเด็จพระเอกาทศรถ

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เรียกว่า
พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า

จดหมายเหตุกรุงธนบุรีในสมุดไทยดำ ชื่อพระราชสาสน์และศุภักษรโต้ตอบกรุงธนบุรีและกรุงศรีสัตนาคนหุตจุลศักราช 1140 ใช้
พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบรมบพิตร และ สมเด็จพระมหาเอกาทุศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

ตอนปลายรัชกาล พระรัตนมุนี ได้ถวายพระนามใหม่ว่า
สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร

พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา เรียกว่า
สมเด็จพระบรมราชาที่ 4


อย่าง รัชกาลที่ 2
พระสุพรรณบัฎ
พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี
ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์
องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์
สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี
ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย
พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ
คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว


พระราชกำหนดสักเลข
พระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกราชา นราธิบดี ศรีสุริยวงษ์ องคราเมศวรราช บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว

พระราชกำหนด ห้ามมิให้สูบแลชื้อขายฝิ่น
พระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิบดี ศรีวิสุทธิคุณ วิบุลยปรีชา ฤทธิราเมศวรราช บรมนารถบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 4
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ว่ามีดังนี้

๑. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ
๒. พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ
๓. พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่
๔. พระนามตามที่ปากตลาดเรียกกันเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว
๕. พระนามที่เรียกในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

"พระนามพระเจ้าแผ่นดินตามที่ใช้ในบานแพนกกฎหมายโดยมากใช้แต่ว่า สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์ใด สร้อยพระนามก็ดูมักจะแต่งแต่โดยต้องการให้ไพเราะ จึงผิด ๆ กันไป แม้พระนามที่ขึ้นต้นบางทีก็หันไปเอาความไพเราะเป็นสำคัญ จึงมีพระนามที่ใช้ในบานแพนกกฎหมายอยู่หลายแห่งซึ่งรู้ได้เป็นแน่ว่า มิใช่พระนามที่ใช้เฉพาะพระองค์พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ที่เป็นดังนี้เป็นด้วยอาลักษณ์ (หรือผู้ใด) ที่มีหน้าที่แต่งบานแพนกกฎหมายแต่โบราณไม่ได้คิดการยืดยาวมาถึงประโยชน์ของคนภายหลัง คิดเฉพาะแต่เวลานั้นเสมอจะเรียกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างให้เพราะ ๆ ให้เป็นพระเกียรติ คติที่ใช้พระนามตามที่ขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏจะมีแต่ในบางสมัยหรือในผู้แต่งบานแพนกแต่บางคน จึงเห็นได้ในบานแพนกกฎหมายที่ใช้พระนาม พระรามาธิบดี มีมากแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับพระเจ้าบรมโกศใช้พระนาม พระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร แต่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นมากกว่าแผ่นดินอื่น"

สำหรับรายละเอียดอ่านได้ตามลิ้งก์ครับ https://th.wikisource.org/wiki/อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี


พระนามพระเจ้าแผ่นดิน จะมีการนำคติหลายอย่างมาประกอบกันเป็นพระนามอย่างวิเศษ ซึ่งมักมีหลายพระนามใช้ในโอกาสแตกต่างกันไป โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ว่า

        "ในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จเถลิงถวัลยราชปราบดาภิเศก จะเล่าซ้ำในที่นี้ก็ออกจืด ๆ จึงอยากจะกล่าวถึงเรื่องพระนามที่ท่านยกย่องไว้ว่า “สมเด็จพระเอกาทศรฐพระเจ้าปราสาททอง”

        นามเอกาทศรฐนี้ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) เปนผู้เดาว่าเปนใหญ่ในแว่นแคว้นสิบเอ็ด ชอบกลอยู่ แต่เขาก็รับว่าเขาเดา เข้าใจว่าเปนพระนามที่เกิดใช้ขึ้นภายหลังตั้งแต่พระนเรศร์ฤๅพระอนุชาพระนเรศร์ เหนือนั้นขึ้นไปจะได้ใช้สมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งเปนนามคู่กับกรุงมาก

      (เอกาทศรฐ หรือ เอกาทศรถ เพี้ยนมาจาก 'เอกาทศรุทรอิศวร' หมายถึงเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ๑๑ องค์ ใช้เป็นพระนามพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ตั้งแต่สมัยอยุทธยา - ศรีสรรเพชญ์)

       นามพระเจ้าอู่ทอง รามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร ตรงกับนามนารายน์อวตารมาครองกรุงศรีอยุทธยาซึ่งใช้รามษุนทร

       นามบรมราชาธิราช เปนพระราชาที่เปนใหญ่กว่าราชา จะต่อเข้ากับพระนามใดต่อได้ ฤๅจะไม่ต่อกับอไรเรียกเปล่า ๆ ก็ได้ ราชาสามัญนั้นคือ อินทรราชา,ไชยราชา, บรมราชา, นครินทรราชา, เทียรราชา, แลอะไร ๆ อื่น ๆ เหล่านี้ ครองเมืองก็ตาม ไม่ได้ครองเมืองก็ตาม เปนชั้นพระราชา คือเจ้านายแท้ ผู้ซึ่งเปนใหญ่กว่าราชาเหล่านี้ จึงเปนบรมราชาธิราช

       สรรเพชญ์ เห็นจะมาจากชื่อไทย อย่างเดียวกันกับสัพเพชังกูรพุทธวงษาที่ยังใช้อยู่ในเมืองสิบเก้าเจ้าฟ้า

       นามพระบรมไตรโลกนารถ เปนนามที่คล้ายกับติโลกราชเจ้านครพิงเชียงใหม่ แลที่เชียงใหม่เรียกพระอินทราชาว่าพระยาบรมไตรย์จักร เห็นจะใช้กันหลายเมืองอยู่ในรดูหนึ่งพร้อม ๆ กัน เกี่ยวข้องแก่การข้างฝ่ายพุทธสาสนูปถัมภก

       พระเจ้าปราสาททองตรงกันกับเจ้าหอคำ

       ธรรมฤกราชฤๅธรรมิกราชาธิราช อันมาจากพระเจ้าทรงธรรม

       พระเจ้าช้างเผือก เปนคำที่ยกย่องว่ามีช้างเผือก

       พระมหาจักรพรรดิ ยกย่องว่ามีอำนาจมากปราบแว่นแคว้นทั่วถึง

       พระนามเหล่านี้เปนคุณนาม อาจจะใช้ทั่วไปได้ทุกพระองค์พระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่พระนามประจำ คราวนี้เรียกเช่นนี้ คราวน่าจะเรียกอย่างอื่นก็ได้ ฤๅใช้ตามแบบที่เคยอย่างไรก็ใช้เช่นนั้น เช่นพระนามสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตร ไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ถ้าจะมีศุภอักษรถึงเมืองเขมรใช้เช่นนั้น ใช้ปนกับใหม่ก็ได้ เหมือนอย่างศุภอักษร องค์สมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี (องค์ด้วงบิดานโรดมแลศรีสวัสดิเจ้าแผ่นดินเขมรทุกวันนี้) ซึ่งยังมีอยู่มาก ใช้ว่าขอให้นำขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าเลอทะบง ดังนี้เปนต้น"




ทั้งนี้หลักเกณฑ์ตลอดสมัยอยุทธยาสี่ร้อยปีก็ไม่เหมือนกันตลอด เช่น ในสมัยอยุทธยาตอนต้น แม้ว่าจะมีพระนามหลากหลาย แต่หลักๆ มักมีคำที่เป็นพระนามเฉพาะอยู่เสมอ  เช่น  สมเด็จพระรามาธิบดี ทรงมีพระนามในเอกสารกฎหมายต่างๆ หลากหลายมาก แต่จะมีคำว่า "รามาธิบดี" ประกอบอยู่ในพระนามเสมอ    

สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา) มักเลือกใช้พระนามว่า "บรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรรดิราช"  เช่น จารึกวัดสรศักดิ์ออกพระนามว่า "พระบอรรมราชาทิบดี สีรม่หาจกัพัดดีราช"  หรือจารึกพระพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราชออกพระนามว่า "สเตจปรมราชาธิบติ สฺริมหาจกฺกฺรพตฺติราช"

สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถก็มักมีคำว่า "บรมไตรโลกนารถ" ในพระนาม เช่น กฎมณเฑียรบาลออกพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ บริสทุธิสุริยวงศ์ องค์พุทธางกูรบรมบพิตร"  พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนออกพระนามว่า "สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนายกดิลกผู้เป็นเจ้า"


แต่ในสมัยหลัง พระนามก็ยิ่งหลากหลายมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มีหลักเกณฑ์การใช้งานชัดเจน และใช้ซ้ำกันบ่อย เข้าใจว่าเป็นการเฉลิมพระนามยกย่องอย่างวิเศษเป็นพระเกียรติยศ มากกว่าจะถวายพระนามให้มีความหมายอย่างเป็นปัจเจก

นับแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นต้นมา พระเจ้าแผ่นดินนิยมใช้พระนามทางการว่า "พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว" ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงใช้พระนามนี้มาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวร (เข้าใจว่าทรงใช้ตั้งแต่ได้เป็นพระเจ้าอยู่หัวเสมอสมเด็จพระนเรศวร พระนามเดิมคือ 'พระราเมศวร') เมื่อราชาภิเษกแล้วจึงมีพระนามในพระสุพรรณบัตรอย่างยาวไปอีก แต่ก็ยังคงเรียกพระนามเดิมอยู่



พระเจ้าทรงธรรม

- พงศาวดารนิยมออกพระนามว่า "พระเจ้าทรงธรรม" ซึ่งเป็นพระนามที่กษัตริย์หลายพระองค์นิยมใช้ สันนิษฐานว่าเป็นการยกย่องว่าเป็น "ธรรมราชา" ความหมายเดียวกับ "ธรรมิกราช" ซึ่งพบมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

- พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา พ.ศ. ๒๑๕๓ ออกพระนามว่า "พระศีรสรเพัชส่มเดัจ บ่ร่มบพิทธ"

- พระราชสาส์นส่งไปถึงอุปราชโปรตุเกสเมืองกัว ออกพระนามว่า "พระบาทสํเดจเอกาทศรุทธอีศวรบ่รมนาถบ่รมบพีตรพระพุท่เจาอยูหวั"

- จดหมายเหตุของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ออกพระนามว่า "ฝ่ายหลวงเจ้าทรงธรรม์ช้างเผือก" เข้าใจว่ายกย่องว่าทรงมีช้างเผือก มีหลักฐานว่ารัชกาลนี้มีช้างเผือก ๓ ช้าง



พระเจ้าปราสาททอง

- ปราสาททอง เป็นพระนามที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่พม่า แต่ที่เรียกขานกันในรัชกาลนี้เข้าใจว่าเพราะปรากฏในหลักฐานดัตช์ว่าทรงสร้างปราสาทปิดทองขึ้น (ภายหลังมีตำนานว่าทรงขุดปราสาททองจากจอมปลวก)

- จดหมายเหตุของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ระบุว่าเมื่อครองราชย์ทรงพระนามว่า "พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช" ทรงมีพระนามทางการว่า "พระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าช้างทองแดง พระเจ้าช้างโคบุตร"   เข้าใจว่าเรียกยกย่องตามช้างสำคัญในรัชกาล (พงศาวดารระบุว่าทรงมีช้างโคบุตร)

- เอกสารกฎหมายออกพระนามทางการว่า "พระบาทสมเด็จพระเอกาทธรฐอิศวรบรมนาถบรมบพิตร"



พระนารายณ์

- พระนามเดิมก่อนขึ้นครองราชย์คือ "สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า" หรือ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายน์ราชกุมาร"

- เมื่อครองราชย์แล้วปรากฏพระนามเต็มในพงศาวดารว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสรรเพ็ชรบรมมหาจักรพรรดิศวร ราชาธิราชราเมศวรธรรมาธิบดี ศรีสฤษดิรักษ์สังหารจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดีบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลคุณอัคนิตวิจิตรรูจี ตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร์ ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงศ์ องค์เอกาทศรุท วิสุทธิยโสดม บรมอัธยาศัย สมุทยดโรมนต์ อนันตคุณวิบุลยสุนทรธรรมมิกราชเดโชชัย ไตรโลก นาถบดินทร์ อรินทราธิราช ชาติพิชิตทิศทศพลญาณ สมันตมหันต ผาริตวิชัยไอศวรรยาปัตย์ ขัตติยวงศ์ องค์ปรมาธิบดี ตรีภูวนาธิเบศโลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฎรัตนโมลี ศรีประทุมสุริวงศ์ องค์สรรเพ็ชญพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้า พระเจ้ากรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์"  เข้าใจว่าเป็นพระนามในพระสุพรรณบัตร

- ต่อมาพงศาวดารเรียกว่า "พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว"  ใกล้เคียงกับกฎหมายลักษณะรับฟ้อง ออกพระนามว่า "พระบาท สํมเดจํเอกาทศ รํทอีสวรบ่อรํมนาฎบรมบํอพีด พระพุทีเจาอยูห้ว"

- จารึกวัดจุฬามณี พ.ศ. ๒๒๒๔ ออกพระนามว่า "พระศรีสรรเพชญสมเดจพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชเมศวรธรรมิกราชเดโชชัยบรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิ มกุฎพุทธางกูรบรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาธิราช""



พระเพทราชา

- เมื่อขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดมบรมจักรพรรดิ"

- พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา พ.ศ. ๒๒๔๒ ออกพระนามว่า "พระศรีสรรเพชญสํมเดจพระรามาธิบดีศรีสีนทรบรํมมหาจักรพรรดิษรวรราชาธิราชราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชยพรรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐ วิสุทธมกุฎพุทธางกุรบรมจุลจักรพรรดิษรธรธรรมิกราชาธิราช" (เหมือนจารึกวัดจุฬามณี)



พระเจ้าท้ายสระ

- จารึกวัดป่าโมกข์ พ.ศ. ๒๒๗๑ ออกพระนามว่า "พระบาทพระศีรสรรเพชสัมเดจเอกาทศรุทอิศวร บรัมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระเจ้าประสาททองพระเจ้าช้างเนียมพระเจ้าช้างเผือก"



พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

- สำเนากฎ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงเก่า ออกพระนามว่า "พระบาทพระศรีสรรเพช สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว คือองค์สมเด็จพระนารายน์เปนเจ้า พระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเนียม พระเจ้าช้างเผือก ทรงทศพิธราชธรรม์ ราชอนันตสมภาราดิเรก เอกอุดมบรมจักรพรรดิสุนทรธรรมมิกราชบรมนารถ บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว"

- พงศาวดารสมัยหลังตั้งแต่ฉบับบริติชมิวเซียมจะเรียกว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราช"

- พระราชสาส์นที่ส่งไปลังกาเขียนเป็นภาษามคธ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "สมเด็จพระเอกาทศรุทธ์ อิสรบรมนารถบรมบพิตร พระนารายน์เป็นเจ้า" "สมเด็จพระเอกทศรุทธ์อิศร บรมนารถบรมบพิตรพระนารายณ์มหาราช" "สมเด็จพระเอกาทสรถอิศร บรมนารถบรมธรรมิกมหาราชเจ้า" ฯลฯ แล้วก็ยังมีอีกหลายๆแบบ แตกต่างที่สร้อยนามเล็กน้อย  

- พระนามภาษามคธขึ้นต้นพระราชสาส์นที่ส่งไปลังกา แปลเป็นไทยว่า "สมเด็จพระตรีภพโลกมกุฏอุดมบรมมิศรวรวงศ์สุริเยนทร์ นเรนทราธิบดินทรวโรดม (บรม)ขัตติยชาติราชวราดุล พิบุลคุณคัมภีร์วีรอนันต์ มหันตมหาจักรพรรดิศร บวรราชาธิราช นารถนายกดิลกโลกจุธานรามนิกรอภิวันทน์ อนันตบูชิตมหิทธินารายนอุปปัตติสทิสาดิเรก อเนกจตุรงคพลพหลอาจลสุริโยทิตอมตเดชา เอกาทศรุทธ์อศวร บรมนารถบรมบพิตร สถิตกรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมสามีศรีสุวรรณปราสาท รัตนวรราชนิธิกาญจนกุญชร สุประดิตนาเคนทร์ คเชนทรปทุมทันต์ เสวตรวารณนาคินทร์ กรินทร์เอกทันต์ สนิมพงศธร อัฏฐทิศนาราน ทศพิธราชธรรมธโรดมมหาราช"



พระเจ้าเอกทัศ

- พระราชพงศาวดารออกพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชามหาอดิศร บวรสุจริต ทศพิธธรรมธเรศ เชษฐโลกานายกอุดม บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว"



ส่วนพระนามที่มี ที่ ๑ ๒ ๓ ๔... ตามหลัง นักประวัติศาสตร์สมัยหลังกำหนดขึ้นเองเพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งยุคครับ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะนักประวัติศาสตร์ไม่ข้าใจว่าพระนามของกษัตริย์โบราณมีหลายพระนาม ไม่ได้มีพระนามเดียวตายตัว  นอกจากนี้หลายๆ พระนามที่มีลำดับที่นั้น บางพระองค์นั้นไม่มีหลักฐานเลยว่าเคยใช้งานจริง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่