ภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ของเหล่ามาเฟียแห่งเกาะฮ่องกง

ถ้าจะเขียนถึงจุดเริ่มต้นความนิยมเกี่ยวกับเรื่องราวของอิทธิพลมืด เจ้าพ่อและมาเฟีย ในวงการบันเทิง อาจจะมีการเริ่มมาก่อนหน้านั้นเป็นประปราย แต่ที่เจิดจรัสดั่งดาวประกายพฤกษ์ คงต้องเริ่มจากวงการโทรทัศน์ หลังจากทีวีบีออกอากาศ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (上海灘) ใน ปีพ.ศ. 2523 หรือ 1980 นั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นของความโด่งดังของ โลกอาชญากรรมในวงการบันเทิง จนกระทั่งโหด เลว ดี (A Better Tomorrow) ของจอห์น วู ออกฉายในปี 1986 ซึ่งโหดเลวดี นับเป็นจุดเปลี่ยนของภาพยนตร์ฮ่องกงอย่างแท้จริง ก่อนหน้านั้นหนังฮ่องกงมีเพียง 2 แนวทางหลักคือ หนังกังฟูกับหนังตลก พอหนังเรื่องนี้ออกฉายถือเป็นการเปิดศักราชหนังฮ่องกงสู่ยุคใหม่ ยุคที่ผู้ชมลืมลีลากังฟูแล้วมาตื่นเต้นเร้าใจกับการต่อสู้ดวลปืน คุณธรรมน้ำมิตร ความเท่ห์ของเสี่ยวหม่า(โจวเหวินฟะ) ความรักพี่รักน้องของ อาเห่า(ตี้หลุง) ความทรนงของ“อาเฉีย” (เลสลี่ จาง)
หลังจากนั้นก็มีการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาเฟีย ออกมามากมาย ทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหนังมาเฟียฮ่องกงที่สร้างมาจากเค้าโครงเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ที่ข้าพเจ้าต้องขอเรียบเรียง ตามข้อมูลที่มี อาจจะขาดตกบกพร่อง เนื้อหาเรื่องใด สหายเพจผู้ทรงภูมิโปรดเขียนแนะนำเพิ่มเติมขอรับ
ถ้ากล่าวถึงมาเฟียคงต้องย้อนไป ถึงยุคราชวงศ์ชิง(ค.ศ. 1644 – 1912) วัฒนธรรมมาเฟีย(อิทธิพลมืด)ฝังรากอยู่ในสังคมฮ่องกงตั้งแต่ยุคแรกก่อตั้งประเทศ ภายใต้การรวมกลุ่มที่เรียกกันว่า Triad หรือ สมาคมเทียนตี้ (天地 บ้านเราเรียก ‘อั้งยี่’) ซึ่งสืบย้อนรากไปได้ถึงสมัยครั้งพระเจ้าคังซีครองแผ่นดินจีน(ค.ศ. 1661 - 1722) เมื่อวัดเส้าหลินถูกราชสำนักส่งกำลังทหารบุกเผาวัดเพราะกลัวพระในวัดซ่องสุมกำลังล้มราชวงศ์ชิง พระห้ารูปที่เหลือรอดชีวิต จึงรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมลับขึ้นเพื่อ ‘โค่นชิงฟื้นหมิง’ (反清復明) โดยสืบทอดสมาคมนี้ต่อๆ กันมา ขยายฐานสมาชิกไปจนถึงยุคที่ชาวจีนอพยพไปตั้งรกรากยังประเทศอื่น สมาคมนี้ก็มีวัตถุประสงค์ช่วยชาวจีนโพ้นทะเลยังประเทศนั้นๆ ให้รวมกันเป็นปึกแผ่น และมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลท้องถิ่นได้ด้วย
อั้งยี่ หรือ "ซันเหอ" แปลว่า องค์สาม สื่อถึงฟ้า ดิน และมนุษย์ ส่วนชื่อ "Triad" ในภาษาอังกฤษนั้นแปลว่า องค์สาม เช่นกัน แต่รัฐบาลอังกฤษซึ่งเข้ายึดครองฮ่องกงตั้งให้เพราะเห็นว่า พวกอั้งยี่มักใช้ยันต์รูปสามเหลี่ยม
สำหรับประเทศไทยนั้น อั้งยี่เป็นสมาคมลับที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์จะช่วยเหลืออนุเคราะห์กลุ่มชาวจีนด้วยกันเอง ต่อมาสมาคมเหล่านี้ดำเนินงานอย่างไร้ระเบียบ ก่อปัญหารุนแรงขึ้นหลายครั้งจนทางการต้องใช้อำนาจขั้นเด็ดขาดเข้าจัดการ สมาคมอั้งยี่ลักลอบนำฝิ่นเข้ามาขายในประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้นมีคนไทยและจีนติดฝิ่นเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2390 พวกอั้งยี่ก่อเหตุขึ้นครั้งแรก ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยเริ่มไม่ไว้ใจคนจีนตั้งแต่นั้นมา ต่อมาก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2410 อั้งยี่ในเมืองภูเก็ตสองก๊กคือ ก๊กงี่หิน มีกำลังประมาณ 3,500 คนกับ อั้งยี่ก๊กปูนเถ้าก๋ง มีกำลังประมาณ 4,000 คน เกิดปะทะกัน สาเหตุจากการแย่งชิงสายน้ำแร่ดีบุก ทางการในเมืองภูเก็ตเข้าระงับเหตุไม่สำเร็จ ต้องขอกำลังจากกรุงเทพฯ ไปปราบ พวกอั้งยี่เกรงกำลังจากกรุงเทพฯ จึงอ่อนน้อมโดยดี เหตุการณ์จึงได้สงบลง
ปัจจุบันนั้นองค์กร “ซันเหอ” ยังมีอยู่โดยได้ถูกจัดให้เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรายได้หลักส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ามนุษย์ ฟอกเงิน ปลอมแปลงธนบัตรหรือแม้กระทั่งบริการนักฆ่า จึงนับได้ว่า “พรรคฟ้าดิน” นั้นเป็นองค์กรนอกกฎหมายที่มีประวัติศาสตร์ของพวกตัวเองมาเป็นระยะเวลา 300 กว่าปี
เรื่องราวของ สมาคมซันเหอนั้น ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน ในภาพยนตร์เรื่อง Election (2005) และ Election 2 (2006) ใช้ชื่อภาษาไทยว่า ขึ้นทำเนียบ เลือกเจ้าพ่อ ผลงานของตู้ฉีฟง ทั้งพิธีการตั้งแต่งหัวหน้าที่สืบทอดกันมานับหลายร้อยปีของสมาคมซันเหอ
ค.ศ.1912 จีนภายใต้การปกครองของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ซึ่งยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์ชิง ตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดในปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลเจียงซู ค.ศ.1925 พื้นที่บริเวณนั้นทั้งหมดถูกเรียกว่า “เมืองซ้งหู่” แต่อีก 2 ปีต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองเซี่ยงไฮ้”
ในทศวรรษที่ 20 และ 30 การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเซี่ยงไฮ้ที่เปิดรับทุนและความรู้ต่างๆจากชาติตะวันตกเข้าไปอย่างเต็มที่ ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเลศูนย์กลางการค้าและการเงินของตะวันออกไกลไปอย่างไม่มีเมืองใดเทียบได้ ในช่วง 2 ทศวรรษนั้น ด้วยประชากรกว่าสามล้านคน อาคารสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่สวยงามจำนวนมาก จนได้รับฉายาว่า “ปารีสตะวันออก” เป็นเมืองใหญ่อันดับ 5 ของโลก มีชาวต่างชาติอยู่ถึงประมาณเจ็ดหมื่นคน
เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองท่าใหญ่และเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆด้าน จึงเป็นที่หมายปองของชาตินักล่าอาณานิคมทั้งหลาย ประกอบกับความอ่อนแอของรัฐบาล ทำให้ต่างชาติบังคับให้รัฐบาลจีนลงนามให้เช่าพื้นที่ เช่น เขตเช่าฝรั่งเศส เขตเช่าอังกฤษ เขตเช่านานาชาติ ฯลฯ ชาติเหล่านี้เข้ามาตักตวงหาผลประโยชน์ในเซี่ยงไฮ้กันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมการลงทุน ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จำพวกสถานเริงรมย์ บ่อนการพนัน ยาเสพติด ซ่องโสเภณี ฯลฯ ที่สำคัญคือชาวตะวันตกและญี่ปุ่นปฏิบัติต่อคนจีนราวกับไม่ใช่คน ที่แสดงให้เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ สถานที่พวกต่างชาติพอใจใช้เป็นส่วนตัวก็จะติดประกาศว่า “หมาและคนจีนห้ามเข้า” สร้างความคับแค้นใจให้แก่คนจีนอย่างที่สุด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตามเซี่ยงไฮ้ในเวลานั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจบูมขึ้นถึงขีดสุด ทั้งธุรกิจบนดินและใต้ดิน จึงเกิดมีกลุ่มแก๊งนักเลงอันธพาลทั้งท้องถิ่นและข้ามชาติขึ้นมากมาย ที่หาเงินจากแหล่งอบายมุขทั้งหลายที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด
ตู้เย่วเซิง (杜月笙) คือชื่อหนึ่งที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของเซี่ยงไฮ้ในยุคนั้น ตู้เย่วเซิงเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่อายุได้ 9 ขวบแต่โชคยังดีที่มียายเลี้ยงดูมาจนเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยวัยเพียง 10 กว่าขวบเขาก็พาตัวเองเข้าไปสู่เมืองเซี่ยงไฮ้เพื่อหางานทำ แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะกำหนดให้ต้องเกี่ยวข้องกับอาชีพสกปรกอย่างไม่มีทางหลีกหนี เพราะหลังจากไปรับจ้างเป็นเด็กขายผลไม้อยู่ในเขตเช่าของฝรั่งเศสได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกด้วยข้อหาขโมย จากนั้นตู้ก็เริ่มเข้าสู่วงการนักเลงและอบายมุขด้วยการไปทำงานคุมซ่องโสเภณี และด้วยวัยเพียง 16 ปี เขาก็เข้าไปเป็นสมาชิกของแก๊งใหญ่แก๊งหนึ่งชื่อ “ชิงปัง” ภายใต้ความสัมพันธ์กับนายตำรวจชื่อ ฮวงจินหรง (黄金荣) ซึ่งสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แก๊งนี้ควบคุมอบายมุขแทบทุกชนิด เช่น ซ่องโสเภณี บ่อนการพนัน ยาเสพติด (ฝิ่น) เรียกค่าคุ้มครอง
ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ตู้ก็สามารถก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในระดับผู้นำแก๊งร่วมกับ จางเส่าหลิน (张啸林) ได้อย่างไม่ลำบากอะไร แม้จะเป็นที่รู้กัน โดยทั่วไปว่าเขามีอาชีพที่ผิดกฎหมาย แต่ตู้ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนที่รักชาติมากที่สุดคนหนึ่ง เขามักจะสวมเสื้อผ้าไหมแบบจีนเป็นประจำ นอกจากนั้นแก๊งชิงปังก็ยังร่วมกับรัฐบาลจีนต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นซึ่งรุกรานจีนอย่างหนักในยุคนั้น และเป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงินให้กับรัฐบาลของนายพลเจียงไคเช็ค ภายหลังยังร่วมกับรัฐบาลต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลด้วย ในปี ค.ศ.1941 ตู้ต้องหนีไปอยู่ที่ฮ่องกง เนื่อง จากพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยเหนือรัฐบาลของนายพลเจียงไคเช็ค ซึ่งต่อมาเขาก็เสียชีวิตที่นั่น ศพของเขาถูกนำไปฝังที่เกาะ ไต้หวัน ที่ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็คมิตรของเขาไปเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่นั่น
เรื่องราวของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ทั้งสามถูกนำไปแต่งเป็นนวนิยาย และสร้างเป็นภาพยนตร์ทางจอเงิน และซีรีส์ทางโทรทัศน์มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะซีรีส์ชุด “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” (上海灘) ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด สร้างโดย TVB ของฮ่องกง ออกฉายเมื่อ พ.ศ.2523 ภาพยนตร์ชุดนี้ทำให้ “โจวเหวินฟะ” และ “หลี่เหลียงเหว่ย” กลายเป็นดาราดังไปทั่วเอเชียและทั่วโลก
และล่าสุดก็มีภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จีนโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุคของตู้เย่วเซิง เข้าโรงฉายในชื่อเรื่องว่า The Last Tycoon  เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้คนสุดท้าย  ภาพยนตร์เรื่องนี้ โจวเหวินฟะกลับมารับบทนำอีกครั้ง หลังจากที่เคยรับบทเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้มาแล้วเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ด้วยเทคนิคทันสมัยบวกกับการทุ่มทุนเนรมิตฉากของเซี่ยงไฮ้ในสมัยนั้นขึ้นมาได้อย่างสมจริง ด้วยทุนสร้างกว่า 700 ล้านบาท จากฝีมือผู้สร้าง แอนดรูว์ เลา และผู้ออกแบบฉากที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ หยีชุงมั่น
วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1949 ตู้เยว่เซิงขึ้นเรือโดยสารของฮอลันดามุ่งหน้าสู่ฮ่องกง และเสียชีวิตในปี 1951
“อึ้งเซ็กห่าว” หรือ “เป๋ห่าว”เป็นสมาชิกแก็งค์ 14K (Triad)หรือสมาคมไตรแอด ซึ่งขึ้นมาเป็น เจ้าพ่อแก๊งมาเฟียราชาเฮโรอีนชาวแต้จิ๋วคนดังแห่งฮ่องกงในยุค 60s หลังจากตู้เยว่เซิงเจ้าพ่อเซียงไฮ้ที่มาเสียชีวิตที่ฮ่องกงได้ไม่นาน เป๋ห่าวโด่งดังในช่วงเวลาที่องค์กรนอกกฎหมายในฮ่องกงรุ่งเรืองสุดขีด ขณะที่องค์กรตำรวจก็ตกต่ำด้วยปัญหาคอร์รัปชัน จนต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อมาจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในตำรวจคนดังที่ได้รับการแต่งตั้ง และมีบทบาทอย่างสูงในการต่อสู้กับองค์กรอิทธิพลในช่วงนั้น ก็คือ เหลยเล่อ ซึ่งต่อมาก็ถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่นซะเอง
เป๋ห่าวถูกจับได้ในปี 1974 ติดคุกอยู่ 16 ปี สุดท้ายเป็นมะเร็ง รักษาไม่หาย ทางการจึงปล่อยให้ออกมารักษาต่อนอกคุก ในปี 1991 ออกจากคุกมาได้ 25 วันก็เสียชีวิตปิดตำนานเจ้าพ่อนักค้าเฮโรอีน ส่วนทางด้านคู่ปรับของเป๋ห่าว เหลยเล่อที่ถูกยกย่องเป็นหนึ่งในสี่ยอดมือปราบของฮ่องกงยุคนั้น เป็นตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับองค์กรเถื่อน แต่เมื่อเหลยเล่อเกษียณอายุย้ายไปอาศัยอยู่ที่อเมริกา กลับพบว่าเหลยเล่อครอบครองทรัพย์สินมากมาย จากการคอรัปชั่น นำมาสู่การปฎิรูปตำรวจครั้งใหญ่ในฮ่องกง
เรื่องราวของเป๋ห่าว ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ เรื่อง To Be Number One (1991) ในชื่อภาษาไทยว่า เป๋ห่าวเป็นเจ้าพ่อ
ส่วนเรื่องราวของ เหลยเล่อ ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Lee Rock สองภาค(1991) ในชื่อภาษาไทยว่า ตำรวจตัดตำรวจ
ซึ่งล่าสุด หวังจิงได้อำนวยการสร้าง Chasing The Dragon (2017) ที่ได้ดอนนี่ เยน และ หลิวเต๋อหัวมาแสดงเป็น เป๋ห่าว และ เหลยเล่อ (ที่ครั้งที่สองที่ หลิวเต๋อหัวแสดงเป็น เหลยเล่อ หลังจากแสดงบทบาทนี้ ในเรื่อง Lee Rock 26 ปีก่อน
เรื่องราวมาเฟียในยุค 90s ยังดำเนินต่อไป ในยุคกู๋หว่าไจ๋ แก๊งเหอซิ่งเหอ ต้นแบบแก๊งค์หงซิ่ง ติดตามได้ในตอนถัดไป.......
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่