ดาราศาสตร์ยุคบรรพกาล มหัศจรรย์แห่งศิลาและดวงดาว


ในปัจจุบันนักโบราณคดีค้นพบอนุสาวรีย์ดึกดำบรรพ์หลายแห่งที่เมื่อวิเคราะห์โดยละเอียดแล้วก็พบว่ามันถูกออกแบบและรังสรรค์ขึ้นมาอย่างประณีตเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญบางอย่างบนท้องฟ้า เช่น วันที่กลางวันยาวนานที่สุดหรือที่เรียกว่าวันครีษมายัน หรือบ้างก็สอดคล้องกับวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดหรือที่เรียกว่าวันเหมายัน

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชนโบราณผู้ซึ่งไม่ได้มีอุปกรณ์ทันสมัยอย่างกล้องโทรทรรศน์เหมือนในปัจจุบันก็เป็นนักสังเกตเทหวัตถุบนท้องฟ้าที่เก่งกาจไม่เบา ซึ่งศาสตร์ที่นักโบราณคดีใช้ในการทำความเข้าใจถึงความสามารถทางด้านดาราศาสตร์ของชนโบราณและการเชื่อมโยงศาสตร์เหล่านั้นเข้ากับวัฒนธรรมของพวกเขาก็คือ “ดาราศาสตร์ยุคบรรพกาล” (Archaeoastronomy) ที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของดวงดาวที่ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมประเภทอาคารศิลาของชนโบราณได้อย่างชัดเจน

หินเอน แห่งสโตนเฮนจ์.

หลายพันปีก่อน ชนโบราณไม่มีกล้องโทรทรรศน์ กลุ่มดาวที่พวกเขาเห็นจึงมีเพียงแค่ดาวที่สามารถมองเห็นได้ด้วย “ตาเปล่า” นั่นจึงทำให้ขอบเขตของการศึกษาเทหวัตถุบนท้องฟ้าของชนโบราณแคบกว่าในปัจจุบันมาก

นักโบราณคดีทราบว่าชาวเมโสโปเตเมียที่รุ่งเรืองอยู่ในประเทศอิรักรู้จัก ดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลของเราเพียงแค่ 5 ดวง ก็คือดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ถ้ารวมดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์เข้าไปด้วยก็จะมีเพียงแค่ 7 ดวงเท่านั้นเอง สำหรับดาวที่ชนโบราณให้ความสำคัญและนำมาเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและงานสถาปัตยกรรมของพวกเขามากที่สุดก็คือ “ดวงอาทิตย์”

เมื่อเราวิเคราะห์งานสถาปัตยกรรมของชนโบราณเกือบจะทั่วทุกมุมโลกแล้วพบว่างานของพวกเขามักจะเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับดวงอาทิตย์อยู่เสมอ จุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงดาราศาสตร์และดวงดาวเข้ากับอาคารศิลาสามารถย้อนกลับไปได้ถึงเมื่อราว 5,000 ปีก่อนที่ประเทศอังกฤษ

โบราณสถานที่โดดเด่นที่สุดของอังกฤษโบราณก็คือ “สโตนเฮนจ์” (Stonehenge) ที่ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ทราบว่าชนโบราณสร้างมันขึ้นมาเพื่อเหตุผลใดกันแน่ แต่สิ่งที่นักโบราณดาราศาสตร์มั่นใจเต็มร้อยก็คือ อนุสาวรีย์แห่งนี้มีการเชื่อมโยงเข้ากับดวงอาทิตย์อย่างเหนียวแน่นเลยทีเดียว

ในช่วงแรกของการก่อสร้างนั้น สโตนเฮนจ์ยังไม่ได้ประกอบไปด้วยหินหลายสิบก้อนเช่นนี้ มันมีเพียงแค่เสาไม้จำนวนมากปักเรียงรายเป็นวงกลมโดยที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวงไม้นี้มีหินตั้งอยู่แท่งหนึ่ง

เราเรียกหินก้อนนี้กันในปัจจุบันว่า “หินเอน” (Heel stone) เจ้าหินเอนนี่ล่ะครับที่ช่วยให้นักโบราณคดีเข้าใจว่าชาวอังกฤษโบราณเมื่อกว่าห้าพันปีมาแล้วคือนักดาราศาสตร์ตัวยง เพราะเช้าตรู่ของวันครีษมายันหรือวันที่กลางวันยาวนานที่สุดนั้น ถ้าใครได้มายืนที่กึ่งกลางของวงไม้โบราณนี้และมองไปยังเจ้าหินเอนแล้วล่ะก็ บุคคลนั้นจะพบว่าดวงอาทิตย์ในวันครีษมายันปรากฏขึ้นเหนือขอบฟ้าตรงกับตำแหน่งของหินเอนพอดี!!

ประหนึ่งว่าหินเอนเป็นหมุดชี้บอกว่าพระอาทิตย์จะปรากฏขึ้นมาตรงไหนยังไงยังงั้น และในวันเหมายันนั้นดวงอาทิตย์ก็จะลับขอบฟ้าลงไปที่ฝั่งตรงข้ามของหินเอนแท่งนี้พอดีอีกเช่นกันครับ และก็ไม่ใช่เพียงแค่ที่สโตนเฮนจ์นะครับที่ชนโบราณเชื่อมโยงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์เข้ากับสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่



สุสานดึกดำบรรพ์ที่นิวแกรนจ์

ที่นิวแกรนจ์ (New grange) ประเทศไอร์แลนด์ก็มีการค้นพบโบราณสถานที่ออกแบบให้สอดรับกับการขึ้นของดวงอาทิตย์แบบนี้เช่นกัน
มันคือสุสานดึกดำบรรพ์ที่มีลักษณะคล้ายโดมซึ่งถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน สุสานแห่งนี้มีประตูเป็นช่องทางเดินเข้าไปยังด้านในสุสานโดยที่ด้านบนประตูมีช่องเปิดเป็นหน้าต่างบานเล็กๆปรากฏอยู่

ตอนแรกนักโบราณคดีเคยเสนอแนวคิดเอาไว้ว่า ประตูสุสานอาจจะถูกออกแบบให้รับแสงอรุณแรกของวันเหมายัน แต่แนวคิดนี้กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะเมื่อทำการทดลองแล้ว แสงอาทิตย์ที่ส่องเข้าไปจากปากประตูนั้นไม่สามารถทะลุเข้าไปถึงห้องด้านในสุดได้ อาจจะด้วยว่าแรกค้นพบใหม่ๆนั้นมีเศษหินปกปิดช่องหน้าต่างเอาไว้เต็มไปหมด

แต่เมื่อมีการเคลื่อนย้ายหินที่ปิดกั้นช่องหน้าต่างด้านบนออกจนหมดก็พบว่าแสงอรุณแรกของวันเหมายันสามารถสาดส่องผ่านช่องหน้าต่างเข้าไปถึงห้องด้านในของสุสานได้พอดี และนั่นอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนชีพในวัฒนธรรมของพวกเขาด้วยก็เป็นได้


อีกหนึ่งอารยธรรมที่เชื่อมโยงดวงดาวโดยเฉพาะดวงอาทิตย์เข้ากับอาคารศิลาได้โดดเด่นที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นชาวไอยคุปต์แห่งอารยธรรมอียิปต์โบราณอีกแล้วล่ะครับ

ชาวอียิปต์โบราณนับถือสุริยเทพเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของพวกเขา ที่เรารู้จักกันดีก็เช่นเทพเจ้ารา (Ra) ที่มีศีรษะเป็นนกเหยี่ยว อีกทั้งฟาโรห์ยังเรียกตัวเองว่าเป็น “บุตรแห่งรา” (Son of Ra) อีกด้วย หมายความว่าสำหรับชาวไอยคุปต์แล้ว ดวงสุริยาสำคัญสำหรับพวกเขามากเลยทีเดียวครับ

นั่นจึงไม่แปลกที่โบราณสถานต่างๆจะถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับดวงดาวและดวงอาทิตย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาคารศิลาที่โด่งดังที่สุดในอียิปต์โบราณอย่าง “มหาพีระมิดแห่งกิซ่า” ก็ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยเชื่อมโยงเข้ากับดวงสุริยาและเหล่าดวงดาวเช่นกันครับ


พีระมิดแห่งกิซ่า

พีระมิดของฟาโรห์คูฟู (Khufu) คือพีระมิดองค์ใหญ่ที่สุดในกิซ่า นักอียิปต์วิทยาค้นพบว่าภายในพีระมิดมีห้องทั้งหมดสามห้อง
ห้องด้านล่างสุดคือห้องใต้ดินที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี
ห้องถัดขึ้นมาด้านบนคือห้องราชินี (Queen’s Chamber) ซึ่งหน้าที่ที่แท้จริงของมันน่าจะเป็นห้องเซอร์ดับ (Serdab) ซึ่งใช้สำหรับเก็บรูปปั้น “คา” (Ka) ขององค์ฟาโรห์
ส่วนห้องด้านบนสุดคือห้องกษัตริย์ (King’s Chamber) ซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องฝังศพ เพราะมีโลงศพหินแกรนิตตั้งอยู่ด้านใน สิ่งที่น่าสนใจก็คือที่ห้องกษัตริย์และห้องราชินีนั้นมี “ปล่องอากาศ” (Air Shafts) ขนาดเล็กพุ่งตัวออกไป ห้องละสองปล่อง รวมทั้งหมดสี่ปล่อง

เมื่อนักอียิปต์วิทยาลองเชื่อมโยงปล่องอากาศเหล่านี้เข้ากับตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้าในสมัยของฟาโรห์คูฟูก็ถึงบางอ้อทันที

เพราะว่าปล่องอากาศจากห้องของฟาโรห์คูฟูนั้นชี้ออกไปยังกลุ่มดาวนายพราน (Orion) และกลุ่มดาวมังกร (Thuban)

ส่วนปล่องอากาศจากห้องราชินีนั้นชี้ออกไปยังกลุ่มดาวหมีเล็ก (Kochab) และซิริอุส (Sirius) ซึ่งดวงดาวเหล่านี้ถือเป็นดาวที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าดาวรอบขั้วฟ้าหรือดาวค้างฟ้า (Circumpolar stars) ที่ชาวไอยคุปต์เชื่อว่าเป็นดินแดนที่เหล่าฟาโรห์ผู้วายชนม์จะเดินทางไปที่นั่น

ด้วยว่าดาวเหล่านี้ไม่เคยหายลับไปจากฟากฟ้าประหนึ่งว่าเป็นอมตะ วิญญาณของฟาโรห์ซึ่งมีชีวิตนิรันดร์จึงถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มดาวค้างฟ้าเหล่านี้ และการออกแบบให้ปล่องอากาศชี้ออกไปยังกลุ่มดาวทั้งสี่ก็เพื่อที่จะเป็นการส่งวิญญาณของฟาโรห์ขึ้นไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มดาวค้างฟ้าเหล่านั้นนั่นเอง


วิหารคองคอร์เดีย.

สำหรับชาวกรีก-โรมัน พวกเขาก็มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับดวงดาวไม่แพ้อารยธรรมอื่นๆเลยครับ วิหารหลายแห่งของพวกเขาสร้างขึ้นมาได้ตรงกับทิศทั้งสี่อย่างแม่นยำ เช่น วิหารคองคอร์เดีย (Temple of Concordia) บนเกาะซิซิลี (Sicily)

ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 440 ปีก่อนคริสตกาล และวิหารกรีกโบราณอีกหลายแห่งที่มักจะหันหน้ารับแสงอาทิตย์ทางฝั่งตะวันออกและมีความสัมพันธ์กับดวงดาวบางกลุ่มจนช่วยให้นักโบราณคดีสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ในการสร้างวิหารของพวกเขาได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น วิหารแห่งเทพีจูโน (Temple of Juno) ในเมืองอาครากัส (Akragas)

ซึ่งไม่แสดงหลักฐานชัดเจนว่าในอดีตวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าองค์ใดเป็นหลัก แต่เมื่อนักโบราณคดีใช้ศาสตร์แห่งดาราศาสตร์ยุคบรรพกาลเข้ามาจับก็พบว่าวิหารแห่งนี้หันหน้ามาทางทิศตะวันออกโดยทำมุมประมาณ 82 องศาจากทิศเหนือ และเมื่อวิเคราะห์ทิศทางของวิหารร่วมกับกลุ่มดาวที่ปรากฏบนท้องฟ้าในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล

ซึ่งเป็นช่วงที่วิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้วมันสอดคล้องกับกลุ่มดาวโลมา (Delphinus) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าอพอลโล (Apollo) นั่นจึงทำให้นักโบราณคดีตั้งสมมติฐานว่าบางทีวิหารแห่งนี้เดิมทีน่าจะเคยถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าอพอลโลก็เป็นได้


ช่องแสงในวิหารแพนธีออน.

อีกหนึ่งอาคารศิลาที่น่าทึ่งของชาวโรมันที่มีการเชื่อมโยงกับดวงอาทิตย์อย่างชัดเจนก็คือ “แพน–ธีออน” (Pantheon) หรือวิหารแห่งปวงเทพของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

หนึ่งในสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของแพนธีออนก็คือ “โอคูลุส” (Oculus) หรือดวงตาแห่งสวรรค์ที่เป็นช่องเปิดตรงกลางโดมรูปครึ่งทรงกลมที่ให้แสงอาทิตย์สาดส่องเข้า มาด้านในได้

แสงที่ส่องผ่านเข้ามาในช่องโอคูลุสนั้นจะเปลี่ยนตำแหน่งของมันไปเรื่อยๆ เช่นในช่วงวันศารทวิษุวัตราวเดือนกันยายนไปจนถึงวันวสันตวิษุวัตในช่วงเดือนมีนาคมนั้น แสงอาทิตย์จะสาดส่องไปที่พื้นที่ส่วนบนของวิหารเท่านั้น แต่หลังจากนั้น แสงอาทิตย์จะเริ่มสาดส่องที่ส่วนล่างและเริ่มฉายไปที่ซุ้มโค้งบริเวณทางเข้า ซึ่งแสงจะส่องเข้ามาเต็มที่มากที่สุดในวันที่ 21 เมษายนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันก่อตั้งกรุงโรม ดังนั้นการเคลื่อนที่ของแสงอาทิตย์ผ่านช่องเปิดโอคูลุสของแพนธีออนในวันนี้จึงเปรียบเสมือนการที่กรุงโรมได้เข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่เทพเจ้าตามไปด้วย



พีระมิดเอล-คาสติลโย ที่เมืองชิเชน อิทซา.

ชนเผ่าในดินแดนโลกใหม่อย่างชาวมายาโบราณหรือชาวอินคาในอเมริกาใต้ก็เป็น นักดาราศาสตร์ตัวยงไม่แพ้กัน โบราณสถานของชาวมายาโบราณที่ถูกออกแบบให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งก็เช่น พีระมิดเอล-คาสติลโย ที่เมืองชิเชนอิทซา (Chichen Itza) ประเทศเม็กซิโกครับ

พีระมิดแห่งนี้สร้างถวายแด่เทพเจ้าคูคูลคัน (Kukulkan) ซึ่งเป็นเทพเจ้าอสรพิษประดับขนนกของชาวมายา ขั้นบันไดโดยรอบองค์พีระมิดประดับด้วยรูปสลักของอสรพิษ โดยชาวมายาโบราณได้ออกแบบให้ในวันวสันตวิษุวัตนั้นแสงอาทิตย์ที่สาดส่องมาที่พีระมิดจะสร้างให้เกิด “เงา” ที่คล้ายคลึงกับอสรพิษร่างยักษ์กำลังเลื้อยลงมาตามขั้นบันไดของพีระมิด ซึ่งเหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนสัญญาณในการเข้าสู่ฤดูฝนของชาวมายาโบราณ

ส่วนชาวอินคาในอเมริกาใต้ก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาก็มีการบูชาดวงอาทิตย์ไม่ต่างจากชาวไอยคุปต์เลยครับ หนึ่งในพิธีกรรมสำคัญของชาวอินคาเรียกว่า “อินติ ไรย์มี” (Inti Raymi) เป็นพิธีกรรมที่ชาวอินคาจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองแด่ดวงสุริยาซึ่งเป็นเทพเจ้าหลักของพวกเขา


สถาปัตยกรรมหลายแห่งของชาวอินคาโดยเฉพาะในเมืองมาชู ปิกชู (Machu Picchu) นั้นน่าทึ่งเป็นอย่างมากครับ พวกเขาได้ออกแบบ “วิหารสุริยะ” ให้มีหน้าต่างที่พร้อมรับแสงอรุณแรกของวันเหมายันได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้นพวกเขายังได้สร้างถ้ำที่ชื่อว่า “อินติมาเชย์” (Intimachay Cave) เอาไว้สำหรับสังเกตปรากฏการณ์ ของดวงอาทิตย์ในวันครีษมายันอีกด้วย

“ดาราศาสตร์ยุคบรรพกาล” ได้ทำให้เราทราบว่าชนโบราณมีความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงดาวเป็นอย่างดี จนสามารถผสานมันเข้ากับผลงานทางสถาปัตยกรรมของพวกเขาได้อย่างน่าทึ่ง จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชนโบราณที่เฝ้าสังเกตท้องฟ้าด้วย “ตาเปล่า” นั้นมีความสามารถเหนือกว่าที่เราเคยเชื่อกันมาในอดีตอย่างแน่นอน.

โดย :ณัฐพล เดชขจร 
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน
thairath.co.th
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่