เลือกสายงานไหนดีระหว่าง ครู กับ นักวิชาการ

ระหว่าง ข้าราชการครู (สพฐ.) กับ ข้าราชการตำแหน่ง นักวิชาการอุตสาหกรรมปฏิบัติการ (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตจว.) ควรเลือกอันไหนดีกว่ากันคะถ้ามองด้านความก้าวหน้าทางอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะนักวิชาการอุตสาหกรรม จขท ไม่ทราบเลยค่ะว่าตำแหน่งนี้สามารถมีเส้นทางก้าวหน้าได้มากน้อยแค่ไหน จขท.สอบขึ้นบัญชีครูไว้ใกล้ถึงลำดับแล้ว ส่วนตำแหน่งนักวิชาการเรียกรายงานตัวต้นเดือนหน้า เลยอยากจะขอความเห็นเพื่อนๆใน pantip หน่อยค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
ยาวหน่อยนะครับ แต่ตั้งใจพิมพ์ให้อ่านมาก 5555

ก่อนอื่นขออธิบายเรื่องตำแหน่งนักวิชาการ (นวก.) นิดนึงนะครับ เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจที่ถูกต้อง

นวก. ในที่นี้มี 2 ความหมายซ้อนกันอยู่ครับ นอกจากหมายถึงตำแหน่งหนึ่งในแท่งวิชาการ (ซี 3 เดิม หรือระดับสัญญาบัตร) ที่ จขกท. น่าจะเข้าใจดีอยู่แล้ว อีกความหมายหนึ่งโดยทั่วไปคือ เป็นตำแหน่งหลักของหน่วยงานนั้น ๆ ครับ หน่วยงานไหนมีตำแหน่ง นวก. แล้วต่อท้ายด้วยชื่อหน่วยงานนั้นเนี่ย สามารถทราบได้ทันทีว่านี่คือตำแหน่งหลักของหน่วยงานนั้น ๆ ชัวร์ เช่น นวก. อุตสาหกรรม นวก. พาณิชย์ นวก. ศุลกากร นวก. สรรพสามิต นวก. สรรพากร นวก. วัฒนธรรม เป็นต้น

(แน่นอนว่าหน่วยงานที่ไม่มี นวก. แล้วใช้ชื่ออื่นก็มี เช่น เจ้าพนักงานปกครอง (ปลัดอำเภอ) - กรมการปกครอง นักกฎหมายกฤษฎีกา - สำนักงานกฤษฎีกา หรือบางตำแหน่งเป็นตำแหน่งสนับสนุนที่อื่น แต่ก็มีหน่วยงานที่เป็นตำแหน่งหลัก เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผน - สภาพัฒน์ฯ สภาความมั่นคง หรือเศรษฐกร - สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก็ได้ครับ)

ลองเปิดโครงสร้างอัตรากำลังของหน่วยงานเหล่านี้ดูก็ได้ครับ จะพบว่าเป็นแบบที่ผมกล่าวมานี่แหละ

ทีนี้ ถามถึงข้อดีข้อเสีย ความเจริญก้าวหน้า อันนี้เอาเฉพาะข้อดีข้อเสียโดยทั่วไปก่อนนะครับ ข้าราชการครู สพฐ. ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดตำแหน่งสามารถเลื่อนไหลไปได้เรื่อย ๆ ครับ จากครูผู้ช่วยเป็นครู ค.ศ. 1 ไล่ไปจนถึงครู ค.ศ. 5 ไม่ต้องสอบ ไม่ต้องแย่ง แค่อายุราชการถึงและทำผลงานได้ สามารถเลื่อนวิทยฐานะขึ้นไปได้ทุกคนครับ

กลับกันถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเช่นตำแหน่ง นวก. อุตสาหกรรม จะเลื่อนไหลไปได้แค่ชำนาญการ (ชก.) ครับ เทียบเป็นครูก็คือจะไหลไปสุดได้แค่ครู ค.ศ. 2 ถ้าอยากจะขึ้นไปตำแหน่งชำนาญการพิเศษ (ชพ.) ขึ้นไปต้องมีการสอบและประเมินครับ และจะต้องแย่งกันหน่อย เพราะตั้งแต่ตำแหน่ง ชพ. ขึ้นไปเป็นตำแหน่งหัวหน้า และเก้าอี้หัวหน้ามีจำกัด ทุกคนไม่สามารถเป็นพร้อมกันได้หมด ทุกคนที่ไหลไปจนถึง ชก. ที่มีคุณสมบัติครบก็จะมาคอขวดกันที่ตรงนี้แหละครับ และคนที่เกษียณตำแหน่ง ชก. ก็มีให้เห็นทั่วไปครับ

โดยสรุปวัดที่ตำแหน่งแล้ว เป็นครู สพฐ. เลื่อนไหลมากกว่าครับ แต่หมายความว่าเป็นครูจะดีกว่าแน่นอนรึเปล่า? แน่นอนว่าไม่เสมอไปครับ

ยกตัวอย่าง ในพื้นที่หนึ่งมี 3 คน คนหนึ่งเป็นครู ค.ส. 3 อีกคนหนึ่งเป็นปลัดอำเภอปฏิบัติการพึ่งบรรจุมาเลย อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตชำนาญงาน (ชง. - แท่งทั่วไป) รุ่นเก๋า ถามว่าในสายตาของคนในพื้นที่ใครคือคนที่ “ก้าวหน้า” มากกว่ากัน? คนหนึ่งก็ตำแหน่งสูง คนหนึ่งตำแหน่งต่ำกว่าหน่อยแต่ตำแหน่งอำนาจหน้าที่เพียบ อีกคนยิ่งมาจากแท่งทั่วไปแต่ประสบการณ์ไม่รู้กี่สิบปีแถมเป็นงานที่ลงพื้นที่ตรวจทีนึงกลัวกันนักหนา ตกลงใครคือคนที่ “ก้าวหน้า” มากกว่า? แต่ละคนก็มีคำตอบไม่เหมือนกันถูกมั้ยครับ?

ตรงนี้ต้องการบอก 2 เรื่องคือ ยึดตำแหน่งอย่างเดียวไม่ได้ครับ ต้องดูที่หน่วยงานและอำนาจหน้าที่ด้วย (เป็นการบ้าน จขกท. นะครับว่าตำแหน่ง นวก. อุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมฯ อำนาจหน้าที่มีแค่ไหน? เปิดในใบประกาศรับสมัครสอบตอนแรกกับเว็บกรมก็เจอแล้วครับ) อีกเรื่องหนึ่งคือ ก้าวหน้าแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ บางคนอาจจะมองว่าตัวเองก้าวหน้าแล้ว แต่บางคนอาจจะบอกทำไมยังอยู่แค่นี้? อันนี้นานาจิตตังครับ

สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมต้องการจะบอก จขกท. คือ ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมกล่าวมายืดยาวมากเนี่ย

อย่าไปยึดติดเป็นสำคัญครับ

ใช้เป็นข้อมูลพิจารณาประกอบได้ครับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดว่าจะเลือกอะไรคือ งานที่คิดว่าทำแล้วจะมีความสุขครับ ให้เลือกตำแหน่งที่คิดว่าตัวเองเหมาะกับลักษณะงานของตำแหน่งนั้น ๆ ครับ เอาง่าย ๆ ถ้าคิดว่าเป็นครูก้าวหน้ากว่าแต่ไม่ชอบเด็กและใจร้อนหงุดหงิดง่าย จะยังไปเป็นครูจริง ๆ หรอครับ?

งานที่ดีคืองานที่ทำแล้วมีความสุขครับ งานที่ทำแล้วมีความสุขเนื้องานก็จะออกมาดี ชีวิตก็จะดีครับ เป็นสูตรชีวิตง่าย ๆ แค่นี้เอง

สรุปสิ่งที่ จขกท. ต้องทำนะครับ ต้องไปสืบทราบให้ได้ว่างานแต่ละตำแหน่งต่างกันอย่างไร และถ้าเลือกได้ตัวเองเหมาะกับงานอะไรมากกว่า นี่คือคำถามที่ต้องตอบให้ได้ครับ ไม่เช่นนั้นไม่ต่างจากหลับตาไปเดินมั่วตรงทางแยกของชีวิตเลย

ขอให้โชคดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่