วิธีสร้างพระธาตุเจดีย์

ถ้าหากว่าเราสร้างพระธาตุเจดีย์ ขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่มีการบวงสรวง พลังก็จะเสื่อมถอยไป เป็นโดยธรรมชาติ เปรียบเสมือน หม้อแบตเตอรี่ชาร์ตไฟก็จะถดถอยหายไป

ถ้าสมมติว่า ประชาชนมาไหว้กันเยอะแยะ แต่พระธาตุเจดีย์นั้นไม่มีการบวงสรวงจะเป็นเช่นใด?

ถ้าประชาชนเยอะแยะมาไหว้ ประชาชนก็บวงสรวงของประชาชน เราต้องเข้าใจนะ ไม่จำเป็นมีอะไรเยอะแยะ ประชาชนก็มีวิธีการบวงสรวงการไหว้ของเขา ประเพณีแตกต่างกันไป อย่างเช่น ประเพณีของชาวบ้านเดินขึ้นธาตุเจดีย์ เป็นต้น

ยกตัวอย่าง พระเจดีย์วัดผาแตก ท่านสร้างเป็นพระธาตุเจดีย์หรือสร้างให้เหมือนพระธาตุเจดีย์?

องค์เจดีย์นี้สร้างเหมือนพระธาตุเจดีย์ แต่ไม่ได้ประกอบพิธีสร้างพระธาตุเจดีย์ ไม่ใช่ว่าเราสร้างให้เหมือนพระธาตุเจดีย์แล้วเรียกว่า "สร้างพระธาตุเจดีย์"

วิธีสร้างพระธาตุเจดีย์ กับวิธีทำให้เหมือนพระธาตุเจดีย์ไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปเขาสร้างให้เหมือนพระธาตุเจดีย์มีเยอะแยะ

แต่ถ้าเราสร้างพระธาตุเจดีย์ต้องมีพิธีกรรมต่างๆ มากมายเยอะกว่านั้น

ถามว่า ยังไงๆ เราก็หาพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ของพระพุทธเจ้าไม่ได้แล้วจะทำยังไง

เราก็ไปขอพระธาตุจากพระสงฆ์ พระมหาเถระต่างๆ ท่านก็มีเยอะแยะไป ท่านก็มีพระธาตุให้เรา เพราะเราถือว่าสิ่งที่ท่านให้นี้เป็นนิมิตหมายว่าเป็นพระธาตุของพระพุทธเจ้า เพราะจะหาจริงๆ ก็หาไม่ได้แล้ว เพราะของจริงๆ ประเทศนั้นๆ คงไม่ให้มา

การที่มีพระบรมสารีริกธาตุ เป็นนิมิตหมายมาใส่ในองค์พระเจดีย์ แต่วิธีสร้างองค์พระเจดีย์นั้นไม่เหมือนกัน หรือพูดง่ายๆ คือ มีตัวแม่กับตัวลูก ตัวแม่เราจะต้องสร้างให้มันยิ่งใหญ่ จะต้องทำตามศาสตร์แห่งการสร้างพระธาตุเจดีย์ดีให้ครบๆ ตามตำรา แต่ถ้าเราสร้างพระเจดีย์แบบตัวลูก ศาสตร์อาจจะไม่ครบ

วิธีการสร้างพระธาตุเจดีย์ มีดังนี้

๑. ก่อนอื่นเราจะต้องมีเหตุ อย่างเช่น ฤาษี พระสงฆ์มหาเถระท่านจะได้พระบรมสารีริกธาตุส่วนสำคัญต่างๆ ของพระพุทธเจ้ามา เราสังเกตได้ว่า พระธาตุเจดีย์ดังๆ ก็จะมีตำนาน ประวัติความเป็นมาเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าสร้างเสร็จแล้วค่อยมาหามาใส่ จะต้องมีเหตุมาก่อน ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะทำได้ คนที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจะต้องเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นมหาฤาษี เขานับถือกันอยู่ มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ แล้วท่านได้พระบรมสารีริกธาตุมา

พอท่านสร้างพระธาตุเจดีย์ เจดีย์แห่งนั้นก็จะเป็นจุดศูนย์รวมตั้งแต่เบื้องบนจนถึงเบื้องล่าง กษัตริย์ พระราชาจะต้องมาร่วมบวงสรวง กราบไหว้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตรงไหนก็ตาม

ยกตัวอย่าง พระธาตุจอมกิตติ กษัตริย์ท่านก็จะมาร่วมบวงสรวง

ถ้าสมมติว่า เราไม่มีของวิเศษ เช่น พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าล่ะ อันนี้เราก็จะเรียกว่า เป็นพระธาตุจำลอง ไม่ใช่พระธาตุเจดีย์แท้ เรียกว่า เป็นพระธาตุเจดีย์เกรด ๒ เกรด ๓ แล้ว ไม่ใช่พระธาตุเกรดเบอร์ ๑

อย่างเช่น พระธาตุดอยสุเทพ มีการได้พระบรม

ตำนานการสร้างพระธาตุดอยสุเทพกล่าวเอาไว้ว่า กล่าวถึงพระมหาสุมนเถรเจ้าแห่งสุโขทัย เกิดนิมิตฝันอันประหลาดว่า พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระเจ้าธรรมาอโศกราชให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ ณ พระเจดีย์เมืองปางจานั้น บัดนี้พระเจดีย์นั้นหักพังเสียแล้ว โดยข้างเจดีย์มีกอดอกเข็มกอหนึ่ง มีลักษณะเป็นรูปม้านั่ง เป็นที่สถิตของพระบรมธาตุ ขอให้ท่านไปขุดเอาพระบรมธาตุองค์นี้มาเสีย

รุ่งขึ้น พระสุมนเถรก็นำความไปถวายพระพรแก่พระธรรมราชา เจ้าเมืองสุโขทัย ณ เมืองศรีสัชนาลัย แล้วถวายพระพรเรื่องความฝันนั้นแก่พระเจ้าลือไทยให้ทรงทราบทุกประการ พระองค์ทรงโสมนัสยิ่งนัก ตรัสสั่งอนุญาตและพระราชทานคนช่วยขุดพระบรมธาตุ พระสุมนเถรเจ้า ก็พาคนไปยังเมืองปางจา แล้วสร้างศาลเพียงตากระทำการสักการะบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนต่างๆ

ตกกลางคืน พระเถรเจ้าได้กระทำการบวงสรวงเทพเจ้าให้ขุดพระธาตุได้สมตามปรารถนา พอสิ้นคำอธิษฐาน พระบรมธาตุก็ทำปาฏิหารย์รุ่งโรจน์เป็นแสงรัศมีสุกใสสวยงามยิ่งนัก พระเถรเจ้าจึงได้เอาธงปักเป็นเครื่องหมายข้างกอดอกเข็มไว้

ต่อมา พระสุมนเถรเจ้า จึงให้ผู้จะขุดพระบรมธาตุนั้นทุกคนสมาทานศีล ๕ และศีล ๘ ทุกคน แล้วจึงลงมือขุดก็พบอิฐและศิลา และในไม่ช้าผอบที่บรรจุพระบรมธาตุเป็นชั้นๆ คือ

ชั้นแรก เป็นผอบทองเหลือง

ชั้นที่สอง เป็นผอบเงิน

ชั้นที่สาม เป็นผอบทองคำ

ชั้นที่สี่ เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ เป็นผอบแก้วประพาฬ ขนาดโตเท่าลูกทับทิม

เมื่อเหตุการณ์ประสบเช่นนี้แล้ว จึงมีผู้สงสัยว่าจะใช่พระบรมธาตุจริงหรือ พระสุมนเถรเจ้าจึงว่า ไม่ใช่พระบรมธาตุ เป็นผอบแก้ว และทำการสักการะบูชาและตั้งสัตยาธิษฐาน จึงได้เห็นที่เปิด พระเถรเจ้าจึงเปิดผอบก็เห็นพระบรมธาตุโตประมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว มีพระรัศมีมีทองสุกปลั่ง คนทั้งหลายได้เห็นดังนั้น จึงพากันอนุโมทนา และสรงน้ำชำระพระบรมธาตุด้วยความเลื่อมใสยิ่ง เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงนำกลับมายังเมืองศรีสัชนาลัย

เมื่อพระเจ้าลือไทยทรงทราบข่าวนั้น จึงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นหลังหนึ่ง เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุที่ได้มานี้ เพราะทรงเลื่อมใสและได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมธาตุแสดงปาฏิหารย์ อย่างน่าอัศจรรย์มาแล้ว พระองค์ส่งข่าวไปถวายพระธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัย พระเจ้าธรรมราชาก็ทรงยินดียิ่ง ทรงดำริว่าถ้าพระธาตุองค์นี้แสดงปาฏิหารย์ดังที่คนเล่าลือแล้วไซร้ เราจักสร้างเจดีย์ทองคำองค์หนึ่งในเมืองนี้ เพื่อประดิษฐานไว้เป็นที่สักการะบูชาให้จงได้ แต่พระบรมธาตุมิได้แสดงปาฏิหารย์ดังที่ได้ยิน จึงมิทรงเชื่อถือถึงกับรับสั่งคืนพระบรมธาตุให้แก่พระสุมนเถรเจ้าตามเดิม

ในสมัยพระเจ้ากือนา แห่งราชวงศ์มังรายที่ ๖ ขึ้นครองนครเชียงใหม่ จุลศักราช ๗๒๙ พ.ศ. ๑๙๑๐ พระองค์มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงให้ไปนิมนต์พระสุมนเถรเจ้า มาประกาศศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ตามลัทธิลังกา ทางสุโขทัยก็ยินยอมให้พระสุมนเถรเจ้ามาพร้อมกับพระธาตุนั้นมาด้วย ภายหลังพระเจ้ากือนาได้อัญเชิญไปบรรจุไว้ ณ วัดบุปผารามสวนดอกไม้หลวง พ.ศ. ๑๙๒๖

ส่วนอีกองค์หนึ่ง พระองค์อธิษฐานเสี่ยงไป โดยอัญเชิญพระบรมธาตุสถิตบนหลังช้างเผือก ช้างเผือกก็แผดร้องถึง ๓ ครั้ง แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศเหนือ เดินมาพักใหญ่ถึงภูเขาลูกหนึ่งแล้วหยุดบนภูเขาลูกหนึ่ง แล้วจึงเดินต่อไปอีก ภูเขาที่ช้างเผือกหยุดนั้น ปัจจุบันเรียกว่า " ดอยช้างนอน " จนกระทั่งพักใหญ่ช้างเผือกจึง หยุดบริเวณที่กว้างและราบเรียบ แล้วจึงเดินต่อไปอีก ปัจจุบันเรียกที่ราบนั้นว่า " ยอดดอยงาม "

ช้างเผือกเดินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลุถึงดอยสุเทพ จึงหยุดนิ่ง พร้อมกับแผดร้องขึ้นถึง ๓ ครั้ง กระทำปทักษิณสถานที่นี้ถึง ๓ ครั้ง แล้วคุกเข่าทั้ง ๔ ลง พระเจ้ากือนาทรงโสมนัสยิ่งนัก รีบอาราธนาพระบรมธาตุลงจากหลังช้างเผือก พอช้างเผือกลงจากหลังช้างเท่านั้น ช้างเผือกก็ถึงความตายทันที

พระเจ้ากือนาได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ในครั้งนี้ ก็ทรงนมัสการกราบไหว้พระธาตุ ด้วยความเคารพยำเกรงยิ่ง แล้วจึงรับสั่งให้ขุดสถานที่บนยอดดอยนั้นลึก ๘ ศอก ๑ วา ๓ ศอก แล้วให้เอาแท่งหินใหญ่ ๖ ศอก มากระทำเป็นหีบหินใหญ่ ใส่ลงไปในหลุมนั้น แล้วอาราธนาพระธาตุ พร้อมทั้งผอบตั้งไว้ในหีบหิน เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้สร้างเจดีย์สวมลงสถานที่ฝังพระบรมธาตุนั้นอีก องค์หนึ่งสูง ๕ วา

พระธาตุดอยสุเทพนั้น มีเจ้านายเมืองเชียงใหม่ทุกๆพระองค์เคารพนับถือมาก และบูรณปฏิสังขรณ์กันมาตลอด จนมาถึงท้าวอ้ายจึงให้สร้างเพิ่มเติมองค์พระเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น ๑๑ วา ต่อมาท้าวชายได้สร้างเพิ่มเติม และสร้างวิหารหน้าหลังและระเบียงรอบพระมหาธาตุ สำเร็จเรียบร้อย บริบูรณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ (หนังสือประวัติเจดีย์และโบราณสถาน. อุดม เชยกีวงศ์)

ในสมัยก่อน การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกิน เพราะไม่มีถนนสะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน ทางเดินก็แคบๆ และ ไม่ราบเรียบ ต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร และปีนเขาต้องใช้เวลายาวนานถึง ๕ ชั่วโมงกว่า จนมีคำกล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า ถ้าไม่มีพลังบุญและศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ ก็จะไม่มีโอกาสได้กราบไหว้พระธาตุดอยสุเทพ

ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย มาจากวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน เป็นผู้เริ่มดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น เป็นผู้เริ่มขุดดินด้วยจอบเป็นปฐมฤกษ์ ตรงที่หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ปัจจุบัน ใกล้ๆ กับบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว โดยเริ่มสร้างวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

ครูบาศรีวิชัย เจ้าแก้วนวรัฐและพระภิกษุสงฆ์ ประชาชน ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่บันไดนาค เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘ เมื่อข่าวการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้แพร่สะพัดไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ชาวพุทธผู้เลื่อมใสในครูบาศรีวิชัย ต่างทยอยกันมาจากทั่วสารทิศจนเต็มบริเวณเชิงดอยหมด เพื่อมาร่วมสละแรงงานช่วยสร้างถนน โดยไม่มีค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น วันๆ หนึ่งจะมีประชาชนมาร่วมสร้างถนนประมาณ ๓-๔ พันคนจากทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือ รวมไปถึงอุตรดิตถ์-พิษณุโลก ปริมาณคนงานที่มาช่วยมีมากเกินความต้องการครูบาศรีวิชัยจึงได้กำหนดให้สร้างถนนหมู่บ้านละ ๑๐ วาเท่านั้น และต่อมายังได้ลดลงอีกเหลือประมาณหมู่บ้านละ ๒ วา ๓ วา เพราะมีคนมาขอร่วมแรงงานสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ

นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่การสร้างถนนบนภูเขายาวถึง ๑๑ กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง ๕ เดือนกับอีก ๒๒ วัน ทั้งๆ ที่อุปกรณ์การสร้างทางมี เพียงจอบ และเสียม เท่านั้น อุปกรณ์ทันสมัย เช่นในปัจจุบันยังไม่มีพิธีเปิดใช้ถนนใหม่ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘ โดยท่านครูบาศรีวิชัย เป็นคนแรกที่นั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (ภาษาสยาม http://www.pasasiam.com/home/index.php/history/history-chiangmai/397-2009-01-18-04-03-36)

^_^ ..._/\_... ^_^

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่