ถึงแม้ว่าเราจะผ่านหน้าร้อนฝุดๆ กันมาแล้ว แต่ก็ต้องบอกว่าหน้าร้อนที่ผ่านมาร้อนตับแล่บแปล่บๆ จริงๆ ปีนี้... พื้นที่หลายแห่งในเมืองไทยอุณหภูมิสูงปรี๊ดดดดทะลุ 40 องศาเซลเซียส ไม่ใช่อุณหภูมิที่สูงเท่านั้นนะจ๊ะ บิลค่าไฟของเราก็สูงขึ้นไปอี๊ก อย่าให้ความร้อนมาทำร้ายเงินที่เราสะสมมา จริงๆ แล้ววิธีลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านก็มีหลายหนทางอยู่นะ เช่น การทาสีเฉดสว่างภายในบ้าน การติดตั้งกันสาดบริเวณส่วนที่มีแดดส่องเข้าโดยตรง การติดตั้งฝ้าชายคาที่มีรูระบายอากาศ หรือการปลูกต้นไม้สร้างความชุ่มชื้นเติมความร่มเย็นให้กับตัวบ้าน ฯลฯ
รอบรั้วชายคาขอแชร์เรื่อง ‘ฉนวนกันความร้อน’ สำหรับใช้บนและใต้หลังคากัน เพราะหลังคาถือเป็นปราการด่านแรกที่ต้องรับกับแสงแดดเต็มๆ ดั้งนั้นฉนวนประเภทนี้จึงเปรียบเป็นอาวุธลับพิทักษ์บ้านที่คุณไม่ควรมองข้าม เด็ดขาด โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักด้วยกัน คือ
แบบแผ่น และแบบพ่น ส่วนวัสดุที่ใช้ทำฉนวนนั้นมีให้เลือกหลากชนิด ซึ่งคุณสมบัติก็จะแตกต่างกันไป อ๊ะแล้วมีอะไรบ้างนั้น ตามมาฟัง ตามมาล้วง... (สาระความรู้) และหยิบนำไปคลายความร้อนกันเลยจร้า แจกฟรี แจกฟรี
🌞วัสดุที่ใช้ทำฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น 🌞
อะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil)
ราคาประมาณ 60-70 บาท/ตร.ม.
ลักษณะเป็นแผ่นเงินๆ 2 หน้าบางๆ เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณโครงหลังคา ตัวแผ่นเหนียวไม่ฉีกขาดง่าย ข้อดีคือหาซื้อง่าย ราคาประหยัด ไม่มีสารพิษ แต่ทำหน้าที่เพียงสะท้อนความร้อนได้เพียงอย่างเดียว แต่ถ้าจะให้เหนือเมฆ กันร้อนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรใช้คู่กับฉนวนกันความร้อนประเภทอื่นๆ ก็จะแจ่มเลย
โฟม PE หรือโพลีเอธีลีนโฟม (Polyethylene Foam)
ราคาประมาณ 125-150 บาท/ตร.ม.
ลักษณะเป็นม้วนแผ่นยาว วัสดุโฟมประกบด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ 1 หรือ 2 ด้าน (มีหน้ากว้างหลายขนาด ความหนา 2-20 มม.) สามารถติดตั้งได้ทั้งตรงบริเวณโครงหลังคาหรือบนแป และปูเหนือฝ้าเพดานแบบ T-Bar และฝ้าแบบฉาบเรียบ จุดเด่นของวัสดุนี้คือ อะลูมิเนียมฟอยล์จะช่วยในการสะท้อนความร้อน ส่วนโฟมช่วยในเรื่องกันความร้อน แต่ถ้าใช้ไปนานๆ มักส่งผลให้กาวยึดระหว่าง PE และอะลูมิเนียมฟอยล์เสื่อมคุณภาพ รวมถึงโฟม PE ผสมสารกันไฟลามนั้นมีสารพิษที่ไม่เป็นมิตรต่อมนุษย์
แอร์บับเบิ้ล (Air Bubble)
ราคาประมาณ 300/ตร.ม.
วัสดุนี้หน้าตาจะละม้ายแผ่นพลาสติกกันกระแทก (ใครชอบบีบเม็ดมันให้แตกยกมือ 555) ซึ่งมีมวลอากาศอยู่ตรงกลางประกบด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ทั้งสองด้าน (หนาตั้งแต่ 4-16 มม.) ลักษณะเป็นแผ่นม้วนยาว ติดตั้งได้หลายตำแหน่ง บนฝ้า บนแป หรือใต้จันทัน ข้อเด่นคือตรงส่วนที่เป็นมวลอากาศทำหน้าที่ป้องกันความร้อนได้ดี ผสมสารกันไฟ จึงไม่ลามไฟ แต่ราคาสูงกว่า โฟม PE เกือบสองเท่า
ใยแก้ว (Fiberglass)
ราคาประมาณ 150-300 บาท/ตร.ม.
ฉนวนประเภทนี้เป็นใยแก้ว (ทำจากวัสดุขวดแก้วรีไซเคิล) ที่ถูกประกบด้วยแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ 1 หรือ 2 ด้าน ติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งบนแป ใต้แป บนจันทัน และปูเหนือฝ้าเพดาน ข้อดีคือเป็นวัสดุไม่ติดไฟ ติดตั้งง่าย เป็นมิตรต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญใยแก้วมีความหนาและประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนสูง
.
.
.
💨วัสดุที่ใช้ทำฉนวนกันความร้อนแบบพ่น💨
สีเซรามิกสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating)
ราคาประมาณ 200-250 บาท/ตร.ม.
สำหรับฉนวนชนิดนี้ลักษณะคล้ายสเปรย์ ประกอบไปด้วยเม็ดเซรามิกโบโรซิลิเกต (เซรามิกที่มีส่วนผสมของไบรอนไตรออกไซด์ที่คุณสมบัติทนความร้อนสูง) และส่วนผสมที่ช่วยสะท้อนรังสีความร้อน ซึ่งฉีดพ่นได้ทั้งบนหลังคาหรือใต้หลังคา ข้อดีคือมีความยืดหยุ่นสูง ช่วยในเรื่องการกันซึมและปกป้องการแตกร้าวของพื้นผิวหลังคาได้ แถมไม่ติดไฟ ปลอดภัยไร้สารพิษ แต่หากใช้ควบคู่กับฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นประเภทต่างๆ ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
โพลียูรีเทนโฟม (Rigid Polyurethane Foam)
ราคาประมาณ 250-400 บาท/ตร.ม.
วัสดุนี้ฉีดพ่นได้ทั้งบนฝ้า บนหลังคา และใต้หลังคา แถมสามารถใช้กับหลังคาได้หลากหลายประเภท ทั้งหลังคาเมทัลชีท หลังคากระเบื้องต่างๆ และหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อแห้งจะแข็งตัวประสานกับพื้นผิววัสดุต่างๆ ได้ดี ที่น่าสนใจคือ สามารถเลือกความหนาของโฟมที่พ่นได้ตามต้องการ (ยิ่งหนายิ่งดีเว่อร์) มีค่าการนำความร้อนต่ำกว่าวัสดุอื่นที่มีความหนาเท่ากัน ทนต่อความชื้น แถมเก็บเสียงได้ดี และทำหน้าที่เสมือนกาวสมานแผลเล็กแผลน้อยบนหลังคาได้อีกด้วย ข้อด้อยคือการเตรียมงานและขั้นตอนติดตั้งค่อนข้างยุ่งขิง ไม่ลามไฟก็จริงแต่หากเผาไหม้จะเกิดสารพิษมีผลต่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมีส่วนประกอบของฟลูออโรคาร์บอน (ซึ่งเป็นสารตัวหนึ่งคอยผลักดันหรือเร่งให้สารที่บรรจุอยู่ในภาชนะด้วยกันพ่นออกมาเป็นฝอย มักพบอยู่ในสเปรย์ฉีดผม สเปรย์ฆ่าแมลง หรือสเปรย์ระงับกลิ่นตัวเช่นกัน)
เยื่อกระดาษ (Cellulose)
ราคาประมาณ 300-400 บาท/ตร.ม.
วัสดุประเภทนี้จะประกอบด้วยเยื่อกระดาษที่ผสมกับกาว ฉีดพ่นได้เฉพาะบนฝ้าเพดานและใต้หลังคา จุดดีคือสามารถเลือกความหนาของเยื่อกระดาษที่พ่นได้ตามต้องการ (ยิ่งหนายิ่งดี) มีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดี ไม่ลามไฟ และป้องกันเสียงได้เวิร์คกว่าโพลียูรีเทนโฟม แต่จุดอ่อนคือไม่ทนต่อน้ำสักเท่าไหร่ ดังนั้นควรตรวจสอบรอยรั่วบนหลังคาให้ดีซะก่อนที่จะฉีดพ่น รวมถึงทำไปแล้วรื้อถอนค่อนข้างยาก และเพราะเป็นกาวที่ผสมกับในเยื่อกระดาษจึงไม่สามารถนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้
แถมท้ายนิด...ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อฉนวนกันความร้อน
📌การเลือกฉนวนกันความร้อนประสิทธิภาพดี แนะนำให้ดูค่า 2 ตัว คือ ค่า ‘K’ คือค่าการนำพาความร้อน (Conductivity) และค่า ‘R’ ค่าการต้านทานความร้อน (Resistivity ) โดยฉนวนกันความร้อนที่ดีควรมีค่า K น้อย และค่า R มาก ซึ่งสังเกตได้บนฉลากของบรรจุภัณฑ์
📌หากฉนวนมีความหนามาก มีค่าการต้านทานความร้อนสูง (R) = ยิ่งกันความร้อนได้ดี
📌 ฉนวนกันความร้อนที่นิยมใช้กับที่พักอาศัยส่วนใหญ่ คือ ฉนวนใยแก้ว อะลูมิเนียมฟอยล์ และโพลีเอธิลีนโฟม
สำหรับใครที่ติดฉนวนกันความร้อนไปแล้ว มาแชร์กันหน่อยว่าที่บ้านร้อนน้อยลงกันหรือเปล่า ถ้าใครยังไม่ได้ติด ก็ควรพิจารณาติดกันนะ
ถึงจะหน้าฝนแล้ว แต่อย่าลืมว่าเมืองไทย มีหน้าร้อนแฝงอยู่ทุกฤดูที่แตกต่าง…. 🎤“อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง” 🎼 ไปกินไอติมแป๊บ บาย
ข้อมูลอ้างอิง
ฉนวนกันความร้อน #อาวุธลับดับร้อนที่ของในบ้านมันต้องมี
รอบรั้วชายคาขอแชร์เรื่อง ‘ฉนวนกันความร้อน’ สำหรับใช้บนและใต้หลังคากัน เพราะหลังคาถือเป็นปราการด่านแรกที่ต้องรับกับแสงแดดเต็มๆ ดั้งนั้นฉนวนประเภทนี้จึงเปรียบเป็นอาวุธลับพิทักษ์บ้านที่คุณไม่ควรมองข้าม เด็ดขาด โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักด้วยกัน คือ แบบแผ่น และแบบพ่น ส่วนวัสดุที่ใช้ทำฉนวนนั้นมีให้เลือกหลากชนิด ซึ่งคุณสมบัติก็จะแตกต่างกันไป อ๊ะแล้วมีอะไรบ้างนั้น ตามมาฟัง ตามมาล้วง... (สาระความรู้) และหยิบนำไปคลายความร้อนกันเลยจร้า แจกฟรี แจกฟรี