FROM MONET TO KANDINSKY เป็นนิทรรศการที่รวบรวมศิลปินชื่อดังในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกผู้เป็นดั่งมาสเตอร์ของงานศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) มากถึง 16 ท่านเพื่อมาจัดแสดงให้ชมบนพื้นที่กว่า1,200 ตารางเมตร ณ อาร์ซีบี แกลเลอเรีย ชั้น 2 ซึ่งเป็น Contemporary Art Space ของศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก อีกทั้งเป็นการมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมผ่านการฉายโปรเจ็กเตอร์แบบ HD ซึ่งมีทั้งภาพกราฟิคอนิเมชั่นและดนตรีที่จะพาผู้ชมเดินทางไปสัมผัสกับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร
สำหรับรายชื่อศิลปินที่มีผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการ FROM MONET TO KANDINSKY คือ โคลด โมเนต์ (Claude Monet) เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) พอล โกแก็ง (Paul Gaugin) อ็องรี รูสโซ (Henri Rousseau) อ็องรี ตูลูส-โลเทร็ค (Henri Toulouse-Lautrec) กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) พอล ซีญัค (Paul Signac) ปีด โมนดรียาน (Piet Mondrian) อเมเดโอ โมดิกลิอานี (Amedeo Modigliani) วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) ปิแอร์ ออกัสต์ เรอนัวร์ (Pierre August Renoir) ฮวน กรี (Juan Gris) พอล เคล (Paul Klee) เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edward Munch) คาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) และวาซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky) ซึ่งศิลปินทั้งหมดนี้มีสิ่งหนึ่งร่วมกันคือการปฏิเสธสไตล์ต่างๆ ในอดีตและพวกเขาได้มุ่งไปที่สิ่งใหม่ๆ และทดลองใช้รูปแบบ วัสดุ และเทคนิคที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหารูปแบบทางทัศนศิลป์อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของยุคสมัย ส่วนนิทรรศการ ITALIAN RENAISSANCE นำเสนอผลงานของ 3 ศิลปินอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงแห่งยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) คือ ไมเคิล แองเจโล (Michael Angelo) ดา วินชี (Da Vinci) และราฟาเอล (Raphael)
FROM MONET TO KANDINSKY คือการเดินทางไปสู่โลกแห่งศิลปะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมและสังคมกำลังเข้าสู่การปฏิวัติอย่างแท้จริง ทุกๆ ปีเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง โรงภาพยนตร์ เครื่องพิมพ์ดีด ไฟฟ้า เครื่องบิน โทรศัพท์ เครื่องเอ็กซ์เรย์ และในช่วงที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั่วโลกก็ตื่นตระหนกไปกับความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามอันนำมาซึ่ง
การเคลื่อนไหวทางศิลปะ (art movement) หรือกลุ่มลัทธิทางศิลปะต่างๆ เช่น กลุ่มลัทธิเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ศิลปะนามธรรม (Abstract Art) กลุ่มลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) และกลุ่มลัทธิอนุตรนิยม หรือซูพรีมาติสม์ (Suprematism) และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดรวมเรียกว่า “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) ในเวลาต่อมา
ผลงานจิตรกรรมของศิลปินในกลุ่มโมเดิน์นนิสม์มักเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ซ่อนเร้นอยู่ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา จึงต้องเดินชมโดยรอบเพื่อเปิดประสบการณ์ในพื้นที่จัดแสดงซึ่งแตกต่างจากนิทรรศการโดยทั่วไปเสมือนเป็นการปลุกชีวิตภาพงานศิลปะให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลเพราะเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว งานศิลปะของศิลปินกลุ่มโมเดิร์นนิสต์ผู้บุกเบิกอนาคตแห่งเทคโนโลยี
โซนแสดงชีวประวัติของศิลปิน
ความรู้สึกส่วนตัวหลังจากผมได้เข้าชมงานนิทรรศการในครั้งนี้
ตัวผมไม่ได้เป็นผู้เชียวชาญทางด้านศิลปะและไม่ได้เรียนจบมาทางด้านศิลปะด้วย ผมเข้าชมงานนี้ในฐานะคนที่สนใจเสพงานศิลป์เท่านั้น เมื่อมีงานนิทรรศการทางศิลปะดีๆ จัดแสดงผมมักจะไปเดินชมงานเสมอ สำหรับงานนิทรรศการครั้งนี้ ผมได้บัตรมาจากคนอื่นที่ซื้อบัตรให้ (บัตรราคา 350 บาท / นักศึกษา,คนชรา 60 ปีและเด็ก 250 บาท) ดังนั้นเมื่อผมมีโอกาสได้เข้าชมแล้ว ผมก็อยากจะเอารายละเอียดบางส่วนที่ผมเองพอจะเข้าใจมานำเสนอให้แก่ท่านอื่นที่สนใจบ้าง
สำหรับงานนิทรรศการนี้ ผมคิดว่าถ้าท่านจะเข้าไปชมงานคุ้มค่ากับค่าบัตรผ่านประตูแล้ว ผมคิดว่าท่านควรจะมีเวลาว่างๆ สัก 3 ชั่วโมง (สามารถเข้าชมได้ไม่กำจัดเวลา ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม) เพื่อนั่งเสพวีดีโอมัลติมีเดียที่จัดแสดงในงานให้ครบถ้วน แล้วท่านก็ออกมาชมงานนิทรรศการในส่วนที่เป็นชีวประวัติของศิลปิน เพื่อที่ท่านจะได้เข้าใจในชิ้นงานที่ตัวนิทรรศการนำเสนอ
สำหรับการใช้วีดีโอมัลติมีเดียนั้น ผมคิดว่าเป็นการเล่าเรื่องที่แปลกสำหรับผม ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ทางผู้จัดงานต้องการจะบอกให้ผู้ชมรับทราบนั้น คือการนำเอาตัวชิ้นงาน (ผลงานของศิลปิน) มาเรียงร้อยเล่าเรื่องในวิธีการที่แตกต่างออกไป เป็นการสร้างความน่าสนใจในการนำเสนอ ส่วนตัวแล้วผมชอบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัววีดีโอมัลติมีเดียที่จัดแสดง อาทิเช่น เอฟเฟ็กซ์พิเศษที่ทำให้ตัวชิ้นงานที่เป็นภาพนิ่งนั้นดูเหมือนเคลื่อนไหวได้ , เทคนิคพิเศษที่ทำให้รูปทรงของชิ้นงานดูบิดเบี้ยวหรือเปลี่ยนแปลงขนาดได้อย่างกลมกลืน , เสียงเพลงบรรเลงที่เปิดคู่ไปกับภาพมัลติมีเดียสามารถสร้างจินตนาการให้แก่ผู้ชมได้ , เพลงประกอบบางเพลงฟังแล้วรู้สึกว่าสว่างจ้าเข้ากับตัวชิ้นงาน , บางเพลงฟังแล้วดูเหมือนมีจังหวะที่เร่งเร้าเคลื่อนไหว , บางเพลงก็ดูเหมือนสร้างอารมณ์เงียบสงบก่อเกิดสมาธิในการชมได้ ฯลฯ
แต่ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรกับภาพรวมของงานนิทรรศการครั้งนี้ ผมเชื่อว่าความรู้สึกของแต่ละท่านอาจจะแตกต่างกันออกไปก็ได้ โดยความพึงพอใจของการชมงานฯ อาจจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ , การเสพงานศิลปะ , การตีความ ฯลฯ ถ้าเป็นเรื่องของงานศิลปะแล้วผมคิดว่าไม่มีอะไรที่ผิดหรือถูกอย่างชัดเจน แต่ที่สำคัญที่สุดขึ้นอยู่ว่าตัวงานศิลปะนั้นจะกระแทกกับความรู้สึกของผู้ชมได้มากหรือน้อยขนาดไหน?
ในงานนิทรรศการ From Monet to Kandinsky สามารถบันทึกภาพได้ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ท่านสามารถเอากล้องชนิดต่างๆ เข้าไปถ่ายภาพในงานนิทรรศการได้
คลิปตัวอย่างของการแสดงวีดีโอมัลติมีเดีย
นิทรรศการศิลป์มัลติมีเดีย FROM MONET TO KANDINSKY