##### อาร์เซนอลในวันนี้ ในมือสแตนโครเอเก้น #####

#วิเคราะห์บอลจริงจัง




ตั้งแต่วันแรกที่สแตน โครเอนเก้ เข้ามาซื้อหุ้นอาร์เซน่อล ถึงวันนี้ผ่านไปแล้ว 11 ปี

ให้ทายว่า เขาควักเงินส่วนตัวออกมาจ่ายให้สโมสรไปแล้วกี่ปอนด์

เฉลย - คำตอบคือ 0 ปอนด์

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ โครเอนเก้ มหาเศรษฐีที่มีสินทรัพย์ 8000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่เคยออกเงินตัวเองเพื่อสโมสรเลยแม้แต่เพนนีเดียว

ไม่แปลกเลยใช่ไหม ที่แฟนบอลปืนใหญ่ทั่วโลก จะโกรธแค้นการบริหารงานของเขาขนาดนี้

คำถามคือ เรื่องมันออกมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร แล้วทำไมไปๆมาๆ โครเอนเก้ ถึงกลายเป็นเจ้าของอาร์เซน่อลอย่างสมบูรณ์

วิเคราะห์บอลจริงจังจะย้อนอดีตให้ฟัง

--------------------------------------

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ฟุตบอลอังกฤษกลับมาเตะกันอีกครั้ง

ณ เวลานั้น อาร์เซน่อล มีเจ้าของร่วม 2 คน ชื่อซามูเอล ฮิลล์-วู้ด กับ เบรซเวลล์ สมิธ ทั้งคู่เป็นนักการเมืองของพรรคอนุรักษนิยม

ในยุคนั้น สโมสรฟุตบอลไม่ได้ทำกำไรให้เจ้าของหรอก ตรงกันข้าม คนเป็นเจ้าของมีหน้าที่ต้องควักเงินตัวเองเป็นหลัก ในการจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะและสตาฟฟ์ รวมถึง ค่าจัดการต่างๆในสโมสร

ถ้าหากค่าตั๋ว หรือค่าโฆษณาไม่เพียงพอ ก็ต้องเอาเงินเจ้าของนี่ล่ะไปโปะ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ฟุตบอลคือกีฬาอันดับ 1 ในประเทศ ทำให้เหล่านักการเมืองก็เห็นประโยชน์ของการเป็นเจ้าของเช่นกัน นั่นคือ สามารถสร้างฐานเสียง และความนิยมให้กับตัวเองได้สบายๆ

หุ้นส่วนของอาร์เซน่อล ในช่วงปี 1945-1949 จึงเป็นของซามูเอล ฮิลล์-วู้ด กับ เบรซเวลล์ สมิธ แบบ 50%-50%

---------------------------------------

50% ของซามูเอล ฮิลล์-วู้ด ถูกถ่ายทอดในตระกูล

หลังซามูเอลเสียชีวิตในปี 1949 หุ้นได้โอนต่อไปให้ลูกชาย เดนิส ฮิลล์-วู้ด และหลังเดนิสเสียชีวิตในปี 1982 หุ้นถูกโอนต่อไปให้ลูกชายของเขาอีกทอด ที่ชื่อ ปีเตอร์ ฮิลล์-วู้ด

ขณะที่หุ้นอีก 50% ของเบรซเวลล์ สมิธ หลังจากเขาเสียชีวิตในปี 1966 ก็ถูกแบ่งให้ ลูกชายคนโต จอร์จ และลูกสาว ไอลีน คนละ 25%

หลังจอร์จ เบรซเวลล์-สมิธ เสียชีวิต หุ้น 25% ในมือถูกโอนต่อไปให้ลูกชายชาร์ล ขณะที่ลูกสาวไอลีน ไปแต่งงานกับแฮร์รี่ คาร์ และเปลี่ยนนามสกุลเป็น ไอลีน คาร์

หลังไอลีน คาร์ เสียชีวิตได้แบ่งหุ้น ให้ลูกๆทั้ง 3 คนของเธอ คือ ไคลฟ์ คาร์ (ลูกชายคนโต), ริชาร์ด คาร์ (ลูกชายคนรอง) และ ซาร่า คาร์ (ลูกสาวคนเล็ก)

สรุปคือในปี 1982 หุ้นส่วนของอาร์เซน่อล อยู่ในมือของเจเนเรชั่น "หลาน" ทั้งหมด โดยประกอบไปด้วย

50% - ปีเตอร์ ฮิลล์-วู้ด
25% - ชาร์ล เบรซเวลล์-สมิธ
25% - ไคลฟ์ คาร์ ,ริชาร์ด คาร์ และ ซาร่า คาร์

จะเห็นได้ว่าอาร์เซน่อลในยุคอดีต จะถูกควบคุมโดยสองตระกูลคือ ฮิลล์-วู้ด และ เบรซเวลล์-สมิธ มาตลอดหลายสิบปี

แต่นับจากปี 1983 ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อปีเตอร์ ฮิลล์-วู้ด ขายหุ้นให้กับเดวิด ดีน นักธุรกิจวัย 40 ปี ที่มีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ คือพาอาร์เซน่อลพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ใช่บริหารกันเองในครอบครัวอีกต่อไป

เดวิด ดีน กว้านซื้อหุ้นมาครอบครองเรื่อยๆ จากผู้ถือหุ้นแต่ละคน คนละนิดละหน่อย จนสุดท้ายในปี 1991 เขารวมหุ้นได้ 42% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสร

จากนั้นอาร์เซน่อลก็มีการขายหุ้นกันไปมากันมั่วไปหมด คนที่ถือหุ้นก้อนใหญ่ๆ ก็ขายเศษเล็กๆให้นักธุรกิจที่พร้อมจะเปย์เงิน ทำให้อาร์เซน่อลในยุค 90 มีเจ้าของรวมๆกันมากถึง 1,200 คน

--------------------------------------

หลังจากอาร์เซน่อล ย้ายสนามจากไฮบิวรี่ มาเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ในปี 2006 ทีมปืนใหญ่ก็มีหนี้สินพะรุงพะรังมากมาย

หนี้ของอาร์เซน่อลมากเสียจน สโมสรไม่สามารถควักเงินก้อนโตมาซื้อผู้เล่นชั้นนำได้อีกต่อไป

นั่นทำให้ กลุ่มผู้บริหารเดิมมองว่า ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ล่ะก็ อนาคตต่อไปของอาร์เซน่อลคงมืดมนแน่ๆ

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการขายหุ้นให้เศรษฐีมาเทกโอเวอร์ พอถูกเทกโอเวอร์ พวกเขาเหล่านั้นก็จะเอาเงินส่วนตัวมาชำระหนี้ของสโมสร และ ป้อนเงินให้สโมสรเอาไปซื้อนักเตะราคาแพงๆ

โมเดลนี้ อาร์เซน่อลเห็นมาจาก โรมัน อบราโมวิช ของเชลซี ที่เข้ามาเป็นเจ้าของใหม่ และทำเพื่อทีมอย่างเต็มที่ทุกอย่าง ควักเงินส่วนตัวมากมาย จนเชลซีซื้อผู้เล่นบิ๊กเนม ก่อนซิวแชมป์พรีเมียร์ลีกมาครองได้สำเร็จ

เดวิด ดีน จึงตัดสินใจขายหุ้นของตัวเอง ให้อลิเชอร์ อุสมานอฟ เศรษฐีชาวรัสเซีย ที่เขาเชื่อว่าพร้อมจะลงทุนให้ทีมไม่ต่างกับอบราโมวิช

เดือนกรกฎาคม 2007 อุสมานอฟพอได้หุ้น 14.58% จากเดวิด ดีน เขาก็พยายามไปไล่ขอซื้อส่วนเล็กๆจากผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ได้เยอะที่สุด

เป้าหมายของอุสมานอฟ คือการซื้อหุ้นให้เกิน 51% เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของสโมสร และจะสามารถมีอำนาจสั่งการได้ทุกอย่าง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อาร์เซน่อล เป็นทีมกีฬาขนาดใหญ่ของยุโรป จึงไม่ใช่มีแค่ อุสมานอฟ คนเดียวที่สนใจ อีกหนึ่งนักธุรกิจ ที่ต้องการเป็นเจ้าของอาร์เซน่อลเช่นกัน ชื่อ สแตน โครเอนเก้ เศรษฐีชาวอเมริกัน

โครเอนเก้ เป็นอดีตนักอสังหาริมทรัพย์มาก่อน จากนั้นเขาเริ่มลงทุนธุรกิจทางกีฬา โดยการซื้อทีมกีฬาจำนวนมากมาครอบครอง ทั้งเซนต์หลุยส์ แรมส์ ทีม NFL ,เดนเวอร์ นักเกตส์ ทีม NBA รวมไปถึง โคโลราโด้ ราปิดส์ ทีมเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ MLS

เป้าหมายต่อไปของโครเอนเก้ คือการมีทีมกีฬาในต่างแดนบ้าง ดังนั้นเขาจึงเดินหน้าไล่ซื้อหุ้นอาร์เซน่อล สู้กับอุสมานอฟ เพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งว่าใครจะถือหุ้นใหญ่สุดของสโมสรก่อนกัน

ทั้งอุสมานอฟ และ โครเอนเก้ รวยทั้งคู่ มีเงินมากพอในการซื้อหุ้นของอาร์เซน่อล อยู่ที่ว่าใครจะโน้มน้าวผู้ถือหุ้นได้ดีกว่า

ธันวาคม 2008 อุสมานอฟ ถือหุ้นในมือได้ 24% ขณะที่โครเอนเก้ กว้านซื้อหุ้นมาได้ 12.4% ทั้งคู่ยังเบียดกันอยู่

--------------------------------------

ต้นปี 2009 มีคนถือหุ้นอาร์เซน่อลอยู่นับพัน แต่ส่วนใหญ่ก็ถือไว้ ไม่ถึง 0.1% ด้วยซ้ำ

คนที่ถือหุ้นอาร์เซน่อลมากกว่า 1% ณ เวลานั้น มีแค่ 5 คนเท่านั้น

24.1% - ดาเนียล ฟิสซ์แมน เพื่อนสนิทของเดวิด ดีน
15.9% - นีน่า เบรซเวลล์-สมิธ
4.4% - ริชาร์ด คาร์
24% - อลิเชอร์ อุสมานอฟ
12.4% - สแตน โครเอนเก้

ดาเนียล ฟิสซ์แมน, นีน่า เบรซเวลล์-สมิธ และ ริชาร์ด คาร์ แต่ละคนล้วนอายุมากแล้ว และพวกเขาไม่ใช่มืออาชีพเรื่องการบริหารทีมกีฬา ดังนั้น ทั้ง 3 คน จึงคิดว่า ก็โอเค ถ้าจะปล่อยขายหุ้นของตัวเอง ให้กับคนที่มีความพร้อม ที่จะพัฒนาอาร์เซน่อลให้ก้าวไปข้างหน้า

ดังนั้นจึงต้องเลือกข้าง ว่าจะขายให้ใครดี จะเป็นเศรษฐีรัสเซีย- อุสมานอฟ หรือเป็นเศรษฐีอเมริกัน - โครเอนเก้

สุดท้าย ด้วยความที่อุสมานอฟ เป็นนักธุรกิจสายเทเลคอม และ อินเตอร์เน็ต มันทำให้ผู้ถือหุ้นกังวลใจว่า จะมีความรู้ในการบริหารทีมกีฬาได้ดีจริงๆหรือ

ตรงข้ามกับโครเอนเก้ ที่พาทีมกีฬาประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย เซนต์หลุยส์ แรมส์ จากทีมที่ไม่มีอะไรเลย เขาก็ยังสร้างทีมให้มี The Greatest show on turf และคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ได้ ในปี 2000

ดูความถนัดในการบริหารทีมกีฬา ฝั่งโครเอนเก้ จะเหนือกว่า

ดังนั้นทั้ง 3 คน จึงตัดสินใจเทขายหุ้นให้ฝั่งโครเอนเก้

ซึ่งนั่นก็แปลว่า ตอนนี้เกมโอเวอร์แล้ว คืออุสมานอฟ ไปไล่ซื้อหุ้นจากรายย่อยจนรวมได้ถึง 30.04% แต่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะโครเอนเก้ มาแรงแซงโค้ง เขาถือหุ้นถึง 67.09% ในมือ มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจทุกอย่างของสโมสร

เมื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โครเอนเก้ สั่งห้ามไม่ให้คนของอุสมานอฟ เข้ามาเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารสโมสร เท่ากับว่า อุสมานอฟได้แต่ถือหุ้น 30.04% แต่ไม่สามารถมีส่วนกับการตัดสินใจอะไรของอาร์เซน่อลได้เลย

สุดท้าย ถือหุ้นไปก็ไร้ประโยชน์ ก็ได้แค่เป็นเจ้าของแบบบริหารทีมไม่ได้ อุสมานอฟ จึงยอมขายหุ้นของตัวเองให้กับโครเอนเก้ ในราคา 550 ล้านปอนด์

โครเอนเก้ เมื่อซื้อจากอุสมานอฟมาได้ ทำให้เขาครองหุ้น 97.13% ในมือ ตามกฎการเทคโอเวอร์ในสหราชอาณาจักร หากใครก็ตามถือหุ้นเกิน 90% แล้ว ผู้ถือหุ้นรายย่อย จะโดนบีบให้ขายทิ้งในราคาตลาด

สุดท้ายโครเอนเก้ ไล่เก็บเศษที่เหลือจนครบ และหุ้นอาร์เซน่อล 100% กลายเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว

--------------------------------------

อย่างไรก็ตาม พอโครเอนเก้ เข้ามาเป็นเจ้าของอาร์เซน่อล สิ่งที่ทำให้หลายคนเซอร์ไพรส์คือ เขาไม่ควักเงินของตัวเองเลย

ท่าที ที่มุ่งมั่นตอนตั้งใจจะเป็นเจ้าของทีม กับตอนที่ได้เป็นเจ้าของทีมแล้ว ต่างกันโดยสิ้นเชิง

เขาใช้การบริหารทีมกีฬาแบบ คุณหารายได้เท่าไหร่ คุณก็ใช้เท่านั้นสิ จะให้ผมควักเงินแบบอบราโมวิชหรอ ไม่หรอก เราไม่ได้บริหารงานกันแบบนั้น

ความลำบากจึงตกมาอยู่ที่ผู้จัดการทีมอย่างอาร์แซน เวนเกอร์อย่างช่วยไม่ได้จริงๆ

จากที่อาร์เซน่อลหวังว่าจะโชคดี มีเจ้าของเป็นเศรษฐีแล้วจะช่วยทำให้ระบบการเงินนั้นคล่องตัวขึ้น แต่ความจริงแล้ว ก็ยังคงต้องดิ้นรนเหมือนเดิม

รายได้ของสโมสรอาร์เซน่อล ในแต่ละซีซั่น มาจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีก ค่าตั๋วเข้าชมเกม และของที่ระลึก แต่ทั้งหมดนั้น ก็ต้องเอาไปโปะหนี้ที่สร้างสนาม

มันแปลว่า เวนเกอร์ ในช่วง 10 ปีหลังของเขา แทบไม่มีเงินซื้อนักเตะใหม่ แต่ต้องพยายามประคับประคองทีมให้จบท็อปโฟร์ให้ได้ทุกปี เพราะถ้าเข้าไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกได้ อย่างน้อยก็จะได้เงินจากบอลยุโรปเอามาหล่อเลี้ยงสโมสร

เวนเกอร์ กลายเป็นคนที่ต้องแบกรับทุกอย่าง เงินไม่มีก็ต้องหาผู้เล่นไปขายเพื่อหาเงิน ขณะที่ผลงานในสนามก็ต้องประคองตัวให้ดี เพราะถ้าไม่ดีก็โดนแฟนๆด่าอีก

สำหรับโครเอนเก้ ไม่เพียงแค่ ไม่เอาเงินของตัวเองช่วยสโมสรซื้อนักเตะ แต่ยังเอาเงินกำไรของอาร์เซน่อล ออกไปใช้จ่ายส่วนตัวอีกด้วย โดยสื่อเชื่อว่า โครเอนเก้เอาเงินไปหมุนสภาพคล่องให้กับทีมกีฬาในสหรัฐฯ ที่เขาเป็นเจ้าของอยู่

ถึงจุดนี้ แฟนอาร์เซน่อลที่อังกฤษ จึงกลับมาตั้งคำถามว่า ที่คุณมาซื้อทีม เหตุผลคือเห็นเราเป็นบ่อเงินบ่อทองงั้นหรือ?

นี่คุณไม่มีแนวโน้มจะอยากพัฒนาทีมแบบสโมสรอื่นๆเลยนี่หว่า ดูอย่างเชลซี มีอบราโมวิช , แมนฯซิตี้ มีกลุ่มทุนอาบูดาบี ,เลสเตอร์ มีตระกูลศรีวัฒนประภา ทีมเหล่านี้ มีเจ้าของต่างชาติเหมือนกัน แต่ความตั้งใจเพื่อสโมสรนั้นต่างกับโครเอนเก้ แบบคนละเรื่องเลย

ในภายหลัง นีน่า เบรซเวลล์-สมิธ ผู้ขายหุ้น 15.9% ของตัวเองให้โครเอนเก้ ออกมายอมรับว่า

How deeply I regret selling to Kroenke

เธอเสียใจมากจริงๆ ที่เลือกขายหุ้นให้กับโครเอนเก้

กว่าจะรู้ตัวว่าเลือกชอยส์ผิด มันก็สายเกินไปแล้ว

--------------------------------------

แฟนอาร์เซน่อลตอนนี้จึงอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

เพราะหุ้น 100% มันเป็นของโครเอนเก้ มันก็แปลว่าสินทรัพย์ทุกสิ่งทุกอย่าง คือกรรมสิทธิ์ของเขาทั้งหมด เขาอยากจะเล่นแร่แปรธาตุ ชักเงินเข้าออกอย่างไร ก็ทำได้หมด มันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของความเป็นเจ้าของ

จะไปฟ้องร้องทางกฎหมาย? คือคุณจะฟ้องอะไรล่ะ ก็นี่มันสโมสรของเขานี่

แฟนปืนใหญ่จึงได้แต่กดดันให้โครเอนเก้ แสดงสปิริตขายหุ้นไปซะ เพื่อให้เจ้าของใหม่เข้ามาบริหารแทน แต่คือโครเอนเก้จะทำแบบนั้นทำไมล่ะ ในเมื่ออาร์เซน่อล กับพรีเมียร์ลีก คือขุมทองที่ทำกำไรได้ทุกปีแบบไม่มีวันหมด

คนอยากซื้อน่ะมีเยอะ แต่เมื่อคุณมีไก่ที่ออกไข่เป็นทองคำ การเก็บมันไว้นอนกินไปเรื่อยๆ คอยดูมูลค่าสโมสรที่เพิ่มขึ้นทุกปี มันก็ดีกว่าไม่ใช่หรอ

--------------------------------------

คนที่น่าสงสารที่สุดก็คงไม่พ้นแฟนบอลผู้จงรักภักดี เพราะต่อให้เกลียดเจ้าของแค่ไหน แต่คนมันรักทีมไปแล้ว ก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเชียร์กันต่อไป

แม้หนทางข้างหน้าจะมืดแค่ไหน ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ได้แต่เดินหน้าต่อไป

เพระมันทำได้แค่นั้นจริงๆ

#Arsenal
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่