31 เกร็ดน่ารู้ >>ก่อนดู Godzilla: King of the Monsters (by Filmaneo)

ภาพยนตร์เกี่ยวกับสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์อันโด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น 'ก็อดซิลลา' ภาคแรก เป็นหนังขาวดำที่เผยแพร่เมื่อค.ศ. 1954
และมันก็ได้รับความนิยมอย่างสูงจนมีการผลิตผลงานซึ่งเกี่ยวข้องกับก็อดซิลลาออกมาอีกเรื่อยๆ

หลังภาพยนตร์ถูกเผยแพร่เกือบ 30 เรื่อง, หนังก็อดซิลลาของทางญี่ปุ่นก็หยุดพักได้ราว 10 ปี (ภาคสุดท้ายก่อนเว้นช่วงคือ Godzilla: Final Wars ที่ฉายค.ศ. 2004)
ก่อนภาพยนตร์ก็อดซิลลาฉบับฮอลลีวูดซึ่งคนฝั่งซีกโลกตะวันตกเป็นผู้ผลิต
'Godzilla' ปี 2014 ที่ผู้กำกับกาเร็ธ เอ็ดเวิร์ดส์สร้าง จะได้ฉาย

แม้หนังใช้กลวิธีเล่าเรื่องแบบแอบซ่อนตัวก็อดซิลลากับศัตรูของมันเกือบตลอดเรื่อง
แต่ก็อดซิลลา 2014 ก็ทำรายรับรวมทั่วโลกสูงถึง 529 ล้านดอลลาร์
หนังทุนสร้าง 160 ล้านจึงถูกมองว่ามีศักยภาพพอจะจุดประกายแฟรนไชส์ใหม่

Godzilla 2014 เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ 'จักรวาลหนังสัตว์ประหลาด' (The MonsterVerse)
และแผนการที่ทางผู้สร้างวางไว้ คือปล่อยหนังของสัตว์ประหลาดสุดโด่งดังฝั่งตะวันตก 'Kong: Skull Island' มาแนะนำตัววานรยักษ์ 'คิงคอง' ฉบับปี 2017
ตามด้วยฉายภาคต่อของก็อดซิลลา 2014 เรื่อง 'Godzilla: King of the Monsters' ในค.ศ. 2019 นี้
ก่อนพาราชาวานรเข้าปะทะก็อดซิลลาใน Godzilla vs. Kong ปีหน้า (2020)


Godzilla: King of the Monsters จะขนสัตว์ประหลาดตัวเด่นๆ จากในงานต้นฉบับของทางญี่ปุ่น อย่างนกยักษ์โรแดน, ผีเสื้อขนาดมหึมา/มอธรา และมังกร 3 หัว/กิโดรา มาพร้อมหน้า จึงถือเป็นผลงานน่าจับตามอง
และสื่อต่างประเทศก็ได้ทำหลายอย่างเพื่อตอบสนองความสนใจ เช่น เยี่ยมเยือนกองถ่าย, สอบถามนักแสดง และสัมภาษณ์ผู้กำกับภาคนี้ 'ไมเคิล โดเฮอร์ตี้' ไว้หลายเรื่อง

ข้อมูลจากภาพงานออกแบบ (Concept Art)

สื่อที่ไปเยือนกองถ่ายเล่าว่า ในห้องประชุมแผนการของทีมสร้าง มีภาพงานออกแบบวางไว้ให้เห็นเยอะแยะ และมันก็ทำให้พวกเขาเล็งเห็นว่า

[1] หนังเปิดเรื่องด้วยฉากโรงเก็บดักแด้ของมอธรา

[2] โรแดนและมอธรา จะปะทะกับก็อดซิลลาและกิโดราหลายต่อหลายครั้ง

[3] กิโดราจะถล่มเฟนเวย์ ปาร์คจนเละ (สนามกีฬาเบสบอลในเมืองบอสตัน/รัฐแมสซาชูเซตส์)

[4] ภูเขาไฟที่โรแดนผุดออกมาอยู่ในแถบประเทศเม็กซิโก


[5] หนังจะมีฉากไล่ล่ากลางเวหาของยานพาหนะที่คนของโมนาร์คใช้
ซึ่งมันถูกเรียกว่า 'อาร์โก้' (ชื่อเรือของเจสัน/วีรบุรุษในเทพนิยายกรีก ผู้ออกเรือเพื่อค้นหาขนแกะทองคำ)

[6] คิงคองจะไม่ปรากฏตัวในหนัง และมีเพียงฉากที่กล่าวถึงหรือบอกใบ้เกี่ยวกับมันไว้เท่านั้น

[7] น้ำแข็งที่กิโดราจะทลายออกมา อยู่ในฐานทัพแถบแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้)


ฐานทัพขั้วโลกขององค์กรเฝ้าระวังสัตว์ประหลาด 'โมนาร์ค' (Monarch) 

[8] ฉากฐานทัพขั้วโลกไม่ได้ใช้หิมะของจริง แต่ใช้ดีเกลือฝรั่ง (Epsom salts/แมกนีเซียมซัลเฟต) กว่า 44,000 ปอนด์ (ประมาณ 20,000 กิโลกรัม) มาทำเป็นของเทียมแทน

[9] ณ จุดหนึ่งของภาพยนตร์, ตัวละครส่วนใหญ่ในหนังจะมารวมตัวกันที่นี่

[10] ฉากนี้ดูเหมือนเต็มไปด้วยหิมะ แต่เวลาย่ำจริงๆ รู้สึกเหมือนวิ่งบนทราย

รายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ จากปากคำผู้กำกับไมเคิล โดเฮอร์ตี้ 

[11] หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ภาคแรกที่ฉายเมื่อ ค.ศ. 2014 ประมาณ 5 ปี

"เวลาในหนังเรื่องนี้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เราวางเหตุการณ์ภาคแรกไว้แถวปี 2014  ฉะนั้นภาคสองก็อยู่ที่ราวๆ 5 ปีต่อมา แต่ไม่ใช่ว่าจู่ๆ พวกสัตว์ประหลาดพากันโผล่แบบไร้ที่มา พวกมันอยู่ที่นี่ก่อนหน้าพวกเรา  แนวคิดของหนังคือโลกเป็นของพวกมัน  พวกเราต่างหากคือสายพันธุ์ผู้รุกราน แล้วเพิ่งมาค้นพบสิ่งที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าตัวเองเข้า"

[12] Godzilla: King of the Monsters เป็นเหมือนหนัง Alien ภาค 2 ของผู้กำกับเจมส์ คาเมรอน (แปลว่าบู๊จัดหนักกว่าเก่า) และจะมุ่งเน้นไปที่องค์กรโมนาร์คซึ่งคอยศึกษาพวกสัตว์ประหลาดมากขึ้น

[13] โดเฮอร์ตี้อยากให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ในหนังเป็นฮีโร่ที่จะช่วยมนุษย์จากภัยพิบัติสัตว์ประหลาด เหมือนที่พวกเขากำลังช่วยเราจากภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน


[14] เขาลงแรงตัดต่อคลิปรวมเสียงของพวกสัตว์ประหลาดในหนังต้นฉบับ(ญี่ปุ่น) ด้วยตนเอง แล้วส่งให้ทีมงานที่ดูแลเรื่องเสียงในภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโครงการ

[15] เขาเปิดเสียงของเหล่าสัตว์ประหลาดให้บรรดานักแสดงฟังขณะถ่ายทำด้วย เพื่อช่วยให้นักแสดงเข้าถึงบทบาทง่ายขึ้น

[16] ทีมงานออกแบบสัตว์ประหลาดโดยเริ่มจากร่าง 'เงา' ของพวกมัน เพื่อให้เห็นภาพทั้งตัวชัดเจนและแน่ใจว่าสัตว์ประหลาดบางตัว เช่น กิโดรา จะดูเป็นมังกรแนวตะวันออกจริงๆ ไม่ใช่ไปดูเหมือนมังกรแนวตะวันตกแบบในซีรีส์ Game of Thrones
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่