ทำไมผู้ใหญ่หยาบคายกับเด็กได้ แต่เด็กหยาบคายกับผู้ใหญ่ไม่ได้

เรากำลังหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเพราะอะไรกันแน่ เด็กไทยถูกสอนมาว่าต้องสุภาพกับผู้ใหญ่ ห้ามก้าวร้าวหรือเถียงผู้ใหญ่(ยิ่งถ้าทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือราชการ เรื่องแบบนี้จะเข้มข้นมาก แม้แต่เราที่ตอนเด็กๆ ไม่เคยไหว้พ่อแม่ตอนไป-กลับจากโรงเรียน ก็ต้องมาฝึกไหว้ผู้ใหญ่ตอนเข้างาน-เลิกงานนี่ล่ะ ตอนอยู่บ้านไม่เคยพูดจามีหางเสียง พอมาอยู่ที่ทำงานก็ต้องหัดพูด "คะ ขา ค่ะ" แทบทุกประโยค เหมือนตัวเองถูกใส่ถ่านให้ทำแบบนั้น ถ้าไม่ทำจะถูกมองไม่ดี เดี๋ยวจะโดนด่าลามปามไปถึงพ่อแม่)

แต่ผู้ใหญ่กลับสามารถพูดจาหยาบคายหรือรังแกเด็กได้ ไม่ผิด ที่ทำงานเรามีเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นหลานของคนในที่ทำงานนั่นแหละ บางวันเขามาอยู่ที่ห้องทำงานเรา เป็นเด็กตัวเล็กๆ อายุแค่ 5 ขวบ และเด็กคนนี้ชอบโดนพวกผู้ใหญ่ในห้องทำงานพูดจาแซว หยอก แกล้ง ด้วยคำพูดต่างๆ นาๆ หลายครั้งเป็นคำพูดที่ทะลึ่ง หยาบคาย และล้อเลียน

เด็กตัวแค่นั้น พอได้ยินคำพูดที่ไม่ดีจากผู้ใหญ่ เขาก็ไม่ชอบ(ขนาดผู้ใหญ่ยังไม่ชอบเลย) ทนไม่ได้ เขาก็เถียงผู้ใหญ่กลับไป บางทีก็เถียงด้วยคำหยาบคายแบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่สาดใส่เขานั่นแหละ(เราแอบชื่นชมนะที่เขากล้าเถียง ถ้าเป็นเราคงร้องไห้ไปแล้ว) แต่ผู้ใหญ่กลับเอาแต่บอกว่า "ไม่เอานะ พูดแบบนี้ไม่ได้ ห้ามพูด ไม่น่ารักเลย" เด็กก็ต้องอยู่ในสภาวะจำยอมผู้ใหญ่ เราเห็นแล้วก็สงสาร ปกติเราจะไม่ว่าอะไรเด็กคนนี้ เราเข้าใจว่าการโดนรังแกโดยไม่มีทางสู้มันเป็นยังไง เราเองก็โดนบูลลี่มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

บางทีคนในห้องพูดขึ้นมาว่า "เด็กคนนี้ไปเอาคำพูดไม่ดีแบบนั้นมาจากไหน" เราก็ช่วยตอบไปว่า "เอามาจากผู้ใหญ่หรือคนใกล้ตัวนั่นแหละ" และคิดในใจว่า 'พวกเมิงไม่รู้ตัวกันเลยเหรอว่าเป็นคนป้อนสิ่งไม่ดีให้กับเด็ก' เด็กน่ะความจำดีมาก ได้ยินอะไรแค่ครั้งเดียวก็จำได้จนโต เราก็เป็น มันฝังใจ และลืมไม่ได้ด้วย

เราเห็นเด็กคนนี้ถามผู้ใหญ่ที่พาเขามาหลายครั้งว่า "ทำไมผู้ใหญ่พูดคำนี้กับหนูได้ แต่ทำไมหนูพูดคำนี้กับผู้ใหญ่ไม่ได้" ซึ่งผู้ใหญ่ก็ตอบแค่ว่า "เพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ถึงพูดได้ เด็กพูดแล้วไม่น่ารัก" เราได้ยินแล้วถึงกับฉงน ตรรกะอะไรของมันฟระ เพี้ยนที่สุด แต่เราก็ตอบเด็กไม่ได้เหมือนกันว่าเพราะอะไร สังคมไทยมันปลูกฝังมาแบบนี้ แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับมันหรอก เราเองเวลาอยู่บ้าน โดนพ่อแม่ว่าอะไร เราก็เถียงสุดฤทธิ์เหมือนกัน ต่อให้ต้องเถียงคำไม่ตกฟาก หรือเถียงข้างๆ คูๆ ก็ขอให้ได้เถียงเหอะ แต่ถ้าเป็นคนนอกบ้านเราก็จะไม่เถียง ไม่รู้ทำไม ทั้งๆ ที่ใจอยากเถียง คงเป็นเพราะความกลัวว่าตัวเองจะดูไม่ดีในสายตาคนอื่น

เราก็เคยบอกเด็กคนนี้(ด้วยเสียงเบาๆ)ว่า "เวลาใครว่าอะไร ก็ไม่ต้องไปสนใจนะ แล้วสักวันเราก็จะไม่รู้สึกอะไรไปเอง เดี๋ยวพอโตแล้วจะโดนว่ามากกว่านี้อีก" เราพูดดีสุดได้แค่นี้ แต่ความจริงแล้วเราเองยังทำไม่ได้เลย เรานิ่งได้ แต่เรารู้สึกทุกครั้งเวลามีใครมาว่าเรา แต่หลายครั้งการนิ่งของเราก็ยิ่งทำให้คนว่ารู้สึกโมโห

อย่างเราตอนนี้โดนหัวหน้าว่าและแซวบ่อยมาก เพราะเราเป็นคนไม่ค่อยพูด และหัวหน้าก็ไม่ชอบคนที่มีนิสัยไม่ค่อยพูด ซึ่งเราไม่ชอบเลย เหมือนโดนคนแก่หาเรื่อง เราไม่เคยระรานเขา ไม่เคยระรานใคร เรื่องงานก็ตั้งใจทำเต็มที่ิ ถึงจะไม่ค่อยเฮฮาหรือพูดมาก แต่ถ้าต้องประสานงานกับใคร เราก็ยังทำได้อยู่ และเวลาเรากลับบ้านที่ ตจว. เราก็ซื้อของมาฝากเขาหลายครั้ง แล้วเขายังจะมาทำแบบนี้กับเราอีก

ล่าสุดโดนหัวหน้าแซวว่า "วันนี้ได้พูดกี่คำแล้ว" เราตอบว่า "ไม่รู้ค่ะ ไม่ได้นับ" พร้อมกับหัวเราะ แล้วหัวหน้าก็ยังไม่เลิกถาม เราจึงคิดว่า ต่อไปถ้าโดนถามอีก เราจะไม่ตอบ จะนิ่งๆ เงียบๆ ทำเหมือนไม่ได้ยิน ถ้าหัวหน้าถามว่าทำไมเราเงียบ เราค่อยตอบไปว่า "หนูไม่ว่างค่ะ ไม่ว่างหาเรื่องใคร" แล้วรอดูปฏิกิริยาของหัวหน้า ถ้าไม่เงิบก็คงโมโห (แต่ถ้าเราไม่เกรงใจ เราก็คงจะหยิบหูฟังขึ้นมาใส่แล้วเปิดหนังดูในมือถือแล้ว เวลาคนอื่นพูดอะไร เราก็จะไม่ได้ยิน) แล้วก็จะหยิบมือถือขึ้นมาอัดเสียงตอนหัวหน้าพูดไว้ด้วย และถ้าเราไปพบจิตแพทย์อีกครั้ง(เราพบจิตแพทย์อยู่) เราก็จะถามหมอเลยว่า ถ้าโดนหัวหน้าพูดแบบนี้ใส่ ควรตอบยังไงดี 

เราก็ไม่ค่อยเข้าใจตัวเอง ว่าทำไมเราจะต้องเกรงกลัวหัวหน้า ทั้งๆ ที่เป็นคนเหมือนกันแท้ๆ จริงอยู่ที่เขาไม่ใช่พ่อแม่ สามารถทำให้เราตกงานได้ สามารถทำให้เราไม่เจริญก้าวหน้าในการงานได้ แต่มันก็ไม่ใช่นิสัยของผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ เราก็มีสิทธิ์ร้องเรียนเขาเหมือนกัน มีสิทธิ์เล่าความจริงให้ผู้บริหารที่มีอำนาจมากกว่าเขาฟัง และถึงจะต้องตกงานจริงๆ ก็ไม่ได้ทำให้เราตาย จริงไหม เราคิดถูกหรือเปล่า ถึงจะเด็ก แต่ก็ใช่ว่าจะต้องยอมให้กับผู้ใหญ่ที่ไม่ดี ผู้ใหญ่คนไหนสุภาพ เด็กก็ย่อมเคารพอย่างจริงใจ แต่ผู้ใหญ่คนไหนหยาบคาย ทำไมเด็กจะต้องยอมศิโรราบด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่