รัชนก อินทนนท์ - ทีมชาติไทย และแบดมินตันสุธีรมานคัพ


23 พ.ค. 2019 ทีมแบดมินตันทีมชาติไทย ผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันแบดมินตันทีมผสมชิงแชมป์โลก "สุธีรมานคัพ"
นับเป็นการผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายครั้งที่ 2 ติดต่อกัน และเป็นครั้งที่ 3 ของทีมชาติไทย (2013,2017,2019)



แบดมินตันสุธีรมานคัพจัดการแข่งขันทุกๆ 2 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16 จัดขึ้นในปี 2019 ที่ประเทศจีน
มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 32 ทีม จาก 32 ชาติ (เคนยาถอนตัว ทำให้เหลือ 31 ชาติ)
แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 กลุ่ม ตามคะแนนสะสมอันดับโลก
รูปแบบการแข่งขันเป็นการคัดเอานักกีฬาที่ดีที่สุดในแต่ละประเภทของแต่ละชาติมาแข่งขันกัน ได้แก่ ชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว ชายคู่ หญิงคู่ และคู่ผสม

กลุ่ม 1 มี 12 ชาติ ได้แก่ ทีมอันดับ 1-12 ของโลก ...ทีมชาติไทยอยู่ในกลุ่มนี้ 
กลุ่ม 2 มี 8 ชาติ 
กลุ่ม 3 มี 8 ชาติ
กลุ่ม 4 มี 4 ชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใน สุธีรมานคัพครั้งที่ 11 ปี 2009 ที่ประเทศจีน
ในตอนนั้นทีมชาติไทยยังแข่งขันอยู่ใน กลุ่ม 2 ร่วมกลุ่มกับไต้หวัน,ฝรั่งเศส,เยอรมัน
โดยทั้ง 8 ทีมของกลุ่ม 2 ในตอนนั้นประกอบไปด้วย ไทย,ไต้หวัน,ฝรั่งเศส,เยอรมัน,รัสเซีย,สิงคโปร์,โปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์
ผลการแข่งขันของทีมชาติไทยจบลงด้วยชัยชนะ 3 นัดรวดในรอบแบ่งกลุ่ม และชัยชนะเหนือทีมชาติรัสเซียในนัดชิงแชมป์ของกลุ่ม 2 
ทีมชาติไทยจบด้วยอันดับที่ 9 ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่กลุ่ม 1 ในสุธีรมานคัพครั้งถัดไป (สุธีรมานคัพปี 2009 กลุ่ม 1 มีแค่ 8 ทีม)


นักกีฬาไทยในชุดนั้นมีทั้งสิ้น 12 คน หลายๆคนแฟนๆแบดมินตันไทยรู้จักดี เช่น บุญศักดิ์ พลสนะ,สุดเขต-สราลีย์,สลักจิต พลสนะ,ดวงอนงค์-กุลชลา
แต่ยังไม่มีชื่อของ รัชนก อินทนนท์ อยู่ในทีมชุดนั้น
สุธีรมานคัพ 2009 จบลงด้วยการคว้าแชมป์สมัยที่ 7 ของเจ้าภาพ จีน โดยมีเกาหลีใต้เป็นรองแชมป์ตามด้วยอินโดนีเซียและมาเลเซียในอันดับ 3 ร่วม

ซึ่งเป็นการเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายครั้งแรกและครั้งเดียวของทีมชาติมาเลเซีย และคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้เป็นประวัติศาสตร์

2 ปีต่อมา สุธีรมานคัพครั้งที่ 12 ปี 2011 ที่ประเทศจีน
ทีมชาติไทยได้แข่งขันในกลุ่ม 1 ร่วมกับอีก 12 ชาติ โดยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม C ร่วมกับไต้หวันและอินเดีย
ในนัดแรกที่พบกับอินเดีย ปรากฎชื่อของเด็กสาววัย 16 ปีร่วมทีมลงแข่งขันในประเภทหญิงเดี่ยว
น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ ติดทีมชาติไทยชุดสุธีรมานคัพครั้งแรกในปี 2011 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
แม้วัยจะละอ่อน แต่ดีกรีไม่ธรรมดา เพราะน้องเมย์ในขณะนั้นพกดีกรีแชมป์เยาวชนโลก 2 สมัยติด มาลงแข่งขัน

นัดแรกของชีวิตในรายการสุธีรมานคัพ น้องเมย์ซึ่งในขณะนั้นเป็นมือ 18 ของโลก ต้องพบกับคู่ต่อสู้ที่มีดีกรีเป็นถึงมือ 4 ของโลก เธอคือ Saina Nehwal
Saina Nehwal เหนือกว่าทั้งชื่อชั้นและประสบการณ์
แต่ผลการแข่งขันจบลงด้วยชัยชนะของสาวน้อยวัย 16 จากไทยด้วยคะแนน 21-14,22-20
น้องเมย์ประเดิมสนามในรายการระดับโลกด้วยผลงานเหนือความคาดหมาย แม้ในท้ายที่สุดทีมชาติไทยจะพ่ายแพ้ทีมชาติอินเดียไป 2 ต่อ 3 คู่ก็ตาม

 

สุธีรมานคัพ 2011 ทีมชาติไทยจบการแข่งขันด้วยอันดับที่ 9 เช่นเดียวกับในครั้งก่อนหน้า ปี 2009
สิ้นสุดเส้นทางในรอบแบ่งกลุ่ม แข่ง 2 นัด แพ้ 2 นัด
โดยชนะได้ 4 แมตช์จากทั้งหมด 10 แมตช์ที่ลงแข่ง
ชัยชนะ 4 แมตช์ของไทย เป็นชัยชนะในประเภทหญิงเดี่ยว 2 แมตช์,ชายเดี่ยว 1 แมตช์ และคู่ผสม 1 แมตช์
แน่นอนว่า 2 จาก 4 เป็นผลงานของรัชนกในวัย 16 ปี ...นี่คือจุดเริ่มต้นของภารกิจอันหนักหน่วงของรัชนกและทีมแบดมินตันไทย


ปี 2013
กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
สุธีรมานคัพครั้งที่ 13

 
ทีมชาติไทยที่ประกอบไปด้วย สุดเขต ประภากมล-สราลีย์ ทุ่งทองคำ, บุญศักดิ์ พลสนะ, รัชนก อินทนนท์, ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย, ณิชาอร จินดาพล, ดวงอนงค์-กุลชลา, ทนงค์ศักดิ์ แสนสมบูรณ์สุข, มณีพงศ์ จงจิตร, ทรงพล อนุกฤตยาวรรณ, ปฏิพัทธ์ ฉลาดแฉลม และนิพิฐพนธ์ พวงพั่วเพชร ลงแข่งขันในกลุ่ม 1B ร่วมกับเกาหลีใต้และฮ่องกง


ผลการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม ไทยชนะฮ่องกง 3 ต่อ 2 คู่ โดยไทยขึ้นนำ 2-0 ก่อนจากชายคู่และหญิงเดี่ยว
ก่อนจะถูกฮ่องกงตามตีเสมอ 2-2 จากชายเดี่ยวและหญิงคู่ ต้องตัดสินกันที่คู่ผสม
ก่อนที่สุดเขต-สราลีย์จะเอาชนะไปแบบหวุดหวิดด้วยคะแนน 24-22,22-20

ทีมชาติไทยผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แม้นัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ไทยจะแพ้เกาหลีใต้ไป 0 ต่อ 5 คู่ แต่ทั้ง 2 ชาติก็กอดคอกันเข้ารอบ
ในรอบแบ่งกลุ่มสุธีรมานคัพ 2013 รัชนกได้ลงทำหน้าที่แค่ 1 นัดและเก็บคะแนนให้ทีมได้สำเร็จ

ในการจับสลากประกบคู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ทีมไทยต้องพบกับศึกหนักกับ ทีมชาติญี่ปุ่น


ทีมโค้ชวางแผนส่งคู่ผสมลงแข่งก่อน และสามารถประเดิมคะแนนแรกให้ทีมไทยขึ้นนำ 1-0 จากสุดเขต-สราลีย์
ก่อนที่จะถูกญี่ปุ่นตีเสมอเป็น 1-1 จากชายเดี่ยว แต่ทีมไทยก็ขึ้นนำอีกครั้งจากชายคู่มณีพงศ์-นิพิฐพนธ์ เป็น 2-1 คู่
ทีมไทยขออีกแค่คะแนนเดียวก็จะคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ในคู่ที่ 4 เป็นการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยว
ทีมไทยส่งรัชนก อินทนนท์ ในวัย 18 ปี มือ 5 ของโลกในขณะนั้นลงพบกับ Sayaka Takahashi นักแบดมินตันถนัดซ้ายของทีมชาติญี่ปุ่น
และสุดท้ายเป็นรัชนกที่ทำได้สำเร็จ เอาชนะไปแบบสูสีด้วยคะแนน 21-19,9-21,21-19 

ต้องยอมรับว่าเป็นแมตช์ที่กดดันมากสำหรับเด็กอายุแค่ 18 ปี ที่ต้องมารับบทบาทสำคัญเพื่อทีม แต่จิตใจที่เข้มแข็งก็พาให้น้องเมย์ผ่านมันมาได้
ในวันนั้นหากรัชนกแพ้ การแข่งขันคู่สุดท้ายไทยค่อนข้างเสียเปรียบญี่ปุ่นอยู่มากในประเภทหญิงคู่ ซึ่งคู่ของญี่ปุ่นเป็นคู่มือ 2 ของโลก ในขณะที่คู่ของไทยเป็นคู่เฉพาะกิจที่ไม่มีอันดับโลก


ในตอนนั้นทีมไทยมาไกลเกินที่คาดหวังไว้มาก แม้ในรอบ 4 ทีมสุดท้ายจะพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติเกาหลีใต้ไป 1-3 คู่ แต่ก็ไม่ทำให้คนไทยต้องผิดหวังเลย

สุธีรมานคัพ 2013 คือครั้งที่ไทยสร้างประวัติศาสตร์  2 อย่างขึ้นพร้อมกัน คือการผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ครั้งแรก ก่อนที่จะคว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์มาครองได้สำเร็จ



ปี 2015 สุธีรมานคัพครั้งที่ 14 บนแผ่นดินจีน

ทีมไทยต้องพบกับความผิดหวังแบบค่อนข้างช็อคคนดู ด้วยการตกรอบแบ่งกลุ่ม

ในนัดเจอทีมชาติเยอรมัน ขอแค่ชนะนัดนี้เพียงนัดเดียว ทีมไทยจะผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง
การแข่งขัน 2 คู่แรก ทีมไทยประเดิมได้สวยหรูด้วยชัยชนะทั้ง 2 คู่จากชายคู่และหญิงเดี่ยว
แต่เยอรมันพลิกกลับมาชนะ 3 คู่รวด กลายเป็นฝ่ายเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย

ในปีนั้นทีมชาติญี่ปุ่น สร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าชิงชนะเลิศสุธีรมานคัพได้เป็นครั้งแรก ก่อนจะพ่ายให้ทีมชาติจีน

เป็นการเริ่มส่งสัญญาณถึงพัฒนาการด้านแบดมินตันให้คนทั้งโลกได้เห็น ก่อนที่ทีมญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นมาเป็นทีมวางอันดับ 1 ของโลกในอีก 4 ปีต่อมา


สุธีรมานคัพ ครั้งที่ 15 ปี 2017

ทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้เป็นครั้งที่ 2 ก่อนจะแพ้ให้กับทีมแชมป์ในครั้งนั้นอย่าง เกาหลีใต้ ในรอบ 4 ทีมสุดท้าย

แต่เรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือชัยชนะของหญิงคู่เฉพาะกิจ-ไม่มีอันดับโลกของไทย คือ ปอป้อ ทรัพย์สิรีกับกิฟ จงกลพรรณ ที่เอาชนะหญิงคู่เดนมาร์ค เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิค 2016 ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายส่งไทยเข้ารอบรองชนะเลิศ ถือเป็น 1 ในนัดแห่งความทรงจำของแฟนๆแบดมินตันไทย

นอกจากนี้ สุธีรมานคัพ 2017 คือฝันร้ายของทีมแบดมินตันอินโดนีเซีย ที่ต้องกระเด็นตกรอบแบ่งกลุ่มไปแบบเจ็บปวด อันเนื่องมาจากการจัดตัวผู้เล่นแบบติดประมาทในนัดที่พบกับทีมอินเดีย




10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือพัฒนาการของทีมแบดมินตันไทยซึ่งปรากฎผลอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้
จากทีมที่อยู่ในกลุ่ม 2 หรือทีมเกรด B ขยับขึ้นมาเป็นทีมในกลุ่ม 1 หรือทีมเกรด A
จากทีมธรรมดาในกลุ่ม 1 กลายเป็น 1 ในทีมเต็ง/ทีมม้ามืดที่มีโอกาสสร้างเซอร์ไพรส์

ทั้งหมดทั้งมวลคือการทำงานหนักร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพราะการแข่งขันประเภททีม สปิริต คือสิ่งสำคัญ
เสียงชื่นชมจากต่างชาติถึงเรื่องทีมสปิริตและหัวจิตหัวใจนักสู้ของนักกีฬาแบดมินตันไทยยามเมื่อเล่นเป็นทีมที่แตกต่างจากยามแข่งขันในนามตัวใครตัวมันคือเครื่องพิสูจน์ว่าไม่ใช่แค่คนไทยที่ได้เห็น

ทีมโค้ชที่ต้องระดมสมองวางแผนการเล่น วางกลยุทธ์จัดตัวนักกีฬาเพื่อให้ก้าวไปถึงชัยชนะควรต้องได้รับคำชื่นชมไม่แพ้ใคร เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญ

เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องนับถือหัวจิตหัวใจของนักกีฬาทุกคน..ขอย้ำว่าทุกคน ที่ต้องแบกรับความกดดันมหาศาลในการทำเพื่อทีม
หนึ่งในนั้นคือน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าผู้แบกทีมก็คงไม่ผิดนัก เพราะถูกคาดหวังคะแนนให้ทีมในทุกๆนัดที่ลงสนาม
จากเด็กน้อยวัย 16 ที่ต้องผ่านความกดดันในการแข่งขันประเภททีมมามากมายหลายรายการ
จนกลายเป็น 1 ในผู้เล่นที่มีประสบการณ์แข่งขันประเภททีมสูงที่สุดคนหนึ่งในโลก
เฉพาะรายการสุธีรมานคัพ รัชนกรับใช้ชาติมาแล้วในรายการนี้ถึง 5 ครั้ง เป็นเวลานานนับ 10 ปี
แน่นอนว่าประสบการณ์ที่มาก ย่อมต้องมาพร้อมกับความคาดหวังที่มาก แต่ล่าสุดน้องเมย์ก็ผ่านมันมาได้เช่นเคย 

สถิติของรัชนก ในรายการสุธีรมานคัพ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2011 ถึงวันที่ 23 พ.ค. 2019
แข่ง 11 นัด
ชนะ 9 นัด
แพ้ 2 นัด
โดยแพ้ให้กับ Sung Ji Hyun จากเกาหลีใต้เพียงแค่คนเดียว

สถิติรายการสุธีรมานคัพ
แข่งขันครั้งแรกปี 1989
ชาติที่คว้าแชมป์มากที่สุดคือ จีน (10 สมัย), เกาหลีใต้ (4 สมัย), อินโดนีเซีย (1 สมัย)

มีเพียง 8 ชาติในโลก ที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลรายการสุธีรมานคัพมาครองได้สำเร็จ

ได้แก่ จีน, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, เดนมาร์ก, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, อังกฤษ

..และ ไทย



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่