ยอดสถาปนิก แห่งอาณาจักรสัตว์

มนุษย์เราสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมให้เจริญรุดหน้าทันสมัยแปลกตาขึ้นทุกยุคสมัย ซึ่งเราก็เห็นกันจนชินตา วันนี้จึงขอเปลี่ยนบรรยากาศนำท่านผู้อ่านไปชมสถาปัตยกรรมอันวิจิตรพิสดารและยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสัตว์กันบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่านักออกแบบ สถาปนิก และศิลปินมากมายในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา คงจะได้แรงบันดาลใจจากสัตว์ตัวน้อยเหล่านี้มาพัฒนาผลงานของตนเองกันไม่น้อยเลย

มดตัวน้อยตัวนิด เป็นหนึ่งในยอดสถาปนิกแห่งอาณาจักรสัตว์ มันจัดการโครงสร้างของรังอย่างประณีต มดชนิดที่อาศัยอยู่ใต้ดินสร้างห้องต่างๆและทางเดินขึ้นภายใต้ผืนดินตามรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ การออกแบบโครงสร้างใต้ดินและกระบวนการอันซับซ้อนในการสร้างรังของบรรดามดยังคงเต็มไปด้วยปริศนาที่มนุษย์เรายังเข้าใจได้ไม่มากนัก

วอลเตอร์ ชิงเกล (Walter Tschinkel) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา บอกว่า “พวกมันทำได้โดยไม่ต้องใช้พิมพ์เขียว ไม่ต้องมีผู้นำ แล้วก็ยังทำงานทั้งหมดอยู่ในความมืด” เพื่อที่จะได้เห็นโครงสร้างของรังมดใต้ดิน เขาใช้การหล่อแบบโดยเทปูนปลาสเตอร์, ขี้ผึ้งพาราฟิน หรืออะลูมิเนียมเหลว ลงไปในรังมดที่พากันอพยพย้ายออกไปแล้ว และทิ้งไว้จนแข็งตัวจากนั้นก็ขุดเอาแบบที่หล่อไว้ขึ้นมา

“คุณจะเห็นว่าโครงสร้างของรังมดมีความสัมพันธ์กับความลึก” วอลเตอร์อธิบายว่าจะมีห้องมากที่สุดอยู่ตรงบริเวณที่ใกล้ผิวดินที่สุด และจะมีห้องห่างออกไปเรื่อยๆตามระยะความลึกที่เพิ่มขึ้น เขาตั้งสมมติฐานว่ามดสามารถวัดความลึกโดยการตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งบริเวณที่ยิ่งลึกลงไปจะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น

สัตว์ที่สร้างรังอยู่อาศัยร่วมกันแบบมดปลวกหรือผึ้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันเกิดจากนางพญาหรือแม่ตัวเดียวกัน
แต่สัตว์ที่จะเล่าถึงต่อไปนี้ เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันก็จริง แต่ต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง หากินกันเอง เพียงแค่มาอาศัยอยู่ด้วยกันเท่านั้น


ผลงานสถาปัตยกรรมที่จะนำเสนอต่อไปก็คือ “คอนโดนก” โดยฝูงนกที่มีชื่อว่า Sociable weaver หรือ นกกระจาบสังคม นกกระจาบที่รูปร่างหน้าตาคล้ายนก กระจอกชนิดนี้อาศัยอยู่แถบแอฟริกาใต้, นามิเบีย และบอสวาน่า กระจาบสังคม จะสร้างรังรวมกันอยู่อย่างน้อยก็ 12 ครอบครัวขึ้นไป รังขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมีนกอยู่รวมกันถึง 400 ตัวเลยทีเดียว และประมาณกันว่ารังขนาดยักษ์นั้นอาจมีน้ำหนักถึง 1 ตัน และอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมานานนับร้อยปี!

ปกติแล้วเราจะเห็นนกส่วนใหญ่ทำรังเล็กๆ ขนาดพออยู่ได้หรือพอเก็บไข่ไว้ได้อย่างปลอดภัย แต่สำหรับนกจาบสังคม (Social Weavers ) พวกมันจะสร้างรังขนาดใหญ่จนทำให้ต้นไม้โน้มตัวต่ำลงได้ นกจาบสังคมสร้างรังจากวัตถุธรรมชาติหลายอย่าง โดยเริ่มทำโครงสร้างจากกิ่งไม้ จากนั้นก็ตกแต่งภายในด้วยหญ้าและขนนก  นอกจากนี้นกแต่ละตัวจะสร้างห้องส่วนตัวอยู่ ซึ่งมีทางเข้ายาว 10 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว จากนั้นก็จะล้อมด้วยด้ามแหลมของฟางเพื่อป้องกันงูเข้ามา


ทั้งนี้นกที่มีคู่แล้ว พวกมันจะอยู่ในห้องคู่ของตัวเอง ส่วนนกตัวอื่นๆ ที่เหลือจะอยู่รวมกันห้องละ 3-4 ตัว ประโยชน์ของการทำรังแบบนี้คือ เป็นการช่วยให้นกจาบสังคมไม่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อย เนื่องจากอุณหภูมิในทะเลทรายค่อนข้างแปรผันตลอดเวลา

Gavin Leighton นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Miami บอกว่า "ผมคิดว่าอุณหภูมิในตอนกลางคืนอยู่ที่ 1-1.6 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิภายในรังของนกที่อยู่ 3-4 ตัว อยู่ที่ 21-23 องศาเซลเซียส ดังนั้นข้อดีของรังขนาดใหญ่นี้คือการที่พวกมันมีที่อยู่ที่อบอุ่น ในช่วงตอนกลางคืน"

รังนกขนาดใหญ่นี้ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องนกจากอุณหภูมิเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องพวกมันจากแดด ฝน และภัยแล้งด้วย โดยปกติแล้วสัตว์ทั่วไปจะมีความต้องการน้ำในปริมาณมากในช่วงฤดูร้อนเพื่อช่วยไม่ให้ร่างกายขาดน้ำจากการโดนไอแดด ในขณะที่นกส่วนใหญ่ต้องการน้ำปริมาณมาก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายจากการกระพือปีก  อย่างไรก็ตามนกจาบสังคมสามารถหาความเย็นในช่วงฤดูร้อนจากรังของมันพวกมันเอง โดยการกักเก็บน้ำไว้ข้างในเพื่อกระจายความร้อน


ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการทำรังขนาดใหญ่คือเพิ่มโอกาสให้พวกมันรอดพ้นจากอันตรายที่มาจากสัตว์นักล่า เนื่องจากทางเข้ารังจะอยู่ด้านล่าง ทำให้ยากต่อการสังเกตของนักล่าหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ  ในขณะที่สัตว์ชนิดอื่นๆ จะหาประโยชน์จากรังขนาดใหญ่นี้ด้วยการขึ้นไปนั่งบนรังขนาดใหญ่ โดยไม่กระทบต่อนกจาบสังคม แร้งแอฟริกาเป็นที่รู้กันดีว่ามันชอบขึ้นไปอยู่บนรังของนกจาบสังคม ส่วนนกฟินช์หัวแดงเองก็มักจะยกครอบครัวของมันเข้าไปอยู่ในห้องที่ว่าง เช่นเดียวกับเหยี่ยวที่มักจะมาฆ่าเจ้าบ้านถึงถิ่น

Leighton บอกว่า "มีบางข้อมูลระบุว่า บางครั้งเหยี่ยวจะกินนกจาบสังคมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าตกใจ แม้จะถูกจะสัตว์นักล่ากิน พวกมันไม่ย้ายหนีไปไหน แต่กลับซ่อมบำรุงรังต่อไปเรื่อยๆ"  อย่างไรก็ตาม การมีสัตว์นักล่าอย่างเหยี่ยวมาบินวนอยู่รอบๆ ก็เป็นประโยชน์กับนกจาบสังคมเหมือนกัน เพราะทำให้สัตว์นักล่าอื่นๆ อย่างงู หรือนกชนิดอื่นไม่กล้าเข้ามา ซึ่งมันก็คุ้มค่ากับความเสี่ยง แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของรังขนาดนี้คือ เมื่อเกิดฝนตกหนักและมีแสงแดดไม่เพียงพอต่อการระเหย ความชื้นและน้ำอาจทำให้รังของพวกมันตกลงไปได้ เนื่องจากแบกรับน้ำหนักไว้ไม่ไหว นั่นหมายความว่าพวกมันต้องเริ่มสร้างรังใหม่อีกครั้ง

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
 คราวนี้บินข้ามทวีปไปสู่อเมริกากลาง ไปดูรังของนกที่ชื่อเท่เก๋ไก๋ว่า มอนเตซูมา โอโรเพนโดรา (Montezuma Oropendora) ซึ่งชื่อนี้ก็มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรแอซเท็กโบราณนั่นเอง

                                                                                นกมอนเตซูมา โอโรเพนโดรา.

                                                              

นกชนิดนี้ใช้เถาวัลย์และเส้นใยอื่นๆสานเป็นตะกร้าห้อยย้อยยาวเหยียด 60-120 ซม. โดยห้อยรังอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ประมาณ 30 รัง แต่กลุ่มรังจำนวนมากสุดที่เคยบันทึกไว้นั้นมีถึง 172 รัง
โดยมันจะเลือกอยู่บนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สูงชะลูดโดดเดี่ยวไม่มีกิ่งก้านตามลำต้นเพื่อยากแก่การปีนป่ายของสัตว์อื่น และพยายามสร้างรังไว้บริเวณปลายสุดของกิ่งก้านอันอ่อนไหวของต้นไม้ เพื่อป้องกันการบุกรุกไปขโมยไข่โดยนักปีนป่ายชั้นยอดซึ่งก็คือลิง และเจ้านกแสนฉลาดพวกนี้ยังมักจะสรรหาต้นไม้ที่มีพวกต่อ, แตนอาศัยอยู่เป็นที่สร้างรัง เพื่ออาศัยความน่าสะพรึงของพิษเหล็กในช่วยป้องกันภัยให้พวกมันอีกด้วย

การสร้างรังของนกรูฟัส ฮอเนโร

แถมเรื่องนกอีกสักชนิดละกัน นกชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่ว่ามันสร้างรังจากดิน แต่พวกมันไม่ได้ขุดดินเป็นโพรงเพื่อเข้าไปอาศัยอยู่แบบนกกระเต็น, นกจาบคา เพราะมันคาบดินขึ้นไปก่อสร้างทำรังไว้บนต้นไม้ซะอย่างนั้น นก รูฟัส ฮอเนโร (Rufous hornero) มีถิ่นอาศัยอยู่ทางตะวันออกของอเมริกาใต้ มันได้รับเกียรติให้เป็นถึงนกประจำชาติของอาร์เจนตินาและอุรุกวัย ทั้งๆที่สีสันหน้าตามันก็แสนจะธรรมดา ดูแล้วไม่ ต่างอะไรกับนกปรอดสวนบ้านเราเลย

รังของเจ้ารูฟัสทำจากดินโคลนผสมด้วยเส้นใยพืช เช่น หญ้า, ฟาง เมื่อแห้งแล้วจะแข็งแกร่งมาก รังโดยทั่วไปจะมีขนาด 20-30 เซนติเมตร หนักราวๆ 3-5 กิโลกรัม รูปร่างรังของ มันนั้นเขาว่าคล้ายเตาอบ ทำเลการสร้างมักจะวางผังให้หันหน้าไปในทิศทางที่ไม่ปะทะกับลมและฝน ซึ่งเชื่อกันว่าสภาพอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มันสร้างรังที่แข็งแรงเช่นนี้ รังจะอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 8 เมตร บางรังก็ทำทางเข้าไว้ 2 ทาง แต่ส่วนใหญ่จะมีทางเดียว แม้จะสร้างไว้แข็งแรงมั่นคงก็ตาม แต่จะใช้แค่วางไข่เลี้ยงลูกครั้งเดียวแล้วทิ้งไป รังที่ทิ้งร้างแล้วมักจะมีนกชนิดอื่นมาเซ้งต่อเอาไปเป็นรังของตัวเอง

แผนผังโพรงแพรรี่ด๊อก โพรงจริงซับซ้อนกว่านี้

ว่าด้วยเรื่องขุดๆกันอีก แพรรี่ด๊อก (Prairie Dog) สัตว์ 4 เท้าเลี้ยงลูกด้วยนมที่คล้ายกระรอกแต่หางสั้นกว่า ตัวยาวราวๆฟุตเศษๆ จ้ำม่ำน่ารัก หนัก 7 ขีดถึงโลครึ่ง
แพรรี่ด๊อกส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ราบอันไพศาลของทวีปอเมริกาเหนือ ที่ในแต่ละฤดูมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอย่างมาก บ้านของเหล่าแพรรี่ด๊อกที่อยู่ใต้ดินจึงต้องทนต่ออุณหภูมิที่สูงที่สุด ต่ำที่สุด ทนน้ำท่วมและไฟไหม้ลามทุ่ง ห้องต่างๆใต้ดินจะอยู่ในระดับความลึกต่างระดับกัน เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เช่น ห้องเลี้ยงลูกอ่อน จะอยู่ในระดับที่มีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ ยังมีห้องใกล้กับพื้นผิวดินที่สามารถใช้หลบพวกนักล่าจากด้านบนได้อย่างรวดเร็ว และยังมีห้องสำหรับการจัดเก็บเสบียงอาหาร ห้องที่สามารถใช้ฟัง เสียงพวกนักล่าซึ่งอาจมาป้วนเปี้ยนอยู่นอกโพรง

โพรงแพรรี่ด๊อกยังมีการขยายอาณาเขตออกเป็น“เมือง” ที่ครอบคลุมพื้นที่หลายเอเคอร์ โดยมีแพรรี่ด๊อกประมาณ 5-35 ตัวต่อเอเคอร์ ในยุคสมัยก่อนที่มนุษย์จะแห่กันเข้ามาอาศัยอยู่ในท้องทุ่ง เคยมีแพรรี่ด๊อกครอบครองดินแดนอยู่ก่อนอย่างมากมายมหาศาล หนึ่งในเมืองของเหล่าแพรรี่ด๊อกที่พบในเท็กซัสเมื่อปี ค.ศ. 1900 ก่อนที่มนุษย์จะทำลายให้ย่อยยับไปนั้น ครอบคลุมพื้นที่ถึง 64,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นบ้านของแพรรี่ด๊อกประมาณ 400 ล้านชีวิต


และสุดท้าย ถ้ากล่าวถึงยอดสถาปนิกในหมู่สัตว์ เราจะกล่าวข้ามเจ้า บีเวอร์ (Beaver) ไปคงไม่ได้ เพราะมันไม่ได้แค่สร้างบ้าน แต่มันสร้างทั้งบ้านและเขื่อนไปในขณะเดียวกัน เขื่อนของบีเวอร์นั้นภายในจะเป็นที่อยู่อาศัย การกักเก็บน้ำเหนือเขื่อนช่วยสร้างความปลอดภัยให้มันรอดพ้นจากสัตว์นักล่า เช่น หมาป่า และหมี รวมทั้งมันสามารถว่ายเวียนสัญจร ไปมาได้สะดวกในผืนน้ำ


บีเวอร์มีฟันหน้าแบบหนูที่ทรงประสิทธิภาพ มันสามารถใช้ฟันแทะโค่นต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 15 เซนติเมตรได้ภายใน 20 นาที แต่ละตัวโค่นต้นไม้โดยเฉลี่ย 6 ต้นใน 10 วัน
สถิติการโค่นไม้ใหญ่ที่สุดของบีเวอร์ที่มีการบันทึกไว้คือ ต้นไม้เส้นผ่าศูนย์กลาง 115 ซม. สูง 45 เมตร แต่เป็นการโค่นเพื่อกินเปลือกไม้ ไม่ได้ใช้ในการสร้างเขื่อน

สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่สุดที่มีบันทึกว่ามันนำมาสร้างเขื่อนนั้นเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 90 ซม. แต่ปกติแล้วมันจะใช้ขนาด 10-30 ซม.เป็นหลัก และมันยังมีกำลังลากต้นไม้หนักๆได้แบบที่มนุษย์เราไม่สามารถทำได้ด้วย
มันจะโค่นต้นไม้และลากลงไปไว้ในลำธาร โดยให้ปลายยอดต้นไม้ชี้ไปทางท้ายน้ำใช้หิน โคลน ใบไม้ และหญ้า เสริมทับลงไปเพิ่มความแข็งแรง และมีการทำช่องทางระบาย (spillways) ให้น้ำไหลผ่านได้ด้วย

ในลำน้ำที่กระแสน้ำไหลช้าบีเวอร์มักจะสร้างเขื่อนแนวตรง แต่ถ้าน้ำไหลแรงมันจะสร้างเขื่อนแนวโค้ง เขื่อนจากฝีมือตัวบีเวอร์ นั้นมีตั้งแต่ยาวไม่กี่เมตรไปจนถึงเป็นร้อยเมตร เขื่อนบีเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บันทึกไว้ มีความยาวถึง 853 เมตร อยู่ในอุทยานแห่งชาติ วู้ด บัฟฟาโล (Wood Buffalo National Park) ที่อัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เป็นการสร้างต่อจากเขื่อนเดิมไปเรื่อยๆ เขื่อนที่ยาวรองลงมามีความยาว 652เมตร อยู่ในมอนตานา สหรัฐอเมริกา

 :ประลองพล เพี้ยงบางยาง / ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน
ข้อมูล ภาพจาก catdumb
liekr.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่