ทำแท้ง : กรีนแลนด์ ดินแดนที่มีอัตรายุติการตั้งครรภ์สูงกว่าอัตราการเกิด

ที่มา :  https://www.bbc.com/thai/features-48292819


"ฉันไม่คิดอะไรมากเกี่ยวกับมัน เราพูดเรื่องการทำแท้งอย่างเปิดเผย ฉันจำได้ว่าบอกเพื่อนฝูงและครอบครัวเรื่องว่าฉันทำแท้งครั้งก่อน" เปีย (นามสมมุติ) หญิงสาววัย 19 ปีจากกรีนแลนด์ บอกกับบีบีซี

เธอทำแท้งมาแล้ว 5 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

"ปกติฉันจะป้องกัน แต่บางครั้งเราก็ลืม ฉันมีลูกตอนนี้ไม่ได้ เพราะยังเรียนหนังสือปีสุดท้ายอยู่เลย" เปีย กล่าว เธอเป็นชาวเมืองนุก ของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองเดนมาร์ก

และเปียไม่ใช่คนเดียวที่มีประสบการณ์เช่นนี้

สถิติจากทางการเผยให้เห็นว่า นับแต่ปี 2013 กรีนแลนด์มีอัตราการเกิดปีละประมาณ 700 คน แต่มีอัตราการทำแท้ง 800 ราย เหตุใดจึงมีแนวโน้มเช่นนี้


เด็กนักเรียนในเมืองนุกสามารถไปคลินิกตรวจสุขภาพทางเพศได้ทุกวันพุธ ซึ่งมักเรียกกันว่า "วันแห่งการทำแท้ง"

มีตราบาปทางสังคมน้อยกว่า

กรีนแลนด์เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโลก แต่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติกรีนแลนด์ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2019 ระบุว่าที่นี่มีประชากรเพียง 55,992 คน

กว่าครึ่งของสตรีที่ตั้งครรภ์เลือกที่จะทำแท้ง ทำให้อัตราการทำแท้งอยู่ที่ประมาณ 30 รายต่อผู้หญิง 1,000 คน

และแม้กรีนแลนด์จะเป็นดินแดนปกครองตนเอง แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเดนมาร์ก

แม้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขการเป็นเจ้าของบ้านที่ไม่ดี และการไร้การศึกษา อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้กรีนแลนด์มีอัตราการทำแท้งสูง แต่นั่นก็ไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในดินแดนที่รัฐให้บริการคุมกำเนิดฟรีและเข้าถึงได้ง่ายดาย

ในหลายประเทศ แม้การทำแท้งจะเป็นเรื่องถูกกฎหมายและฟรี แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่มีมลทินในสังคม

อย่างไรก็ตาม ในกรีนแลนด์ ผู้หญิงบางคนไม่รู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องนี้ และไม่ได้มองว่าการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เป็นเรื่องน่าอับอาย


กรีนแลนด์ เป็นเขตปกครองตนเองเดนมาร์ก

วันแห่งการทำแท้ง

แต่เหตุใดจึงเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มากมาย

"เพื่อนส่วนมากของฉันเคยทำแท้งมาแล้ว แม่ฉันก็เคยทำแท้งมา 3 ครั้งก่อนที่จะมีฉันและน้องชาย" เปียเล่า "แต่แม่ไม่ค่อยชอบพูดเกี่ยวกับมัน"

"เด็กนักเรียนในเมืองนุกสามารถไปคลินิกตรวจสุขภาพทางเพศได้ทุกวันพุธ ซึ่งมักเรียกกันว่า 'วันแห่งการทำแท้ง'" ดร.ทูริ เฮอร์มันส์ดอตทรี นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้จากมหาวิทยาลัยรอสกิลด์ในเดนมาร์ก กล่าว

"ในกรีนแลนด์ การอภิปรายเรื่องทำแท้งไม่ใช่ประเด็นต้องห้ามหรือเป็นข้อครหารุนแรงทางด้านศีลธรรม ไม่ว่าจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสหรือการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ"


การคุมกำเนิดเป็นบริการที่ภาครัฐจัดให้ประชาชนฟรี และเข้ารับบริการได้ง่าย แต่หญิงชาวกรีนแลนด์หลายคนกลับไม่ใช้บริการ



คุมกำเนิดฟรี

เปีย เล่าว่า "การคุมกำเนิดเป็นบริการที่ทางการจัดให้ประชาชนฟรี และเข้ารับบริการได้ง่าย แต่เพื่อนของฉันหลายคนไม่ใช้บริการ"

น.ส. สติน เบรโน พยาบาลด้านสูตินรีเวชที่ทำงานในกรีนแลนด์และศึกษาวิจัยเรื่องการทำแท้งมาหลายปี เผยกับบีบีซีว่า "ราว 50% ของผู้หญิงที่ดิฉันสำรวจมีความรู้เรื่องการคุมกำเนิด แต่กว่า 85% ไม่ใช้มันหรือใช้ไม่ถูกวิธี"

นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์อาจมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ "ทั้งชายและหญิงต่างลืมคุมกำเนิดหากพวกเขาอยู่ในอาการมึนเมา" เธอกล่าว

มึนเมา

งานวิจัยของ ดร.เฮอร์มันส์ดอตทรี พบหลักฐานบ่งชี้ 3 เหตุผลที่ผู้หญิงในกรีนแลนด์มักไม่ค่อยคุมกำเนิด

&quotร้องไห้ประการแรก) ผู้หญิงอยากมีลูก (ประการที่สอง) ผู้หญิงที่มีชีวิตที่สับสนวุ่นวายและเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการดื่มสุรายาเมามักลืมกินยาคุมกำเนิด และข้อสุดท้าย ผู้ชายอาจปฏิเสธที่จะใช้ถุงยางอนามัย"


การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายในกรีนแลนด์มาตั้งแต่วันที่ปี 1975

ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ

ผู้หญิงอาจตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์หากมันเป็นผลมาจากการถูกข่มขืน หรืออาจไม่ต้องการให้เด็กเกิดมาในครอบครัวที่มีปัญหา

"การทำแท้งอาจดีกว่าการให้กำเนิดเด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยหรือเด็กที่พ่อแม่ไม่ต้องการ" ลาร์ส มอสการ์ด แพทย์ในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรีนแลนด์

ความรุนแรงเป็นปัญหาเรื้อรังทางด้านสาธารณสุขของกรีนแลนด์ โดยข้อมูลจาก Nordic Centre for Welfare and Social Issues ศูนย์ด้านสังคมสงเคราะห์และปัญหาทางสังคม ระบุว่า 1 ใน 10 ของเด็กนักเรียนในวัยผู้เยาว์รายงานว่าได้เห็นแม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

นอกจากจะได้เห็นภาพความรุนแรงแล้ว เด็กยังมักตกเป็นเหยื่อไปด้วย

"1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชาวกรีนแลนด์เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในวัยเด็ก" ดีเตอ โซลเบค ผู้กำกับดูแลแผนการต่อสู้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของรัฐบาลกรีนแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงเดนมาร์ก


กรีนแลนด์เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโลก แต่มีประชากรเพียง 55,992 คน

การขาดความรู้เรื่องคุมกำเนิด

แม้การคุมกำเนิดเป็นบริการที่ภาครัฐจัดให้ฟรีและเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ประชาชนนิยมใช้บริการ

เปีย บอกว่า "ฉันเพิ่งได้ทราบเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเมื่อเดือนที่แล้ว และฉันก็ไม่คิดว่าทุกคนทราบเกี่ยวกับการคุมกำเนิดวิธีนี้"

"แม่ไม่เคยคุยกับฉันเรื่องสุขอนามัยทางเพศ ฉันได้ความรู้เรื่องพวกนี้จากโรงเรียน แต่ส่วนใหญ่จะได้จากเพื่อน"

งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากวารสาร International Journal of Circumpolar Health พบว่า ครอบครัวชาวกรีนแลนด์มักพยายามผัดผ่อนหรือหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องสุขอนามัยทางเพศกับบุตรหลาน เพราะมองว่าเป็นประเด็นที่ยากและน่ากระอักกระอ่วนใจ


กรีนแลนด์มีอัตราประชากรดื่มสุราสูง

ดินแดนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในโลก

ข้อมูลจากวารสาร International Journal of Circumpolar Health ยังระบุด้วยว่า นอกจากจะมีอัตราการทำแท้งสูงแล้ว กรีนแลนด์ยังมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรสูงมากด้วยอัตรา 83 ต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี

การเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นไม่ใช่เรื่องง่ายในกรีนแลนด์ และคนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของสถิติที่กล่าวมาข้างต้น โดยพบว่ากลุ่มชายหนุ่มมีสัดส่วนเกินครึ่งของอัตราการฆ่าตัวตายในกรีนแลนด์

"ส่วนใหญ่ ผู้ที่เติบโตมากับการทารุณกรรมและความรุนแรงมักมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย" นายลาร์ส ปีเดอร์เซน นักจิตวิทยาที่ทำงานในกรีนแลนด์มาหลายปีกล่าว

ในปี 1953 กรีนแลนด์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก และมีการส่งเสริมให้ภาษาเดนมาร์กเป็นภาษาราชการ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ชาวอินูอิต ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในกรีนแลนด์ และมีสัดส่วน 88% ของประชากรที่นั่น จึงจำเป็นต้องหาทางปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ในขณะที่พยายามรักษามรดกทางวัฒนธรรมของตนเอาไว้ด้วย

นายปีเดอร์เซน กล่าวว่า "กรีนแลนด์เปลี่ยนจากสังคมชาวอินูอิตแบบดั้งเดิมไปสู่วิถีชีวิตยุคใหม่ มีการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ"

"คนส่วนใหญ่มีคนรู้จักที่ฆ่าตัวตายทั้งนั้น" เขากล่าว


1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ชาวกรีนแลนด์เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในวัยเด็ก

ทำแท้งฟรีสำหรับทุกคน

บางคนแนะนำให้ทางการกรีนแลนด์เรียกเก็บเงินค่าบริการทำแท้งเพื่อลดอัตราการทำแท้งที่สูง

คนอีกส่วนโต้แย้งว่า การที่ผู้หญิงทำแท้งไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่ประชาชนสามารถทำแท้งได้ฟรีและเข้าถึงบริการได้ง่าย

ในเดนมาร์กภาครัฐก็ให้บริการแบบเดียวกัน แต่อัตราการทำแท้งกลับต่ำกว่ามาก คือ การทำแท้ง 12 รายต่อผู้หญิง 1,000 คน

ศ.พญ.โยฮันเนอ ซุนด์บี จากนอร์เวย์ เคยทำงานในกรีนแลนด์กับสตรีและเด็กที่เข้ารับการฟื้นฟูจากการถูกทำร้ายและล่วงละเมิด กล่าวว่า คนไข้ไม่ควรเป็นฝ่ายที่ต้องจ่ายค่าใช้บริการทำแท้ง "ฉันไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมันจะทำให้เกิดบริการรับทำแท้งเถื่อนที่มีราคาถูกและอันตราย"

โครงการเลี้ยงตุ๊กตาทารกสัมผัสประสบการณ์มีลูกก่อนวัยอันควร

สถิติจากทางการระบุว่า เยาวชนกรีนแลนด์เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุ 14-15 ปี โดยพบว่า 63% ของผู้มีอายุ 15 ปี มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ


ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงริเริ่ม "โครงการตุ๊กตา" (Doll Project) โดยร่วมมือกับสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนได้สัมผัสกับผลที่จะเกิดจากการมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเยาวชนหญิงและชายอายุระหว่าง 13-18 ปี จะได้รับตุ๊กตาที่มีรูปร่างและพฤติกรรมเหมือนทารกจริง ๆ

โครงการนี้มีเป้าในการลดปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ลดการแพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเพิ่มการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ

"อุปสรรคทางวัฒนธรรม"

น.ส. สติน เบรโน พยาบาลด้านสูตินรีเวช ระบุว่า ไม่ว่าผู้หญิงจะอยู่ในวัยใด ก็มองว่าการทำแท้งไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจได้โดยง่าย

"ผู้หญิงส่วนใหญ่คิดว่าการทำแท้งเป็นการติดสินใจที่ยากลำบาก และพวกเธอจะใช้เวลาในการใคร่ครวญ และหากแน่ใจแล้ว พวกเธออาจไม่แสดงอาการบอบช้ำทางจิตใจออกมา"

"ฉันไม่เคยเจอผู้หญิงคนไหนที่ไม่รู้สึกรู้สาใด ๆ กับการทำแท้ง แต่จากประสบการณ์ของฉันเอง ผู้หญิงบางคนใช้วิธีปิดกั้นทางอารมณ์เพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อาจเข้าใจว่าเป็นความเย็นชาไม่รู้สึกทุกข์ร้อนใจใด ๆ"

นายปีเดอร์เซน บอกว่า การเข้าใจผู้หญิงเหล่านี้ผิดไป อาจนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาดด้วย เพราะแม้ภาษาเดนมาร์กจะเป็นภาษาราชการแต่ คนที่อาศัยอยู่นอกเมืองหลวงมักพูดภาษาได้ไม่ค่อยคล่องแคล่ว

นอกจากนี้ เขายังคิดว่า ไม่ควรหวังว่าวิธีแก้ปัญหาแบบชาวเดนมาร์กจะสามารถแก้ปัญหาของชาวกรีนแลนด์ได้เสมอไป

"เราจำเป็นต้องทบทวนไปที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งควรเป็นการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ขึ้น" นายปีเดอร์เซนกล่าว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่