สรรพากรแจ้งเจ้าของบัญชีออมทรัพย์ที่ไม่ประสงค์ส่งข้อมูล ให้ไปเซ็นเอกสาร 7-14 พ.ค.นี้ (งวดแรก)



เจ้าของบัญชีเงินฝาก 3 ล้านคน ต้องรีบแจ้งแบงก์ภายใน 7 วันนี้
โดย ลม เปลี่ยนทิศ
ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 8 พ.ค. 2562 05:01 น.

ตั้งแต่วันที่ 7–14 พฤษภาคม เจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์รายใหญ่ คงโกลาหลกันน่าดู เมื่อประกาศใหม่ของกรมสรรพากรที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เมษายน ให้ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไปให้กรมสรรพากรตรวจสอบทุกบัญชี โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของบัญชี เพื่อตรวจสอบการเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาทต่อปี ประกาศฉบับนี้ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ จะได้ไม่ต้องไปแจ้งข้อมูลที่ธนาคาร ส่วน ผู้ที่ไม่ประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูล จะต้องไปกรอกแบบฟอร์มแจ้งกับธนาคารด้วยตัวเอง

ผู้ที่ไม่ยินยอมให้ส่งข้อมูล จะถูกเก็บภาษีดอกเบี้ยตั้งแต่บาทแรก กรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลจาก ภ.ง.ด.2 ที่ธนาคารส่งให้กรมเพื่อประเมินภาษี

คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้เหตุผลที่ออกประกาศฉบับนี้ว่า ที่ผ่านมามีธนาคารบางแห่งและลูกค้าไม่รู้ว่าต้องเสียภาษี จึงมีการเลี่ยงภาษี ประกาศนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับธนาคารและผู้ที่ทำถูกต้อง เป็นการช่วยลูกค้าที่ได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี จะได้ไม่ลืมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เพราะถ้าเอาดอกเบี้ยไปรวมกับภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี บางคนมีฐานภาษีอยู่ที่ 20% บางคนมีฐานภาษีอยู่ที่ 30% การหักภาษี ณ ที่จ่ายเสียแค่ 15% น้อยกว่าการนำไปเสียภาษีรวม

คุณเอกนิติ บอกว่า ได้กำหนดให้ธนาคารเริ่มส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรครั้งแรกในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ กรมสรรพากรจะนำข้อมูลเฉพาะดอกเบี้ยไปประเมินว่า ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยหรือไม่ แล้วแจ้งกลับไปที่ธนาคาร

ขั้นตอนก็ไม่มีอะไรซับซ้อน กรมสรรพากรให้ธนาคารส่งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าทุกบัญชีไปให้กรมสรรพากรทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรจะนำข้อมูลไปประมวลผลในซอฟต์แวร์ใหม่ เช่น คนชื่อนายเอก มีบัญชีออมทรัพย์อยู่กี่บัญชี กี่ธนาคาร เมื่อรวมดอกเบี้ยเงินฝากแล้วเกิน 20,000 ต่อปีที่กรมสรรพากรยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยหรือไม่ แล้วกรมสรรพากรก็จะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคาร เพื่อหักภาษีดอกเบี้ย ณ ที่จ่าย 15% ให้ถูกต้อง
ส่วนเจ้าของบัญชีที่ไม่ประสงค์ให้ส่งข้อมูล ต้องไปแจ้งกับธนาคารเป็นลายลักษณ์อักษร

คุณชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในธนาคารพาณิชย์มีมากกว่า 80 ล้านบัญชี มีผู้ฝากรายย่อยที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี เกือบ 99% เหลือกลุ่มที่ต้องเซ็นยินยอมกับแบงก์เพื่อส่งข้อมูลเพียง 1% เท่านั้น ประมาณ 3 ล้านคนที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี เพราะมีรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีบัญชีเงินฝากเกิน 3 บัญชี รวมกว่า 30 ล้านบัญชี กระจายอยู่ในหลายธนาคาร

คุณปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ลูกค้าที่ไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลเงินฝากไปให้กรมสรรพากร ไม่ต้องการรับสิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ต้องไปกรอกแบบฟอร์มเพื่อให้ธนาคารแจ้งต่อกรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 7-14 พฤษภาคม การกรอกแบบฟอร์มดังกล่าว ต้องทำทุกธนาคารที่มีบัญชีอยู่ แจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป

งานนี้ต้องชม คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นดีลที่สุดยอดมาก ไม่มีทางเลี่ยง เพราะไม่ว่าเจ้าของบัญชีจะยินยอมหรือไม่ยินยอม บัญชีเงินฝากก็ต้องถูกส่งไปให้กรมสรรพากรอยู่ดี เพื่อนำบัญชีเงินฝากกว่า 88 ล้านบัญชีทั้งประเทศ เข้าไปอยู่ในระบบภาษีของกรมสรรพากร ใครไม่อยากให้ธนาคารส่งข้อมูล ก็ต้องไปกรอกแบบฟอร์มแจ้งต่อธนาคารเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วธนาคารก็ส่งข้อมูลไปให้กรมสรรพากรอีกต่อ เพื่อแจ้งให้ทราบว่านายคนนี้ไม่ต้องการส่งข้อมูล ในที่สุดอาจจะต้องส่งข้อมูลมากกว่าบัญชีเงินฝากก็ได้ ถ้าสรรพากรไปตรวจสอบภาษีย้อนหลัง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

ลิงก์ข่าว: https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1562135#cxrecs_s
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5


สรรพากรจับมือสมาคมธนาคารไทย

สรรพากรจับมือสมาคมธนาคารไทยอำนวยความสะดวกผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศ

ตามที่กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ กรมสรรพากรได้หารือร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 เพื่อกาหนดแนวทางการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินมากที่สุด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรได้ชี้แจงการดำเนินการว่า “ที่ประชุม เห็นพ้องกันในการแก้ไขประกาศข้างต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยแก่กรมสรรพากร แต่หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์ จะได้รับยกเว้นภาษีต้องแจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยไม่ให้นำส่งข้อมูล ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว”

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การกำหนดให้ธนาคาร ผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อกรมสรรพากร จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ย ที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ทั้งนี้ ลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 หรือที่สานักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ

https://www.tmbbank.com/newsroom/news/pr/view/TMB-RDIntelligence.html
https://www.kasikornbank.com/th/announcement/Pages/RDIntelligence.aspx
https://www.ktb.co.th/th/krungthai-update/announcement-detail/341
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่