Sukhoi S-70 “Okhotnik” นักล่าล่องหนแห่งกองทัพอากาศรัสเซีย

บทความนี้เขียนและแปลโดยคุณ Aekkaphop Chakkrawanphaisan
ผมแค่เอามาลง PANTIP โดยได้ขออนุญาติเจ้าของบทความแล้ว

สวัสดีครับ กระผมคุณหลวงยิ้มพิฆาตแห่งรัสเซียเจ้าเก่า วันนี้มีบทความแปลไทยมานำเสนอเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกครั้งหนึ่งนะครับ หลังจากการปรากฏตัวของ Okhotnik-B ก็ทำให้ผมเกิดความรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาในระดับหนึ่ง ไม่คิดมาก่อนเลยว่ารัสเซียเองก็มีแผนที่จะสร้างอากาศยานต่อสู้ไร้คนขับเช่นเดียวกับกองทัพสหรัฐฯ แถมยังเป็น "อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับแบบล่องหนขนาดใหญ่" ในฐานะเครื่องบินขับไล่ยุคที่หกด้วย
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอเชิญทุกท่านอ่านข้อมูลที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ


ข้อมูลทั่วไป
บทบาท: อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ [Unmanned Combat Aerial Vehicle (UCAV)]
สัญชาติ: รัสเซีย
ผู้ผลิต: Sukhoi
ปีที่บินครั้งแรก: 2019
ปีที่เปิดตัว: หลังปี 2020
สถานะ: อยู่ในระหว่างการพัฒนา
ผู้ใช้งาน: กองทัพอากาศรัสเซีย
จำนวนการผลิต: ต้นแบบ 1 ลำ
ราคา: 1.6 พันล้านรูเบิล
พัฒนามาจาก: Mikoyan Skat


รูป Mikoyan Skat ต้นแบบของ Sukhoi S-70 "Okhotnik จาก WIKI

Sukhoi S-70 "Okhotnik" [รัสเซีย: Сухой С-70 "Охотник” (Hunter, นักล่า)] หรือที่เรียกว่า Okhotnik-B คืออากาศยานต่อสู้ไร้คนขับแบบล่องหนขนาดใหญ่ หรือ Stealth Heavy Unmanned Combat Aerial Vehicle (UCAV) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Sukhoi เป็นโครงการเครื่องบินขับไล่รุ่นที่หกสัญชาติรัสเซีย โดรนรุ่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานของ Mikoyan Skat (Микоян Скат) รุ่นก่อนหน้า ซึ่งสร้างขึ้นโดย MiG และได้รวบรวมนำเทคโนโลยีบางอย่างของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ห้า Sukhoi Su-57 มาใช้งาน

การออกแบบ



ภายนอกมีความคล้ายคลึงกับ Northrop Grumman X-47B ของกองทัพสหรัฐฯ ความสำคัญของโครงการนี้ในช่วงระหว่างการพัฒนาคือ ลดโอกาสในการถูกตรวจจับหรือเป็นที่ถูกสังเกต Sukhoi Okhotnik ถูกสร้างขึ้นตามรูปแบบอากาศยานปีกบิน (Flying Wing) โดยใช้วัสดุ Composite และเคลือบสารดูดซับการสะท้อนจากการแพร่คลื่นเรดาร์เพื่อลดการตรวจจับ (Radiation-Absorbent/Stealth) ตัวโดรนมีน้ำหนักราว 20 ตัน ความกว้างของปีกยาวประมาณ 65 ฟุต (19 เมตร) ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เดี่ยว AL-31F Turbofan แบบเดียวกับที่ใช้ในเครื่องบินตระกูล Sukhoi Su-27 หรืออาจดัดแปลงมาจาก AL-41F ซึ่งติดตั้งในเครื่องบินรบ Su-35S และ Su-57 รุ่นต้นแบบ แม้ว่าจะมีท่อเครื่องยนต์ไอพ่นที่ไม่ได้รับการซ่อนก็ตาม (เครื่องยนต์อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างการพัฒนา) ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ในขณะบรรทุกสัมภาระคือ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังมีคุณสมบัติการใช้ช่องรับอากาศเข้าแบบช่องเดี่ยวบนหลังเครื่องด้านหน้าอีกด้วย
Okhotnik มีชุดฐานล้อลงจอดสามขา ประกอบด้วยฐานล้อเดี่ยวด้านข้างสองฐาน และฐานล้อหน้าสองล้อซึ่งพบเห็นจากในภาพนี้ มีความใกล้ชิดตรงกันกับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าหลากหลายบทบาท แบบ Sukhoi Su-57 ของรัสเซียเป็นอย่างมาก



รูป Northrop Grumman X-47B จาก WIKI


การพัฒนา

Okhotnik ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2011 เมื่อ Sukhoi ได้รับเลือกจากกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอากาศยานลาดตระเวนไร้คนขับขนาดใหญ่สำหรับกองทัพ ในเอกสารได้กล่าวถึงลักษณะเอาไว้ว่าเป็นอากาศยานไร้คนขับรุ่นที่หก (Sixth Generation Unmanned Aerial Vehicle) โดย Okhotnik นั้นได้ถูกดำเนินการใน Novosibirsk Aviation Plant named after V.P. Chkalov ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Sukhoi การจำลองครั้งแรกสำหรับการทดสอบภาคพื้นถูกสร้างขึ้นในปี 2014
ต้นแบบของโดรนรุ่นนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปี 2017 เป็นภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของอากาศยานปีกบินบนโลกอินเตอร์เน็ต ในช่วงเวลานั้นมีรายงานว่าจะเริ่มทำการบินทดสอบในปี 2018 และจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศรัสเซียในปี 2020
ในเดือนพฤศจิกายนปี 2018 Okhotnik ถูกทดสอบในเรื่องของการขนส่ง การวิ่งและการจอดครั้งแรกในโหมดอิสระที่รันเวย์ของ Novosibirsk Aviation Plant (หรือที่รู้จักในชื่อสนามบิน Yeltsovka) โดยที่ตัวโดรนสามารถทำความเร็วในการวิ่งบนทางราบได้สูงสุดถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในเดือนมกราคมปี 2019 ต้นแบบของ Su-57 ในการบินครั้งที่สาม (หมายเลข 053) ได้รับการทาสีลายพรางดิจิทัลแบบใหม่ พร้อมภาพเงาดิจิทัลของ Okhotnik ทั้งด้านบนและด้านล่างของตัวเครื่อง ต่อมา Su-57 ถูกใช้เป็นห้องปฏิบัติการบินสำหรับการทดสอบระบบวิทยุอิเล็กทรอนิกส์ออนบอร์ดของ Okhotnik หรือที่รู้จักกันในชื่อระบบ Avionics และมีความเป็นไปได้ถึงการวางแผนที่จะนำ Okhotnik ใช้ร่วมกับ Su-57 ในอนาคต
Okhotnik มีกำหนดการบินครั้งแรกในปี 2019 รวมถึงจะมีการนำเสนอเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการหลังปี 2020


รูป SU-57 เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ของรัสเซีย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่