ทำไมนักประวัติศาสตร์ไทยบางคนไม่นับ "ขุนวรวงศาธิราช" เป็นพระมหากษัตริย์ไทย ทั้งที่พงศวดารบอกว่าผ่านพิธีแล้ว

สมมติให้เหตุผลว่าเป็นการยึดบัลลังก์มา จึงไม่เหมาะสม
    ถ้าอย่างนั้น ในการเปลี่ยนพระมหากษัตริย์หลายๆรัชกาลก็เป็นการยึด การต่อสู้ แย่งชิงกันมาเหมือนกัน ทำไมยังนับเป็นพระมหากษัตริย์ได้
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
อย่างไรก็ตาม ขุนวรวงศาธิราชถูกปฏิเสธสถานะ “กษัตริย์” อย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมีข้อบ่งชี้ว่ามาจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานสำคัญคือพระพุทธรูปทองแดง ๓๔ ปางที่ประดิษฐานไว้ในหอพระราชกรมานุสร พระบรมมหาราชวัง

พระพุทธรูปดังกล่าวหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมปรมานุชิตชิโนรส เมื่อยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เก็บรวบรวมแบบอย่างไว้ได้ถึง ๓๗ ปาง แล้วให้ช่างหล่อด้วยทองแดง หน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว ปางละองค์ รวมเป็นพระพุทธรูป ๓๗ พระองค์ แล้วตั้งไว้ที่หอพระปริต ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างหอพระราชกรมานุสรไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ๓๔ ปาง แล้วทรงจารึกพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาและกรุงธนบุรีที่ฐานพระพุทธรูปนั้น ที่เหลืออีก ๓ ปางจารึกพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานไว้ที่หอพระราชพงษานุสร

พระพุทธรูป ๓๔ ปางในหอพระกรมานุสรนั้น ไม่มีการจารึกพระราชอุทิศถวายขุนวรวงศาธิราช ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยอมรับว่าขุนวรวงศาธิราชเป็น “กษัตริย์” อย่างชัดเจน



หลักฐานอีกชิ้นคือคือจารึกพระราชพงศาวดารย่อในหอพระกรมานุสร เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาแล้วเข้าใจว่าย่อความมาจากพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระอีกต่อหนึ่ง แต่มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนโดยเฉพาะสถานะ “กษัตริย์” ของขุนวรวงศาธิราช ดังนี้

จารึกพระราชพงศาวดารจะมีการลงลำดับรัชกาลของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาทุกพระองค์ไว้ โดยได้ลำดับสมเด็จพระยอดฟ้าเป็นรัชกาลที่ ๑๔ แล้วข้ามขุนวรวงศาธิราช ไปนับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นรัชกาลที่ ๑๕ และได้เปลี่ยนมาระบุว่ามีพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาเพียง ๓๓ พระองค์เท่านั้น

        “รวมสมเดจ์พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเสวยราชสมบัติ์ในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยานั้น ตั้งแต่สมเดจ์พระเจ้าอู่ทองเปนประฐม แรกสร้างกรุงเทพมหานครนั้นตราบเท่าถึงสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวที่นั่งสุริยามรินทร์ คือสมเดจ์พระบรมเอกทัดอนุรักษมนตรีราช เปนพระองค์ที่สุด เสียกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานั้น นับสมเดจ์พระเจ้าแผ่นดินได้ ๓๓ พระองค์ด้วยกัน”



นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา การไม่ยอมรับสถานะ “กษัตริย์” ของขุนวรวงศาธิราชก็ถูกตอกย้ำมากขึ้น ดังที่ปรากฏในประมวลพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนว่าด้วยพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ทรงกล่าวถึงขุนวรวงศาธิราชว่า “พงศาวดารเราไม่นับ”


พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช ไม่ทรงกล่าวถึง นายจันน้องขุนวรวงศาธิราชที่พงศาวดารระบุว่าได้เป็นพระมหาอุปราช


พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ศักราชรัชกาลครั้งกรุงศรีอยุธยาตามที่สอบใหม่” กล่าวถึงรัชกาลขุนวรวงศาธิราชไว้ว่า “พระราชพงษาวดารไม่นับขุนวรวงษาธิราชในจำนวนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” และไม่ทรงใส่หมายเลขลำดับรัชกาลนำหน้าพระนามเหมือนกษัตริย์พระองค์อื่น

อย่างไรก็ตามผู้เขียนพบแต่จารึกพระราชพงศาวดารในหอพระกรมานุสรที่ไม่นับอย่างชัดเจน ในขณะที่พระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับสุดท้ายที่มีการชำระ และเป็นฉบับที่นิยมใช้อ้างอิงในสมัยนั้นยังคงถือว่ามีพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยา ๓๔ พระองค์อยู่ จึงไม่แน่ใจว่ามีพงศาวดารฉบับอื่นที่ปฏิเสธสถานะ “กษัตริย์” ของขุนวรวงศาธิราชอย่างชัดเจนอีกหรือไม่



การปฏิเสธสถานะ “กษัตริย์” ของขุนวรวงศาธิราชอย่างชัดเจนโดยชนชั้นนำสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา โดยเฉพาะที่ปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย น่าจะส่งอิทธิพลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุทธยามาก จึงปรากฏว่าขุนวรวงศาธิราชไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยามาจนถึงสมัยหลัง



ในปัจจุบัน ยังคงมีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่นับว่าขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ดูจะลดน้อยลงไปจากในอดีตแล้ว เพราะมีการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทางอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าขุนวรวงศาธิราชควรจะมีสถานะเป็น “กษัตริย์” ไม่ต่างจากพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาพระองค์อื่นขึ้นจำนวนมาก

แม้แต่ในราชสำนักเองก็ให้การยอมรับขุนวรวงศาธิราชในสถานะ “กษัตริย์” ดังที่ปรากฏหลักฐานคือ “บทบวงสรวงบูรพกษัตราธิราชเจ้า” ที่ประกาศในพระราชพิธีบวงสรวงบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ถือว่าขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยา ดังนี้

        “แทบท้าวไท้อู่ทอง เลิศลำยองอยุธยา สถาปนานคเรศ ดั่งนิเวศน์เวียงอินทร์ อันอมรินทร์นฤมิต เพราไพจิตรจำรัส สืบเศวตฉัตรธำรง สามสิบสี่พระองค์ทรงเสด็จ สี่ร้อยสิบเจ็ดโดยปี แต่พระรามาธิบดีปฐม พระบรมราเมศวร พระผู้ควรอยู่หัว ขุนหลวงพระงั่วราชา พระผ่านฟ้าทองลั่น ไอศวรรย์พระยาราม จอมสยามนครอินทร์ เจ้าแผ่นดินสามพระยา พระมหาบรมไตรโลกนาถ ทุติยราชรามาธิบดี พระธรณีหน่อพุทธางกูร ไอศูรย์พระรัษฎา พระชัยราชาธิราชเจ้า พระยุพเยาว์ยอดฟ้า ขุนวรวงศาธิราช พระบรมบาทมหาจักรพรรดิ มกุฎกษัตริย์มหินทรา พระสุธรรมราชาชนกนาถ มหาราชนเรศวรกษัตรา พระอนุชาเอกาทศรถ พระทรงคชรำบาญ ชิงชัยชาญชาติคืน นราชื่นพระเกียรติยศ ก้องปรากฏกำจาย ถวายพระนามสดุดี กษัตริย์พี่กษัตริย์น้อง ครองแผ่นดินอยุธเยศ ปกเกล้าเกศแก่ไทย ตราบสมัยเมื่อนี้ คุ้มปฐพีสยาม ให้เพ็งรามร่มเย็น ดับทุกข์เข็ญคราใด พ้นโพยภัยบารนี พระศรีเสาวภาคผ่านเกล้า พระเจ้าทรงธรรมราชา พระเชษฐาธิราชราชิต พระอาทิตยวงศ์ทรงครอง พระเจ้าปราสาททองรัตนา เจ้าฟ้าชัยราชบุตร พระศรีสุทธรรมราชา พระนารายณ์มหาราชราเมศ พระเพทราชามหาบุรุษ พระพุทธเจ้าเสือสรศักดิ์ ราชประจักษ์ท้ายสระ พระอภัยเจ้าฟ้า พระมหาบรมโกศกษัตริย์ ขุนหลวงหาวัดอุทุมพร พระภูธรเอกทัศน์ พระองค์กษัตริย์สุริยาสน์อมรินทร์ ทรงแผ่นดินสดับมา ครั้งบวรทวารวดี ศรีอยุธยาเกียรติขจาย”



ทัศนะของผู้เขียน : แม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นทั้งไทยและต่างประเทศจะระบุว่าขุนวรวงศาธิราชได้ราชสมบัติโดยไม่ชอบธรรมและมีประเด็นทางศีลธรรมมาเกี่ยวข้องอยู่มาก แต่พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาจำนวนมากก็ทรงได้ราชสมบัติมาด้วยการช่วงชิงอำนาจและประหัตประหารกษัตริย์ราชวงศ์เก่าหรือแม้แต่เจ้าราชวงศ์เดียวกันไม่ได้แตกต่างกัน นอกจากนี้ขุนวรวงศาธิราชได้เข้าพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุทธยา ย่อมถือได้ว่ามีสถานะเป็น “กษัตริย์” โดยพฤตินัย

ความชอบธรรมในการครองแผ่นดิน ต่อให้แย่งชิงราชสมบัติมา แต่หากรักษาอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จมั่นคง ย่อมสามารถครองอำนาจได้อย่างยืนยาวและปราศจากการต่อต้าน ต่างจากกรณีของขุนวรวงศาธิราชที่เป็นผู้แพ้ในการชิงอำนาจทางการเมืองหลังจากครองอำนาจได้เพียงเวลาสั้นๆ ก็มีส่วนที่ทำให้ความชอบธรรมในการครองแผ่นดินถูกลดทอนลง โดยศัตรูทางการเมืองที่ได้รับชัยชนะและต้องการสร้างความชอบธรรมในการแย่งชิงอำนาจของตนเอง โดยอาจอาศัยพระราชพงศาวดารเป็นเครื่องมือโจมตีกษัตริย์องค์เก่า เพื่อเพิ่มความชอบธรรมแก่กษัตริย์องค์ใหม่

-----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประมวลพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชกรัณยานุสร. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, ๒๔๖๓.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช, พิมพ์ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพญภาคย์, ๒๔๗๙.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร: โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, ๒๔๙๖
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ศักราชรัชกาลครั้งกรุงศรีอยุธยาตามที่สอบใหม่. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕. พิมพ์ในงานศพจางวางโท พระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกะเสถียร), ๒๔๖๐.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : สยามบรรณากร, ๒๔๘๒.  
- ต่อ, นาย, ผู้แปล. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
- นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๕๐.
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม ๓ เรื่อง. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๓.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง ลำดับศักราชสมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์) สมุดไทยเล่มที่ ๓๐ มัดที่ ๒ ตู้ ๑๑๑ ชั้น ๑/๑
- พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม. สืบค้นเมื่อ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑. จาก The British Library ชื่อเว็บไซต์: http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx?ref=Or_11827&index=20
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๕๓.
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). ๒๕๕๘
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล. กรุงเทพฯ : โฆษิต, ๒๕๔๙.
- พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๓, พิมพ์ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๓) กรมหลวงวรเสฐสุดา พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัญญา สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกย์ลักษณวดี, ๒๔๕๕.
- วันวลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒. แปลโดย วนาศรี สามนเสน. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.
- สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ แต่ง, พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปล. สังคีติยวงศ์. พระนคร : โรงพิมพ์ไท, ๒๔๖๖.
- สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๔.
- Pinto, Fernão Mendes. The voyages and adventures of Ferdinand Mendez Pinto, the Portuguese. London : T.F. Unwin, 1891.
- NERAMIT PONYUTTAPOOM. (2017, June 30) ในหลวงฯ เสด็จออกมหาสมาคม ♡ พิธืฉลองสิรืราชสมบัติ ๖๐ ปี ในหลวงฯ พศ ๒๕๔๙ ณ พระที่นั่งอนันตัสมาคมฯ. [Video file]. ค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=GnoVVCYZW4c

.

หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข ตัดทอน ดัดแปลง คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การ "แชร์ (share)" ในเฟซบุ๊กจากหน้าเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์โดยตรงที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่