การเงินรอบโลก ตอน... การออมเงินแบบชาวเยอรมัน

เมื่อเราพูดถึงประเทศที่มีวินัยในการออมเงิน ลำดับต้นๆ ของโลก ชื่อหนึ่งที่มักจะมีคนพูดถึง คือประเทศเยอรมัน ซึ่งมีประชากรที่มีระเบียบวินัย เคร่งครัดในเรื่องการเงินสูง โดยอาจมีผลมาจาก ประเทศเยอรมันนั้น ได้ผ่านความยากลำบากครั้งแล้วครั้งเล่าจากสงคราม และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ชาวเยอรมันต้องเรียนรู้วิธีการอยู่รอดของตนเอง และครอบครัว เพื่อที่จะสามารถผ่านแต่ละวิกฤตที่ยากลำบากมาได้ และความยากลำบากนี่เองเป็นสิ่งหล่อหลอมให้ประชากรมีวินัยในทุกๆ เรื่องนั่นเอง

วันนี้ K-Expert จะชวนมาดูกันว่า แนวคิดเบื้องหลังการมีวินัยทางการเงินนั้น มีอะไรบ้างตามมาดูกันเลยครับ

จากบทความทางการเงินเรื่อง ทำไมคนเยอรมันถึงคลั่งไคล้การออมเงิน ? ของ Tobias Buck จาก Financial Times มีใจความสำคัญ ได้กล่าวถึง แนวความคิดที่ทำให้ชาวเยอรมันออมเงินกันอย่างจริงจัง ดังนี้ครับ

คนเยอรมันให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเองเป็นอันดับแรก ดังประโยคที่ว่า
“โชคชะตาของชาติขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของตัวเราเอง” (“The fate of the nation rests only in our own strength”)
โดยเศรษฐกิจของชาติจะมั่นคงได้นั้น ฐานะทางการเงินของประชาชนทุกภาคส่วนควรที่จะต้องมีความแข็งแกร่ง และสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ดังนั้นชาวเยอรมันแต่ละครอบครัวก็จะพยายามอดออมเพื่อที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด ถ้าถามว่าคนไทยเราควรจะเก็บออมเท่าไหร่ K-Expert แนะนำว่าควร 20% ของรายได้ในแต่ละเดือนครับ

ในส่วนต่อมาเป็นเรื่องของการฝึกความอดทนซึ่ง "สังคมโดยรวมของเยอรมันนั้นรู้จักการที่จะยับยั้งชั่งใจ" (“Society as a whole Knows how to delay gratification”) เมื่อเรารู้จักการที่จะไม่ทำอะไรตามใจตัวเอง จะทำให้เรามีเหตุ มีผลในการตัดสินใจทางการเงินมากขึ้น เราสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งฟุ่มเฟือย ซึ่งสิ่งที่ฟุ่มเฟือยนั้นเราสามารถที่จะชะลอสิ่งเหล่านี้ออกไปรอให้เรามีเงินเหลือ หรือพร้อมจริงๆ ที่เราจะซื้อสิ่งนั้น
เรื่องนี้เราก็สามารถนำมาประยุกต์กับการใช้จ่ายของตัวเองได้ โดย K-Expert แนะนำว่าก่อนซื้อของทุกครั้ง ควรตอบตัวเองให้ได้ว่าสิ่งนั้นเป็น Need จำเป็นจริงๆ หรือเป็นแค่ Want ที่เราอยากได้ เราควรให้ความสำคัญกับ Need มากกว่า Want นะครับ

หากมีนิสัยที่อดทน อดกลั้นแล้วก็จะส่งผลในเรื่องการการประหยัด ซึ่ง “การประหยัดอดออมเป็นเหมือนค่านิยมทางจริยธรรมของคนเยอรมัน การประหยัดเป็นมากกว่ากลยุทธ์ทางการเงิน” (“Saving is seen as the morally right thing to do. It is more than a simple financial strategy”)
เมื่อมีสิ่งที่สังคมโดยรวมให้ความสำคัญร่วมกัน ก็จะทำให้ผู้คนในสังคมมีแนวโน้มที่จะมีนิสัยเป็นอย่างนั้นด้วย สังคมเยอรมันมีค่านิยมในการเก็บหอมรอมริบกันโดยทั่วไป

อีกทั้ง “คนเยอรมันมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตมากกว่าคนอเมริกัน และมีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอน ซึ่งชาวเยอรมันเตรียมพร้อมว่าหากมีสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นกับตนเอง และครอบครัว พวกเขาจะรับมือได้ทุกสถานการณ์” (“The germans are much more worried than the americans, They think they need to prepare for every eventuality, that bad thing can hit them and they need to be ready for that.)
เราควรจะจัดการกับความกังวล ด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบ มีการทำประกันอย่างเหมาะสม หากวันที่เลวร้ายมาถึงเราก็ไม่ต้องกลัว เพราะเราเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว
ส่วนถ้าถามว่าทำประกันเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม คำตอบคงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะว่าภาระ และรายได้อาจจะแตกต่างกัน แต่ K-Expert แนะนำหลักการง่ายๆ ว่า ควรทำทุนประกัน 3 เท่าของรายได้ต่อปี
เพี้ยนแข็งแรง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการใช้เงินของชาวเยอรมัน
- ร้านค้าในเยอรมันส่วนใหญ่จะรับชำระค่าสินค้าในรูปแบบเงินสด หรือบัตรเดบิต และคนเงินเยอรมันกว่า 80% นิยมใช้เงินสด
- อัตราการออมของชาวเยอรมันสูงที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรปอีกด้วย
- ชาวเยอรมันใช้บัตรเครดิต สำหรับบางรายการที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น การซื้อตั๋วเครื่องบิน การซื้อของออนไลน์ โดยการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะใช้เงินสด
- ชาวเยอรมันนิยมจ่ายเต็มบัตรเครดิตเต็มจำนวน ซึ่งธนาคารจะหักเงินจากบัญชีซึ่งผูกไว้กับบัตรเครดิต ซึ่งบัตรเครดิตของชาวเยอรมันจะมีวงเงินค่อนข้างน้อย
- ชาวเยอรมันไม่จับจ่ายซื้อของในวันหยุด วันอาทิตย์จะเป็นวันหยุดสำหรับร้านค้าหลายๆ ร้านในเยอรมัน สำหรับเพื่อนๆ หลายคนการใช้จ่ายวันหยุดนั้นจะมีแนวโน้มใช้จ่ายมากกว่าปกติ เพราะว่ามีเวลาเดินเล่น และเพลิดเพลินในห้างสรรพสินค้านั่นเอง

เพี้ยนจริงจัง
คำแนะนำสำหรับเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการเงินของตัวเองและครอบครัว
- สร้างกองทุนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินขั้นต่ำ 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน หากเกิดอะไรขึ้นเราจะได้มีเงินก้อนไว้รับมือในทุกสถานการณ์ ในรูปของออมทรัพย์ หรือกองทุนตลาดเงิน
- ผู้นำครอบครัวที่หารายได้หลัก ควรมีทุนประกันชีวิตอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
- ไม่ควรมีหนี้สินจนผ่อนไม่ไหว โดยดูจากยอดผ่อนหนี้สิน ไม่ควรเกินกว่า 30% ของรายได้ต่อเดือน เนื่องจากอาจมีรายจ่ายที่ไม่คาดฝัน และจะได้มีเงินเก็บออมเผื่อในยามเกษียณนะครับ
- Need หรือ Want ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนที่จะ Shopping นะครับเพื่อนๆ

หวังว่าเมื่อเพื่อนๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของประเทศต่างๆ แล้ว จะสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตได้ และขอให้ประสบความสำเร็จในการออมกันนะครับ

พาพันขอบคุณ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่