ความแตกต่างระหว่างไพ่ Tarot, Oracle, Lenormand และ Kipper

ต้องออกตัวก่อนนะคะว่าเราไม่ใช่หมอดู เราแค่เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบไพ่มากกกก เลยพยายามเรียนดูไพ่ไปด้วย คือไม่รู้เป็นยังไง ชอบดูรูปสวยๆ บนไพ่ เวลาเอามาจับๆ สัมผัสแล้วรู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก 555 พอไปร้านหนังสืออย่าง Kino หรือ Asiabooks ต้องพุ่งไปที่มุมไพ่ก่อนทุกครั้ง และก็ต้องพยายามตั้งสติ เพราะเดี๋ยวสตางค์จะหมดตัวซะก่อน >_<

เราเพิ่งมาเข้าสายไพ่เมื่อปีสองปีก่อนนี่เองค่ะ โดยเริ่มจากไพ่ Tarot และ Oracle เพราะมีไพ่ให้เลือกเยอะ ข้อมูลก็มีตรึม ที่สำคัญ ไพ่หลายสำรับรูปสวยมากๆๆๆ แต่เล่นไปเล่นมายังรู้สึกว่าไม่คลิกเท่าไหร่ (หรืออาจไม่เก่งเองนั่นแหละ 555) ก็ลองคลำๆหาข้อมูลไปเรื่อยๆตามยูทูป วันหนึ่งก็ได้มารู้จักไพ่ Lenormand และไพ่ Kipper ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในบ้านเรา แต่พอมาเรียนด้วยตัวเองเรากลับชอบมากกกก อารมณ์เสพย์ติดไพ่ไรงี้

สิ่งที่จะมาแชร์วันนี้ เราได้มาจากการซึมซับข้อมูลในยูทูปและเว็บไซต์ต่างๆ ของต่างประเทศไปเรื่อยๆ เลยจำไม่ได้ว่าเอามาจากแหล่งไหนบ้าง แหะๆ แต่เราจะมาสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ให้เพื่อนๆที่สนใจลองอ่านกันดูค่ะ



ไพ่ Tarot

ประกอบด้วยไพ่ 78 ใบ แบ่งเป็น
- Major Arcana: 21 ใบ (เช่น The Fool, Emperor, Death, Devil, Tower, Wheel of Fortune…..) เป็นไพ่ที่แสดงถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ หรือ Theme หลักๆ ที่จะเกิดกับชีวิตเราในช่วงเวลาหนึ่งๆ
- และ Minor Arcana: 57 ใบ (คทา ถ้วย ดาบ เหรียญ) เป็นเหตุการณ์ย่อย

ถึงแม้ว่า Tarot สามารถทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ในความเป็นจริงระบบของไพ่ Tarot ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในเชิงจิตวิทยา (ความคิด อารมณ์ความรู้สึก) และ Spiritual เสียมากกว่า นอกจากนั้น ระบบการอ่านไพ่ยังไม่ตายตัว เพราะถึงไพ่แต่ละใบจะมีความหมายหลักๆ เป็นกรอบอยู่ แต่ผู้ทำนายก็สามารถใช้จินตนาการ/ญาณตีความได้กว้างกว่านั้นมาก ซ้ำยังสามารถนำภาพประกอบของไพ่ใบนั้นมาทำนายคู่กันไปด้วยเลยก็ยังได้ ซึ่งแน่นอนว่าไพ่แต่ละสำรับมีภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้นรายละเอียดปลีกย่อยของคำทำนายก็อาจต่างกันไปได้ด้วย ไพ่ Tarot เป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่มองในอีกแง่หนึ่งอาจถือว่าเป็นระบบไพ่ที่ยากที่สุด เพราะระบบค่อนข้างลื่นไหล พลิกแพลงได้มาก ยิ่งไปกว่านั้นไพ่ประเภทนี้ยังสามารถดูแบบกลับหัว (Reversal) ได้อีกด้วย



ไพ่ Oracle

มีใครคนหนึ่งในยูทูปเคยพูดเอาไว้ว่า ไพ่ Oracle เปรียบเหมือนเพื่อนที่อ่อนโยน คอยปลอบเราเวลาเรามีความทุกข์ และให้คำแนะนำแบบกว้างๆ

รูปแบบของไพ่ประเภทนี้ขึ้นอยู่กับไอเดียคนออกแบบไพ่ล้วนๆ โดยจะมีกี่ใบในสำรับก็ได้ ไพ่แต่ละใบจะใช้ชื่ออะไรก็ได้ (หรืออาจเป็นภาพเฉยๆ ไม่มีชื่อก็ได้) Theme อะไรก็ได้ทั้งนั้น ไพ่ประเภทนี้จำนวนมากมีเนื้อหาออกแนว Spiritual หรือให้กำลังใจ ผู้ทำนายไพ่หลายๆ คนมักใช้ไพ่ Oracle เป็นตัวเสริมจากไพ่ประเภทอื่นๆ




พ่ Lenormand (เลอร์นอร์มอง)

ประกอบด้วยไพ่ 36 ใบ สามารถใช้ไพ่ป๊อกเล่นได้ เช่น Fox (9 ดอกจิก), Sun (Ace ข้าวหลามตัด), Dog (10 หัวใจ), Cross (6 ดอกจิก) นอกจากนี้ยังมีไพ่ผู้ชายและผู้หญิง ไว้ใช้แทนตัวเจ้าชะตาและคู่ครองได้อีกด้วย

ไพ่ Lenormand มีระบบการอ่านที่ชัดเจน ไพ่แต่ละใบเปรียบเหมือนคำศัพท์แต่ละคำ ที่เอามาเรียงร้อยเข้าด้วยกันเป็นประโยค เช่น ใบแรกเป็นคำนาม ใบที่ตามมาเป็นคำคุณศัพท์ขยายความหมายของใบแรก เช่น Sun + Coffin = ชื่อเสียงที่ดับลง   Coffin + Sun = การจบลงอย่างสำเร็จ ดังนั้นการเรียงลำดับไพ่ที่ต่างกันจึงมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปด้วย

โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบยาว (*คำถามปลายเปิดจะได้คำตอบที่มีประสิทธิภาพมากกว่า Yes No*) เรามักจับไพ่ 3 หรือ 5 หรือ 7 ใบเรียงต่อกัน หากอยากดูความสัมพันธ์ของไพ่ที่ซับซ้อนมากขึ้นก็อาจเลือกแบบ Box Spread (3X3) แต่ถ้าอยากดูอย่างละเอียดไปเลย ก็สามารถใช้ Grand Tableau หรือ Spread ที่จับไพ่ทั้งหมดในสำรับมาวางแบบ 9x4 หรืออีกแบบหนึ่งคือ 8x4 โดยมี 4 ใบสุดท้ายอยู่ข้างล่างสุดเป็นเหมือนคำสรุป

ความแตกต่างระหว่างไพ่ประเภทนี้กับไพ่ Tarot คือ ไพ่ Lenormand ไม่มีการดูแบบกลับหัว และยังมีความ practical มากกว่า จึงเหมือนเป็นเพื่อนที่พูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม สามารถให้ข้อมูลที่เราสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตได้จริง ไม่มีความเป็น spiritual เข้ามาผสมเหมือน Tarot และ Oracle




ไพ่ Kipper

ไพ่ Kipper บอกเล่ารายละเอียดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราและคนใกล้ชิดในช่วงเวลาที่กำหนด สามารถดูคร่าวๆได้ว่าคนๆ นั้นคิดอย่างไรกับเรา หรือมีความลับอะไรซ่อนอยู่ (ไพ่ออกแนวเพื่อนขี้นินทาไรงี้) ประกอบด้วยไพ่ 36 ใบ (ไม่สามารถใช้ไพ่ป๊อกเล่นได้เหมือน Lenormand)

ไพ่ Kipper หนึ่งสำรับแบ่งออกเป็นไพ่ 5 ประเภท

1. Start Cards = ไพ่คน (7 ใบ)
2. Connector Cards = ไพ่ที่ทำหน้าที่เชื่อมเรื่องราวระหว่างไพ่ทางซ้ายและไพ่ทางขวา (4 ใบ)
3. Cause & Effect Cards = ไพ่ที่ทำหน้าที่บอกเหตุและผลของสิ่งนั้นๆ (6 ใบ)
4. Movement Cards = ไพ่ที่ทำหน้าที่แสดง movement ของเรื่องนั้นๆ (4 ใบ)
5. Stop Cards = ไพ่เดี่ยวๆ ที่ไม่เชื่อมกับไพ่ข้างๆ ถ้าใน Spread มีไพ่ประเภทนี้อยู่หลายใบ อาจแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นั้นติดขัด ไม่ไหลลื่นก็ได้ (15 ใบ)

Spreads ที่ใช้ คล้ายกับ Lenormand คือ แบบ 3, 5, 7, Box Spread (3X3) และ Grand Tableau (9X4) แต่วิธีอ่านมีรูปแบบตายตัวมากกว่า และต้องใช้ Directions ประกอบการอ่าน (Kipper แบบ Bavarian)


เป็นอย่างไรกันมั่งคะ ถ้าเพื่อนๆ คนไหนสนใจศึกษาศาสตร์ไพ่ Kipper เรามี FB Page ชื่อ “เรียนดูไพ่ Kipper ด้วยตัวเอง” ซึ่งเราเอาไว้บันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับไพ่ Kipper ไว้แบ่งปันกับเพื่อนๆ ค่ะ เข้าไปชมและพูดคุยกันได้ที่ www.facebook.com/learnkipperthai  ^^
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่