....ดอยหลวงเชียงดาว .... ดวงดาวที่มอดไหม้



“ปีนี้ไฟป่าขึ้นดอยหลวงแน่นอน” นี่คือประโยคที่ดังอยู่ในใจผม
เมื่อเห็นข่าวไฟป่าที่ดอยหลวงเชียงดาว


ภาพโดยคุณ ราชสีห์ จิตอาสา
ภาพโดยคุณ Wimon Sreepukdee
ภาพโดยคุณ Wimon Sreepukdee


***********

“ทำไมล่ะครับ?”พวกเราถามด้วยความสงสัย
“หกปีมาแล้วที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลไม่ให้มีไฟป่า แต่ปีนี้มีแน่” ชายผู้นั้นยืนยัน

กว่าบทสนทนาจะมาถึงจุดนี้ในเย็นวันหนึ่งบนดอยหลวงเชียงดาว
พวกเรานั่งล้อมวงกันโดยมีอาหารที่ปรุงเพิ่งสุกอยู่กลางวง
ทุกอย่างอร่อยด้วยความเหนื่อยจากการเดินทางหลายชั่วโมงตั้งแต่เช้า


เราคุยถึงกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมาหลังจากการเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานเป็นคนใหม่
เป็นหนุ่มไฟแรงวัยไม่ถึง 40 พวกเขาบอกว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นทำให้หลายคนเสียประโยชน์
การจัดทัวร์ขึ้นดอยมีความยุ่งยากมากขึ้น หลายคนไม่พอใจ
ตัวเขาเองก็จะเลิกอาชีพนี้ที่ทำมาเป็นเวลาหลายปี
ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เขาจะนำคนขึ้น
ผมได้ยินจากหลายปาก ยืนยันแบบนี้

นี่เป็นที่มาของประโยค “ปีนี้ไฟป่าขึ้นดอยหลวงแน่นอน”
เผาไฟไล่คน ไฟในใจคนลามลุก เดือดร้อนถึงธรรมชาติ
ไฟไหม้ป่าที่ดอยหลวงเชียงดาวปีนี้ เสียหายไปแล้วกว่า 400 ไร่

พวกเรานั่งฟังด้วยความเข้าใจและความไม่เข้าใจ

เข้าใจในความเดือดร้อนจากกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น
แต่ความสะดวกสบายแต่ไม่ถูกต้องก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่หรือ?





ผมติดตามข่าวดอยหลวงจากกลุ่มคนรักดอยหลวงเชียงดาว
และเพื่อนรุ่นพี่ในพื้นที่ว่าคำกล่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่?
จนไม่กี่วันที่ผ่านมา ไฟในใจคนก็ลามขึ้นไปยังดอยหลวงเชียงดาวในที่สุด


พืชพันธุ์ที่เป็นพืชเฉพาะถิ่นมอดไหม้อยู่บนภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทย

 


สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บนนั้น ล้มตายอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศ
มีคนเผาป่า และมีคนพยายามดับไฟ
การเผาง่ายกว่าการดับไฟ 1,000,000 เท่า





ผมไม่คิดว่าจะต้องมาเขียนถึงดอยหลวงเชียงดาวด้วยอารมณ์แบบนี้

ผมเชื่อว่าเราแต่ละคนมีความทรงจำเกี่ยวกับดอยหลวงเชียงดาวที่แตกต่างกัน
ภูเขาหินปูนขนาดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านด้วยรูปร่างสะดุดตาอยู่ในอำเภอเล็กๆที่เงียบสงบ



สำหรับผมแล้วที่นี่เริ่มต้นเมื่อหลายปีก่อนในอนุสารสาร อ.ส.ท.
ในคอลัมน์สุดสายตาพาโนราม่า หน้ากลางๆจะมีภาพพาโนราม่าขนาดยาวให้เราดู
ภาพนั้นเป็นยอดดอยหลวงเชียงดาวที่เต็มไปด้วยดอกไม้
ภาพนั้นติดตาจนกระทั่งปีพ.ศ. 2543 ผมมีโอกาสได้เห็นดอยหลวงเชียงดาวในยามเย็นจากบนพื้นดิน
แสงแดดยามเย็นทำให้ดอยหลวงเชียงดาวกลายเป็นดอยสองสี
คุณต้องไปเห็นความสวยงามของมันในเวลานั้น

 
ปี 2555 คืนหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ที่รุ่งเช้าผมต้องไปปีนยอดดอยหลวงเชียงดาว
เป็นครั้งแรกในชีวิต คืนนั้นผมเลือดออกในทางเดินอาหารเข้าโรงพยาบาลกระทันหัน

สามปีต่อมาภารกิจขึ้นดอยหลวงเชียงดาวครั้งแรกจึงเกิดขึ้น


ความเหนื่อยหนักสำหรับชายไทยผู้มีพุงขนาดเกินมาตรฐานเล็กน้อยเป็นของตัวเอง
ในการปีนไปบนความสูง 2 กิโลเมตรจากพื้นดิน
พยายามยกกล้องถ่ายรูปซึ่งหนักเป็น 10 เท่าจากปกติในความรู้สึกตอนนั้นขึ้นมาถ่ายภาพ
ความรู้สึกนั้นมันทำให้อยากขึ้นไปอีกหลายๆครั้ง


ไปเพื่อละเมียดละไมสิ่งที่เราพลาดไปในครั้งก่อน
ไปด้วยความรู้สึกว่าดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ยังมีอีกหลายสิ่งที่เรายังไม่เห็น


ป่าสนตรงทางเข้าและร่างกายที่พยายามปรับตัวกับความสูงจนแสบจมูก
กิโลเมตรสุดท้ายที่เหนื่อยจนเดินได้ทีละสามก้าวแล้วต้องพัก


บนดอยแห่งนั้นคือที่ซึ่งความทรงจำของเราดำรงอยู่
คือที่ซึ่งเราและเพื่อนพ้องที่รักในสิ่งเดียวกันใช้ฝึกฝนฝีมือ
และเก็บเกี่ยวความงดงามเอามาเป็นพลังงานชีวิต


ที่ซึ่งเราไปเพื่อจะฟังเสียงของความเงียบ
ที่ซึ่งดวงดาวทุกดวงที่เราไม่อาจมองเห็นในแสงของเมือง แสดงตัวให้เราได้ดู
ที่ซึ่งเราไปแสดงความเล็กจ้อยของตัวเราเอง
ที่ซึ่งเราก้มลงต่ำเพื่อเสพความงามของสิ่งที่เล็กกว่า

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่