เกาะแห่งยุทธศาสตร์ไต้หวัน “Kinmen”

เกาะแห่งยุทธศาสตร์ไต้หวัน “Kinmen”
ผมว่าคงมีน้อยคนที่จะรู้จักเกาะนี้นะครับ พอดีผมมีโอกาสผ่านเกาะนี้ระหว่างไปทำธุระเลยเก็บรายละเอียดมาฝาก

เริ่มจากชื่อเกาะเลยแล้วกันนะ เกาะนี้ไม่ได้อ่านว่า คินเหมิน คนท้องถิ่นที่นี่เค้าจะออกเสียงว่า จินเหมิน ตามภาษาฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง คำว่า จิน ที่แปลว่า ทองคำ (金) และ เหมิน (門) ที่แปลว่า ประตู รวมกันเป็น “ประตูทองคำ” (金門) ซึ่งผมว่าก็ค่อนข้างตรงกับความหมาย เพราะเกาะแห่งนี้เมื่อก่อนคือหน้าด่านของไต้หวันเวลารบกับจีน และปัจจุบันก็กลายเป็นหน้าด่านการข้ามมาท่องเที่ยวไต้หวันของคนจีนด้วยเช่นกันครับ ส่วนอนาคตจะกลายเป็นเกาะ Duty Free ทั้งเกาะ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว (ได้ยินมาจากคนท้องถิ่นนะครับ) . . .

แล้วทำไมเกาะนี้ถึงเป็นหน้าด่าน ...​ .​ มา ผมจะพาไปดู


ถ้าดูจากแผนที่ก็จะได้คำตอบครับว่าทำไมถึงเป็นหน้าด่านเพราะเกาะนี้อยู่ใกล้จีนมาก ใกล้มากกว่าไต้หวันซะอีก
ถ้าเดินทางโดยเรือ จะใช้เวลาเดินทางจากจีนแค่ 30 นาที แต่ไปไทเปกลับใช้เวลาทั้งคืน
ระยะทางจากจีนแค่ 6 กิโลเมตรเองครับ

(เกาะที่ผมมาร์คสีขาวไว้ให้นะ)
เกาะจินเหมิน ประกอบไปด้วยสองเกาะรวมกัน คือจินเหมินต้า (เกาะใหญ่) กับ จินเหมินเสี่ยว (เกาะเล็ก)

เกาะจินเหมินต้า เป็นเกาะหลักในการรบกับจีน ภายในเกาะจะมีฐานทัพหลักอยู่ 4 จุด แต่ละจุดจะมีนายพลประจำอยู่ซึ่งประกอบไปด้วยพลเรือเอก 1 คน พลเรือโท 3 คน และนายทหารเรืออีก 40,000 นาย (ถ้าในภาษาวันพีช คงเป็นเกาะรัฐบาลโลกเลยหละครับ)

สถานที่ที่เป็นฐานทัพหลักสำคัญ
1. Mashan Obervation Station
2. Shishan Howitzer Front
3. Taiwu Mountain
4. Kinmen Military Headquarters

เดี๋ยวจะพาไปดูทีละอัน (และสถานที่เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย)

ส่วนตัวผม ผมไปที่เกาะจินเหมินจากฝั่งจีน ขึ้นที่ท่า Wutong, Xiamen ครับ
ก่อนเข้ามาที่เรือก็ต้องผ่านด่านตม.ขาออกจากจีน เหมือนออกประเทศปกติเลย
ส่วนตัวเรือ ที่นั่งค่อนข้างใหญ่ครับ มีสองชั้นเป็นห้องแอร์ครับ นั่งได้เป็นร้อยคน 

ราคา : 160 RMB
รอบเดินทางจะมีทุกครึ่งชั่วโมงตั้งแต่เช้า ถึง 17.30 ครับ แนะนำให้ไปซื้อตั๋วเร็วๆ ก็ดี เพราะเที่ยวเย็นๆ ชอบเต็ม
ระหว่างนั่งเค้าจะไม่ให้ออกมาเดินเล่นรอบเรือเลย จะมีคนคอยคุมอยู่

แต่นั่งดูวิวได้แป๊ปนึง ยังไม่ทันจะหลับก็ถึงหละครับ ช่วงใกล้ ๆ ถึงผมสังเกตเห็นว่าเค้ากำลังสร้างสะพานเชื่อมเกาะเล็กกับใหญ่เข้าด้วยกัน น่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวมั้งครับ

ทะเลเกาะจินเหมิน จริง ๆ ก็น่าเที่ยวมากนะผมว่า เพราะเกาะนี่เป็นเกาะที่คลื่นลมทะเลจะค่อนข้างสงบ ภัยพิบัติแรง ๆ ไม่ค่อยจะมี เพราะจะชนเกาะไต้หวันก่อนเสมอ
1.ฐานทัพแรก เป็นจุดที่ใกล้กับประเทศจีนที่สุด ระยะทางห่างจากประเทศจีนแค่ 2 กิโลเมตร

“Mashan Observation Station”

จุดนี้เป็นจุดที่มีความสำคัญมากอันดับต้น ๆ เพราะจุดนี้คือสถานที่ที่ไต้หวันทำสงครามประสาทกับจีน และเป็นจุดสุดท้ายก่อนสงครามจะสงบลง (ปี 1992)

หลังจากสงครามลูกปืนระหว่างจีนกับไต้หวันหยุดลง (ปี 1954) สถานการณ์ระหว่างสองฝั่งยังมาคุกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 1981 ก็มีการช่วยเหลือของสิงคโปร์เข้ามา และในปี 1985 มีการเริ่มใช้การประชาสัมพันธ์คุยกันข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งจากจุดนี้

แต่การคุยกันก็ยืดยาวไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดจนกระทั่ง
ปี 1991 ไต้หวันนำ เติ้ง ลี่จวิน (นักร้องที่ร้องเพลง เถียนมีมี่) มาร้องเพลงข้ามไปฝั่งประเทศจีนทุกเช้าแทนการพูดคุย จนทำให้สองฝั่งเกิดความรู้สึกเหมือนทุกอย่างสงบลง ปี 1992 ไต้หวันจึงเริ่มถอนทัพทหารออกจากเกาะ

ส่วนนี่คือห้องที่ประชาสัมพันธ์ใต้ดิน เป็นห้องที่เติ้ง ลี่จวิน มานั่งร้องเพลงทุกเช้า

ลำโพงที่ใช้สูงใหญ่พอ ๆ กับตึกเลย มีลำโพง 48 ตัว ส่งเสียงได้ไกลถึง 25 กิโลเมตร ถ้าใครอยากเห็นก็ลองเสิร์์ชคำว่า Beishan Broadcasting Wall ดูนะครับ
ส่วนด้านในเลยห้องประชาสัมพันธ์ไป จะเป็นอุโมงค์ยาวมีที่แอบซุ่มยิงตลอดทางเดิน และที่ปลายอุโมงค์จะเป็นจุดสังเกตการณ์ สามารถมองข้ามไปฝั่งประเทศจีนได้เลยโดยใช้ high-power zoom telescope
2. ฐานทัพที่ 2

“Shishan Howitzer Front”

เป็นฐานที่ไว้เก็บสารพัดอาวุธ ทั้งปืนใหญ่ ปืนครก และยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ทุกอย่างจะถูกเก็บไว้ใต้อุโมงค์
อุโมงค์นี้ค่อนข้างใหญ่ สร้างไว้เพื่อลากปืนใหญ่เข้าออก ย้ายไปมาตามจุดต่าง ๆ
ถ้าสังเกตอุโมงค์ดี ๆ จะเห็นรู ๆ มันคือวิธีการสร้างอุโมงค์สมัยนั้น เค้าจะขุดรูแล้วเอาระเบิดยัดเสียบเข้าไป เสร็จก็ค่อยๆระเบิดมันออก มันก็เลยหลงเหลือร่องรอยรูระเบิดไว้


ด้านในจะมีห้องด้วย เป็นห้องนอนที่พักรวม ๆ กันหมดเลย ใต้อุโมงค์ คนท้องถิ่นบอกว่า ที่นี่ปลอดภัยที่สุดแล้วในสมัยนั้น
กระบอกนี้ คือหัวใจของสถานที่นี้เลย เป็นปืนที่ส่งตรงมาจากอเมริกา 8-inch Howtizer สามารถยิงไกลได้ถึง 17 km
คลังลูกปืน

ถ้าดูดี ๆ จะเห็นว่าเป็นภาษาอังกฤษ เพราะมันถูกส่งมาจากอเมริกาเกือบหมด ซึ่งผมก็รู้สึกว่า ปัญหาระหว่างประเทศส่วนใหญ่ ก็เกิดจากประเทศที่สามมาปั่นเนี่ยหละ (โดยเฉพาะประเทศค้าอาวุธ)


พักอีกสองฐานทัพไว้ก่อน เรามาดูบ้านเมืองเค้าบ้าง

“Shanhou Folk Culture”

หมู่บ้าน Shanhou เป็นหมู่บ้านที่เค้าอนุรักษ์บ้านที่เกาะจินเหมินไว้ทั้งหมู่บ้าน ด้านในจะมีทั้งโรงเรียน วัด บ้าน เป็นชุมชนเล็ก ๆ ลักษณะของตัวอาคารจะคล้ายกันหมด เป็นแพทเทิร์นเดียวกันเลย

ในรูปนี้คือ โรงเรียน ด้านในจะมีห้องสอนเล็ก ๆ เก้าอี้และโต๊ะตัวเล็ก ๆ พร้อมกระดานดำ สามารถเข้าไปเดินชมกันได้
ส่วนตัวผม ผมว่าใครชอบถ่ายรูป ก็มาจัดกันได้เลย คนน้อย มุมเยอะ ถ่ายตรงไหนก็สวยไปหมด
(แต่ผมไปคนเดียว เลยไม่รู้จะเอาแบบที่ไหนมาถ่ายให้ชม 😔)


ดูบ้านเมืองกันแล้ว มาดูฝั่ง entertainment กันบ้าง

“Military Brothel”

ถ้าใครไม่รู้ว่า Brothel แปลว่าอะไร ผมมีคำแปลมาให้ด้วย 
“a house where men can visit prostitutes”
ถ้าผมแปลให้เป็นภาษาไทยสั้น ๆ คำเดียวก็ ซ่อง นั่นเอง ที่นี่คือซ่องโสเภณีเฉพาะทหารครับ
แต่ซ่องที่นี่ ถูกต้องตามกฎหมายนะ

เค้าเขียนติดไว้เลยว่า ผู้หญิงทุกคนที่มาอยู่ที่นี่ ต้องมาด้วยความสมัครใจ และจะมีกฎต่าง ๆ ที่ทุกคนต้องเคารพ เช่น ห้ามเปิดเผยความลับนี้ ผู้หญิงทุกคนต้องตรวจโรคทุก 3 เดือน ถ้าตรวจพบว่าผลเลือดเป็นบวก ให้หยุดงานทันที

ส่วนตัวที่ผมคุยกับคนท้องถิ่น เค้าบอกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่คือคนที่ติดคุก โดยรัฐจะมีให้เลือกว่า จะติดคุกหรือมาทำงานที่นี่ จะได้มีชีวิตปกติ ถ้าบริการเท่าไหร่ก็ได้ค่าแรงเท่านั้นเลย และอีกส่วนก็จะเป็นผู้หญิงที่สามีเป็นทหารเสียชีวิต ประมาณนี้ครับ

ด้านนี้ คือเรทราคา แต่ละยศ แต่ละช่วงเวลาก็จะราคาต่างกันไป ยิ่งทหารที่ยศสูง ก็ยิ่งจ่ายแพง 

ด้านข้างนี้จะมีออฟฟิสขาย ทุกคนที่จะเข้ามาต้องแสดงบัตรประจำตัวนายทหาร
เข้ามาด้านในก็จะเป็นห้อง ๆ แยก ๆ กันเลย ในห้องจะมีรูปผู้หญิงประจำห้องอยู่ พร้อมเตียงและห้องน้ำ
มีประวัติว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงสมัครใจมา อัดเสียงไว้ให้ฟังด้วยบนโต๊ะด้วย แต่เป็นภาษาจีนนะ

ส่วน entertainment ต่าง ๆ ก็มีอีกนะ ทั้งผับ ร้านเหล้า โรงหนัง อะไรมีหมด

โอเคนอกเรื่องพอแล้ว กลับมาที่ฐานทัพต่อไปกัน

ฐานทัพที่ 3

3.“Taiwu Shan”

ตรงนี้คือ ภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะ (253m) ฐานทัพนี้จึงใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ทั้งเกาะ และไว้ส่งสัญญาณวิทยุไปเกาะใหญ่ไต้หวันอีกด้วย นอกจากนั้น ด้านในหุบเขาจะมีฐานทัพค่อนข้างใหญ่หลบซ่อนอยู่ แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ฝังศพทหารแล้วนะ

ด้านในฐานทัพ ที่กลายเป็นหลุมฝังศพทหารหลายหมื่นนาย ตอนที่ผมแวะไปก็ยังเห็นมีญาติของทหารมาไหว้กันบ้าง
ด้านบนภูเขา สามารถมองวิวเกาะได้ทั้งเกาะ เป็นจุดชมวิวที่ค่อนข้างดี สำหรับนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน
แต่ใช้เวลาเดินไปกลับเป็นชั่วโมงอยู่นะ ระยะทางเท้า 2 km แต่ก็มีอากงอาม่าเดินขึ้นไปกันอยู่ เพราะด้านบนมีวัดพุทธ
วัดถูกสร้างเมื่อ 800 ปีก่อน ในยุคของราชวงศ์ซ่ง (Song) แต่ยังไงก็ตาม วัดนี้ได้ถูกทำลายไปตั้งแต่ปี 1958 แล้ว และถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1961
ด้านบนสุดทางเลยวัดไป จะมีหอไอติมอยู่ (อันนี้เรียกตามคนท้องถิ่นเลยนะ) เค้าบอกหน้าตามันเหมือนไอติมโคน ซึ่งความจริงมันคือหอวิทยุที่ไว้สังเกตการณ์และติดต่อกับเกาะใหญ่ไต้หวัน
ระหว่างทางเลยครึ่งทางมาหน่อย จะมีหินยักษ์สลักภาษาจีนอยู่ เป็นหินที่ เจียงไคเชก ขึ้นมาสั่งให้แกะสลักไว้

เค้าบอกว่าคำนี้มีความสำคัญมาก เป็นคำที่เจียงไคเชกพูดบ่อยๆ 'Wú Wàng Zài Jǔ' (毋 忘在莒; Don't forget the days in Ju) 
แปลภาษาไทยประมาณว่า ให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมือง Ju เพราะเมื่อนานมาก ๆ เมืองนี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถต้านทัพใหญ่ ๆ ที่บุกเข้ามาโจมตีได้ (ปัจจุบันเมืองนี้คือ Rizhao ในมณฑล Shandong ประเทศจีน)
จุดนี้ ไม่ใช่ฐานทัพ แต่มีความสำคัญค่อนข้างมาก ปัจจุบันเป็นท่าเรือใหญ่ของเกาะ แต่เมื่อก่อนคือจุดขนส่งทหารและยุทโธปกรณ์ทางทหาร

“Liao Luo Quay”

คนท้องถิ่นเล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่รบชนะสงครามในปี 1949 ก็เพราะท่าเรือนี้ 
ในคืนที่จีนจะยึดเกาะนี้ จีนตั้งใจว่าจะบุกตอนช่วงเปลี่ยนกะ ซึ่งจะมีทหารเหลืออยู่บนเกาะแค่ 12,000 คน แต่คลื่นลมไม่เป็นใจ ทำให้เรือที่เข้ามาเปลี่ยนกะมาถึงก่อนเวลา และยังไม่สามารถกลับไต้หวันได้ นายทหารรวมบนเกาะจึงมีทั้งหมด 20,000 นายและคลื่นลมก็ทำให้จีนเองไม่สามารถขนกำลังเสริมมาช่วยได้ด้วย สุดท้ายจีนก็เลยแพ้ศึกยกนั้นไป
ถ้าดูตามขอบ ๆ ท่าเรือจะเห็นว่าเค้าปลูกต้นกระบองเพชรไว้อยู่รอบ ๆ ที่ทำก็เพื่อไว้ป้องกันคนบุกรุกจากทางน้ำ

เช่นเดียวกับพวกสวนในเกาะ ถ้าสังเกตในสวนจะมีเสาไม้ยื่นๆ ขึ้นฟ้า จะไม่มีจุดไหนเป็นจุดโล่ง ๆ เลย เพื่อป้องกันพวกทหารพลร่ม

(ต่อในคอมเม้นท์นะ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่