The Boy Who Harnessed the Wind ชัยชนะของไอ้หนู “กังหันลม”

ที่มาอาทิตย์สุขสรรค์ / คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง
ผู้เขียนติสตู tistoo79@hotmail.com
เผยแพร่วันที่ 24 มีนาคม 2562


การคิดค้นใช้ประโยชน์จาก “พลังงานลม” ไม่ใช่ไอเดียใหม่ ทว่ากลับ “มีความหมาย” อย่างมากกับหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในสาธารณรัฐมาลาวีและมีความหมายระดับ “เปิดประตู” บานสำคัญให้กับชีวิต “เด็กชาย” คนหนึ่ง

10 กว่าปีที่ผ่านมา ภาพเด็กชายขึ้นไปยืนเกาะบนเสาไม้กังหันลมแบบประดิษฐ์ ที่มีรูปแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ยังคงเป็นเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวของเด็กชายที่สร้าง “กังหันลม” เพื่อช่วยเหลือผู้คนในหมู่บ้านของเขาให้รอดพ้นจากวิกฤตภัยแล้งเป็น “เรื่องเล่า” ที่มาจากเรื่องจริง และเป็นที่ถูกพูดถึงในเวทีนานาชาติ

ในภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริงเรื่อง “The Boy Who Harnessed the Wind” มาจากหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน ที่เขียนโดย “วิลเลียม คัมควัมบา” และล่าสุดถูกถ่ายทอดมาเป็นภาพยนตร์ โดยหนังคว้ารางวัล Alfred P. Sloan Prize ในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2019 สาขาภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยี

เมื่อเด็กชาย “วิลเลียม คัมควัมบา” ในวัย 13 ปี ขณะนั้น ได้สร้าง “กังหันลม” แบบทำมือขึ้นในพื้นที่บ้านที่หมู่บ้านวิมเบ สาธารณรัฐมาลาวี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นชลประทานขนาดย่อมดึงน้ำจากบ่อมายังท่อที่ทำง่ายๆ ให้น้ำไหลมาถึงแปลงเพาะปลูกละแวกบ้านได้

เป็นเรื่องไม่ธรรมดาว่าเด็กชายวัย 13 ปี ที่ต้องออกจากโรงเรียน เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย แต่อาศัยขอเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด และทดลองทำกังหันลมผลิตไฟฟ้าจากตำราสอนการใช้พลังงานภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาอ่านออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่อาศัยเปิดดิกชันนารีและดูภาพประกอบ จากนั้นจึงลงมือหาวัสดุจากลานขยะ ป่าช้ารถเก่ามาประยุกต์สร้างกังหันลมได้สำเร็จ

เหตุการณ์จริงนี้เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.2001 ปีที่มาลาวีประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก และหมู่บ้านวิมเบ ของเด็กชายวิลเลียมต้องเผชิญปัญหาภัยแล้ง พืชผลปลูกไม่ได้ยาวนานติดต่อกัน 5 เดือน จนเกิดสภาพข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากถึงขนาดที่ครอบครัวของวิลเลียมต้องจัดสรรอาหารกินได้เพียงวันละหนึ่งมื้อเท่านั้น

ความอดอยากแร้นแค้น ภาวะปากกัดตีนถีบ ได้กระตุ้นสัญชาตญาณของ “นักประดิษฐ์” ตัวน้อยคนนี้ ความที่เขาสนใจเรื่องไฟฟ้าเครื่องยนต์กลไลเป็นทุน ความช่างสงสัยอยากรู้อยากทดลองทำให้เขาหา “หนทาง” ช่วยเหลือครอบครัวให้ผ่านภัยแล้งอันโหดร้ายปีนั้นได้สำเร็จ


ในภาพยนตร์ “The Boy Who Harnessed the Wind” เล่าเรื่องปูพื้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนพาเราไปรู้จักตัวละครสำคัญในชีวิตจริงทั้งหมด ตั้งแต่ครอบครัว “คัมควัมบา” และที่มาที่ไปของเจ้าหนู “วิลเลียม” โดยเล่าคู่ขนานไปกับความกังวลใจต่อ “ภัยธรรมชาติ” ที่กำลังย่างกรายเข้ามา

ภาพวิถีชีวิตเกษตกรผู้ปลูกข้าวโพดบนที่ดินที่ไม่ได้อุดมสมบูรณ์นัก ต้องหวังพึ่งพาสภาพอากาศเป็นใจ เป็นภาพคุ้นชินของเกษตกรในประเทศยังไม่พัฒนา ปีไหนราคาผลผลิตดี ปีนั้นพวกเขาก็รอดตาย แต่หากปีไหนสภาพภัยธรรมชาติรุนแรง พวกเขาก็ต้องประสบชะตากรรมที่รัฐบาลก็ช่วยอะไรไม่ได้

ในหนังจึงพาไปสัมผัสชีวิตชาวบ้านเกษตรกร ซึ่งที่ดิน ต้นไม้ ผืนป่า คือมรดกในการดำรงชีวิต ทั้งใช้ประโยชน์ และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
แต่ข้างต้นนั่นก็ไม่ใช่ “ภาพสวยงาม” ของธรรมชาติตามวิถีเกษตรกรในมาลาวีที่มีความยากจน เพราะพวกเขาเองยังเข้าไม่ถึง “พลังงานไฟฟ้า”
บรรยากาศโพล้เพล้ตอนเย็นเด็กชายวิลเลียม นั่งอ่านทบทวนวิชาวิทยาศาสตร์ก่อนไปสอบ โดยที่แทบจะมองไม่เห็นรายละเอียดตัวหนังสือ

“ผมขอใช้น้ำมันก๊าดได้ไหม” เขาถามแม่ ที่ตอบกลับมานิ่งๆ ว่า “มีไม่พอให้อ่านหนังสือหรอก ไปช่วยพ่อทำไร่ดีกว่า”

ความต้องการพลังงานไฟฟ้า ผนวกกับภัยแล้ง ทำให้ครอบครัวมีปัญหาย่ำแย่จน “วิลเลียม” ต้องออกจากโรงเรียน ขณะที่คนทั้งหมู่บ้านต่างเผชิญความหิวโหย วิลเลียมพยายามเอาชนะอุปสรรค ลัดเลาะหาวัสดุอุปกรณ์ในป่าช้ารถเก่ามาลองผลิตไฟฟ้า


เด็กชายได้รู้จัก “ไดนาโม” อุปกรณ์ที่ให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าจากไฟส่องสว่างที่ติดอยู่กับจักรยานของครูประจำชั้น และนั่นคือ “คำตอบ” ของจุดเริ่มต้น “ไดนาโม” และ “กังหันลม” ที่จะช่วย “หมู่บ้านวิมเบ” พ้นวิกฤต

ตัวหนังพูดถึงประเด็น “การศึกษา” อย่างขับเน้น และจงใจว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันและสร้างสรรค์ให้คนคนหนึ่งได้รับโอกาสทางความรู้ที่จะมาช่วยเหลือสร้างประโยชน์ให้ชุมชนได้

ในชีวิตจริงเรื่องราวของ “วิลเลียม” แพร่หลายเป็นข่าวออกไป ช่วงหนึ่งเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ หลายคนสนใจเรียนด้านไฟฟ้า พลังงาน รวมไปถึงจุดประกายให้เด็กๆ สนใจสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม

เมื่อตอนที่ “วิลเลียม” อายุ 19 ปี เขามีโอกาสได้ขึ้นพูดบนเวที TED Talks ในปี 2009 บอกเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ฟังว่า




“ผมทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ให้ได้รับการศึกษา ผมไปอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ในห้องสมุด ผมยังใช้ภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่พยายามดูภาพประกอบ ผมเจอหนังสือชื่อ Using Energy มันเขียนว่า กังหันลมช่วยสูบน้ำและผลิตไฟฟ้าได้ ผมคิดว่านี่มันจะป้องกันความหิวโหยที่เราเผชิญ จึงสร้างกังหันลมด้วยตัวเอง ผมไปลานทิ้งขยะ ได้วัสดุมา หลายคนบอกว่าผมบ้า ผมเจอใบพัดแทรกเตอร์ โช้กอัพ ท่อพีวีซี ไดนาโมจักรยานยนต์เก่า แล้วก็ใช้โครงและล้อจักรยาน ผมก็สร้างมันขึ้นมา พัฒนาให้มันสูบน้ำได้”

สิ่งประดิษฐ์ที่สุดแสนภูมิใจนี้ได้เปลี่ยนชีวิตเด็กชายวัย 13 ปี ไปตลอดกาล

ปัจจุบัน “วิลเลียม” ในวัย 31 ปี ยังคงสานต่อความสนใจของเขาในด้าน “สิ่งแวดล้อม” ผ่านบทบาททั้งการเป็นนักนวัตกรรม วิศวกร และนักเขียน เขาได้ทุนการศึกษาเรียนจบที่วิทยาลัยดาร์ธเมาท์ ในสหรัฐอเมริกา และยังคงศึกษาและผลักดันโครงการพลังงานธรรมชาติที่จะมาช่วยพัฒนาพื้นที่เกษตรจนถึงปัจจุบัน


“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยไปไหนไกลจากบ้านในมาลาวี ยังไม่เคยใช้อินเตอร์เน็ต ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น…ผมคิดแค่ว่านี่เป็นโอกาสสร้างพลังงานให้กับหมู่บ้านผม ตอนนั้นไม่เคยคิดฝันว่าประตูนั้นมันจะเปิดพาผมออกมาสู่โลกกว้าง”


“ฉะนั้น จงเชื่อในตัวเองและศรัทธา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่ายอมแพ้นะครับ” วิลเลียมเมื่อวัย 19 ปี บอกกับผู้ฟังเมื่อ 12 ปีก่อน
และวันนี้เขาก็ยังยืนหยัดต่อความมุ่งมั่นนั้นของตัวเองเช่นกัน

มติชนออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ภาพยนตร์ต่างประเทศ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่