ว่าด้วยเรื่อง "โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5"

ตั้งใจจะตั้งหัวข้อกระทู้ว่า "อุปาทานขันธ์ 5 ไม่ใช่ทุกขอริยสัจ" แต่เดี๋ยวจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดหากไม่เข้ามาอ่านเนื้อหากระทู้ หรืออ่านอย่างไม่ละเอียด ดังนั้น ขอให้ตั้งใจอ่านให้จบก่อนนะครับ ซึ่งน่าจะเป็นกระทู้ที่ยาวมาก อาจจะมากที่สุดเท่าที่ผมเคยตั้งกระทู้มาก็เป็นได้ ที่สำคัญคือ อาจจะมีผลกระทบต่อหลายอย่างตามมา (อาจจะกระทบมากก็ได้)

กระทู้นี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกระทู้ที่ผมตั้งก่อนหน้านี้คือ  ในอริยสัจสี่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "ทุกข์"

เนื่องจากผมยังไม่มีเวลาที่จะหาข้อมูลมากไปกว่านี้ อีกทั้งอาจจะไม่สะดวกในอีกหลายวันนะครับ ตอนแรกก็ตั้งใจจะหาข้อมูลให้มากกว่านี้ก่อน แต่คิดว่าตั้งเป็นกระทู้ไว้เผื่อจะมีท่านอื่นๆ ที่เข้าใจแบบเดียวกับที่ผมเข้าใจ อาจจะมีความเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมถึงจะได้ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องรอให้เสียเวลา

และทั้งหมดก็เกิดขึ้นจากการได้สนทนากับคุณ 0390 (ในกระทู้ที่ผมอ้างถึง) ผมไม่ได้บอกว่าความเห็นของคุณ 0390 ในกระทู้ดังกล่าวนั้นถูกหรือผิดอย่างไร และกระทู้นี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเห็นของคุณ 0390 แต่ถึงยังไงผมก็ขออนุโมทนาบุญไว้ ณ ที่นี้ (ที่ทำให้ผมเกิดข้อสังเกตและตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา)

หลายท่านคงได้ยินประโยคที่ว่า "โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" หรือในบทสวดทำวัตรเช้าที่แปลเป็นไทย ก็จะใช้คำว่า "ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์" หรือในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของหลวงพ่อประยุทธ์ก็ยังเขียนว่า "โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์"

"...1. ทุกข์ (ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ - suffering; unsatisfactoriness)..."

สิ่งที่ผมเข้าใจมาตลอด จากสิ่งที่ได้อ่านหรือได้ฟังมา และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจแบบเดียวกัน นั่นคือ ความทุกข์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความโศกเศร้า ความไม่สมหวัง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ และสรุปโดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์

ถามว่า แล้ว "อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" ถูกต้องหรือไม่? แน่นอนว่า ถูกต้องนะครับ และถือว่าเป็นพี่ใหญ่ของทุกข์ทั้งหมดด้วย เพราะถ้าไม่มีอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ย่อมไม่มีทุกข์อื่น เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความโศกเศร้า ความไม่สมหวัง ฯลฯ เกิดขึ้นตามมา (ที่บอกว่าไม่มีทุกข์เกิดขึ้น ไม่ได้หมายถึง ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่หมายถึง แก่ก็ไม่เป็นทุกข์ เจ็บก็ไม่เป็นทุกข์ ตายก็ไม่เป็นทุกข์ พลัดพรากสูญเสียก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นต้น)

แล้วถ้าเราบอกว่า "อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกขอริยสัจ" ถูกต้องหรือไม่? ถ้าพูดแบบนี้ไม่ถูกต้องครับ ซึ่งนี่เองที่เป็นความเข้าใจผิดของผมมาโดยตลอด

คำว่า "อุปาทานขันธ์ 5" ไม่ใช่ทุกข์อริยสัจ แต่ข้อความทั้งหมดคือ "อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" ต่างหากที่หมายถึงทุกขอริยสัจ

แล้วที่บอกว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ ถ้าสรุปโดยย่อว่าหมายถึง อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ แบบนี้ถูกต้องหรือไม่?

นี่ก็คืออีกประเด็นสำคัญของกระทู้นี้นะครับ ซึ่งคำตอบคือ "ไม่ถูกต้อง" อีกเช่นกันครับ

สิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งหมด เช่น ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ฯลฯ รวมถึง อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ทั้งหมดนี้ต่างหากที่หมายถึง ทุกขอริยสัจ

แล้วทำไม เวลาพูดถึงความทุกข์ต่างๆ จะลงท้ายว่า "โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" หรืออย่างในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ก็บอกว่า "โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" แม้แต่พระไตรปิฏกเองก็เขียนว่า "โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" นั่นไม่ใช่เป็นการสรุปความทุกข์ต่างๆ ว่าก็คือ "อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์" อย่างนั้นหรือ?

นี่คือประเด็นที่สำคัญที่สุดนะครับ ลองดูในพระสูตรครับ

"...[๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์
แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ ความประจวบ กับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์..."

คำว่า "โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์" ไม่ใช่การสรุปอย่างที่อาจจะมีหลายท่านเข้าใจ ซึ่งก็รวมถึงตัวผมเองก่อนที่จะตั้งกระทู้นี้

แต่คำว่า "โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5" หมายถึง อุปาทานในรูปขันธ์ อุปาทานในเวทนาขันธ์ อุปาทานในสัญญาขันธ์ อุปาทานในสังขารขันธ์ และ อุปาทานในวิญญาณขันธ์ ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า "โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5" ซึ่งเป็นทุกข์

ลองดูจากพระสูตรเดียวกันนะครับ

"...ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์เป็นไฉน? อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียก ทุกขอริยสัจ..."

จุดที่น่าสนใจในพระสูตร คือช่องเว้นวรรค ซึ่งในบรรทัดบนของพระสูตรเขียนว่า "โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์" ในขณะที่ในบรรทัดส่วนล่างเขียนมีเว้นวรรคว่า "โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์" ซึ่งต้องไปเทียบเคียงกับภาษาบาลีต้นฉบับ ว่าที่จริงคือ "โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5" หรือว่า "โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5" เพราะการมีเว้นวรรคกับไม่มี หากอ่านไม่ละเอียดความหมายจะแตกต่างกัน แต่ถ้าอ่านจากพระสูตรทั้งหมด ควรจะเป็นแบบแรกคือไม่มีเว้นวรรค ถ้าเขียนใหม่ก็จะเป็น

"...ก็โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์เป็นไฉน? อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้เรียกว่า "โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕" เป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียก ทุกขอริยสัจ..."

ทั้งหมดก็ตามนี้นะครับ ซึ่งโดยส่วนตัวผมนะครับ สิ่งนี้น่าจะมีผลกระทบกับหลายอย่างที่ผมได้บอกไว้ตอนต้น

ผมก็ขอสรุปปิดท้าย ถึงความหมายของ "ทุกขอริยสัจ" โดยยกจากพระสูตรเดียวกันนี้มาสรุปตอนท้ายนี้เลยนะครับ

"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์
แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ ความประจวบ กับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียก ทุกขอริยสัจ"

อ้างอิง: http://84000.org/tipitaka/read/?12/146
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่