จะเลือกและใช้บัตรเครดิตอย่างไรให้เราได้ประโยชน์

สวัสดีค่ะ พอดีวันนี้มีน้องที่ทำงานทักมาถามเรื่องบัตรเครดิต เลยคิดว่าควรจะมาแชร์ประสบการณ์เรื่องนี้ให้กับทุกๆ คนด้วย เพราะคาดว่าคงมีน้องๆ จบใหม่อีกหลายคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่าจะเลือกบัตรเครดิตอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเอง ก่อนที่จะเลือกบัตรที่เหมาะกับเราได้ เราต้องทำความเข้าใจหลักการของบัตรเครดิตซะก่อนนะคะ

เราลงใน Medium ด้วย ถ้าใครสะดวกอ่านในนั้นมากกว่าก็ไปอ่านได้ที่ลิ้งค์นี้เลยค่า
https://medium.com/mani-and-her-world/how-to-choose-and-use-your-credit-card-370d8d033c25



บัตรเครดิตมีไว้เพื่ออะไร

นิขออธิบายตามความเข้าใจของคนธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินนะคะ ธ.เป็นผู้ออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตมาให้ผู้บริโภคอย่างเราได้ใช้กัน โดยจูงใจว่า ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของสิ จะได้ไม่ต้องควักเงินสดมาจ่าย พูดง่ายๆ ก็คือ ธนาคารให้เครดิตเรา โดยการออกเงินค่าสินค้าหรือบริการให้เราก่อน และเมื่อครบกำหนดเราก็ต้องจ่ายเงินที่ธ.ออกไปล่วงหน้าคืนให้กับธ. ค่ะ

ข้อดีของบัตรเครดิตคือ ถ้าถึงวันที่ครบกำหนดต้องชำระเงินแล้ว เราจ่ายเต็มจำนวนตามที่ธนาคารเรียกเก็บในรอบบิลนั้นๆ เราจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลยสักบาทค่ะ

ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคม บัตรเครดิตส่งบิลมาเรียกเก็บหนูนา ดังนี้
13/01 ซื้อที่หนีบผม 3,000 บาท
15/01 เข้าร้านทำผม 8,000 บาท
รวมมียอดเรียกเก็บของเดือนมกราคม (ตัดยอดบิลวันที่ 16/01) ทั้งหมด 11,000 บาท กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยมียอดเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระคือ 1,100 บาท
ถ้าหนูนาเลือกที่จะชำระทั้งหมด 11,000 บาท ภายในวันที่ 2 กุมภา หนูนาจะไม่โดนเรียกเก็บดอกเบี้ยเลยค่ะ

แต่ในความเป็นจริง มีหลายคนที่ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องการชำระเต็มจำนวนทุกเดือน คนส่วนใหญ่พอมีบัตรเครดิตแล้วก็เลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำ รูดบัตรไม่บันยะบันยัง เพราะคิดว่าสิ้นเดือนมีเงินจ่ายขั้นต่ำก็พอแล้ว โดยลืมคิดไปว่าถ้าหนี้มันพอกไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อไหร่เราจะใช้หนี้หมด ที่สำคัญคือ ถ้าเลือกจ่ายขั้นต่ำ ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเราทันทีค่ะ โดยคิดดอกเบี้ยนับจากวันที่บันทึกรายการใช้จ่าย ไม่ได้นับจากวันที่ครบกำหนดชำระเงินนะคะ แล้วก็จะคิดไปทุกวันจนกว่าเราจะชำระหนี้หมดเต็มจำนวน โดยอัตราดอกเบี้ยจะประมาณ 18% ต่อปีค่ะ

จากที่เราจะได้ประโยชน์จากบัตรเครดิต กลายเป็นว่า เราต้องมาจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารเพิ่มแทน ถ้าเป็นแบบนี้ทุกเดือน บอกเลยว่าเป็นหนี้หัวโตแน่ๆ ค่ะ นิเลยอยากให้ทุกคนลิมิตการใช้บัตรเครดิตของตัวเองให้อยู่ในจำนวนที่เรายังจ่ายได้เต็มๆ ทุกเดือนนะคะ นิก็มีบางเดือนที่จ่ายเต็มไม่ไหวบ้างเหมือนกันค่ะ นานๆ ที แต่เดือนต่อมาก็ต้องรีบชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ครบ เพื่อไม่ให้มันพอกจนเราหาเงินมาจ่ายไม่ไหวนะคะ

วินัยการใช้บัตรเครดิตที่ดีก็คือ ต้องจ่ายชำระเต็มจำนวนทุกเดือน นอกจากเราจะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มแล้ว ยังเป็นการสร้างประวัติการชำระหนี้ที่ดีในเครดิตบูโรด้วยค่ะ ทีนี้ ถ้าในอนาคตเราจะไปกู้อะไร ก็ไม่ต้องมาวิ่งวุ่นหาเงินปิดหนี้บัตรแล้ว



บัตรเครดิตสามารถใช้กดเงินสดได้ไหม

คำตอบคือ ได้ค่ะ แต่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด การกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ มันไม่เหมือนการรูดซื้อของด้วยบัตรเครดิตเพราะมันไม่มีระยะปลอดดอกเบี้ย ต่อให้เราชำระเต็มจำนวนในเดือนนั้น ธนาคารก็จะต้องคิดดอกเบี้ยสำหรับยอดที่เรากดเงินสดออกมาอยู่ดีค่ะ โดยคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่เรากดเงินไปจนถึงวันที่เราชำระหนี้หมด แถมยังมีค่าธรรมเนียม 3% ในการกดเงินสดแต่ละครั้งและ Vat 7% ของค่าธรรมเนียมนั้นอีกด้วยนะคะ เช่น เรากดเงินสดออกมาวันที่ 15 มกราคมแล้วชำระเงินเต็มจำนวนที่เรียกเก็บในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เราก็ยังต้องเสียดอกเบี้ยรายวันนับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ถึง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ อยู่ดี อัตราดอกเบี้ยก็จะประมาณ 18% ต่อปีค่ะ



บัตรกดเงินสดคืออะไร

นอกจากบัตรเครดิตแล้ว สถาบันการเงินก็ยังออกผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสดมาให้ผู้บริโภคใช้กันด้วย ซึ่งบัตรนี้จะไม่ได้มีไว้เพื่อรูดซื้อสินค้าและบริการเหมือนบัตรเครดิต แต่มีไว้กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มโดยเฉพาะ

จุดเด่นของการกดเงินจากบัตรกดเงินสด คือ บัตรกดเงินสดไม่มีค่าธรรมเนียมการกดเงินในแต่ละครั้ง ไม่เหมือนบัตรเครดิตค่ะ ส่วนดอกเบี้ยก็เป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่กดเงินออกมาจนถึงวันที่ชำระหนี้เต็มจำนวนเช่นกันค่ะ ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 20–28% ต่อปีแล้วแต่ธนาคาร

นิมีบัตรกดเงินสดอยู่หนึ่งใบ ทุกครั้งที่จะชำระหนี้ นิจะโทรไปถาม Call Center ก่อนว่าจะปิดยอดให้หมดวันนี้ ต้องจ่ายทั้งหมดกี่บาท แล้วเขาจะคำนวณดอกเบี้ยพร้อมบอกยอดที่เราต้องจ่ายมาให้เลยค่ะ

ถ้าถามว่า เราควรมีบัตรกดเงินสดไหม นิตอบได้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีค่ะ ยิ่งถ้าเป็นคนที่คุมการใช้จ่ายของตัวเองไม่ได้เลย ยิ่งต้องอยู่ให้ห่างนะคะ บางทีเวลาสมัครบัตรเครดิต ธนาคารชอบแถมบัตรกดเงินสดมาให้ด้วย ถ้าไม่อยากได้ ก็รีบโทรไปแจ้งปิดบัตรเลยค่ะ แต่ประโยชน์ของบัตรกดเงินสดก็มีเช่นกัน เดี๋ยวนิอธิบายอีกทีตอนรีวิวบัตรนะคะใครอยากจะมีเผื่อไว้ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเตือนไว้ก่อนว่า เวลาที่ธนาคารจะอนุมัติเงินกู้อะไรสักอย่างให้เรา เขาจะเพ่งเล็งการใช้บัตรกดเงินสดของเราด้วยค่ะ



รีวิวบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด

ก่อนจะไปต่อกันที่หัวข้ออื่น นิขอรีวิวบัตรเครดิตที่ตัวเองมีอยู่ก่อนนะคะ คนเราจะมีบัตรกี่ใบมันก็ไม่มีปัญหาหรอกค่ะ ถ้ารู้จักใช้ แต่ถ้าคิดว่าควบคุมการใช้เงินของตัวเองไม่ได้ นิแนะนำให้มีติดตัวไว้แค่ใบเดียวก็พอนะคะ

“ทุกครั้งที่จะสมัครบัตรใหม่ อย่าลืมถามตัวเองก่อนเสมอ
ว่าบัตรใบนี้มีข้อดีต่างจากบัตรที่เราถืออยู่แล้วอย่างไรและเราจะได้ใช้ประโยชน์อะไรจากมันบ้าง”
 
Citi Cashback: 
บัตรหลักในดวงใจของนิเองค่ะ เราเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เอาแต้มไปแลกของอะไรอยู่แล้ว นอกจากแลกส่วนลด บัตรที่ได้เงินคืนเลยตอบโจทย์เรามากกว่า บัตรนี้ได้เงินคืน 1% ทุกยอดใช้จ่าย (มีลิมิตต่อเดือนอยู่นะคะ แต่โดยทั่วไปเราคงใช้กันไม่ถึงหรอกค่ะ) ยกเว้นพวกค่าสาธารณูปโภค กองทุนรวม ค่าน้ำมัน แล้วก็ค่าใช้จ่ายในแม็คโคร บัตรนี้เหมาะกับคนที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหรือ Grab บ่อยๆ มากๆ เพราะใช้จ่ายที่ BTS กับ MRT ได้เงินคืน 11% (แต่ก่อนแค่ 5% พอเพิ่มมาเป็น 11% นี่เราปลื้มสุดๆ เลยค่ะ) แต่ของ BTS ต้องระวังนิดนึงนะคะ เขาให้จ่ายด้วยบัตรเครดิตได้เฉพาะเมื่อเติมเที่ยวด้วยเท่านั้นค่ะ จะเติมเที่ยวอย่างเดียว หรือเติมเที่ยว+เงินก็ได้ ส่วน Grab, Boots, Watsons ได้เงินคืน 5% คิดไม่ออกว่าจะใช้บัตรไหน นิก็ยื่นบัตรนี้ไว้ก่อนค่ะ ฮ่าๆ

Citi Rewards: 
บัตรนี้เป็นบัตรสะสมแต้มของ Citi นิเอาไว้ใช้สำหรับร่วมรายการโปรโมชั่นต่างๆ ที่บัตรแคชแบ็กไม่ได้เข้าร่วมค่ะ แล้วก็เอาไว้จ่ายพวกค่าอาหารหรือเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะจะได้แต้มคูณ 5 ส่วนแต้มก็เอาไปแลกไมล์หรือแลกส่วนลดเวลาซื้อของในห้างได้ค่ะ นิว่ามันไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ เลยใช้บัตรแคชแบ็กมากกว่า

TMB So Smart: 
บัตรนี้เป็นบัตรเงินคืน ก็คล้ายๆ กับ Citi Cashback ค่ะ แนะนำว่าเหมาะสำหรับเด็กจบใหม่ที่ไม่รู้จะทำบัตรไหนดี ได้เงินคืน 1% ทุกยอดที่เกิน 100 บาท ลิมิตเงินคืนที่สองพันบาทต่อรอบบัญชีค่ะ แต่ส่วนใหญ่เราก็ใช้กันไม่ถึงอยู่แล้ว บัตรนี้จะคืนเงินต่างจากบัตรซิตี้ตรงที่คืนเป็นเงินเข้าบัญชี No fixed ของเราเลย ไม่ได้คืนเข้ามาที่บัตรเครดิต นิสมัครใบนี้เพิ่มเพราะว่า บัตรนี้สามารถเลือกแบ่งจ่าย 0% 3 เดือนได้ (TMB So GooOd) สำหรับยอดใช้จ่ายตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป แต่จะไม่ได้เงินคืนสำหรับยอดที่แบ่งจ่ายนะคะ นิเลยสมัครเอาไว้เผื่อต้องใช้จ่ายยอดใหญ่แล้วไม่สะดวกจ่ายทีเดียวค่ะ บัตรนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปีอยู่แล้วด้วย บัตรอีกใบที่สามารถแบ่งจ่ายแบบนี้ได้คือ Krungsri FirstChoice Visa เป็นบัตรที่ดีมากเหมือนกันค่ะ แต่สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่ซ้ำกับบัตรที่เรามีอยู่แล้วเลยไม่ได้ทำ

Bangkok AirAsia: 
บัตรนี้สมัครเพราะเดินทางด้วย AirAsia บ่อย ขอบอกเลยว่าใครเดินทางด้วย AirAsia บ่อยๆ ต้องมีใบนี้จริงๆ ปลื้มมากที่ไม่ต้องต่อคิวเช็คอินเวลาจะโหลดกระเป๋า เพราะได้สิทธิเข้าช่อง Priority ซึ่งรออย่างมากแค่สามคิวค่ะ ปีแรกได้คูปองโหลดกระเป๋าฟรีกับคูปอง Hot Seat มาด้วย เราก็ใช้ไม่หมดนะคะ มันใช้ได้แค่กับสนามบินในไทย แล้วนิบินไม่บ่อยขนาดนั้น ปีต่อๆ ไป ถ้าอยากได้คูปองอีก ต้องใช้ให้ครบ 100,000 บาทค่ะ ซึ่งนิใช้ไม่ถึง คิดว่าคงได้บินอย่างมากก็สองทริป ยอดที่เราใช้จ่ายกับบัตรนี้จะโอนเข้าไปเป็นแต้ม BIG Points ให้เราเลยทุกเดือนค่ะ ทุกการใช้จ่าย 20 บาท รับ 1 BIG Point และรับ BIG Points x3 เท่า เมื่อใช้จ่ายกับแอร์เอเชีย แต่ต้องบอกว่าส่วนใหญ่แต้มแอร์เอเชียมันจะเอาไปแลกเที่ยวบินได้ไม่ค่อยคุ้ม จะต้องรอตอนที่มีโปรโมชั่นแลกเที่ยวบินที่ใช้แต้มน้อยเป็นพิเศษ ซึ่งนานๆ มาทีค่ะ แล้วก็สามารถแสดงบัตร เพื่อขอเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นมูลค่า 60 บาทบนเครื่องได้ด้วย แต่เฉพาะกรณีที่บินกับไทยแอร์เอเชีย (FD) หรือไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ) เท่านั้นนะคะ ข้อเสียของบัตรนี้คือ Call Center ค่ะ Call Center ห่วยมากๆ ทั้งของธ.กรุงเทพและแอร์เอเชีย แอร์เอเชียยังพอทนนะคะ ของกรุงเทพคือนิต้องเปิดลำโพงทิ้งไว้ประมาณ 45 นาที ถึงจะมีคนรับสาย เหตุผลอีกอย่างที่ทำคือ บัตรนี้เป็น Mastercard ค่ะ ต่างจากใบอื่นที่นิมีอยู่แล้ว

KTC JCB:
ใบนี้เพิ่งสมัครเลยค่ะ ยังไม่ได้ใช้อะไรมาก Call Center ก็ยังไม่เคยโทรไป สมัครเพราะร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไปทานหลายๆ ร้านจะลดทันที 10% ถ้าใช้บัตร JCB เลยสมัครไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เดือนไหนไม่ได้กินอะไร ก็ไม่ได้ใช้เลยค่ะ อีกอย่างคือเผื่อมีโปรโมชั่นอื่นๆ ที่ให้เฉพาะบัตร JCB หรือในอนาคต ถ้าได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็คงเอาไปใช้ที่ญี่ปุ่นด้วย อ่อ ข้อดีอีกอย่างคือบัตรสวยค่ะ เห็นแล้วประทับใจ

Citi Ready Credit (บัตรกดเงินสด): 
ใบนี้นิเอาติดตัวไว้ยามฉุกเฉินไม่มีเงินใช้จริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้องเสียดอกเบี้ยนะคะ นานๆ จะกดสักที ส่วนใหญ่จะกดตอนที่มีโปรโมชั่น กดแล้วได้ส่วนลดอะไรสักอย่าง เช่น ตอนนี้เหมือนจะได้ Burger King หรือส่วนลดสตาร์บัค 100 บาท นิจะกดมาสักสองร้อย แล้วพอได้โค้ดส่วนลด วันต่อมาก็เอาเงินไปจ่ายเลย จะเสียดอกเบี้ยน้อยมากๆ คุ้มกับส่วนลดที่ได้ค่ะ จริงๆ สามารถฝากเงินเข้าไปในบัตรไว้ก่อนค่อยกดได้นะคะ แบบนั้นก็จะไม่เสียดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ ตอนไปเที่ยวต่างประเทศ นิจะพกไปด้วยเผื่อคำนวณเงินผิด แล้วเงินสดที่แลกไปมันไม่พอ จะได้กดเงินออกมาใช้ได้ค่ะ ในกรณีนี้จะมีค่าธรรมเนียมการกดเงินจากตู้แล้วแต่ธนาคารที่ไปกดนะคะ ถ้าไม่อยากเสียดอกเบี้ยเยอะ (กรณีที่อีกนานกว่าจะกลับไทย) ก็สามารถจ่ายผ่านแอพ Kbank ได้ค่ะ แต่ต้องเซฟเป็น Favorite ไว้ตั้งแต่ก่อนไปต่างประเทศถึงจะทำรายการได้ ประมาณสามวันเงินถึงก็จะเข้าบัตร ส่วนใหญ่นิจะจ่ายเกินๆ เผื่อเป็นดอกเบี้ยไว้ด้วย

เหมือนข้อความจะเกินกำหนดแล้ว เดี๋ยวอ่านในคอมเม้นท์ด้านล่างนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  บัตรเครดิต การเงิน บัตรกดเงินสด
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่