ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : เมื่อโลกกำลังติดเบรกเรื่องกัญชา...?

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : เมื่อโลกกำลังติดเบรกเรื่องกัญชา...?
Sun, 2019-03-10

ธีระ วรธนารัตน์

วันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันที่เผยแพร่ข่าวพลิกโลกเรื่องกัญชาครับ เพราะหน่วยงานอิสระด้านการควบคุมยาเสพติดสากลที่เป็นกลไกหลักด้านนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คือ International Narcotics Control Board (INCB) ได้มีการประชุมใหญ่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

หากใครตามข่าวเรื่องกัญชา จะพบว่า มีการตั้งความหวังไว้จากกลุ่มต่างๆ ที่พยายามผลักดันให้ปลดล็อคกัญชา ทั้งในเรื่องการแพทย์ และเสรีกัญชา ว่า INCB นี่แหละจะออกรายงานประจำปีที่จะสนับสนุนคำเรียกร้องในการปลดล็อคกัญชา และจะนำไปสู่การเปลี่ยนโลกให้เข้าถึงกัญชากันได้อย่างถ้วนทั่ว เพราะจะส่งผลต่อการลงมติเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติดและแนวปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศผ่านกลไกของสหประชาชาติ

เอาล่ะ...แล้ว INCB เค้าประชุมแล้วประกาศอะไรออกมาบ้าง?

INCB ออกรายงานมาติดเบรกการใช้กัญชาครับ เน้นให้คิดและวางแผนอย่างรอบคอบ โดยเตือนชัดเจนว่า การปลดล็อคเพื่อใช้ทางการแพทย์นั้นมีประโยชน์ที่พิสูจน์ได้จริงๆ จำกัดมาก หลักฐานระดับอ่อนสำหรับสารสกัดกัญชาที่ใช้บรรเทาคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็ง หลักฐานระดับปานกลางสำหรับลดปวดจากพยาธิสภาพของเส้นประสาทและภาวะเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยโรค Multiple sclerosis หลักฐานระดับปานกลางในการลดอาการชักในผู้ป่วยโรคชักประเภทที่หายากและถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โดยมีการระบุไว้ว่า โรคต่างๆ ที่มีการนำมาใช้นั้น อาศัยข้อมูลวิจัยที่ยังไม่เข้มแข็งหากพิจารณาตามมาตรฐานสากล และมีจุดอ่อนจากวิธีการวิจัยอยู่มาก ทั้งในเรื่องการมิได้เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน แต่ไปเทียบกับเพียงยาหลอก รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญ

นอกจากนี้ยังฟันธงว่า ณ ปัจจุบัน “กัญชานั้นไม่สามารถนำมาทดแทนการรักษามาตรฐาน หรือมาเป็น first line treatment ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆ ก็ตาม”

อัตราการเกิดผลข้างเคียง/ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มคนที่ใช้กัญชามีสูง

ยิ่งไปกว่านั้น หากไปทำการประเมินผลกระทบจากการดำเนินนโยบายปลดล็อคกัญชาในประเทศต่างๆ แล้ว พบว่า ประเทศที่ปลดล็อคเพื่อใช้ทางการแพทย์หลายประเทศนั้นเกิดปัญหาสาธารณสุข และทางสังคมตามมาหลายต่อหลายเรื่อง เอาเข้าจริงปรากฎว่าไม่สามารถควบคุมกระบวนการต่างๆ ได้เลย ทำให้เกิดการผลิต ค้าขาย และแอบใช้ผิดวัตถุประสงค์มากมาย และทำให้กลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข ไม่ว่าจะในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศแคนาดาที่เหล่ากลุ่มนักวิชาการ นักบริหาร นักการเมืองของเราพยายามอ้างอิงอยู่เรื่อยๆ

ประเทศแคนาดาถูกระบุอย่างชัดเจนว่า การปลดล็อคเพื่อใช้ทางการแพทย์ ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การเปิดเสรีกัญชานั้น เป็นตัวอย่างของระบบที่ควบคุมได้แย่ (Poorly regulated medical cannabis program) และในสถานการณ์ปัจจุบันนำไปสู่ปัญหาทางสังคมต่างๆ ข้างต้นซึ่งยากต่อการแก้ไขแล้ว เฉกเช่นเดียวกับบางมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

การที่ INCB กล้าหยิบยกเรื่องแคนาดามาตีแผ่ให้โลกรับรู้นั้นจัดเป็นการเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่สำหรับใครหลายคน และน่าจะเป็นหลักฐานที่ดีแก่รัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ว่า ประเทศที่ท่านพยายามยกมาเป็นมาตรฐานเพื่อเดินตามเขานั้นตกหลุมไปแล้ว จนเกิดปัญหาทางสังคมที่ลึกเกินแก้ แล้วเรายังจะผลักให้สังคมเราเดินไปตามเขาอีกหรือ?

ดังนั้น ที่พยายามนำเสนอกันเหลือเกินว่า ข้อเสนอของสหภาพยุโรป (EU) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะนำไปสู่การผลักดันกฎหมายโลกในเรื่องกัญชาในเดือนมีนาคมนี้นั้น INCB ซึ่งคือกลไกเรื่องนี้ของสหประชาชาติ ได้ไขข้อข้องใจให้ทุกท่านจนกระจ่างแล้วว่า มันเกิดอะไรขึ้น และควรทำอย่างไร เพื่อปกป้องสุขภาพ และดูแลรักษาความเจ็บป่วยของประชาชนในประเทศ และประชาคมโลก

การรักษาโรคนั้นจำเป็นต้องอาศัยมาตรฐาน ใช้เวลาในการพิสูจน์ มิใช่ลัดเลาะหรือมีช่องทางลัดด้วยเหตุผลอื่นใด ขั้นตอนการวิจัยของสากลที่มีอยู่นั้นมีไว้เพื่อให้แน่ใจถึงความปลอดภัย และประสิทธิภาพ

กัญชา และสารสกัดจากกัญชานั้น น่าสนใจมากที่จะพิสูจน์ว่าได้ผลในการรักษาจริงหรือไม่ หากมีประโยชน์จริง ก็จะเป็นความหวังแก่ทุกคนในระยะยาว แต่ต้องทำภายใต้การวางแผนอย่างรอบคอบ ไม่บุ่มบ่าม และต้องระวังผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง

เอาล่ะใครสนใจอ่านต่อ ไปตามลิ้งค์นี้เลยครับ... https://www.incb.org/incb/en/news/AR2018/incb-2018-annual-report-and-precursors-report-launched.html

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

International Narcotics Control Board (INCB) Annual Report 2018, United Nations. Launched 5th March 2019.

https://www.hfocus.org/content/2019/03/16931
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่