คิดเห็นอย่างไรกับการเปลี่ยนหลักสูตร MEP เป็น IEP ในปีการศึกษาหน้าค่ะ

วันนี้มีข่าวนี้ค่ะ

Cr. ข่าวจาก https://www.brighttv.co.th/latest-news/356943

บอร์ด กพฐ.ยกเลิกหลักสูตร EP-MEP ให้ปรับเป็น IEP เน้นวิชาภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น แต่วิชาอื่นสอนเป็นภาษาไทย หลังพบเด็กเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ อ่านข้อสอบเข้าศึกษาต่อที่เป็นภาษาไทยไม่เข้าใจ

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุม กพฐ. วันที่ 8 มี.ค. ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับการจัดการเรียนการสอนในโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค หรือ Education Hub ใหม่เป็น 3 หลักหลักสูตร คือ 1.หลักสูตรภาษาอังกฤษนานาชาติ International Program (IP) โดยใช้หลักสูตรที่มาจากต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยครูเจ้าของภาษาหรือครูที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด 2.หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น Intensive English Program (IEP) โดยเน้นเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ต้องจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากกว่า 5 คาบต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการใช้ภาษาอังกฤษต้องอยู่ในระดับ B2 สามารถสื่อสารเรียนรู้ และทำงานในสภาพแวดล้อมหรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้ สามารถเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ 3.หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อทุกคน General English Program (GEP) เด็กต้องได้เรียนภาษาอังกฤษครบทุกทักษะ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เน้นการสอนให้สื่อสารได้ ครูใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้จริง โดยนำครูจากโครงการ English Boot Camp ที่มีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ และกระจายอยู่ทั่วประเทศมาสอน โรงเรียนไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเด็กเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใช้หลักสูตร IP อยู่จำนวน 19 สถานศึกษา ใช้หลักสูตร English Program (EP) ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และใช้หลักสูตร Mini English Program (MEP) ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางวิชา รวม 400 สถานศึกษา

“เมื่อเด็กเรียนวิชาต่าง ๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ แต่ถึงเวลาไปสอบเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งข้อสอบเป็นภาษาไทย ทำให้เด็กและไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงปรับ EP และ MEP ให้เป็น IEP ทั้งหมด โดยเข้มทางด้านภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่น ๆ เรียนเป็นภาษาไทย โดย สพฐ.จะแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดที่เปิดสอน EP และ MEP ทบทวนตัวเองว่าจะปรับมาสอนในระดับ IEP หรือ GEP” ประธาน กพฐ กล่าว และว่า นอกจากนี้ จะเปิดเว็บไซต์ในการจัดหาครูต่างชาติ เพื่อให้ครูต่างชาติสามารถสมัครและส่งคุณสมบัติของตนเองมาไว้ที่เว็บไซต์นี้ เพื่อให้สถานศึกษาที่ต้องการครูต่างชาติ เข้ามาชอปปิงครูได้ ซึ่งจะเป็นการตัดนายหน้าหาครูเข้ามาสอน ออกไปและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน รวมทั้งให้ สพฐ.จัดทำสัญญาจ้างงานเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานศึกษา ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการการศึกษาพื้นฐานสู่สากล ได้จัดทำคู่มือ English HANDBOOK DRAFT สพฐ.จะแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดทราบ และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันในปีการศึกษา 2562

ส่วนตัวเราคิดว่า คิดแบบแม่บ้านนะคะ คือ ถ้าเรียนอังกฤษแต่เข้มข้น (IEP) มันก็เน้นไปทางด้านการสื่อสาร ด้านภาษาดีนะ เพราะมันใช้ได้จริงในสังคม แต่ไม่น่าจะเกี่ยวกับการอ่านข้อสอบที่เป็นภาษาไทยไม่เข้าใจหรือเปล่า?   การเรียนคณิต วิทย์ หรืออื่นๆ เป็นอังกฤษ (MEP) มันก็มีการสื่อสารแทรกอยู่ในการเรียนการสอน มันก็เหมือนเป็นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบเข้มข้นไปในตัวหรือเปล่า แถมได้ศัพท์ด้านวิชานั้นๆ มาอีกด้วยนะ

คุณพ่อคุณแม่ที่ปัจจุบันลูกเรียน MEP  หรือที่กำลังจะส่งลูกเรียนเข้าโรงเรียน กพฐ. หรือคุณครู คิดเห็นอย่างไรกันบ้างค่ะ อยากได้มุมมองท่านอื่นๆค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
นี่ถึงขั้นต้องlog inเข้ามาตอบ เช้านี้ตื่นมาอ่านข่าวนี้ถึงกับอุทานเป็นภาษาพ่อขุนราม
ในฐานะที่เป็นเด็กEPยุคบุกเบิกมีความเห็นดังนี้
1. ปัญหาเด็กอ่านข้อสอบภาษาไทยไม่เข้าใจเป็นปัญหาหนักมากสำหรับเด็กม.ปลายสายวิทย์ เพราะต้องเรียนในชั้นให้เข้าใจและต้องเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้ามหาลัยไปด้วย ไม่ต่างจากเรียน2หลักสูตรพร้อมๆกันเลย จึงตั้งข้อสงสัยว่า "มันต้องใช้เวลาถึง10กว่าปีเลยหรอที่จะเห็นปัญหานี้เนี่ยยยยยยย" คือตอนตรูเรียนเนี่ย ลากเลือดเหมือนกันนะ ศธ.ยังไม่เห็นปัญหาอีกหรอ ตาทำด้วยถั่วรึไง?
2. วิชาที่มีปัญหาคือวิชาสายวิทย์ค่ะ ที่อ่านไม่เข้าใจ คุณไม่สงสัยหรอว่าทำไมเด็กถึงมีปัญหากับวิชาที่80%ของเนื้อหาคือภาษาสัญลักษณ์??? คุณไม่เคยเอะใจเรื่องนี้กันเลยหรอออ?? ถ้ายังไม่รู้อีกเดี๋ยวจะตอบให้ "เพราะว่าไทยเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมไง" ศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษทุกคำต้องมีเวอร์ชั่นภาษาไทย ดังนั้นเด็กEPจึงต้องเรียนศัพท์เทคนิค2เวอร์ชั่น .. คำถามคือ มีความจำเป็นอะไรคะที่ต้องแปลศัพท์เทคนิคทุกอันเป็นภาษาไทย แล้วทำให้เด็กไม่สามารถอ่านtextbookภาษาอังกฤษต่อยอดในระดับมหาวิทยาลัยได้ ทำไมไม่ทับศัพท์ไปห๊ะ
3. หนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันนะว่าปัจจุบันศธ.ได้ทำหนังสือประกอบการเรียนการสอนเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษออกมารึเปล่า แต่ตอนเราเรียนมันต้องใช้หนังสือของต่างประเทศ เพราะไทยยังไม่มีหนังสือประกอบการเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ และหนังสือtextbookของต่างประเทศแม้ว่าจะเป็นหัวข้อการเรียนเดียวกันแต่หนังสือไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยค่ะ แนวทางของโจทย์เป็นคนละแนวกับข้อสอบไทยที่เน้นเทคนิค สูตรลัด และความรวดเร็ว ในขณะที่หนังสือต่างประเทศเน้นพื้นฐานให้เข้าใจที่มาที่ไปของสูตร ไม่เน้นลัด ท่องจำ บลาๆๆๆ ดังนั้นก็เลยไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเด็กถึงทำข้อสอบเข้ามหาลัยไม่ได้

ปัญหาที่ว่ามานี้เด็กสามารถบอกคุณได้ตั้งแต่เมื่อ10ปีที่แล้ว แต่พวกคุณก็ไม่สนใจจะถามหรือไม่อยากจะถามกันเอง เหมาเอาว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน เด็กเกเรกันเอง นี่ผ่านมา10ปียังได้ข้อสรุปแบบนี้อยู่อีก ไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาบรรยาย

เพิ่มเติม: ความเข้าใจที่เด็กEPอ่อนกว่าเด็กภาคปกตินั่นก็ไม่จริงค่ะ ถ้าคุณวัดด้วยข้อสอบเข้ามหาลัยคุณจะได้ข้อสรุปนี้ก็ไม่แปลก แต่หลักสูตรที่ให้ท่องแต่สูตรไม่เข้าใจที่มาที่ไปของสูตร ไม่สามารถนำไปต่อยอดในมหาวิทยาลัยได้ค่ะ อยากให้ตั้งข้อสังเกตุตามนี้ "เพราะอะไรหลักสูตรมหาวิทยาลัยจึงต้องเรียน เลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ซ้ำของม.ปลาย" ก็เพราะหลักสูตรม.ปลายไม่ได้เตรียมความพร้อมให้เด็กนำไปต่อยอดได้จริงไง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่