คิดอย่างไรกับการจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ในราคาถูกเหลือเชื่อจาก Error Fare / Price

ขอเท้าความนิดนึงว่าทำไมผมต้องมาเขียนกระทู้นี้ครับ อาชีพที่ผมทำงานอยู่ปัจจุบันเป็นงานที่เกี่ยวกับการหาสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ให้ลูกค้าได้มาใช้สิทธิ์ เช่น กาแฟฟรี ตั๋วหนังฟรี กินฟรี ของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เดียวนี้มีมากมายทั้งธนาคารต่างๆ หรือค่ายมือถือก็ตาม ดังนั้นผมเชื่อว่าหลายๆท่านน่าจะคุ้นเคย หรือเคยใช้สิทธิพิเศษพวกนี้

ทีนี้เกี่ยวอะไรกับ Error Fare?

มันไม่เกี่ยวโดยตรงหรอกครับ แต่มันคล้ายๆกับงานของผมอย่างหนึ่ง คือการ set ระบบ set list ของลูกค้า set สิทธิพิเศษต่างๆ ที่จะให้ลูกค้าได้กดเข้ามารับสิทธิ์ แล้วก็ไปกินฟรี ดูหนังฟรี อย่างมีเกียรติ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าวันนึง อาจจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด คือผมอาจจะ set ระบบผิด อย่างเช่น แทนที่จะจำกัดแค่คนละสิทธิ์ กลายเป็นไม่จำกัด หรือจากที่กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการของผมจะมีสิทธิ์เท่านั้น กลายเป็นใครๆก็ใช้สิทธิ์ได้ แล้วดันนน..มีคนพบข้อผิดพลาดตรงนี้ แล้วเอาไปโพสต่อใน facebook หรือหน้าเพจตัวเอง แล้วมีคนกระหน่ำมากดใช้สิทธิ์ไปหมด ใครได้ไปก็ต่างโพสขอบคุณสรรเสริญคนที่เอาความผิดพลาดนี้มาแชร์ ซึ่งเมื่อบริษัทได้เสียหายจนไม่เหลืออะไรแล้ว คนที่มาแชร์ก็โพสบอกลูกเพจว่า “ตลาดวายแล้ว กลับไปทำงานได้”

ผมเท้าความมาประมาณนี้แล้ว พอจะจับประเด็นได้มั้ยครับ ว่ามันเหมือนกับ Error Fare ยังไง

ใครที่ไม่รู้จัก Error Fare ผมขอยกตัวอย่างครับ

1. กรณี Cathey Pacific

เหตุเกิดวันส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ 2019 เจ้าหน้าที่ของสายการบิน set ราคาผิด จากเวียดนามไป อเมริกา แคนนาดา set ราคาที่นั่งชั้น first class และ business class เป็นราคาเดียวกับ economy

พอมีคนรู้เท่านั้นแหละ เอามาแชร์ต่อ ใน Facebook จากนั้นคนกระหน่ำเข้าไปจองราคา error fare กัน จองได้แล้วก็แน่นอน ต้องอวดกับหน่อย ขอบคุณคนแชร์ เสร็จแล้วก็กอดบุ๊กกิ้งไว้แน่นๆ รอดูว่าสายการบินจะยกเลิกตั๋วไหม ส่วนสายการบินเมื่อทราบข้อผิดพลาดก็แก้ไข แต่ก็มีคนจองไปได้เยอะแล้ว

สรุปว่าคนที่จองได้ ประหนึ่งถูกหวยครับ สายการบินออกมาประกาศว่าตั๋ว error fare ที่ได้ออกไป อนุญาตให้ใช้บินได้ จากเหตุการณ์วันนั้น คนต่างชื่นชมสายการบิน Cathey Pacific ในความใจถึงในความผิดพลาดครั้งนี้

2. กรณี Austrian Airlines

เมื่อปลายเดือนมกราที่ผ่านมาก็มีอีกเคสหนึ่งเกี่ยวกับ error fare ที่กล่าวขวัญกัน นั่นก็คือกรณีสายการบิน Austrian Airlines ที่ทำ Error Fare ออกมาสำหรับตั๋ว Business Class จากกรุงเทพไปเวียนนา ในราคาที่ถูกเหลือเชื่อเพียง 3 หมื่นกว่าบาท ทั้งที่ราคาจริงราคาเฉียดแสน

ก็มีผู้รู้ใน facebook อีกนั่นแหละครับ ที่เอามาแชร์ คนก็กระหน่ำเข้าไปจอง แล้วก็แน่นอน เอามาโพสอวดกัน ขอบคุณคนโพส สุดท้ายก็ต้องจบด้วยวลีเด็ด “กอดบุ๊กกิ้งแน่นๆ”

แต่ก็เหมือนฟ้าฝ่า ไม่นาน สายการบินรู้ตัวว่าราคาผิด และทยอย cancel booking ของผู้โชคดีทั้งหลาย ส่วนคนที่จองกับ agency เจ้าหนึ่งก็ยังมีเวลาต่อลมหายใจอีกหน่อย เพราะทาง agency ก็ต้องหารือกับสายการบินถึงแนวทางแก้ไข แต่สุดท้ายก็ออกแนวทางมาให้ผู้โชคดีทั้งหลายได้เลือก คือ 1. cancel คืนเงินเต็มจำนวน 2. ย้ายไปนั่งอีโคโนมี่ หรือ 3.เพิ่มเงินจะได้นั้ง Business Class เหมือนเดิม

พอหวยออกมายั่งงี้ ความดราม่าก็บังเกิดสิครับ ทั้งคนไทยและคนจีน เท่าที่เห็นมีสองชาตินี้ เข้าไปโพสด่าใน facebook Austrain Airlines อย่างรุนแรง บ้างก็จะฟ้องร้อง บ้างก็ถามหาความรับผิดชอบ บางคนถึงขนาดตั้งเป็นกลุ่มคนได้รับความเสียหายจากการจอง error fare นี้ ซึ่งเหมือนเคสนี้ก็ยืดยาวเป็นเดือนแล้วก็ยังไม่จบ น่าจะมีคนจองไปเยอะ

3. กรณีห้องพักราคาถูกเหลือเชื่อจาก Agoda Traveloka

เหตุเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โรงแรมสี่ดาว ห้าดาว จองได้ในราคาหลักร้อย ขอย้ำหลักร้อย บางโรงแรมร้อยกว่าบาท

step เดิม มีคนแชร์ใน Facebook คนแห่เข้าไปจอง จองเสร็จแล้วเอามาโพสอวดประหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่ agoda traveloka หรือโรงแรมเข้ามาดู facebook ไม่เป็น  และที่ขาดไม่ได้วลีเด็ดก็ต้องมา “กอดบุ๊กกิ้งแน่นๆ”

สุดท้าย ฝันสลาย โดนโรงแรม cancel กันทั้งแถบ แต่ก็มีผู้โชคดีได้พักจริงๆ โรงแรมกับ agent ก็คงทยอยยกเลิก booking ทีนี้คนที่บุ๊กกิ้งยังไม่ถูกยกเลิกก็ไปต่อไม่ถูก จะจองตั๋วเครืองบินดีมั้ย จะลางานดีมั้ย ไปไม่เป็นเลยทีเดียว

ผมยกตัวอย่างมาสามเคสนี้แล้วท่านเห็นว่ายังไง ให้ความเห็นกันมาได้

สำหรับผมล่ะ?

ผมยอมรับ... เมื่อหลายปีก่อนผมก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกหวย ได้ตั๋ว Air India Multi-city ไปเที่ยวลอนดอนในราคาหมื่นกว่าบาท ถามว่าตอนนั้นผมคิดยังไง ก็ต้องบอกว่าโคตรคุ้มเลย ไปเที่ยวกลับมาอย่างสนุก แถมเขียนรีวิวใน Pantip ด้วย

แต่... เมื่อผมได้มีโอกาสได้ทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องการ set ระบบต่างๆแล้ว ทำให้รู้ว่า Error มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แน่นอนมันเกิดขึ้นจาก human error จะบอกว่า system error ก็ไม่ถูกนักเพราะมันต้องมีคนไป set system อยู่ดี สุดท้ายมันต้องมีคนรับผิดชอบ คนๆที่ต้องรับผิดชอบเค้าจะโดนอะไรบ้าง ลองนึกดูครับ แน่นอนโดนหัวหน้าด่าโดนต่อว่า อาจจะโดนหักเงินเดือน อาจจะถึงขั้นโดนไล่ออก ชีวิตหรืออนาคตเขาต้องพัง ไม่รู้จะโดนเรียกค่าเสียหายด้วยหรือเปล่า

ที่นี้ลองนึกดูซิครับ ในขณะที่เราภาคภูมิใจ รู้สึกคุ้มสุดๆ รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้นั่ง Business Class แต่คนที่ต้องรับผิดชอบคนนั้นตกอยู่ในสภาพที่เราคงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเรา บางคนอาจจะบอกว่าก็คุณผิดเอง คุณ set ผิดเอง เราจองถูกต้อง เราจ่ายเงินถูกต้อง ใครจะไปรู้ว่าเป็น error fare เราเข้าใจว่าคุณออกราคานี้มาให้เราได้มีประสบการณ์สุดพิเศษจริงๆ คุณมา cancel booking ของเราได้ยังไง  ขอถามหน่อยเถอะครับท่านที่คิดแบบนี้ ท่านหลอกตัวเองอยู่หรือเปล่า ความจริงคุณตั้งใจจะใช้บริการสายการบินหรือโรงแรมนี้อยู่แล้วหรือเปล่า แล้วพอคุณเช็คราคาก็เป็นราคาที่ถูกแสนถูกแบบนั้นเด้งขึ้นมาพอดี แล้วคุณก็จองและจ่ายเงินด้วยความบริสุทธิใจ ถ้าเป็นยังงั้นจริงๆ..จองไปเลยครับ

สำหรับคนที่ถามหาความรับผิดชอบ ค่าชดเชย หรือจะไปฟ้องร้องอะไรก็ตาม ผมไม่รู้หรอกครับว่าตามกฏหมายมันขอค่าชดเชยได้มั้ย สำหรับผมสายการบินไม่ต้องไปชดเชยอะไร เพราะถ้าได้คืนเงินเต็มจำนวนแล้วก็ย่อมถือว่าไม่มีอะไรติดค้างกันแล้ว ยกเว้นถ้าคุณไปยื่นวีซ่า ไปจองโรงแรมแบบคืนเงินไม่ได้แล้ว อันนี้สิน่าได้รับรับการชดเชย ถ้าคุณยืนยันได้ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจริง

สุดท้ายนี้ ผมขอยกตัวอย่าง มีลูกแม่ค้านั่งขายขนมหน้าบ้าน ขนมปกติราคากล่องละ 10 บาท แต่เด็กดันติดป้ายราคาผิดเป็น 1 บาท คุณก็พอจะรู้อยู่ในใจว่าราคามันน่าจะผิด คุณจะซื้อมั้ย?

ที่นี้ถ้าคุณควักเงินจ่ายไป 1 บาท ได้ขนมมาอย่างคุ้มค่าที่สุดในโลก พอลูกเอาเงินที่คุณจ่ายไปให้แม่ โดนแม่ด่าว่าขายไปได้ไง 1 บาท รีบวิ่งไปบอกพี่เค้าเลยว่าขนมมัน 10 บาท ให้เอามาอีก 9 บาท ถ้าพี่เค้าไม่โอเคก็คืนเงิน 1 บาทให้แล้วเอาขนมกลับมา ถ้ากรณีนี้เกิดขึ้นกับคุณ คุณจะทำยังไง? คุณจะยืนยันกับเด็กว่า ก็น้องติดป้าย 1 บาท ฉันจ่ายเงินไปแล้วยังไงก็จะกิน แกจะโดนแม่ฟาดก็เรื่องของแก หรือจะคืนขนมแล้วแล้วรับเงิน 1 บาทคืน หรือจะเอาเงินกลับไปจ่ายให้อีก 9 บาท มันขึ้นอยู่กับคุณแล้วครับ
(เนื่องจากหลายคนทักท้วงว่าไม่ควรใช้คำท่ี่อ่อนไหวนี้ จึงขอลบทิ้งครับ)
.........................

ผมขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ ผมพอจะทำใจไว้แล้วครับว่านี่อาจจะเป็นกระทู้ดราม่า ผมจึงขอชี้แจงดังนี้ครับ

ผมอยากจะลำดับอีกครั้งว่ากระทู้นี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1.อธิบายที่มาที่ไปว่าทำไมถึงอยากตั้งกระทู้
2.ยกตัวอย่างเคสของ Error Fare
3.แสดงความคิดเห็นของผม
4.ให้แง่คิด
มีเท่านี้เองครับ

ที่นี้สำหรับความเห็นต่างๆที่ต่อว่าผมอย่างหนัก ผมอยากให้คุณดูจุดประสงค์ของกระทู้นี้จริงๆครับว่าผมตั้งใจจะสื่อสี่ข้อที่ว่ามาข้างต้นจริงๆ ไม่ได้เจตนาจะต่อว่าใคร หรือบอกว่าใครผิดไม่ผิด ทั้งคนแชร์และคนซื้อ เพราะแน่นอน ผมเคยจอง Error Fare เมื่อหมายปีก่อน ซึ่งผมก็ยอมรับ หรือแม้แต่เรื่องคุณธรรม ผมก็แค่บอกหลักการเท่านั้น  ยังไม่ได้ว่าใครว่าไม่มีคุณธรรม และผมก็ไม่ได้บอกว่าผมมีคุณธรรมดีเด่นกว่าคนอื่นอย่างไร

สำหรับคนแชร์ เค้าเป็นแค่คนเอาข่าวมาบอก ไม่ได้ทำอะไรผิดครับ  อยู่ที่วิจารณญาณของคนจองแล้วว่าคิดว่ามันดีที่จะจองมั้ย และพร้อมจะรับความเสียงได้ไหม ซึ่งถ้ากรณีสายการบินหรือโรงแรมอนุญาตให้บินได้ อนุญาตให้พักได้ ก็จบ ถือว่าทั้งสองฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งกรณีที่ผมบิน Air India หรือเคส Cathey  ก็เป็นกรณีที่จบด้วยดีทั้งสองฝ่าย

แต่สำหรับกรณีที่สายการบินยกเลิกบุ๊กกิ้ง ผมไม่ได้มองว่าสายการบินโยนความผิดให้ลูกค้า เพราะสายการบินก็ทำการคืนเงินให้เต็มจำนวนหรือเสนอแนวทางเยียวยา อาจจะแจ้งให้คุณจ่ายเพิ่ม (เหมือนแม่ให้ลูกวิ่งไปบอกคนที่ซื้อขนมราคาผิด บอกราคาที่ถูกและส่วนต่าง) ถ้าคุณจ่ายก็ไปต่อได้ไม่มีปัญหา หรือถ้าไม่โอเคก็รับเงินคืน ซึ่งคนที่ซื้อไปก็ไม่น่าจะไปงอแงหรือโพสด่าสายการบิน

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกับหลายๆท่านที่แสดงความเห็น นั่นก็คือกรณีที่สายการบินออก Error Fare แล้วตามยกเลิกบุกกิ้งของคนที่ซื้อไปได้ แต่พอเราซื้อตั๋วผิด ไม่ว่าจะผิดวัน ผิดเส้นทาง ผิดชื่อ กลับยกเลิกขอเงินคืนไม่ได้ สำหรับประเด็นนี้ก็อยากให้หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาในกรณีนี้เช่นกันครับ อย่างประเทศอื่นที่คุ้มครองอย่างเช่น ตั๋วเครื่องบินที่เดินทางเข้าหรือออกอเมริกา จะสามารถยกเลิกได้ฟรี 24 ชม.หลังการจอง หรือตั๋วที่ไปเกาหลีไต้ก็สามารถยกเลิกขอเงินคืนได้ แต่จะได้เงินคืนเท่าไหร่แล้วแต่ว่าแจ้งยกเลิกก่อนเดินทางนานแค่ไหน

ท้ายนี้ หากมีถ้อยคำใดในกระทู้นี้ ที่ทำให้ท่านใดเข้าใจว่าผมต่อว่า ผมใคร่ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่