ระวัง อาการสั่นเกร็งในผู้สูงอายุ

พาร์กินสัน โรคสั่นเกร็งในผู้สูงอายุ

โรคพาร์กินสันถือว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ2 รองจากโรคอัลไซเมอร์นะครับมักพบในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่แต่ก็สามารถพบในวัยกลางคนได้เช่นกันและพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงซะด้วย


โรคพาร์กินสัน คือโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์ประสาทในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า
โดปามีนซึ่งเป็นสารที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีปริมาณลดลง จนส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย โดยสามารถจำแนกอาการของโรคพาร์กินสันได้ทั้งหมด 5 ระดับ
ระดับที่ 1 ผู้ป่วยมีอาการสั่นน้อย มีอาการสั่นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น และยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
ระดับที่ 2 ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้าง พร้อมมีลำตัวที่คดงอลงเล็กน้อย
ระดับที่ 3 ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้าง รวมไปถึงระบบการทรงตัวเริ่มไม่แข็งแรงจนอาจจำเป็นต้องมีผู้คอยดูแลและพยุงในบางครั้ง
ระดับที่ 4 ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้างหนักมากจนเริ่มไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ระดับที่ 5 ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้างในขั้นรุนแรง และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

โรคพาร์กินสันส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในด้านการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมากบางคนอาจไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และจำเป็นต้องมีคนคอยดูแล เนื่องจากกล้ามเนื้อของผู้ป่วยมีการอ่อนแรงและสั่นเกร็ง จากที่เคยทำงานได้ก็เริ่มทำได้ช้าลงและทำไม่ได้ในที่สุด นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นได้เช่น อาการท้องผูก อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อโดยเฉพาะเวลานอนจนทำให้นอนไม่หลับ หรืออาการท้อแท้เบื่อหน่ายชีวิตจนอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้ดังนั้นผู้ดูแลควรต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบความผิดปกติจะได้รีบพาไปพบแพทย์และรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม


โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ใช้วิธีการรักษาเป็นแบบควบคุมประคับประคองอาการด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดฝังตัวกระตุ้นสมองส่วนลึก และการรักษาทางกายภาพบำบัด ด้วยวิธีการการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยวิธีการรักษานั้นๆ แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาและให้คำแนะนำตามความเหมาะสมของอาการในผู้ป่วยแต่ละรายไป

นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยมีความสุขในชีวิตและมีกำลังใจที่ดีก็นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปได้นั่นเองครับ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่