**กรรมตามทัน!! คดีมหากาพย์"อัลไพน์"..เป็นอุทาหรณ์แก่ข้าราชการ ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รับใช้นักการเมือง หวังลาภ ยศ...

** กรรมตามทัน!! คดีมหากาพย์"อัลไพน์" มาถึงจุดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์" 2 ปี ไม่รอลงอาญา เป็นอุทาหรณ์แก่ข้าราชการ ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รับใช้นักการเมือง หวังลาภ ยศ ตอบแทน สุดท้ายต้องอยู่ในสภาพเหมือนตกนรก ในบั้นปลายของชีวิต

นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของข้าราชการระดับสูง ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อรับใช้นักการเมืองใน"ระบอบทักษิณ" ด้วยการเล่นแร่แปรธาตุ เอาที่ธรณีสงฆ์ มาเป็นที่ดินของนักการเมือง จนสุดท้ายต้องเผชิญ "วิบากกรรม" เช่น "นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ" อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ...

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอเล่าถึงที่มาของคดีมหากาพย์สนามกอล์ฟอัลไพน์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งยืดเยื้อมานับสิบปี ... เริ่มจากที่ดินดังกล่าว เดิมเป็นของ "นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา" ได้ทำพินัยกรรม บริจาคให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งกลายเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซื้อขายไม่ได้ ... เมื่อ"ยายเนื่อม" เสียชีวิต มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของยายเนื่อม ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้กับ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ... จากนั้นขายต่อให้ บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ... ต่อมา บริษัททั้งสอง นำที่ดินนี้ ไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคาร แล้วพัฒนาที่ดิน เป็นสนามกอล์ฟ และบ้านพักอาศัย ...

ต่อมา กรมที่ดินมีคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว ตลอดจนรายการจดทะเบียนที่เกี่ยวเนื่อง ว่าเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บรรดาลูกบ้านในโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่กรมที่ดิน ยืนยันคำสั่งเดิม แล้วเสนอเรื่องต่อ ปลัดกระทรวงมหาดไทย... “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็ ”ตวัดปากกา” เซ็นเพิกถอน คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ... เรื่องจึงถูกร้องไปที่ ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช. ก็มีมติชี้มูลความผิด นายยงยุทธ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157…

เรื่องนี้มันเกี่ยวเนื่องกับนักการเมืองตรงที่ "บริษัทอัลไพน์" ทั้งสองบริษัทนั้น นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เทียนทอง , นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ ถือหุ้นใหญ่อยู่ และประจวบเหมาะกับช่วงนั้น นายเสนาะ เป็นรมช.มหาดไทย ที่ธรณีสงฆ์ จึงกลายมาเป็นที่เอกชน ... เ มื่อบริษัททั้งสองได้ที่ดินมา ก็พัฒนาเป็นสนามกอล์ฟ และบ้านจัดสรร และบังเอิญในช่วงนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 กิจการอัลไพน์ทั้งหมด ก็ถูกขายให้กับ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 43 ... เรื่องมาแดงเอาก็ตอนปี 45 ที่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน นำเอาเรื่องนี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย...

เมื่อเรื่องผ่าน ป.ป.ช. ขึ้นสู่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาความผิดของนายยงยุทธ เมื่อปี 59 ว่า คำสั่งของนายยงยุทธ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหาย แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ทั้งยังทำลายศรัทธาของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา นายยงยุทธ ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ป.ป.ช.ในฐานะโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ... และ ในที่สุด ศาลฯ ได้พิพากษายืน ให้จำคุก นายยงยุทธ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา...

ที่น่าสนใจคือ ศาลฯ ระบุในคำพิพากษา ว่า ในช่วงปี 45 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจาก นายทักษิณ ชินวัตร ได้ซื้อสนามกอลฟอัลไพน์ ต่อจาก นายเสนาะ เทียนทอง แล้ว หลังจากนั้นก็พบว่า นายยงยุทธ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย จนเกษียณราชการ และยังได้รับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ในยุครัฐบาล นายทักษิณ ...

เมื่อไปไล่เรียงดู ว่าการที่ข้าราชการระดับสูงอย่าง "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ยอมเอาอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เอาชีวิตราชการ ไปรับใช้ “ทักษิณ ชินวัตร” แล้วได้รับอะไรตอบแทนบ้าง... ก็มีทั้งตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ไปถึง”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” และ รองนายกรัฐมนตรี ..ส่วนตำแหน่งในพรรคการเมือง ก็ได้เป็น ส.ส. เป็นรองหัวหน้าพรรค และ เป็น”หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร เผ่นออกนอกประเทศไปแล้ว ...และบทสรุปวันนี้กลับหักมุมราว "ฟ้ากับเหว" เมื่อ ยงยุทธ ในวัย 77 ปี ถูกศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และ รอการพิจารณาของศาลฎีกาอันเป็นที่สุดของคดีความ การเล่นแร่แปรธาตุ ที่ธรณีสงฆ์

ที่มา   :   https://mgronline.com/politics/detail/9620000020950
( ผู้จัดการออนไลน์  เผยแพร่: 1 มี.ค. 2562 05:08   โดย: นกหวีด )

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่