รัฐประหารซ้อน.....เลือกตั้ง 2522 ......กงเกวียนกำเกวียน cnck

วันก่อนมีกระทู้นึงในห้องนี้ เขียนถึงรัฐประหารซ้อน โดยยกลิงค์ของไทยรัฐมาแปะ

เนื้อหากล่าวถึงรัฐประหารซ้อน 4 ครั้งในไทย  ซึ่งเนื้อหาที่ยกมาผิดทั้งหมด


https://ppantip.com/topic/38557493

https://www.thairath.co.th/content/1493556


ความจริงรัฐประหารซ้อนในไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่ใช่ 4 ครั้งที่ยกมา

มีแน่ๆครั้งหนึ่งเกิดขึ้นคราว รัฐประหารครั้งที่  10 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520


ลำดับเหตุการณ์ครั้งนั้น


หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งนำโดย  จอว์สใหญ่ พลเรือเอก  สงัด ชลออยู่

ได้รัฐประหารรัฐบาลที่มี ปชป เป็นแกนนำ และมี ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี  ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519  แล้ว

คณะปฏิรูป ฯ ก็ได้เชิญ นายธานินทร์  กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งรัฐบาลชุดนั้น

มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย




นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๔




รัฐบาลนายธานินทร์  บริหารประเทศด้วยนโยบายขวาสุด โดยเฉพาะการต่อต้านภัยคอมมูนิสต์

มีการปิดสื่อหนังสือพิมพ์ที่ลงข้อความให้ผลร้ายต่อรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

ทำให้สื่อต่างๆและประชาชน เริ่มไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น


ในแง่การเมือง  รัฐบาลวางกรอบการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยไว้ 12 ปี กล่าวคือ

4 ปีแรก วุฒิสมาชิกมีอำนาจมาก  ทำหน้าที่  พี่เลี้ยงให้กับสภา และ รัฐบาล

4 ปีที่สอง ลดอำนาจวุฒิสมาชิกลงบางส่วน  แต่ก็ยังมีอำนาจเพียงพอที่จะประคับประคองสภา และ รัฐบาล

4 ปีที่สาม ลดอำนาจวุฒิลงอีก ปล่อยให้สภาผู้แทนได้แก้รัฐธรรมนูญให้เป็น ปชต โดยสมบูรณ์


แต่รัฐบาลธานินทร์ มีเวลาแค่ 1 ปี  ก็ถูกคณะปฏิรูป ฯ รัฐประหารซ้อน

หมดโอกาสได้ทำตามแผน 12 ปี





คณะปฏิรูปฯ เมื่อรัฐประหารรัฐบาลธานินทร์แล้ว ก็แต่งตั้ง

อินทรีบางเขน พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี  คนที่ 15 ของประเทศไทย


เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เต็มไปด้วยปัญหา  ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของสังคมไทย

ระหว่างขวากับซ้าย ปัญหาภัยคุกคามจากต่างชาติที่เป็นคอมมูนิสต์ในอินโดจีน

ปัญหาเศรษฐกิจมากมายหลายเรื่องที่รุมล้อมเข้ามา ทำให้รัฐบาลเกรียงศักดิ์ต้องบริหาร

ประเทศด้วยความประนีประนอมกับทุกฝ่าย ภายใต้นโยบาย

"เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว"





และเพื่อลดความตึงเครียดของหลายฝ่ายที่เริ่มถาโถมปัญหาเข้าใส่รัฐบาล

นายกฯเกรียงศักดิ์ จึงเริ่มให้ร่างรัฐธรรมนูญ จนแล้วเสร็จในปี 2521 เพื่อปูทางให้มีการเลือกตั้ง




เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ  คนที่อ่านรัฐธรรมนูญเข้าใจ  รู้ทันทีว่านี่เป็นการต่อท่ออำนาจของ

พลเอกเกรียงศักดิ์  จึงพากันประท้วง บางคนให้สมญาว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ฟันปลอม

บ้างก็ให้สมญาว่า  รัฐธรรมนูญฉบับ หมาเมิน


แต่รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ก็ไม่ฟังเสียง จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 เมษายน 2522


การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆในอดีต มีกฏและกติกาใหม่ๆขึ้นมา ดังนี้

1 เนื่องจากกฏหมายพรรคการเมืองยังไม่เสร็จ จึงต้องใช้ชื่อว่า กลุ่ม.....

2 ผู้สมัครสามารถสมัครในนามอิสระได้

ในส่วนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ก็ถูกจำกัดสิทธิ์มากมาย อาทิเช่น

1 ผู้ใช้สิทธิ์ต้องจบ  ม.ปลาย

2 คนไทยที่มีพ่อเป็นต่างด้าว ห้ามใช้สิทธิ์

3 ต้องแสดงตัวล่วงหน้าว่าจะมาใช้สิทธิ์


พอประชาชนรู้ถึงกฏกติกาแบบนี้ เสียงก่นด่ารัฐบาลดังกระหึ่ม โดยเฉพาะสิทธิ์ของลูกต่างด้าว

ต่างก็ด่ารัฐบาลทำนองว่า


"ภาษีก็มาเก็บ เกณฑ์ทหารก็มาเกณฑ์ไป แต่ตอนเลือกตั้งกลับไม่ให้สิทธิ์"




แต่ในขณะที่ประชาชนโวยวาย มีบุคคลหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าเป็น ปรมาจารย์ทางการเมือง

กลับนิ่งไม่แสดงอาการอะไร  เพียงแสดงจุดยืนว่า จะไม่ขอร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการ

เขาผู้นั้นคือ ซือแป๋สวนพลู ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม


ทันทีที่ทราบนัยยะจุดยืนของ คุณชายคึกฤทธิ์  พลตรีประมาณ อดิเรกสาร (ยศขณะนั้น)

หัวหน้าพรรคชาติไทย กับ พันเอก ถนัด คอมันตร์  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ก็แสดงท่าทีจะเป็นพันธมิตร

กับ คุณชายคึกฤทธิ์ทันที


สามประสาน นักการเมือง 3 พรรค

ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช  พลตรีประมาณ อดิเรกสาร  พันเอกถนัด คอมันตร์



  ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช

พลตรีประมาณ อดิเรกสาร

พันเอกถนัด คอมันตร์


แต่รัฐบาลนายกเกรียงศักดิ์ ก็ไม่ยี่หระกับท่าทีของฝ่ายการเมือง

เพราะถือว่ามี ส.ว แต่งตั้ง 225 เสียงอยู่ในกำมือตน  

หนำซ้ำเป็นเสียงของ  ส.ว ที่มีพาวเวอร์มากกว่า  ส.ว สมัยนี้หลายเท่า

ดังนั้น พลเอกเกรียงศักดิ์ ต้องการเสียงของ  ส.ส แค่ 39 เสียง จาก 301 เสียงเท่านั้น

การต่อท่ออำนาจไปเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ



ผลการเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522

(ตัวเลขในรูปของกรมการปกครอง ซึ่งยังไม่นิ่ง ของจริงอยู่ด้านล่าง)






การเลือกตั้งครั้งนี้ มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นที่กรุงเทพ ฯ คือ

พรรคการเมืองเกิดใหม่คือ พรรค ประชากรไทย ของคุณสมัคร สุนทรเวช กวาดที่นั่งใน กทม ถึง 29 เสียง

เหลือให้พรรคกิจสังคม คือ  ม.ร.ว คึกฤทธิ์ กับ นายเกษม ศิริสัมพันธ์ 2 ที่ และหัวหน้าพรรค ปชป  พันเอกถนัด คอมันตร์  1 ที่ เท่านั้น






และเมื่อผลรวมทั้งประเทศแล้ว ฝ่ายค้านที่ประกอบด้วย 4 พรรคใหญ่คือ


กิจสังคม 88 เสียง ชาติไทย 42 เสียง ประชาธิปัตย์ 35 เสียง และประชากรไทย 32 เสียง รวมกันได้ 197 เสียง

ไม่ทิ้งสัจจะที่ให้ไว้แก่กัน ยอมเป็นฝ่ายค้าน ปล่อยให้ที่เหลือเศษๆ 104 เสียงไหลไปรวมกับ  ส.ว 225 เสียง

เป็นรัฐบาลหนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็นนายกต่อไป


มาถึงตรงนี้  จะเห็นได้ว่า คนที่มีวิสัยทัศน์ มีบารมี มีความรอบรู้ มีเหลี่ยมคูชั้นเชิงพร้อมสรรพ อย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์

มองเกมส์การเมืองในขณะนั้นได้อย่างทลุปรุโปร่ง  อ่านขาดว่า ถึงแม้พลเอกเกรียงศักดิ์ จะมีเสียงสองสภาเกินครึ่ง

แต่ด้วยฝีมือการบริหารของรัฐบาลเกรียงศักดิ์ที่ผ่านมาปีเศษ  บวกกับความโลภไม่รู้จักพอของ ส.ส รัฐบาล

และความทนทานต่อแรงเสียดทานที่มี  ส.ส ฝ่ายค้าน คุณภาพอย่าง ม.ร.ว คึกฤทธิ์  นายสมัคร สุนทรเวช

และส.ส ฝีปากคมจากพรรคประชาธิปัตย์   รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ไม่น่าจะมีอายุยืน



และเกมส์ที่  ม.ร.ว คึกฤทธิ์ คาดการณ์ไว้ก็เป็นจริง  พลเอกเกรียงศักดิ์ ทนได้แค่ประมาณ 10 เดือน

ก็ต้องลาออกกลางสภา เปิดทางให้ พณ.ท่าน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ ตำนานรัฐบุรุษผู้ทำให้ประเทศหลุดพ้นปัญหาหลักในทุกๆด้าน

วางรากฐานให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเอกชน แข็งแกร่ง มั่งคั่ง มั่นคง มาจนถึงทุกวันนี้


ผ่านเหตุการณ์ข้างต้นมา 40 ปีพอดี  กงล้อประวัติศาสตร์ ทำท่าจะทับกับรอยเดิม

การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเหมือนที่แตกต่างกันหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น

ส.ว ที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ , นายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเป็น ส.ส , พรรคการเมืองใหม่ที่มาแรง ,

ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายในสังคม ฯ  ต่างก็แต่เพียง ในฟากการเมือง ไม่มีผู้นำที่มีบารมี เฉกเช่น ม.ร.ว คึกฤทธิ์  ปราโมช

ที่จะสามารถรวบรวมพรรคต่างๆให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้การต่อสู้ครั้งนี้


ป.ล รายละเอียด เกร็ดต่างๆ ของการเลือกตั้ง จะอยู่ในเม้นท์ย่อย

ป.ล 2  การอดทนรอในทางการเมือง บางครั้งก็เหมาะกับสถานการณ์ การโหมเอาชนะในสมรภูมิที่ไม่สำคัญ

บางครั้งก็ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงอย่างบางพรรคใหญ่ในเวลานี้

ป.ล 3 กงล้อประวัติศาสตร์  ไม่ต่างอะไรกับ กงกวียนกำเกวียน ที่หมุนทับกันไปมา ตราบใดที่ไม่มี

วีรบุรุษ พาหลุดพ้นเส้นทางเดิมๆ


cnck
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่