==ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำใหม่ได้ชื่อใหม่ว่าโรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin)==


Rosalind Franklin



การวิจัยเป็นกระบวนการหาความรู้ใหม่ มันเป็นเรื่องที่ยากต้องอาศัยการทำงานอย่างหนัก ความกล้าหาญ บวกกับมันสมองอันชาญฉลาดและความคิดสร้างสรรค์ บางครั้งก็เป็นงานที่ทำมาทั้งชีวิต บางครั้งก็ต้องสละชีวิตเพราะงานที่ทำเช่นมารี คูรีผู้ค้นพบรังสีเรเดียม สุดท้ายก็เสียชีวิตเพราะล้มป่วยจากรังสีเรเดียมที่เธอค้นพบไปทำลายไขกระดูกจนเสียชีวีต คูรีได้รางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง คือสาขาฟิสิกส์ในปีค.ศ. 1903 และสาขาเคมีในปีค.ศ. 1911




คูรี



ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกหนึ่งคนที่คุณอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อคือโรซาลินด์ แฟรงคลิน ผลงานวิจัยของเธอมีความสำคัญมากไปสู่การค้นพบดีเอ็นเอ แต่เธอไม่ได้รางวัลโนเบลแบบคูรีและก็เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 37 ปีเศษจากงานของเธอคือได้รับรังสีเอกซ์ปริมาณมากและยาวนานจากสถานที่ทำงานของเธอ ด้วยผลงานของเธอที่มีประโยชน์มากและเพื่อให้สังคมรู้จักกับเธออย่างที่สมควรจะเป็น องค์การอวกาศยุโรปจึงตั้งชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำใหม่ได้ชื่อใหม่ว่าโรซาลินด์ แฟรงคลิน เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ


ก่อนที่จะชื่อว่ายานโรซาลินด์ แฟรงคลิน มันมีชื่อเก่าว่า ยานExoMars  อันเป็นยานสำรวจผิวดาวอังคารของโครงการ ExoMars หรือชื่อเต็มว่า Exobiology on Mars  แปลเป็นไทยว่า ชีววิทยานอกพิภพบนดาวอังคาร โดยมีการสำรวจหลักฐานของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร เป็นโครงการร่วมกันขององค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศรัสเซีย  (Roscosmos) โดยวางแผนไว้สองเฟส เฟสแรกปี 2016 ส่งยาน ExoMars Trace Gas Orbiter  ไปโคจรรอบดาวอังคารและส่ง Schiaparelli EDM lander ลงไปปรากฎว่าน่าเสียดายยานตก ส่วนเฟสที่ 2 วางแผนไว้ในปี 2020 จะส่ง  ยานExoMars หรือชื่อใหม่ว่ายานโรซาลินด์ แฟรงคลิน ไปสำรวจหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตบนผิวดาวอังคาร


ทำไมชอบไปแต่ดาวอังคาร อย่างนวนิยายไซไฟขึ้นหิ้ง The Martian Chronicles ของ Ray Bradbury ก็มีฉากอยู่บนดาวอังคาร ใครสนใจไปหาอ่านแปลไทยได้ สนุกมาก แต่ออกแนวหลอนๆหน่อย






หรือหนังที่มีฉากอยู่บนดาวอังคารก็มีหลากหลายเรื่องมาก






ที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ Red Planet และ Ghosts of Mars ทั้งสองเรื่องนี้สนุกจริงๆ


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ยานโรซาลินด์ แฟรงคลินหนัก 310 กิโลกรัม วางแผนว่าจะส่งไปในวันที่ 25 มิถุนายน 2020 และน่าจะจอดนิ่มๆบนผิวดาวอังคารในวันที่ 19 มีนาคม 2021 โดนเมื่อเดือนมิถุนายน 2018  องค์การอวกาศยุโรปออกแคมเปญเชิญชวนให้คนมาตั้งชื่อนี้ โดยคนส่งมาให้เลือกชื่อมากมายเป็นหมื่นรายการแต่สุดท้ายกรรมการได้เลือกชื่อนักวิทยาศาสตร์สาวคนนี้เพราะเหมาะสมกับภารกิจนี้และเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ






องค์การอวกาศยุโรปวางแผนว่ายานโรซาลินด์ แฟรงคลินเมื่อไปถึงดาวอังคารจะขุดลงไป 2 เมตรใต้ผิวของดวงดาวผ่านทะลุผิวหน้าของดาวอังคารที่แห้งและเต็มไปด้วยรังสี ขุดลงไปเจาะเวลาหาจิ๋นซี เผื่อบางทีอาจจะเจอหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในอดีตหรือในปัจจุบันที่อาจมีอยู่ ดังนั้นยานหุ่นยนต์ที่ค้นหาสิ่งมีชีวิตนี้จึงเหมาะสมที่จะตั้งชื่อว่ายานโรซาลินด์ แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นดัง mvp ในการทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตบนโลก งานของเธอช่วยให้ค้นพบดีเอ็นเอ โครงสร้างทรงเกลียวคู่ในธรรมชาติ ในช่วงปลายยุค 1950s



ในเรื่องของดีเอ็นเอแล้ว เราเรียนหนังสือกันมาก็รู้จักคุ้นชื่อกับ เจม วัตสันและ ฟานซิส คลิก ดังในหนังสือของวัตสันปี 1968 ที่ชื่อ The Double Helix





ในหนังสือพูดถึงการค้นพบเข้าใจครั้งแรกว่าโมเลกุลดีเอ็นเอมีอยู่ในรูปทรงเกลี่ยวคู่แบบสามมิติที่สวยงาม แต่งานของวัตสันและคลิกนั้นสร้างขึ้นได้ด้วยการยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ คือนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงโรซาลินด์ แฟรงคลินชาวอังกฤษซึ่งเป็นนักเคมีและศึกษาด้านผลิกศาสตร์ (สระอิไม่ใช่สระอึ) ศาสตร์ที่ศึกษาการเรียงตัวของอะตอมในของแข็ง


แม้ในตอนแรกเธอจะทำงานวิจัยด้านถ่านหินและการศึกษาด้วยรังสีเอกซ์ แต่เทคนิคที่เธอใช้ก็ได้นำมาศึกษาโครงสร้างของสารชีวโมเลกุลจนทำให้เพื่อนร่วมงานของเธอได้รับรางวัลโนเบล อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานในสถานที่ที่มีรังสีเอกซ์อยู่มาก ทำให้เธอต้องถึงแก่กรรมก่อนวัยอันควร


ผลงานที่รู้จักกันดีของโรซาลินด์ แฟรงคลิน คือ โฟโต 51 หรือภาพถ่ายจากการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ เจมส์ วัตสัน และฟรานซิส คริก แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้นำข้อมูลของเธอไปใช้ ในการตั้งสมมติฐานว่าด้วยโครงสร้างของดีเอ็นเอ โฟโต 51 ได้ให้รายละเอียดยืนยันว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นรูปเกลียวอย่างชัดเจน แต่จากการที่โรซาลินด์มิได้รับรู้ว่าคณะวิจัยของเจมส์ วัตสัน ได้นำรูปของเธอไปใช้สร้างแบบจำลองโดยไม่บอกกล่าวขออนุญาตเลย จึงทำให้บทบาทของเธอในการค้นพบดีเอ็นเอถูกมองข้ามไป




โฟโต 51




โฟโต 51 เป็นชื่อที่ตั้งให้แก่ภาพถ่ายการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอ ถ่ายโดยเรย์มอนด์ กอสลิง นักศึกษาปริญญาเอกภายใต้การดูแลของโรซาลินด์ แฟรงคลิน  ในสมัยนั้น เจมส์ วัตสัน และฟรานซิส คริก ได้รับโฟโต 51 จากเมาริส วิลคินส์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานของกอสลิง ซึ่งทำให้วัตสันสามารถสร้างแบบจำลองโครงสร้างทางเคมีของดีเอ็นเอชนิดที่ประกอบด้วยน้ำผลึก (ดีเอ็นเอชนิดบี) อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่วัตสันจะสร้างแบบจำลองเสร็จ แฟรงคลินได้บรรยายถึงลักษณะซึ่งเธอได้ศึกษามาก่อนหน้า โดยกล่าวว่า ดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นเกลียว มีสายคู่แบบขนานสวนทิศ และมีหมู่ฟอสเฟตเป็นโครงค้ำจุนด้านนอก ส่วนเบสที่อยู่ด้านในทำหน้าที่แสดงลักษณะทางพันธุกรรม จนนำไปสู่การได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์และสรีรวิทยาในปี 1962


รางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์และสรีรวิทยาในปี 1962 มีชื่อของวัตสัน คลิก และวิลกิน รวม 3 คน แต่ไม่มีชื่อของโรซาลินด์ แฟรงคลิน


เมื่อเราดูจากประวัตินักวิทยาศาสตร์หลายๆคนแล้ว ทั้งเช่น เทสลา ไอนสไตน์ คูรี เป็นต้น เงินไม่ใช่จุดมุ่งหมายในการทำงานของเขา อำนาจ ความสบาย ชื่อเสียงก็ไม่ใช่ รางวัลเกียรติยศต่างๆแม้แต่รางวัลโนเบลก็ไม่ใช่เป้าหมาย (บางคนเคยบอกด้วยซ้ำว่าการได้รางวัลโนเบลทำให้มีชื่อเสียงต้องไปงานต่างๆทำให้ส่งผลเสีย มีเวลาทำงานวิจัยน้อยลง) แต่คือการได้ทำงานที่เค้ารัก คืองานวิจัยค้นคว้าไขความลับของธรรมชาติ และเอกภพ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว


แต่อย่างน้อยสำหรับโรซาลินด์ แฟรงคลิน แม้เธอจะไม่ได้รางวัลโนเบล โลกก็ควรรู้จักเธอให้มากกว่านี้ โรซาลินด์ แฟรงคลินบนโลกได้ไขความลับปริศนาของชีวิตบนโลก ส่วนยานโรซาลินด์ แฟรงคลินก็จะไขปริศนาถึงการอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร เราจะพบเจออะไรหรือไม่นั้นต้องคอยติดตามข่าวในอนาคตต่อไป






https://www.spaceflightinsider.com/missions/solar-system/esas-exomars-rover-named-after-rosalind-franklin/
https://earthsky.org/space/exomars-rover-named-for-rosalind-franklin
https://th.wikipedia.org
https://en.wikipedia.org
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่