การเรียนรู้ตลอด 2 ทศวรรษของหญิงแกร่งวอลเลย์บอลไทย “ปลื้มจิตร์ ถินขาว”

ถ้าเอ่ยถึง วอลเลย์บอลหญิงไทย ก็ต้องนึกถึง ปลื้มจิตร์?  



นี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงไปสักนิด หากเทียบกับผลงาน ตลอดการยืนระยะรับใช้ทีมชาติไทย อย่างยาวนานของ “หน่อง - ปลื้มจิตร์ ถินขาว” นักตบลูกยางสาววัย 35 ปี  

เธออยู่ในทุกๆช่วงเวลาของ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ตั้งแต่ในยุคที่ ยังไม่ได้รับความสนใจ มีคนติดตามเชียร์เพียงแค่กลุ่มเล็กๆ ไม่มีคนไทยไปตามให้กำลังใจในการแข่งขันต่างแดน ไม่มีแม้กระทั่งข่าวสารออกทางทีวี หรือคนไปรอ-รับส่งที่สนามบิน อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

มาถึงยุคที่ “ทีมนักตบสาวไทย” สร้างชื่อเสียง ความสำเร็จ มากมายแก่ประเทศชาติ ในรายการ ระดับทวีปเอเชียและทัวร์นาเมนต์ระดับโลก ปลื้มจิตร์ ก็ยังคงลงเล่น และเป็นกำลังสำคัญ ในการช่วยพาทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ประสบความสำเร็จ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ จนขึ้นแท่นกลายเป็น ทีมกีฬามหาชนที่ครองใจคนไทย ทุกเพศ ทุกวัย

เบื้องหลังเหรียญรางวัล เกียรติยศมากมายตลอดการเล่นกีฬา วอลเลย์บอล ล้วนมีที่มาจากประสบการณ์และสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ จากกีฬาวอลเลย์บอล ที่เป็นเปรียบดั่งคุณครู ผู้บ่มเพาะเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ให้กลายมาเป็น นักกีฬาหญิงแกร่ง ที่พร้อมฝ่าฟันทุกอุปสรรค ไปสู่เส้นชัยความสำเร็จ



เป็นปลาอย่าเลือกน้ำ
“เราโดนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้ชอบเล่นกีฬา และเราก็สนุกกับมัน ที่บ้านมีทุกอย่างให้เล่นทั้งฟุตบอล แบดมินตัน บาสเกตบอล ตะกร้อ ปิงปอง มีหมดทุกอย่าง ยกเว้นวอลเลย์บอล” ปลื้มจิตร์ ย้อนความหลังถึงชีวิตในวัยเด็กที่ได้รับอิทธิพล ความชื่นชอบในการเล่นกีฬามาจาก วันชัย ถินขาว ผู้เป็นพ่อ

อดีตข้าราชการประมง จัดการเนรมิตพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง ใน อ.ไชโย จ.อ่างทอง ทำเป็นลานกีฬา เริ่มจากการเอาแป้นบาสฯ มาติดไว้ที่ต้นมะม่วง เปลี่ยนโฉม โต๊ะกินข้าวแนวยาว ให้เป็นโต๊ะเทเบิลเทนนิส, ซื้อตาข่ายมาขึงกับเสา ไว้กั้นเป็นเนต ตีแบตฯ

รวมถึงถอนต้นมะม่วง หน้าบ้านทิ้ง ทำเป็นสนามฟุตบอล ขนาดย่อมๆ ให้ลูกสาวและลูกชายได้เล่นกีฬา ร่วมกับเด็กๆ ในชุมชน

“เราเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียว ที่เตะบอลเล่นกับเด็กผู้ชายในหมู่บ้าน จนขึ้นชั้น ม.1 เราได้เป็นนักปิงปองของโรงเรียน แต่พ่อบอกให้เราเปลี่ยนมาฝึกเล่น วอลเลย์บอลแทน เพราะในอนาคตวอลเลย์บอลจะรุ่งกว่าปิงปอง”

“ตอนนั้นเราไม่ได้ชอบวอลเลย์บอลเลย  แม้แต่อันเดอร์บอล เราก็ทำไม่เป็น พ่อก็ไปซื้อวอลเลย์บอลมาหนึ่งลูก มาเรียนวิธีอันเดอร์กับพ่ออยู่สองวัน แล้วไปคัดตัว ปรากฎว่าติดทีมโรงเรียน ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่ติดเพราะส่วนสูงได้ ก็ขนเสื้อผ้าย้ายมาอยู่ประจำที่โรงเรียน”

การไม่มีทักษะติดตัว นับเป็น อุปสรรคแรก ในการเล่นวอลเลย์บอลของ ปลื้มจิตร์ เธอแทบไม่ได้รับโอกาสลงสนามในการแข่งขันจริงตลอดปีแรกที่อยู่กับ ทีมโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ จนตัดสินใจขอออกจากทีม กลับมาใช้ชีวิตเป็นนักเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ ตอนอายุ 14 ปี

แต่ด้วยสรีระร่างกายที่สูงกว่าเด็กผู้หญิงคนอื่นในทีม เพราะชอบดื่มนม ก็ทำให้คุณครู เรียกตัว ปลื้มจิตร์ กลับมาร่วมทีมอีกครั้งหลังห่างหายไป 1 ปี ในช่วงชั้น ม.3

ก่อนที่เธอจะต่อยอด เข้ามาเล่นวอลเลย์บอลในเมืองกรุง และเรียนต่อที่ โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในช่วง ม.ปลาย จนมีชื่อถูกเรียกเข้าไปติด ทีมเยาวชนทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี แต่การติดทีมชาติครั้งนั้น เธอเป็นแค่เพียงตัวสำรองของ  วิลาวัลย์ อภิญญาพงศ์

ไม่น่าเชื่อว่า จากตัวสำรองในทีมชาติระดับเยาวชน เพียงแค่ปีเดียว ปลื้มจิตร์ ถูกดันขึ้นมาเล่นให้ ทีมชาติชุดใหญ่ ก่อนเพื่อนๆ เยาวชนทีมชาติรุ่นเดียวกัน ในปี 2001

เหตุผลที่เธอถูกเลือกครั้งนั้น ไม่ใช่เพราะเธอมีความสามารถเก่งกว่าเพื่อนร่วมทีม แต่เป็นเพราะที่ ความขยัน ความอดทน ระเบียบวินัย และการรู้จักปรับตัวได้ดี เหมือนกับคำสอนหนึ่งที่เธอจำได้ขึ้นใจ

“ตอนที่อยู่ บดินทรเดชา ที่ทีมชาติเรียกเข้าไปเก็บตัว เราแบบ ทีมชาติคืออะไร? แต่เพื่อนๆกับอาจารย์ที่โรงเรียนตื่นเต้นกันมาก”

“อาจารย์ด่วน - ดนัย ศรีวัชรเมธากุล (เฮดโค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย คนปัจจุบัน) จะคอยบอกกับดาวรุ่งทุกคน ในช่วงที่เข้ามาเก็บตัวกับทีมชาติว่า ‘เป็นปลาอย่าเลือกน้ำ’ ถ้าเราเป็นรุ่นน้อง เราก็ต้องซ้อมให้เยอะกว่า ขยันให้มากกว่ารุ่นพี่”

“การมาได้อยู่ร่วมกันในทีมชาติ ไม่มีทางที่โค้ชจะสามารถออกแบบการฝึกซ้อม ให้ผู้เล่นทุกคนพอใจได้ หน้าที่ของนักกีฬา คือ ทำตามที่เขาโค้ชบอก เหมือนเป็นปลาที่ไม่เลือกน้ำ ปรับตัวได้กับทุกรูปแบบ ตอนแรกๆ เราก็คิดไม่ได้หรอกว่าที่แกพูด หมายถึงอะไร จนตอนอายุมากขึ้น เราถึงได้เข้าใจความหมายของคำนี้แล้ว”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่