SAMTEL คือตัวนำในปีนี้ - เปิดใจ การกลับมายิ่งใหญ่ของ “กลุ่มสามารถ”

กระทู้สนทนา
กุมภาพันธ์ 8, 2019

ทันหุ้น-เปิดใจหัวเรือ SAMART “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” กับเส้นทางการกลับมายิ่งใหญ่ของ “กลุ่มสามารถ” หลังปรับโครงสร้างเบ็ดเสร็จ ระบุทุกบริษัทพร้อมเทคออฟมุ่งสู่กำไร ในสมรภูมิแข่งขันน้อย ชี้ SAMTEL คือตัวนำในปีนี้ ก่อนที่ SDC จะผงาดตาม พร้อมดัน ธุรกิจการบิน เข้าตลาด ขณะที่ E-VISA มีแววรับทรัพย์กว่า 1,500 ล้านบาท เตรียมใช้แพลตฟอร์มต่อยอด

บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART ของตระกูลดัง “วิไลลักษณ์” กลับมาในเส้นทางที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่เพลี้ยงพลำกับธุรกิจมือถือ I-Mobile จนต้องยอมตัดด้อยค่ากลายเป็นขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2560 พร้อมกับการเบนเข็มมาสู่ธุรกิจใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART ยอมรับว่า บริษัทได้ผ่านพ้นช่วงต่ำสุดในปี 2560 แล้ว ดังนั้นจะปรับตัวดีขึ้นมาเรื่อยๆ และในปี 2562 บริษัทจะมีผลงานที่พลิกกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากธุรกิจมือถือ I-Mobile ผ่าน บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SDC ได้มีการเคลียร์ทุกอย่างไปเรียบร้อยหมดแล้ว และปรับเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลด้านการสื่อสาร (Digital Network) ให้กับองค์กรต่างๆ

ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ กสท โทรคมนาคม ดำเนินการให้บริการสื่อสารผ่านอุปกรณ์ TRANK RADIO ซึ่งเป็นการสื่อสารที่มีสเถียรภาพ เหมาะกับหน่วยงานราชการ เช่น ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ โดยคิดค่าบริการอุปกรณ์เดือนละ 500 บาท ตั้งเป้าหมาย 300,000 เครื่อง ซึ่งจะได้รายได้ปีละ 1,800 ล้านบาท ขณะเดียวกันในส่วนของ SDC จะมีโอกาสในการได้งานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีให้บริการสื่อสาร อื่นๆ ด้วย ซึ่งรูปแบบมีทั้งการขายอุปกรณ์ และให้เช่า

SAMTEL พระเอกปีนี้

อย่างไรก็ดีธุรกิจที่จะเป็นพระเอกในการสร้างผลงานการเติบโตสูงสุดให้กับ SAMART คือ สายงานธุรกิจ ICT Solution โดย บริษัท สามารถ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL เนื่องจากมีโอกาสรับงานงานใหม่เข้ามาค่อนข้างมาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีมูลค่างานในมือ (Backlog) 8 พันล้านบาท แต่สิ้นปีมีโอกาสที่ Backlog จะสูงถึง 15,000 ล้านบาทได้ไม่ยาก เนื่องจากยังมีงานต่อเนื่อง โดย SAMTEL มีงานประมูลทุกเดือน และมีโครงการต่างๆ มากถึง 118 โครงการ อาทิ โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกว่า 7,000 ล้านบาท โครงการของกองบัญชาการตํารวจแห่งชาติ 6,000 ล้านบาท และโครงการของ บริษัท การท่าอากาศยาน ไทย จำกัด (มหาชน) กว่า 1,500 ล้านบาท


ดันธุรกิจการบินเข้าตลาด

ขณะเดียวกันยังเตรียมนำ บริษัท สามารถทรานโซลูชั่น จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 270 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้บริการควบคุมระบบจราจร และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง เป็นหนึ่งในสายธุรกิจ U-Trans เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภายในและน่าจะได้เห็นความชัดเจนปีหน้า

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทสามารถ ทรานโซลูชั่น จำกัด ยังถือหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดียแอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิทยุการบินในกัมพูชา และเหลืออายุสัมปทานอีก 21 ปี และมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% และมีกำไรเติบโตขึ้นต่อเนื่องในทุกๆปี โดยในปี 2561 CATS มีรายได้อยู่ที่ 2,005 ล้านบาท กำไร 583 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจ New Service New Market โดย บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 1,000 ล้านบาท โดยยังมีกระแสเงินสดในบริษัทถึง 500 ล้านบาท ซึ่งเตรียมที่จะนำมาลงทุน ส่วนกลุ่มลุกค้ายังเน้นลูกค้าภาครัฐเป็นหลัก ส่วนภาคเอกชนมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธนาคารและกลุ่มธุรกิจประกัน

รายได้ E-VISA 1.5 พันล.

ขณะที่ตัว SAMART เองก็มีแผนเข้ารับงานในการปรับปรุงเทคโนโลยีให้กับกระทรวงต่างๆ รวมไปถึงจะเข้าไปแก้ปัญหาเพื่อให้ทางการสามารถให้ความสะดวกในการบริการต่างๆ กับประชาชนและธุรกิจได้ดีขึ้น ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่งานสายไฟลงดินอาจจะได้รับอีก 2 เส้นในปีนี้ ส่วน E-VISA ที่ร่วมมือกับภาครัฐนั้น บริษัทจะมีรายได้หัวละ 500 บาท โดยตั้งเป้านักท่องเที่ยว 2-3 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้ในส่วนนี้อีก 1,500 ล้านบาท และเตรียมที่จะใช้แพลตฟอร์ม E-VISA นี้ขยายไปยังธุรกิจอื่น

แย้มทุกธุรกิจรับงานใหญ่

นายวัฒน์ ชัย กล่าวว่า โดยปีนี้ตั้งเป้ารายได้ SAMRT เมื่องบรวมจะมีรายได้ก้าวกระโดดถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดด และบริษัทจะสามารถทำกำไรได้ ซึ่งทุกธุรกิจของบริษัทต่างเตรียมเข้ารับงานใหญ่ๆ เข้าทั้งหมด โดย SAMTEL จะรับรู้ได้เร็ว ขณะที่ SDC ก็มีงานใหญ่เข้ามาเช่นกัน แต่อาจจะต้องใช้เวลาติดตั้ง ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้ SDC มีกำไรสูงเช่นกัน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่