วาดภาพสีชอล์คน้ำมัน (OIL pastels) ภาพภูเขา Talbot

หลังจากวาดภาพล่าสุดเสร็จ

https://ppantip.com/topic/38446207

(หากเปลี่ยนชื่อกระทู้ได้คงเป็น ภาพวาดสีชอล์คน้ำมัน (Oil pastals) รูป ในป่ายามพระอาทิตย์ตก)

ซึ่งได้รับคำแนะนำที่ดีเช่นเคย (เช่น คุณสุนัขป่าโลกันตร์) ที่ได้ให้คำแนะนำกระทู้เป็นระยะ ๆ ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้
ซึ่งได้แนะนำให้ไปศึกษาของ Mr. Tischler ซึ่งเป็นศิลปินทางด้านทัศนียภาพอย่างที่ชอบ

เห็นครั้งแรกคิดว่าเป็นสิ่งที่ศิลปินโดยเฉพาะมือใหม่สามารถเรียนรู้ได้เยอะทีเดียว เหมาะสำหรับคนที่ต้องการฝึกวาดภาพโดยเฉพาะภาพ
ทัศนียภาพ ขออนุญาตฝากลิ้งสำหรับท่านนี้ครับ

https://www.youtube.com/channel/UCg4eQuX8UoZkpZNno-eyYoQ

ซึ่งเป็นการวาดภาพสีน้ำมันมีทั้งวาดภาพนิ่ง วาดภาพคนและวาดทัศนียภาพ จะมีอธิบายเรื่องสีที่ใช้ แปรงขนาดต่าง ๆ  ตลอดจนวิธีลงสีและเพิ่ม
ความเข้าใจเรื่องผลของสีต่อมิติใกล้ไกลของวัตถุ สามารถเข้าไปติดตามได้ครับ

ซึ่ง Mr.Tischler ได้ใส่รายละเอียดในภาพไว้มากมาย เห็นแล้วเหมือนถ่ายภาพมาด้วยกล้อง HD ที่เก็บรายละเอียดทุกอย่างได้ แม้จะอยู่ในระยะกลาง ๆ ของภาพ

ซึ่งจากความคิดเห็นที่ผ่าน ๆ มาในกระทู้ก่อนหน้า ได้มีคำแนะนำให้ลดทอนรายละเอียดลง ก็เริ่มดูผลงานของศิลปินหลาย ๆ ท่าน พบว่าการลดทอนรายละเอียดก็จะช่วยเรื่องความใกล้ไกลของภาพได้บ้าง (วัตถุอยู่ใกล้ รายละเอียดจะเยอะ ส่วนหลักๆ ในเรื่องความใกล้ไกลจะอยู่ที่โทนสี จะกล่าวต่อไป)
และยังทำให้ภาพดูมีความหนักเบาของรายะเอียดที่เหมาะสมทำให้ดูสบายตามากขึ้น ก็เลยลองลดทอนรายละเอียดในภาพวาดลง โดยที่จะใส่รายละเอียดเฉพาะพื้นหน้า (Foreground) เท่านั้น

อนึ่ง จขกท. ได้ลองวาดภาพนอกสถานที่มาแล้ว ยังไม่สำเร็จเรื่องการจัดองค์ประกอบ การให้สีต่าง ๆ เลยกลับมาวาดในห้องเหมือนเดิม

ซึ่งภาพต้นแบบนั้นมาจาก Mr.Earp ซึ่งเป็นเพื่อนของ Mr.Tischler นั่นเอง ซึ่งได้แตกกระบวนการวาดภาพออกเป็นขั้น ๆ ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจมากขึ้น สามารถติดตามได้ตามลิ้งค์ด้านล่าง

https://www.youtube.com/channel/UCQ5zOQgzvHk8E8gq7HOwT6w

เป็นภาพภูเขา Talbot ในประเทศนิวซีแลนด์

เริ่มจากการจัดวางองค์ประกอบ โดยให้วาดภาพปรับองค์ประกอบในแต่ละกรอบจนพอใจ


ภาพนี้ให้กฏ 1 ใน 3 เช่น แนวตั้งพื้น 1 ส่วน ภูเขา 2 ส่วน และแนวนอน จุดสนใจของภาพ (Talbot) จะอยู่ในระยะ 1 ใน 3 ของระยะแนนอน

เมื่อจัดวางองค์ประกอบได้ตามความชอบแล้ว ก็วาดคร่าวลงบนกระดาษที่เตรียมไว้ (ครั้งนี้ใช้กระดาษสีน้ำ เมื่อระบายจะเป็นจุดขาว ๆ ) โดยใช้สีเหลืองในการวาด ซึ่งพอลงสีจริงสีเหลืองจะโผล่ออกมาให้เห็น โดยเฉพาะขอบ ระหว่างภูเขากับฟ้าจะสังเกตเห็นสีเหลืองชัดเจน ซึ่งบางครั้งก็ไม่สมควรให้เห็นสีดังกล่าว (สีเหลือง) เพราะจะทำให้ความใกล้ไกลของวัตถุไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น เพราะสีเหลืองมักจะดึงวัตถุมาด้านหน้า


ส่วนสีที่ใช้นั้น สังเกตุจากศิลปินทั้งสองที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ใช้สีน้อยสี โดยอาศัยการผสมสีให้เกิดสีที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เกิดความกลมกลืนกันทั้งภาพ จากการที่มีส่วนผสมของสีเดียวกันตลอด เลยลองจัดชุดสีมาได้ดังนี้


เตรียมไว้เยอะหน่อยเพราะกำลังมือใหม่ : มีสีขาว สีโทนฟ้า 2 สี โทนเขียว 3 น้ำตาล 2 เขียว 3 แดง 1 และเพิ่มเทาเข้ามา
โดยหลักการอย่างแรกคือเก็บสีอ่อนสุดกับเข้มสุดไว้ใช้หลังสุดในการเพิ่มแสงเงา และสีเทาอาจใช้สีอื่น ๆ ผสมกันแทนได้ เช่น สีขาวผสมสีฟ้าผสมสีแดงเล็กน้อย ซึ่งยังไม่เคยลองจึงใช้สีเทาสะดวก

จากนั้นเป็นการเต็มสีเต็มพื้นที่ กำหนดค่าความเข้มสี โดยเข้าใจดังนี้

ส่วนที่อยู่หลังสุด ความสว่างจะไม่สว่างมาก ความมืดจะไม่มืดมาก เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนหน้าของภาพ เวลาสว่างจะสว่างมากและเวลามืดก็จะมืดเช่นกัน

Mr.Tischler อธิบายเรื่องความเข้มสี (Saturation) ไว้ว่า พื้นหลังจะมีความเข้มสีน้อยแล้วค่อย ๆ เข้มขึ้นในส่วนหน้าของภาพ ซึ่งเวลาระบายจะผสมสีขาวมาก (ความเข้มสีน้อย) แล้วค่อย ๆลดมาจนไม่ผสมเลยในส่วนหน้าของภาพ

และเรื่องของโทนสีร้อน เช่นสีเหลือง สีเขียว จะส่องผ่านม่ได้ไม่ค่อยดีเท่าสีอื่น ๆ ดังนั้นหากวัตถุมีสีพวกนี้ในระยะไกล ควรลดความเข้มลง ให้ออกครึ้ม ๆ (muted) จึงจะได้ภาพความลึกตื้นที่ชัดเจน

Mt. Talbot ซึ่งอยู่หลังสุดจึงผสมสีแดง น้ำตาล และ ฟ้า ทับด้วยสีขาว เพื่อลดความเข้มสี

ขยับมาภูเขาลูกกลางที่ยังปกคลุมด้วยหิมะ  ใช้ส่วนผสมสีเดิม เติมสีขาวเล็กน้อย ให้วัตถุขยับเข้ามาใกล้มากขึ้น จนมาถึงเงาทึบของภูเขาฝั่งซ้ายมือ ซึ่งถือเป็นลูกหน้าสุดใช้ส่วนผสมสีเติม โดยไม่ใส่สีขาวเลย เป็นความเข้มสีเข้มสุดของภาพ

เงาในน้ำจะเป็นสีเดียวกับสีที่ใช้วาดแต่ละองค์ประกอบที่ถูกสะท้อนออกมา ถึงตอนนี้ก็เสร็จสิ้นการเติมสีและการกำหนดโทนและความเข้มสีแล้ว


ต่อไปก็เป็นเรื่องของการใส่รายละเอียดซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เวลา ความพิถีพิถัน ความระมัดระวังมากขึ้น

ตอนแรกใส่สีเหลืองในพื้นหญ้าด้านหน้า กลับยังไม่เด่นขึ้นมาเท่าที่ควรจึงลงสีขาวไป เพื่อแสดงถึงส่วนที่โดนแสงจัด ๆ ทำให้เกิดเงาของพุ่มหญ้าลาดมาทางด้านขวา เงาของพุ่มหญ้าก็เข้ม ๆ แสดงถึงจุดที่ตั้งในระยะหน้าสุด

เพิ่มเติมแสงเงาในหน้าผาด้านขวา ส่วนไหนที่โดนแสงจะสะท้อนสีเหลืองออกมา ส่วนเงาก็เข้มทึบ

ภูเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะที่อยู่ถัดเข้าไปเพิ่มแสงเงาเล็กน้อย โดยยังพยายามคงความเข้มสีให้เหมาะสม โดยเติมสีขาวหรือสีฟ้าทับสีต่าง ๆ เพื่อยังให้ภูเขาอยู่ในระยะไกล

สำหรับ Mt.Talbot ซึ่งอยู่หลังสุด เพิ่มเติมขอบของสีขาวของหิมะให้ดูเป็นธรรมชาติที่ค่อย ๆ จางไป ส่วนใหญ่ยังคงเดิมไว้จากขั้นตอนที่แล้ว

ท้ายๆ  มาเติมแสงสะท้อนที่น้ำด้วยสีขาวเข้ม ได้ตามภาพ



ร่วมกันแนะนำเพิ่มเติมในหัวข้อต่าง ๆ เรื่ององค์ประกอบภาพ การจัดวาง รายละเอียดต่าง ๆ โทนสี อารมณ์ภาพ เพื่อให้ภาพสมบูรณ์มากขึ้น

ขอบคุณทุกคำแนะนำครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่