ย้อนไปวันวานอีกครั้ง 35 ปี Karen Carpenter น้ำเสียงตรึงใจและความเข้าใจถึง Anorexia


“When I was young, I’d listen to the radio waiting for my favorite songs.”
—Yesterday Once More, Carpenters


เพลงเก่าๆ มักมีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เราอยากกลับไปเปิดฟังอยู่เสมอ เป็นเหมือนมนต์ขลังที่ได้ยินกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ และถ้าพูดถึงบทเพลงของศิลปินชาวอเมริกาที่ยังไพเราะข้ามกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้ เสียงร้องของแคเรน คาร์เพนเทอร์ (Karen Carpenter) ที่เข้ากันได้ดีกับดนตรีแนวป๊อปฟังสบายของ Carpenters ก็เป็นที่จดจำมาตั้งแต่ปลายยุค 60s


Getty Images

แคเรนคือนักร้องที่มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์ ในเพลงของ Carpenters วงดูโอระดับตำนานที่เธอตั้งขึ้นร่วมกับพี่ชาย เธอสามารถถ่ายทอดความรู้สึกในเพลงให้ไปถึงผู้ฝังได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แต่ด้วยผลข้างเคียงจากโรค Anorexia Nervosa ที่แคเรนต้องเผชิญ เธอได้จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1983 ด้วยวัย 32 ปี

ในยุคผู้คนยังไม่คุ้นเคยโรคความผิดปกติในพฤติกรรมการกิน (eating disorder) แคเรนนับเป็นคนแรกๆ ที่ทำให้เราได้รู้จักเห็นถึงผลกระทบของโรคของโรค Anorexia Nervosa หรือที่อาจจะเรียกกันว่า โรคกลัวอ้วน โรคคนอยากผอม

เราเพิ่งจะเริ่มต้น : ก่อนจะเป็น Carpenters

แคเรนเกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี 1950 ณ เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต ตามหลังริชาร์ดที่เป็นพี่ชายเพียงไม่กี่ปี (ริชาร์ดเกิดวันที่ 15 ตุลาคม 1946) ทั้งคู่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางอเมริกา ต่างจากพี่ชายที่มักจะคลุกคลีอยู่กับชุดแผ่นเสียงของพ่อและมีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ แคเรนในวัยเด็กยังไม่แสดงให้เห็นความสามารถในด้านเดียวกันได้เท่าๆ กับพี่ชาย

เพื่อไล่ตามความฝันแบบอเมริกันดรีมและสายอาชีพทางดนตรีของริชาร์ด ต่อมาครอบครัวคาร์เพนเทอร์ย้ายตัวเองไปอยู่ที่ฟอร์เนีย ริชาร์ดเริ่มต้นจากการเล่นเปียโนให้กลับคณะประสานเสียงประจำมหาวิทยาลัย ส่วนแคเรนที่ไม่ค่อยถูกเลขาคณิตหรือฟิสิกส์ก็หันมาสนใจดนตรีจากคำแนะนำของพี่ชาย ที่บอกให้แคเรนไปอยู่ในวงโยธวาทิตถ้าเธออยากหนีจากวิชายากๆ พวกนั้น แคเรนจึงหลงใหลในการตีกลองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


Getty Images

จุดเริ่มต้นทำวงดนตรีของคู่พี่น้องดูจะต่างจาก Carpenters ที่เรารู้จักเอามากๆ ‘The Richard Carpenter Trio’ คือวงที่พวกเขาตั้งขึ้นในปี 1965 โดยมีริชาร์ดเล่นเปียโน แคเรนตีกลอง และเจคอบส์ เพื่อนของริชาร์ดมาเล่นทูบากับเบสให้ แนวเพลงของวงจะเน้นไปที่สไตล์แจ๊สเป็นหลัก แม้จะประสบความสำเร็จจากการประกวดบางรายการ แต่ด้วยความที่ดนตรีแจ๊สนั้นไม่เข้ากับกระแสร็อคแอนด์โรลของคนฟัง จึงนำไปสู่การยุบวง ก่อนจะตั้งวงใหม่ชื่อ Spectrum กับเพื่อนอีกหลายคน ที่สุดท้ายก็ต้องแยกวงในปี 1968

ในช่วงเดียวกันนี้เองที่แคเรนเริ่มกังวลกับรูปร่างและน้ำหนักของตัวเอง เธอใช้วิธีควบคุมอาหาร เน้นกินเนื้อสัตว์เป็นหลัก และเลี่ยงอาหารไขมันสูง

We’ve only just begun to live,
White lace and promises,
A kiss for luck and we’re on our way.


วันที่เทวดามารวมตัว : การประสบความสำเร็จจากแนวเพลงที่แตกต่างของ Carpenters

คู่พี่น้องยังไม่ล้มเลิกความเส้นทางอาชีพในสายดนตรี ในปี 1969 ริชาร์ดและแคเรนเซ็นสัญญากับค่ายดนตรี A&M Records ทั้งคู่ใช้ชื่อ ‘Carpenters’ โดยไม่มี The อยู่ข้างหน้า เพราะในยุคนั้นมีศิลปินหลายวงดนตรีที่ใช้รูปแบบนี้ แถมทั้งคู่มองว่าแบบนี้มันดู ‘ฮิป’ ดี—แค่ชื่อก็คิดให้ไม่เหมือนชาวบ้านแล้ว

สไตล์การทำเพลงที่ไม่เหมือนใครของ Carpenters เผยออกมาให้เห็นตั้งแต่อัลบั้มแรกอย่าง Offering (Ticket to Ride) ริชาร์ดได้โชว์พรสวรรค์ในการเรียบเรียงเพลง Ticket to Ride ของ The Beatles ที่มีจังหวะเร็วๆ ในแบบร็อค มาเป็นเพลงบัลลาดไพเราะผสมกับน้ำเสียงทรงเสน่ห์ของแคเรน ผลงานครั้งนี้ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักบ้าง แต่ของจริงคือเพลงถัดไป


ในยุค 60s ที่วงการเพลงรันด้วยแนวดนตรีร็อคแอนด์โรลเป็นหลัก และได้รับอิทธิพลจากดนตรีทางฝังอังกฤษในช่วงปลายยุค ในปี  1970 Carpenters นำเสนอความใหม่ให้กับผู้ฟังด้วยเพลง (They Long to Be) Close to You เพลงที่มีเมโลดีฟังสบาย แต่ถ่ายทอดอารมณ์ได้ลึกซึ้ง ผ่านน้ำเสียงที่สอดประสานอย่างลงตัวของแคเรนและริชาร์ด บวกกับเนื้อเพลงชื่นชมคนที่เราหลงรักจนอยากจะเข้าไปอยู่ใกล้ๆ ก็เป็นเนื้อหาที่ทำให้เพลงนี้เข้าถึงได้กับคนแทบทุกกลุ่ม

Why do stars fall down from the sky,
Every time you walk by?
Just like me, they long to be

Close to you.

ในเวลาแค่สั้นๆ Close to You กลายเป็นเพลงดังขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ต Billboard แถมต่อมา Carpenters ยังปล่อยเพลง We’ve Only Just Begun ที่ตามหลังเป็นอันดับสองคู่ไปด้วยกัน ตัวอัลบั้มเองก็เป็นอัลบั้มฮิตขายดี ส่งให้ทั้งแคเรนและริชาร์ดได้รับรางวัล Grammy Award สาขา Best New Artist and Best Contemporary Performance by a Duo, Group or Chorus ในปี 1971

ความพิเศษของ Carpenters ไม่ได้มาจากใครคนใดคนหนึ่ง คู่ศิลปินพี่น้องมีความโดดเด่นที่เป็นของตัวเอง ริชาร์ดมีพรสวรรค์ในการเรียบเรียงทำนองเพลงให้ออกมาได้ไม่เหมือนใคร เป็นสไตล์ซอฟต์ร็อคฟังสบายที่ต่างออกไปจากเพลงอื่นในตลาดเพลงช่วงนั้น ส่วนแคเรนเองมีน้ำที่นุ่มลึกเฉพาะตัวและเข้าถึงอารมณ์ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี Herb Alpert ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายดนตรี A&M Records บอกว่า

“ปกติผมจะปิดตาแล้วฟังเดโมเทปเพลงใหม่ๆ และในกรณีนี้ <แคเรน> จู่ๆ เสียงอันน่าอัศจรรย์ก็ดังออกมาจากหูฟังของผม มันเหมือนกับว่าเธอมานั่งร้องเพลงข้างๆ บนโซฟา เสียงของเธอเป็นเหมือนเครื่องดนตรีสุดพิเศษจากพระเจ้าที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน”


เสียงร้องของวันวาน : แคเรน คาร์เพนเทอร์ และ Anorexia Nervosa

บนเวทีแคเรนคือนักร้องที่ทำการแสดงได้อย่างน่าทึ่งเสมอ แต่ในชีวิตจริงนอกเวที เธอต้องทุกข์ทรมานกับโรคพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ ในกรณีของแคเรนคือ Anorexia Nervosa เธอมักกังวลกับรูปร่างของตัวเองอยู่เสมอ ในช่วงเป็นวัยรุ่น แคเรนยังค่อนข้างท้วม เลยหันมาลดน้ำหนักและควบคุมอาหารในช่วงแรกดูจะเป็นไปเพื่อทำให้ตัวเองดูดี จากที่หนักเกือบ 70 กิโลกรัม เธอลดไปได้จนเหลือแค่ 54 กิโลกรัม


Getty Images

ทั้งครอบครัวและคนรอบข้างต่างมองว่าเป็นเรื่องดีที่เธอหันมาสนใจตัวเอง แต่แทบไม่รู้เลยว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของหายนะตลอดการใช้ชีวิตในฐานะศิลปินของแคเรน การควบคุมอาหารยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ อาการของแคเรนหนักขึ้น โดยที่น้ำหนักของเธอไม่ได้เพิ่มขึ้น ในปี 1891 แคเรนผอมแห้งและหนักเพียง 35 กิโลกรัม ครอบครัวโดยเฉพาะพี่ชายไม่รู้ว่าต้องทำยังไงกับพฤติกรรมการกินของแคเรน มีแค่คำตักเตือนเท่านั้นที่พอจะทำได้ ในยุดนั้นสิ่งที่แคเรนเผชิญยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง John Bettis เพื่อนร่วมวงบอกว่า “โรค Anorexia Nervosa ใหม่มากถึงขนาดที่ว่าผมยังไม่รู้ว่าต้องออกเสียงยังไง จนกว่าจะถึงปี 1980”

แคเรนเข้ารับการรักษาจากนักบำบัดแต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ไม่มีใครรู้เลยว่าเธอแอบใช้น้ำเชื่อมที่ช่วยให้อาเจียน (Ipecac syrup) ที่ปกติใช้เพื่อล้างกระเพาะอาหารจากสารพิษ แต่ดูเหมือนเธอจะใช้เพื่อควบคุมน้ำหนักหลังจากการกินอาหาร ผลข้างเคียงของมันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ เป็นสาเหตุที่ทำให้แคเรน คาเพนเทอร์ ต้องจากโลกนี้ไปในที่สุด


Lookin’ back on how it was in years gone by
And the good times that I had
Makes today seem rather sad, so much has changed.



แคเรนคือคนดังคนแรกๆ ที่ทำให้สังคมหันมาสนใจ Anorexia Nervosa มากขึ้น สองปีหลังจากการเสียชีวิตของเธอ กลุ่มแพทย์และนักบำบัดเริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ รวมถึงรณรงค์ให้คณะกรรมการอาหารและยาควบคุมการจ่าย Ipecac syrup ให้ผู้ป่วย

นับจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 1983 เป็นเวลาถึง 35 ปีแล้ว ที่แคเรน คาเพนเทอร์ ได้จากโลกนี้ไปทิ้งไว้เพียงน้ำเสียงนุ่มลึกที่ยังตราตรึงในหัวใจ เสียงร้องแคเรนในบทเพลงของ Carpenters เป็นบทเพลงของวันวาน ที่นึกถึงกี่ครั้งก็ยังเต็มไปด้วยเสน่ห์ให้เรากลับไปเปิดฟังอยู่เสมอ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
Posted On 5 February 2019 /  Tangpanitan Manjaiwong
อ้างอิงข้อมูลจาก

www.theguardian.com
time.com
biology.ipst.ac.th
en.wikipedia.org
en.wikipedia.org
www.independent.ie
www.youtube.com
Cover photo from YouTube video, Carpenters – Rainy Days And Mondays
THE MATTER
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่