ผู้สูงวัยระวังสะโพกหัก จากการหกล้ม

กระทู้สนทนา
อันตรายจากภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ



ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักจะประสบภาวะกระดูกพรุน ประกอบการทรงตัวที่ไม่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉงเท่าวัยหนุ่มสาว จึงมักเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการหกล้มและกระดูกหักได้ง่ายนะครับ โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก เนื่องจากเป็นบริเวณหลักในการรับแรงกระแทก

สาเหตุของกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ มักเกิดจากการลื่นหกล้มธรรมดา ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบเจอได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้วมักพบว่ามีความรุนแรง และซับซ้อนในการรักษาเป็นอย่างมาก เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือติดเชื้อในกระดูก



แล้วอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกสะโพกหัก?
1. อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักมากขึ้น จากทั้งการเกิดภาวะกระดูกพรุน หรือปัญหาในการทรงตัวที่ทำให้เกิดการล้มได้ง่าย
2. เพศ พบกระดูกสะโพกหักในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายเนื่องจากในผู้หญิงมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังหมดประจำเดือน
3. โรคประจำตัว เช่น SLE, รูมาตอยด์, มะเร็ง โดยจะส่งผลทำให้กระดูกพรุนได้ง่าย
4. ทานอาหารไม่มีประโยชน์ ขาดสารอาหาร กระดูกจึงอ่อนแอหักได้ง่าย
5. ไม่ออกกำลังกาย จึงเกิดกระดูกพรุนได้ง่าย
6. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ใช้ต่อเนื่อง ที่ทำให้เกิดกระดูกพรุน เช่น ยาสเตียรอยด์
7. สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้สูง

ในกรณีที่ผู้สูงอายุเกิดการหกล้ม แม้ไม่รุนแรง แต่ไม่สามารถลงน้ำหนักบนขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บ หรือขยับขาแล้วปวดสะโพกหรือโคนขาหนีบ ให้สงสัยไว้ได้เลยว่าอาจเกิดสะโพกหักขึ้นได้ หรือเมื่อเกิดการหกล้ม แต่สามารถเดินได้ แต่ลงนำหนักมากๆ แล้วปวด ควรมาตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติมอย่างละเอียด เพราะอาจเป็นการหักชนิดไม่เลื่อนหรือเลื่อนน้อย แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจมีอันตรายร้ายแรงภายหลัง จากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ครับ

กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ มักทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในหนึ่งปีแรก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ ถ้าไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวด้วยตนเองหรือโดยคนอื่นคอยช่วยแล้ว ก็จะเกิดแผลกดทับ ปอดบวม ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ลำไส้ไม่ทำงาน ท้องผูก ตามมาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องทำการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยนั่งได้ พลิกตัวได้ ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่กล่าวมา



ผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก ส่วนใหญ่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา ซึ่งมีงานวิจัยออกมาสนับสนุนว่า การผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยให้ผลการรักษาที่ดีกว่า ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันปกติได้ การป้องกันกระดูกสะโพกหักที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกหัก นอกจากนี้การทำบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ เช่น ทำบ้านให้แห้งไม่มีส่วนลื่น ไม่ควรมีพรมเช็ดเท้า สิ่งกีดขวาง เพราะอาจทำให้สะดุดล้มได้ง่าย ห้องน้ำควรต้องแยกส่วนแห้ง ส่วนเปียก ส่วนเปียกต้องไม่ลื่น นั่งอาบได้ มีราวจับเกาะเวลาลุกขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ลูกหลานควรต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หกล้มต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลให้กระดูกหักได้ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะโพกนะครับ

แก้ไขข้อความเมื่อ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่