" ดรามาเดือด! พระเล่นเฟซบุ๊ก เพราะสื่อธรรมะ หรือ ตัดทางโลกไม่ขาด?! "

"  ดรามาเดือด! พระเล่นเฟซบุ๊ก เพราะสื่อธรรมะ หรือ ตัดทางโลกไม่ขาด?! "

     ที่มา   :   https://mgronline.com/live/detail/9620000007245
                   เผยแพร่: 21 ม.ค. 2562 19:25   โดย: ผู้จัดการออนไลน์
           ____________________________________________________________________________________________________________

          ดรามาเดือด! พระเล่นเฟซบุ๊ก เพราะสื่อธรรมะ หรือ ตัดทางโลกไม่ขาด?!

ดรามาสนั่น! ระหว่างอาจารย์ ม.ดัง กับพระมหาไพรวัลย์ เหตุพระเล่นเฟซบุ๊ก จวกแรง “ถ้ายังตัดทางโลกไม่ได้ สึกออกมาเถอะ” ฝ่ายพระโต้กลับ โพสต์ธรรมะก็ยังด่า ถ้าเป็นฆราวาสคงถาม “ต้องการอะไรจากกู” ด้านนักวิชาการศาสนาเผย พระใช้โซเชียลฯได้ แต่อย่าใช้เกินความเป็นพระ!!

ถกสนั่น เหตุพระเล่นเฟซบุ๊ก!!

กลายเป็นประเด็นดรามาร้อนๆ สะเทือนแวดวงพระพุทธศาสนาอยู่ในขณะนี้ เมื่อ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักพูดชื่อดังจากวัดสร้อยทอง ที่มักจะใช้เผยแพร่พระธรรมคำสอนและแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กอยู่เสมอ ออกมาโพสต์ข้อความตอบโต้ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเกียวโต หลังจากที่อาจารย์ผู้นี้วิจารณ์การเล่นโซเชียลมีเดียของพระสงฆ์ว่า จากเดิมที่คิดว่าใช้เพื่อเป็นสื่อธรรมะ แต่ทุกวันนี้กลายมาเป็นเล่นเพื่อตามกระแส หรืออัปเดตชีวิตส่วนตัวไม่ต่างจากฆราวาส พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “ถ้ายังตัดทางโลกไม่ได้ สึกออกมาเถอะ”


ทั้งนี้ คาดว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการชื่อดัง มาจากกระแส #10yearschallenge ที่ผู้คนทั่วโลกโพสต์ภาพเปรียบเทียบตนเองระหว่างปี 2009 - 2019 ซึ่งก่อนหน้านี้ทางด้านของพระนักพูดได้ทำภาพลักษณะดังกล่าว และโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยเช่นกัน พร้อมข้อความประกอบที่สอดแทรกธรรมะ กล่าวถึงความเสื่อมของร่างกายที่เพิ่มขึ้นตามวัย

แต่เรื่องราวไม่ได้จบแค่นั้น ในเวลาต่อมา พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ก็ได้ทำการตั้งสเตตัสโต้กลับไปยังอาจารย์ ม.ดัง ว่าการวิจารณ์พระในครั้งนี้เกินจะทนเพราะอาจารย์ผู้นี้ถ่อยทรามเกินกว่าจะปล่อยข้ามได้ โดยมีความตอนหนึ่งระบุว่า “พออาตมาโพสต์เรื่อง 10 years challenge แม้จะประกอบการเขียนข้อความธรรมะพูดถึงความไม่เที่ยงของรูปร่างสังขารซึ่งเปลี่ยนไป ปวินก็มองไม่เห็นนะ แต่หาเรื่องที่จะแขวะว่า ไม่ใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อธรรมะ ถ้าอาตมาเป็นฆราวาส อาตมาคงจะถามคนอย่างปวินตรงตรงว่า (ต้องการอะไรจากกู ก็ตอนกูโพสต์ธรรมะ ก็ด่า ไม่โพสต์ธรรมะก็ด่า ตกลงความผิดมันอยู่ที่ใคร)


เราจะใช้มันเพื่อสื่อสารเรื่องราวของเรา ความรู้สึกนึกคิดของเรา อารมณ์ในช่วงนั้นนั้นของเรา ความรัก ความสุข ความเศร้า หรืออะไรก็ตามที่เราอยากจะถ่ายทอดมัน ทำไมเราไม่มองแบบนี้ ทำไมเราต้องไปคาดหวังให้ใครต้องโพสต์หรือเขียนอะไรในแบบที่เราต้องการ อาตมาไม่อยากเห็นคนอย่างปวินถูกพิษของความโกรธเกลียดครอบงำหัวใจแบบนี้นะ แม้ปวินจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนมีศาสนาก็ตาม แต่อาตมาจะพูดในฐานะของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง”

ทันทีที่พระมหาไพรวัลย์เผยแพร่ข้อความดังกล่าว ทำให้ทางด้านของผู้ถูกกล่าวถึงไม่อยู่เฉย และออกมาแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันไป - มา ในช่องคอมเมนต์อย่างร้อนระอุ!! 

หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกส่งต่อกันไปบนโลกโซเชียลฯ แล้วนั้น ก็มีสมาชิกโลกสังคมออนไลน์เข้ามาร่วมพูดคุยกันเป็นจำนวนมาก เกิดความคิดเห็นแตกต่างกันไป ด้านฝ่ายที่เห็นด้วยกับพระมหาไพรวัลย์ก็มองว่า เป็นเรื่องดีที่พระใช้โซเชียลฯ ในการเผยแผ่ธรรมะ แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่มองต่างกับพระนักเทศน์ ก็ให้ความเห็นว่า การที่พระเล่นเฟซบุ๊กหรือสื่อโซเชียลฯ อื่นๆ ดูไม่เหมาะสมเท่าไรนัก


“ทุกโพสต์ที่หลวงพี่โพสต์ ผมก็เห็นแต่หลวงพี่แฝงไปด้วยนะธรรมนะครับ เพียงแต่สมาชิกบางคนเมนต์เอาฮาเท่านั้นเอง”

“เดี๋ยวนี้คนไม่เข้าวัด พระก็ต้องปรับตัวในการเผยแผ่ศาสนาสิ มันเป็นพฤติกรรมของการอยู่รอดนะ แต่อย่างว่าเมื่อก่อนเป็นฝ่ายรับคนที่เข้าหาคือคนที่ใฝ่ธรรมะอย่างเต็มใจอยู่แล้ว พอมาเป็นเชิงรุกต้องเจอคนทุกรูปแบบ ต้องเข้มแข็งไปอีกสิบเท่าอ่ะ”

“พระเล่นโซเชียล” เป็นไปตามยุคตามสมัย มีอีกหลายรูปที่ท่านเผยแพร่ศาสนาให้ข้อคิดดีๆ ในการดำเนินชีวิต เป็นที่พึ่งทางใจ ผู้คนส่วนมากจะอยู่ในโลกโซเชียลฯ กันส่วนมาก บางคำสอนบางข้อคิดถ้าเกิดผลดีไปในทางแง่ดี เราคิดว่าก็ช่วยได้เยอะนะ คนเรามักมองในมุมมองแต่ที่ไม่ดี แต่ลืมมองในส่วนที่ดี พระดีๆ ที่ตั้งใจเผยแผ่ให้ข้อคิดโดยใช้โซเชียลฯ ก็มีเยอะแยะ ไอ้ที่ไม่ดีเราก็ปล่อยท่านไปแล้วแต่กรรมบุคคล”

“เอาจริงๆ หลวงพี่ก็ยังปล่อยวางไม่ได้เลยนะ”

“เท่าที่มอง 2 คน พระอาจารย์ก็หัวร้อนพอกันนะครับผมว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องไปต่อล้อต่อเถียง ปล่อยให้เป็นสายลมไปครับ เวลาเท่านั้นที่พิสูจน์ความจริง ว่าใครเป็นแบบไหน ยังไง”

เคลียร์ชัด พระใช้โซเชียลฯ ผิด/ไม่ผิด?!

เพื่อหาคำตอบของประเด็นดรามานี้ ทีมข่าว MGR Live จึงได้ขอความรู้จาก รศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม อดีตหัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ เป็นผู้มาให้คำตอบ ว่าตกลงแล้ว ผู้ครองผ้าเหลืองสามารถใช้สื่อออนไลน์ได้หรือไม่?!

“จริงๆ แล้ว ในพระวินัย ในพุทธกาลก็ไม่มีตรงนี้หรอก แต่เราก็ต้องยอมรับว่าสังคมที่มันพัฒนามาถึงปัจจุบัน เราต้องแยกให้ออกว่าพระสายปฏิบัติหรือพระสายปริยัติ ถ้าท่านเรียนหนังสือก็อาจจะไปแสดงความคิดเห็นด้านวิชาการ แต่ถ้าพระสายปฏิบัติจริงๆ ท่านไม่ใช้โทรศัพท์เลยนะ ถ้าจะติดต่อนิมนต์ต้องผ่านเลขาฯ ผ่านวัดเท่านั้น ท่านไม่ยุ่งที่จริงพระผู้ใหญ่เราในสายปกครองในคณะสงฆ์ ก็มีการประชุมกันเรื่อยๆ ว่าการใช้สื่อต้องให้ระมัดระวัง ไม่ใช่ว่าท่านจะปล่อยปละละเลยอะไร


แต่บางครั้งมันก็จำเป็นว่าต้องใช้ อยู่ที่จุดประสงค์ในการใช้ อย่าไปใช้เกินความเป็นพระ จะทำอะไรต้องมีกรอบของพระวินัยเป็นหลัก ถ้าผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกว่าพระทำไมพูดแบบนี้ น่าจะใช้คำที่พระควรจะพูด ไม่ใช่เอาคำของฆราวาสมาพูด ควรพูดตามสไตล์ของพระ มีธรรมะสอดแทรกอยู่ ถ้าเอาเรื่องอื่นมาแทรก ก่อให้เกิดความแตกแยกก็ไม่เหมาะสม มันไม่ใช่หน้าที่ของพระ ที่ผมพูดมาไม่ใช่จะมาโจมตีอะไรท่าน เพราะหลายเรื่องที่ท่านพระมหาไพรวัลย์แสดงความคิดเห็นก็เกิดประโยชน์ต่อสังคม

สังคมปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามันจำเป็นต้องใช้นะ อย่างพระธรรมกิตติเมธี วัดราชาธิวาส ท่านเป็นเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ท่านก็มีรายการธรรมะของท่านทุกวันในเฟซบุ๊ก เพราะถ้าจะให้ท่านเช่าสถานีโทรทัศน์มาบรรยายก็คงจะไม่ไหวในเรื่องของค่าใช้จ่าย ประเด็นก็ต้องดูเป้าหมายว่าจะทำอะไร ทำเพื่อเผยแผ่ธรรมะหรือไม่ ถ้าไปแสดงความคิดเห็นที่มันเกินความเป็นพระ ก็ไม่เห็นด้วย ไม่เหมาะสมครับ”

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลของทีมข่าวก็พบว่า เมื่อปลายปี 60 พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือเรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ แจ้งไปยังเจ้าคณะเขตทุกเขตในกรุงเทพฯ เนื่องจากในขณะนั้นมีการตรวจสอบพบพระภิกษุและสามเณรมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการใช้เฟซบุ๊ก ทั้งการโพสต์ภาพและการถ่ายทอดสดเฟซบุ๊กไลฟ์ จนก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทางพระพุทธศาสนา และขอให้เจ้าอาวาสทุกวัดควบคุมการใช้สื่อออนไลน์ให้อยู่ในสมณสารูป เป็นไปอย่างเหมาะสมและถูกกาลเทศะ จากประกาศนี้เอง ทำให้สรุปได้ว่า พระภิกษุและสามเณรสามารถใช้สื่อออนไลน์ได้ แต่ต้องใช้ไปในทางที่ถูกต้อง


แม้จะมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรออกมา แต่ทางด้านของ รศ.ดร.ธวัช ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว

“คุมยากนะทุกวันนี้ เห็นพระ เณรที่มาร้องเพลง มาเล่นกีตาร์ มาเซลฟี ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและพยายามตักเตือน ทำอะไรให้คำนึงถึงสมณสารูปและพระวินัยเป็นหลัก อย่าไปแสดงความคิดเห็นที่เกินกรอบ จริงอยู่ที่เกิดการตอบโต้ไปมาแล้วเกิดโทสะจริตขึ้นมา เป็นปุถุชน บางครั้งโดนญาติโยมใช้คำรุนแรง พระเองก็เผลอไปด้วย ก็ต้องระวังตรงนี้ เขาเตือนมาในฐานะเป็นพุทธบริษัทด้วยกัน ในการที่จะพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความงดงามของความเป็นสมณสารูปก็จะเป็นงามไปด้วยครับ”


สุดท้าย นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ได้ถวายคำแนะนำไปยังพระภิกษุและสามเณรรูปอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือสื่อสาร ไม่ว่าจะโอกาสใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความสำรวม

“เรื่องนี้ทางคณะสงฆ์เองก็พูด ผมเองในฐานะครูบาอาจารย์ก็พยายามพูดถวายคำแนะนำให้พระนักศึกษาเสมอ เช่น การไปสวดมนต์ในบ้านควรจะปิดโทรศัพท์ให้เรียบร้อย นั่งรถเมล์ นั่งแท็กซี่ถ้าไม่จำเป็นอย่ารับโทรศัพท์ ถ้าจำเป็นต้องรับก็พูดแค่เนื้อหาเท่านั้น อย่าไปพูดคุยในลักษณะที่ให้คนฟังคิดว่าทำไมพระถึงพูดกับโยมแบบนี้ โดยเฉพาะญาติโยมที่เป็นผู้หญิง ยิ่งคุยไปหัวเราะไป ผู้ฟังเขาเห็นแล้วก็ทำให้ศรัทธาตก ต้องสำรวมในการพูดอย่างยิ่ง

ผมขอถวายคำแนะนำไปถึงพระรูปอื่นๆ ก็มีความจำเป็นในการเผยแผ่ธรรมะ คนทุกระดับชั้นก็มีกรอบ คนฟังมีระดับการฟัง คนพูดก็มีระดับการพูดเหมือนกัน ก็ให้สำรวมระวังในเรื่องของการพูด ให้ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก แล้วก็พยายามเป็นกลางไว้ อย่าให้เกิน เพราะถ้าพูดธรรมะโดยมีกรอบ เดินสายกลางเป็นหลัก ผู้ฟังก็จะเกิดศรัทธาและเกิดประโยชน์ มีจิตใจที่จะน้อมนำคำสอนไปประพฤติปฏิบัติ และก็จะบังเกิดประโยชน์ต่อสังคมครับ”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่