จักรวาลความรู้และชีวิตหลังเกษียณของ ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’

เอ่ยชื่อ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในวงสนทนา คุณจะได้ปฏิกิริยาสองอย่าง

หนึ่ง ใคร ไม่รู้จัก

สอง ยิ้ม หัวเราะ พูดถึงด้วยความชื่นชม ทั้งในแง่บทบาทการเป็นอาจารย์ กล้าสอนในสิ่งที่หลายคนเลี่ยงจะพูดถึง และการวางตัวที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนทั้งรุ่นเดียวกันและต่างรุ่นได้ดี

ผมโชคดีที่ได้เรียนกับอาจารย์ธเนศ ผู้เปลี่ยนความคิดและสอนให้ศิษย์ตรวจสอบรากความเชื่อ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าโลกไม่ได้มีเพียงมิติเดียว ทุกคนต่างกัน และทุกสิ่งมีที่มาโดยไม่อาจพิจารณาแยกส่วน

จะมีอาจารย์สักกี่คนที่นอกจากสอนตามตำราแล้ว ยังลุกขึ้นมาทำหน้าที่เปิดโลกและเชื่อมทุกองค์ความรู้ให้ลูกศิษย์มองอย่างรอบด้าน

ในวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ครึ่งหนึ่งของชีวิตธเนศรับบทเป็นผู้ส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดความคิดให้คนหลายเจเนอเรชั่น เขาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษในรั้วมหาวิทยาลัยอื่นมาร่วม 33 ปี ที่ผ่านมา ธเนศมักชำแหละเรื่องราวที่สอนอย่างถึงลูกถึงคน หยิบเม็ดฝุ่นจนกระทั่งผืนจักรวาลมาเชื่อมแบบสหวิทยาการได้อย่างน่าสนใจ

ด้วยตัวตนและผลงานมากมาย อาทิ งานเขียนส่วนตัวที่ถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง งานส่วนรวมอย่างการเป็นบรรณาธิการ รัฐศาสตร์สาร ที่ร่ำลือกันว่าต้นฉบับถูกส่งตีพิมพ์ก่อนกำหนดได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และการถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ อย่างจัดจ้านทำให้เขากลายเป็นนักวิชาการสายป๊อปที่มีคนแห่แหนไปฟังเสวนาจนล้นสถานที่จัดอยู่เสมอ

สิ่งที่เรากล่าวถึงข้างต้น ทำให้เพื่อนนักวิชาการหลายคนมองว่าเขาเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีสีสันที่สุดในแวดวงวิชาการไทยร่วมสมัย ปลายปี 2560 นี้เป็นวาระที่เขาเกษียณอายุราชการ นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิตธเนศ เราถือโอกาสของความเป็นศิษย์กลับมาเยี่ยมและพูดคุยกับอาจารย์อีกครั้ง

อาจารย์ที่ไม่ว่าเรียนจบมานานแค่ไหน เราก็จะไม่มีวันลืมการสอนที่ไม่เหมือนใครของเขา


รั้วบ้านอายุเกือบ 10 ปีของธเนศมีหลากสี ตั้งแต่แดง เหลือง เขียว ขาว และน้ำเงิน แตกต่างจากรั้วบ้านคนอื่นในย่านทองหล่อ ซอยแยกแจ่มจันทร์ที่มักเป็นสีเข้มทึม

เมื่อก้าวพ้นประตูไม่นาน ธเนศชี้ชวนให้เรานั่งลงที่โต๊ะอเนกประสงค์ในบ้าน ที่เขาใช้นั่งอ่านหนังสือก่อนหน้าที่เราเดินทางมาถึง

ธเนศต้อนรับเราด้วยกาแฟอินเดียหอมกรุ่นจากชายฝั่งมะละบาร์


วันนี้เขาสวมเสื้อยืดสบายๆ กับกางเกงขาสั้นง่ายๆ แบบที่คนมักใส่เวลาอยู่บ้าน ว่ากันตามตรงเราไม่เคยเห็นเขาในลุคนี้เท่าไหร่ ก่อนเริ่มบทสนทนาเขาเดินไปที่ชั้นหนังสือหยิบ ‘ศิลปะกับสภาวะสมัยใหม่ : ความขัดแย้งและความลักลั่น’ งานเขียนที่ตีพิมพ์ในปี 2552 ออกมาให้เรา 1 เล่ม ก่อนยื่นให้เรา เขาเขียนบางอย่างในหน้าแรกด้วยปากกาสีดำ

“ผมให้ เล่มนี้ไม่ได้พิมพ์ขาย” ธเนศว่า

ก่อนมาสัมภาษณ์ ผมเล่าว่าอยากถามถึงแผนการและชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ แต่เขาตอบตรงๆ ว่าไม่มีหรอก

ผมไม่เคยวางแผนชีวิตเลย ไม่ได้คิด เกษียณคือเกษียณ การวางแผนเป็นคอนเซปต์ที่ไม่ค่อยมีในหัว ไม่รู้จะจัดระเบียบชีวิตมากมายไปทำไม เพราะผมไม่ใช่คนรุ่นใหม่ที่ต้องวางแผนทุกขั้นตอนชีวิต อย่างน้อยที่สุด ก็อยู่ในระบบราชการเป็นข้าราชการบำนาญไปเรื่อยๆ หรือจนกว่าเขาจะเปลี่ยนระบบ

แล้วผมไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ชีวิตไม่มีความแน่นอน วิธีคิดแบบนี้ไม่ค่อยดีสำหรับคนรุ่นใหม่ ถ้าจะคิด ผมจะคิดเฉพาะหน้าประมาณ 3 – 4 เดือน แต่ไม่คิดเป็นปี ไม่ได้มียุทธศาสตร์ 20 ปี โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก อาจเรียกว่าเป็นการตำข้าวสารกรอกเฉพาะหม้อ ไม่มีการวางแผนระยะสั้นหรือยาว

แนวคิด strategy สำหรับคนธรรมดาๆ ไม่นับชนชั้นนำชนชั้นนักรบ มาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ที่บอกให้คุณต้องตั้งเป้าหมายไว้ มีโกล์ระยะยาว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าคุณเติบโตขึ้นมาในสังคมเข้าป่าล่าสัตว์หรือสังคมเกษตรกรรมเมื่อพันปีที่แล้วที่จะวางแผนยาวขนาดนั้น คุณจะบอกว่าฉันอยากมีชีวิตที่ออกแบบได้ แต่จริงๆ มันไม่ได้มีทางเลือกง่ายๆ ขนาดนั้น การมีเป้าหมายคือการที่คุณเป็นคนเลือกได้ มีช้อยส์ โลกสมัยใหม่มีการตั้งเป้าหมายต่างๆ เดี๋ยวนี้คุณเลือกได้หมดแล้ว แม้กระทั่งคุณจะเอาลูกเพศอะไร คุณอยากสวยหล่อแบบไหน แค่ผ่าตัดคุณบอกแพทย์ได้เลย ทำให้คนรุ่นใหม่เติบโตมากับชุดความคิดแบบนี้”

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าธเนศทำหน้าที่สอนนักศึกษามาแล้วทั้งชีวิตแล้ว คำถามคือเขาวางจุดสิ้นสุดของการทำหน้าที่นี้ไว้เมื่อไหร่ เขาตอบว่าจะสอนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรงสอนแล้ว หรืออาจจะตายถึงหยุดสอน

เป็นเรื่องสามัญ ภาพที่คนอื่นคิดกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงบ่อยครั้งแตกต่างกัน จากตอนแรกภาพที่คิดคือเขาคงใช้ชีวิตพักผ่อนอยู่ว่างๆ หลังทำงานหนักมาโดยตลอด แต่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ธเนศยังคงรับงานสอนเรื่อยๆ เพราะเขาคุ้นเคยว่ามันเป็นภารกิจหนึ่งของชีวิตประจำวัน การสอนจึงเป็นกิจวัตรที่ไม่อาจละเลย


นอกจากชื่อจริงที่คนเรียกเขาว่า ‘ธเนศ’ มีอีกหลายคนยังไม่รู้ว่าเขามีชื่อเล่นว่า ‘ตู่

เขาเกิดปี 2500 พ่อเป็นคนไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้ง และมีเสี้ยวเชื้อสายสิงคโปร์และอินโดนีเซียจากฝั่งแม่

บ้านอยู่ย่านเก่าแก่อย่างบางรัก สาทร ตั้งอยู่ในเขตยานนาวาเหมือนชื่อนามสกุลของเขาเอง

พ่อของธเนศเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แม่เป็นพนักงานร้านค้าในตลาดสำเพ็ง

ด้วยญาติทางฝ่ายพ่อก็เป็นนักอ่านจึงเติบโตกับหนังสือภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ เพื่อนแม่ทำธุรกิจตีพิมพ์นิยาย สภาพแวดล้อมทำให้เติบโตมากับหนังสือสารพัดแบบ ธเนศสนิทกับพ่อมาก วัยเด็กเขาติดตามพ่อออกไปทุกที่ พ่อก็ทำให้รักการอ่าน การดูหนังในโรงภาพยนตร์ การท่องเที่ยว และการกินของอร่อย

ในทางสังคมศาสตร์เราเรียกสิ่งหล่อหลอมตัวตนเขาเหล่านี้ว่า ‘กระบวนการขัดเกลาทางสังคม’ (socialization) ทำให้เขาเป็นธเนศที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้

ผมเติบโตมากับวัฒนธรรมรูปแบบนี้ ถ้าให้ผมตอบเรื่องพฤติกรรมต่างๆ ของตัวเอง มันเป็นกระบวนการหาความสมเหตุสมผลให้พฤติกรรมส่วนตัว อย่างเรื่องการกิน บางคนไม่ได้ทุ่มเทเวลาหรือใช้เงินทองกับอาหารมากขนาดนั้น แต่ผมเติบโตมากับวัฒนธรรมที่บ้านเน้นเรื่องการกินมากจนเป็นความเคยชินมาโดยตลอด


เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมทริปที่ธเนศรับหน้าที่เป็นผู้นำเที่ยวใน ‘อิ่มท้อง พร้อมคุย’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในย่านบางลำพู หลังจากที่มีลูกศิษย์สนใจเดินตระเวนคุยเรื่องเชิงสังคมที่เล่าผ่านอาหารและสถานที่ ในทริปครั้งแรกที่เยาวราช

สาเหตุที่ธเนศเลือกพาทุกคนออกเดินในย่านบางลำพูเพราะเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่เขาผูกพัน ธเนศเคยอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ แถบนี้เพราะสะดวกต่อการเดินทางไปสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นเวลากว่า 10 ปี แถมสุดท้ายยังมาเป็นลูกเขยของพ่อตาแม่ยายที่อาศัยอยู่ในบางลำพูโดยที่ไม่รู้มาก่อนด้วย

ธเนศเป็นคนลุ่มหลงศิลปวัฒนธรรมแบบพ่อและมีระเบียบพิถีพิถันแบบแม่ เขาถูกเลี้ยงด้วยความมีเหตุและผล มีอิสระที่จะคิดและกระทำ เขาจึงเป็นคนจริงใจและโต้แย้งกับคนอื่นได้ด้วยเหตุผล

จนหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาเถรตรง กล้าวิจารณ์ และฝีปากจัดจ้าน แต่ทว่าใจดี

ธเนศเรียนในรั้วโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่อย่างอัสสัมชัญ บางรัก ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมระยะเวลารวม 12 ปี ตามรอยทางของญาติฝั่งผู้ชายและพ่อ ซึ่งก็ล้วนเรียนจบจากสถานศึกษาแห่งนี้

วัยเด็ก ถ้าพิจารณาจากผลการเรียนเขาเป็นคนไม่โดดเด่น แต่ที่แตกต่างจากนักเรียนทั่วไปคือเขามักมีปัญหากับครูบ่อยๆ เพราะธเนศคิดว่าหนทางหาคำตอบไม่ได้มีทางออกแค่ที่ครูเสนอให้ทำ ภาพที่เขาเถียงกับครูอย่างไม่ยี่หระ เป็นภาพที่เพื่อนๆ เขาคุ้นเคย จนในบางครั้งมีเพื่อนไม่ยอมรับและมองว่าธเนศก้าวร้าว ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้ใส่ใจสิ่งรอบข้างที่ไม่จำเป็นต่อตัวเองมากนัก

ด้วยเหตุที่ชีวิตธเนศรักความอิสระ แต่เขากลับเจอครูที่กำหนดกรอบให้นักเรียนมากมายอยู่หลายหน จึงทำให้ตัวเองตั้งปณิธานว่าอยากเป็นครู ที่สำคัญต้องเป็นครูที่ไม่ใช่ครูแบบเดิม ต้องมีเหตุผลและไม่ยึดกรอบอนุรักษ์นิยม

ถ้าไปทางอนุรักษ์ตลอดเวลามันคือความยิ้มและความล่มจม เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลง แต่ก็แล้วแต่คุณมองอีกนั่นแหละ เพราะจุดยืนของคนถูกจัดระเบียบด้วยความคิดทางศีลธรรม ซึ่งแต่ละสังคมมีไม่เหมือนกัน ถ้าคนรุ่นผมยึดถือแนวทางนี้ คนอีกเจเนอเรชั่นอาจบอกว่ากูไม่ยึดอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมไม่รู้จะคาดหวังไปทำไม ถ้าคาดหวังว่าเขาต้องเข้าใจเรา คาดหวังเยอะก็ปวดหัวเยอะ เพราะคนเราไม่เหมือนกันและไม่มีวันเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดหวังมากเลย


ภาพที่คนทั่วไปคิดถึงธเนศสมัยมัธยมศึกษา น่าจะเป็นภาพที่เห็นเขาเป็นเด็กเรียนดี แต่นั่นคือการคาดเดาที่ผิด เพราะเขามีผลการเรียนธรรมดาแถมยังเป็นเด็กที่เบื่อการเรียนในห้อง เหตุนี้ทำให้ตอนจบชั้นมัธยมต้น เขาคิดและตัดสินใจเรียนต่อสายพาณิชย์ แต่เมื่อพ่ออยากให้เรียนสูงๆ ธเนศจึงตกลงใจสอบเข้าเรียนสายวิทย์ แล้วก็ย้ายมาเรียนศิลป์-คณิต ระดับชั้นมัธยมปลายในปีสุดท้าย

เมื่อใกล้จบชั้นมัธยมปลาย ธเนศตั้งใจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงไม่สนใจการเตรียมตัวเอนทรานซ์ แต่ที่แปลกมากคือเขาตัดสินใจเลือกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 อันดับรวด ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ชอบดูหนัง ซึ่งแถบสยามมีแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับความชอบ สุดท้ายเขาสอบติดคณะรัฐศาสตร์ เอกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยที่เขาบอกใครต่อใครว่าตัวเองฟลุ้ก

สุดท้ายเมื่อเข้าเรียนมหา’ลัย ธเนศก็ยังคงเป็นคนเดิมที่ไม่ได้นิยมการเรียน แต่แน่นอนว่าห้องสมุดมหา’ลัยคือสถานที่โปรดปรานที่สุดของเขา

ธเนศเล่าถึงความแปลกใหม่ในชีวิตมหา’ลัยให้เราฟังว่า “ตอนผมออกจากโรงเรียนชายล้วนอย่างอัสสัมฯ แล้วมาอยู่จุฬาฯ ผมได้เผชิญกับอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอ เพราะว่าผมอยู่โรงเรียนเดิมมาตลอด 12 ปี ไม่เคยได้ย้ายไปไหนเลยจนกลายเป็นความเคยชิน โลกในรั้วโรงเรียนเล็กมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยผมจึงเลือกใช้ชีวิตมากขึ้น

ธเนศตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ University of Wisconsin-Madison เพราะสนใจในแนวคิดของมาร์กซิส แต่เมื่อเรียนรู้จริงแล้ว เขากลับพบว่าไม่ใช่หนทางที่ชอบเสียทีเดียว เขาพบปัญหาใหญ่และต้องต่อสู้เรื่องหัวข้อวิทยานิพนธ์ กว่าที่เขาจะเรียนจบต้องใช้เวลาเรียนปริญญาโทถึง 3 ปีครึ่ง เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษามาหลายคน ทั้งที่ตามเกณฑ์ ผู้เรียนต้องจบการศึกษาภายใน 2 ปี

"ผมมีปัญหาแบบนี้มาตลอด อยู่สหรัฐอเมริกาผมก็มีปัญหา อยู่อังกฤษผมก็มีปัญหา เหมือนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ควรจะอยู่ ทั้งเรื่องการงานหรือสิ่งที่ผมทำทั้งหลายๆ อย่าง ผมเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาเยอะมาก แต่ทั้งหมดผมคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดานะ ผมเลยเฉยๆ และผ่านมาได้เสมอ"

"แต่จะถามว่าตอนนั้นเครียดไหม ผมเครียดนะ เพราะตัวเองอายุแค่ 23 – 25 ปี ยังไม่เข้าใจโลกสักเท่าไหร่ แต่พอเจอเหตุการณ์พวกนี้มากเข้าก็เริ่มเคยชิน สุดท้ายเราต้องทำให้ชีวิตเราอยู่ต่อไปได้ อยู่ในรูปแบบที่เราเป็นและปรับตัวให้ได้ อยู่กับความล้มเหลวของชีวิตให้ได้ ไม่งั้นคุณก็มีสองทางเลือกคือว่า คุณต้องยอมรับเกณฑ์ของสถาบันให้ได้ อีกทางคือก็เปลี่ยนแปลงสถาบัน ซึ่งผมไม่คิดจะไปเปลี่ยนสถาบัน ผมพูดอยู่เสมอๆ ว่า ผมยังไม่สามารถเปลี่ยนตัวผมเองได้เลย มันไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วจะให้ผมไปเปลี่ยนใคร"

..To Be Continue
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่