งานวิจัยจะบิดเบือนหรือไม่ หากตั้ง ‘ชื่อเล่น’ ให้สัตว์ทดลอง

 Posted On 10 January 2019   Thanet Ratanakul  
ถ้าคุณมีหมาหรือแมวเป็นสัตว์เลี้ยงสักตัว คุณจะเรียกมันว่าอย่างไรก็ได้  ไม่ว่าจะ ไอ้ขาว เจ้าดำ เป๊บซี่ ชีโตส ฯลฯ ก็ตามแต่ใจปรารถนา เพราะเมื่อเรียกชื่อมันไปสักพัก พวกมันก็จะคุ้นเคยและเดินมาหาคุณ แต่หากคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์และกำลังทำวิจัยระดับเข้มข้นที่ต้องทดลองทางคลินิกกับสัตว์ คุณจะเรียกชื่อเล่น ‘หนูทดลอง’ ด้วยรหัสโค้ด หรือจะเรียกว่า ‘เจ้าสำลี’ ดี  แล้วคุณจะเรียก Test Subject ว่า ‘เค้า’ อย่างงู้นอย่างงี้หรือไม่


มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมไปแล็บวิจัยย่านวังหลัง อาจารย์หัวหน้าโครงการวิจัยตำหนิผู้ช่วยวิจัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกว่า “ใครให้เธอเรียกหนูทดลองด้วยชื่อเล่น” เพราะนักศึกษาปริญญาเอกคนนั้นดันหลุดปากเรียกชื่อมันขึ้นมาในวงสนทนา และเธอก็โดนเอ็ดจนหงออย่างน่าสงสารไปเลย


ในระเบียบการทดลองทางวิทยาศาสตร์นั้น มักไม่ตั้งชื่อให้กับสัตว์ทดลองที่มีอยู่มากมายนับแสนๆ ตัวตามศูนย์วิจัยทั่วประเทศ พวกมันมีชื่อเป็นรหัสทำนอง ZA-56 หรือ ZA-93 เท่านั้น แต่ในระยะหลังๆ โครงการวิจัยที่เกี่ยวกับสัตว์มักตั้งชื่อเล่นให้กับสัตว์ เพราะช่วยสร้างการรับรู้ได้ดี (โดยเฉพาะเมื่อโครงการมีแนวโน้มประสบความสำเร็จ) อีกทั้งทำให้เพื่อนร่วมงานจดจำสัตว์เหล่านั้นได้ง่าย และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้เข้มงวดกับระเบียบดั้งเดิมนี้นัก แถมยังรู้สึกสนิทสนมกับงานวิจัยที่ทำอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่สถาบันวิจัยกำหนดด้วย

ขอยกเรื่องเกี่ยวกับประเด็นนี้ในต่างประเทศ เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมลิง มีลิงวอกเพศผู้ ชื่อ ‘Freckle’ เป็นสมาชิกใหม่ในศูนย์วิจัยของ MIT แต่ต่อมามันก็แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับเพื่อนลิงร่วมกรง ชอบขโมยผ้าห่มของลิงตัวอื่นไปใช้ ชอบทุบตีลิงที่อ่อนแอกว่า เมื่อมีอายุได้สัก 10 ปี มันแทบจะไม่มีเพื่อนลิงที่สนิทสนมเลย เพราะมันเข้ากับลิงตัวอื่นๆ ไม่ได้

นักวิจัยจึงเปลี่ยนชื่อมันใหม่ว่า ‘Ivan’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Ivan the Terrible’ (อีวานผู้เหี้ยมโหด) เจ้าชายแห่งมอสโกในปี ค.ศ. 1533 เพื่อเป็นสมญานามนิสัยอันดื้อรั้นและเป็นจอมสร้างปัญหา  ปกติแล้วบรรยากาศในสถาบัน MIT มักมีชื่อสัตว์ทดลองประมาณ 2 ชื่อ คือชื่อเล่นกับรหัสเรียก ลองจินตนาการว่าคุณเดินไปถามเพื่อนว่า “วันนี้หลังจากเจ้า ZA-56 ได้รับยาไป มันมีอาการอย่างไรบ้าง” เพื่อนคุณอาจจะชะงักสักครู่เพื่อพยายามนึกว่า ZA-56 มันตัวไหนนะ ขอนึกดูก่อน  แต่ถ้าคุณถามว่า “หลังจากเจ้าปีโป้ได้ยาแล้วอาการเป็นอย่างไร” คุณก็คงนึกถึงเจ้าปีโป้ สัตว์ทดลองตัวนั้นได้ทันที

กลับมาที่เจ้า Ivan พอได้รับสมญานามนั้นแล้ว น่าสนใจที่ใครๆ ต่างก็คิดว่ามันเป็นตัวปัญหาไปโดยปริยายเนื่องจากชื่อเล่นนี้ และแทนที่พวกเขาจะปฏิบัติต่อมันเฉกเช่นสัตว์ทดลองตัวอื่นๆ แต่กลายเป็นว่าทำให้เกิดอคติ (bias) ต่องานวิจัย ซึ่งก็มาจากตัวผู้ทำวิจัยเองที่ผูกพันกับชื่อที่เรียกกันจนติดปาก

ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีคำถามกับประเด็นนี้พอสมควร ในสหรัฐอเมริกาก็นิยมเรียกชื่อสัตว์ทดลอง ตั้งแต่ ลิง สุนัข หมู แมว กระต่าย และแกะ พวกมันมีชื่อเป็นขนมบ้าง เหล้ายาปลาปิ้งบ้าง ตัวละครในภาพยนตร์ เพื่อนสนิท  หรือแม้กระทั่งชื่อนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันคู่แข่ง

ถึงอย่างไรก็ตามชื่อเล่นของสัตว์ทดลองจะไม่ไปปรากฏในเล่มวิจัยสำหรับเผยแพร่ (คงโดนตอน Peer Review ส่งไปก็โดนแก้ยับ) เว้นแต่จะเป็นการทดลองที่เกี่ยวกับลิง Primate ที่มักมีชื่อเล่นสัตว์ทดลองในเล่มวิจัย ก็ยังถือว่าพออนุโลมได้บ้าง

ดังนั้นจากที่เกริ่นมาเนิ่นนาน การตั้งชื่อเล่นให้กับสัตว์ทดลองนั้นสร้าง ‘ผลดีหรือผลเสีย’ ให้กับงานวิจัยกันแน่?

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่า รสนิยมเรียกชื่อเล่นกับสัตว์ทดลองเป็นการทำให้สิ่งที่ไม่เป็นมนุษย์มีความรู้สึกเป็นมนุษย์ หรือเรียกว่า ‘Anthropomorphism’ เป็นการกำหนดคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ซึ่งก่อให้เกิดอคติ เช่นเดียวกับลิง Ivan ที่เมื่อเปลี่ยนชื่อแล้ว ก็ได้รับการปฏิบัติต่างกับตอนที่มันมีชื่อว่า Freckle ทำให้ผลการทดลองอาจมีโอกาสบิดเบือนเนื่องจากอคติของผู้ปฏิบัติงาน

แต่นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งก็ออกมาค้านว่า สัตว์ทดลองก็ควรมีชื่อและควรได้รับการปฏิบัติในฐานะปัจเจก เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก จึงไม่ควรถูกเรียกเป็น code name หรือแทนด้วยตัวเลข นอกจากนี้การเรียกด้วยชื่อเล่นยังช่วยลดความตึงเครียดในบรรยากาศงานวิจัย และช่วยให้ผู้วิจัยผูกพันกับงานที่ทำได้

Marc Bekoff  นักวิจัยพฤติกรรมสัตว์ มีแมวทดลองที่มีลักษณะพิการทางการมองเห็น แต่สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่ไม่มีดวงตา เขาเรียกแมวตัวนี้ว่า Speedo (เจ้าลมกรด) เพราะความเจ๋งของมันคือการเรียนรู้ที่ฉับไว แต่กลายเป็นว่านักวิจัยอาวุโสหลายท่านล้วนไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดความผูกพันมากเกินไป และอาจจะทำให้นักวิจัยเอาใจช่วยมันจนบิดเบือนระเบียบวิจัยที่มีอยู่เดิม

กลุ่มที่ไม่นิยมตั้งชื่อเล่นให้สัตว์ทดลองจึงมักเป็นกลุ่ม ‘งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์’ คนเหล่านี้ต้องอาศัยสัตว์ทดลองจำนวนมาก ซึ่งต่างจากนักพฤติกรรมสัตว์  สัตว์ทดลองประเภท ‘หนู’ มักไม่ค่อยมีชื่อเรียกกับเขา พวกมันถูกมองเป็นแหล่งข้อมูลและเอ็นไซม์เพื่องานวิจัยมากกว่าจะไปสนิทสนม นอกจากนี้นักวิจัยยังต้องมีระยะห่างทางอารมณ์กับสัตว์ (emotional distance) เนื่องจากในท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้อง ‘ฆ่า’ หนูทดลองเหล่านั้นอยู่ดี


การตั้งชื่อหรือไม่ ยังสร้างข้อถกเถียงที่น่าสนใจ กลุ่มที่ตั้งชื่อเชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งมวลมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน พวกมันไม่ได้เกิดมาจากการทำซ้ำหรือก๊อปปี้ แต่พวกมันมีความหลากหลายในการแสดงออกทางอารมณ์และชีวภาพ ความหลากหลายนี้เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์สามารถค้นพบอะไรใหม่ๆ เช่น ปัจจัยความเครียดที่ส่งผ่านจากพันธุกรรมพ่อแม่ของสัตว์ทดลองบางตัวที่แฝงฝังอยู่ใน Epigenetic  ซึ่งองค์ประกอบที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายนี้กอปรให้สิ่งมีชีวิตมีความจำเพาะสูง

การตั้งชื่อให้สัตว์ทดลองยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกมันดีขึ้น  เนื่องจากเป็นการเสริมกำลังเชิงบวกให้นักวิจัยปฏิบัติต่อพวกมันให้มีสวัสดิภาพที่ดี และยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้นักวิจัยดูเป็นคนที่มีความอ่อนโยนเหมือนกับคนทั่วไป

มีงานวิจัยปีค.ศ. 2009 พบว่า หลังจากฟาร์มวิจัยโคนมในอังกฤษเรียกแม่วัวด้วยชื่อเล่น  มีวัวกว่า 46% ให้น้ำนมมากขึ้น 3 % ซึ่งต่างจากแม่วัวที่ไม่ถูกเรียกชื่อ  ไม่ใช่ว่าเรียกชื่อแล้วมันชอบ แต่เกษตรกรที่ดูแลโคนมเหล่านี้จะปฏิบัติต่อสัตว์ที่มีชื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้วัวมีน้ำนมมากกว่าปกติ

แม้สัตว์ทดลองในห้องแล็บอาจจะมีชื่อเล่นบ้าง แต่ไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกชัดเจนว่าพวกมันจะตอบสนองกับชื่อเรียก ท้ายที่สุด ชื่อเล่นก็เป็นเรื่องความผูกพันของมนุษย์มากกว่าสัตว์ ดังนั้นเทรนด์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในห้องวิจัยทั่วโลกคือ ‘หนูทดลอง’ ที่ต้องฆ่าทิ้งมักไม่มีชื่อ ส่วนสัตว์ทดลองด้านพฤติกรรมและเป็นสัตว์ใหญ่หน่อยจะมีชื่อเล่น


กลายเป็นว่านี่คือความลักลั่นย้อนแย้งด้านจิตวิทยาสังคมของมนุษย์ที่ไปตัดสินว่าสิ่งไหนควรได้รับชื่อ สิ่งไหนไม่ควร เหมือนกับการลองให้คนอ่านบทกวีเดียวกันที่อันหนึ่งลงท้ายด้วยนามของกวีเอก กับอีกอันที่ไม่มีลงท้าย คนมักรู้สึกว่า บทกวีที่ลงท้ายด้วยชื่อกวีเอกนั้นซาบซึ้งกินใจกว่า ทั้งๆ ที่เป็นบทกวีเดียวกันแท้ๆ

ในอีกรูปแบบสังคมหนึ่งก็ไม่นิยมเรียกชื่อมนุษย์เป็นนาม แต่ใช้เป็นรหัส อาทิ ในทัณฑสถานหรือในกองทัพที่ต้องการให้ทุกคนมีความเหมือนกัน และไม่มีใครได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่น (อย่างน้อยก็ในเชิงทฤษฏี) ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการ Dehumanize หรือลดความเป็นมนุษย์ลง

ชื่อนั้นสำคัญไฉน? ต่อไปมันอาจจะสำคัญมากๆ อนาคตเราอาจจะเรียก AI ด้วยชื่อ หรืออาจจะเรียกรถที่ขับได้เองด้วยชื่อที่คุ้นเคยแทนจะเรียกเป็นยี่ห้อ  และรถเองก็สามารถจะตอบสนองคุณด้วยเสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชายก็ได้

ประเด็นชื่อสัตว์ทดลองในห้องวิจัยล้วนมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางและอาจจะเข้มข้นขึ้นในอนาคต หากคุณเป็นนักวิจัยที่อ่านบทความนี้อยู่ คุณเรียกชื่อสัตว์ทดลองว่าอะไร แอบๆ เรียก หรือเรียกอย่างเปิดเผย หรือในท้ายที่สุด ความผูกพันของพวกเราเองก็ท้าทายความเที่ยงแท้ของวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลา







อ้างอิงข้อมูลจาก
•American Association for Laboratory Animal Science

www.aalas.org
•Names give cows a lotta bottle

www.ncl.ac.uk

Illustration by Kodchakorn Thammachart
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่