ทำความเข้าใจ 'Relative Clause' (An Introduction to Relative Clauses)

'ทำความเข้าใจ Relative Clause'

กระทู้นี้มาดูเรื่องเรื่อง Clause หรือ 'อนุประโยค' เป็นเรื่องที่ผมยังไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจังสักที ค่อย ๆ เขียนวันละนิดจนรวบรวมมาเป็นกระทู้ อ่านจบน่าจะช่วยให้เข้าใจและทำข้อสอบที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้คล่องเลย

และหากคิดจะเขียนหนึ่ง clause มันก็คงต้องเขียนให้จบถูกมั้ย! Clause ในภาษาอังกฤษมีอยู่ 3 แบบคือ Relative clause, Noun clause และ Adverbial clause

โดยกระทู้นี้ผมจะเริ่มจากอันแรกก่อนคือ Relative clause (อ่านว่า 'เร๊ล-เหล่อะ-ทิฟฺ ไม่ใช่ รีเลทีบบบบบ) ในภาษาไทยเราเรียกว่า 'อนุประโยคขยายคำนาม'

ใครเข้าใจเรื่องนี้ดีแล้วสามารถข้ามไปอ่านย่อหน้า 3 ได้เลย
Let's roll!
_______________

(1)

Relative clause หรืออีกชื่อที่ไม่ค่อยฮิตเท่าไหร่คือ 'Adjective clause' (ส่วนตัวชอบชื่อหลังเพราะมันชัดเจนในหน้าที่) ดังนั้นเราไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราจะเอา clause นี้มาทำอะไร

เอามาขยายคำนามเหมือน adjective นั่นไงเล่า!

ให้เรามองเป็นภาพง่าย ๆ Relative clause ก็คือประโยคหนึ่ง (คำนิยามของ 'ประโยค' คือมี subject และ verb) ที่มาขยายคำนามคำหนึ่ง
แบบนี้ That is the man who stole your girlfriend!
(นั่นไงไอ้หนุ่มที่แย่งแฟนแกไป)

'who stole your girlfriend' คือ Relative clause ที่ขยายคำนาม 'the man'
คิดง่าย ๆ The man (n.) + who stole your girlfriend (relative clause) = คำนาม (เรายังถือว่าเป็นคำนามหนึ่งคำอยู่)

ตัวอย่างเพิ่มเติม
Is that the book (that) John recommended?
(นั่นใช่หนังสือที่จอห์นแนะนำหรือเปล่า)
(The book that John recommended = N. + Relative Clause = เป็นคำนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรมของกริยา is)

The car that we bought two weeks ago just broke down this morning.
(รถที่เราเพิ่งซื้อมาเมื่อสองอาทิตย์ก่อนเพิ่งพังไปเช้านี้)
(The car that we bought = N. + Relative Clause = N. as subject of the verb 'broke down')

I'm starting to think he's not the guy (that) we're looking for.
(ผมเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าเขาคือคนที่เราตามหาจริง ๆ)
(The guy whom we're looking for = N. + Relative Clause = N. as object of the verb 'is not')

**เกร็ดความรู้นิดหน่อย**
Who แปลว่า 'ใคร' ในประโยคคำถาม (Who are you? Who did this? etc.)
แต่ใน Relative clause จะแปลว่า 'ที่' หรือ 'คนที่' (who killed the man, who stole our car etc.)

"The man who stole girlfriend" จึงแปลว่า ผู้ชาย'ที่'แย่งแฟนแก ไม่ใช่ผู้ชาย'ใคร'แย่งแฟนแก
_______________

(2)

จากตัวอย่างข้างบน หากใครสังเกตดี ๆ จะพบว่า ใน Relative clause จะมี Relative pronoun เป็นตัวเชื่อมระหว่างคำนามและ clause
Relative pronouns ได้แก่ That, who, whom, which และ whose (บางตำราอาจบอกว่ารวมไปถึง where กับ why ด้วย)

มีหลักในการใช้ Relative pronouns ง่าย ๆ คือ who, that หรือ whom ใช้กับคน / which หรือ that เราใช้กับสัตว์และสิ่งของ / ส่วน whose เราใช้ได้กับทั้งหมดเลย (whose ใช้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ)

เดี๋ยวใช้ให้ดูทีละตัว
This is the house (that) everyone needs.
This is the guy (whom) everyone knows.
This is the money which was given to us.
This is the money (which) we have to give to them.
That is the boy whose father is the founder of this company.

ที่อยู่ในวงเล็บคือ relative pronoun ที่เราสามารถละ (omit) ได้ เพราะมันตามด้วยคำนามหรือสรรพนาม

แต่ในประโยคที่ 3 คำที่ตามหลัง relative pronoun 'which' เป็นกริยา เราจึงไม่สามารถละมันได้ เพราะประธานของ verb จะหายไป
สังเกตว่านอกจากข้อสาม ทุกข้อตามด้วยคำนามทั้งหมด ดังนั้นเราจึงละได้หมดเลย

ส่วน whose เป็นกรณียกเว้น ยังไงก็ไม่ละอยู่แล้ว
_______________

(3)

โอเค มาถึงความรู้ที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจละ เพราะข้างบนนี้มันหาอ่านที่ไหนก็ได้

เรื่องแรกที่อยากย้ำก็คือ 'ไม่ต้องเติม Pronoun ซ้ำซาก!' เห็นมาหลายทีแล้ว บางคนชอบเติม Pronoun ให้ Relative clause
เช่น
1. This is the book that I borrowed it from John.
2. There's the man you want to talk to him.
3. I can't find the money my mother gave it to me.

ประโยคเหล่านี้ผิดหมดเลย เพราะดันไปเติม pronoun ให้ประโยค relative clause ทั้ง ๆ ทีคำนามมันก็ยังอยู่!
ดังนั้นควรแก้เป็น
1. This is the book that I borrowed from John. (I borrowed the book from John.)
2. There's the man you want to talk to. (You want to talk to the man.)
3. I can't find the money my mother gave to me. (My mother gave the money to me.)

ที่เราไม่ต้องเติม Pronoun เข้าไปอีกก็เพราะว่า คำนามที่ relative clause ไปขยายนั้นได้ทำหน้าที่เป็นประธานหรือกรรมให้ประโยคอยู่แล้ว (ดังตัวอย่างในวงเล็บ) จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่ม pronoun เข้ามา!

อธิบายให้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. The book เป็นกรรมของ borrowed อยู่แล้วจึงไม่ต้องมี it
2. the man เป็นกรรมของ talk to อยู่แล้ว ไม่ต้องเติม him
3. เหมือนกัน the money เป็น object ให้ gave แล้ว ไม่ต้องมี it

เวลาแต่งประโยคสังเกตนิดนึง จะได้ไม่ทำข้อผิดพลาดเล็ก ๆ พวกนี้นะ!
_______________

(4)

อีกเรื่องคือการเติม comma หลายคนสงสัยว่าเมื่อไหร่ควรเติม comma คั่นไว้ เพราะบางครั้งก็เห็นมี บางครั้งก็ไม่เจอ

เราสามารถแบ่ง Relative clause ออกเป็นสองแบบคือ
- Defining
- Non-defining

Define (v.) แปลว่า 'ให้ความหมาย' ดังนั้น Relative clause จึงมีสองแบบคือ (1)แบบให้ความหมาย และ(2)ไม่ให้ความหมาย แต่ให้เราคิดใหม่เป็น แบบ(1)'ให้ข้อมูลที่จำเป็น' กับ(2)'แบบที่ให้ข้อมูลที่ไม่จำเป็น'

Defining clause ก็คืออนุประโยคที่ให้ข้อมูลสำคัญกับเรา ช่วยในการระบุคำนาม (Defining clauses help to identfy the person or thing you're talking about) แบบนี้เราไม่ต้องใส่ comma กั้น
เช่น
The car that we bought two weeks ago is broken.
(ประโยคนี้ถ้าไม่เติม relative clause จะไม่มีทางรู้เลยว่าคือรถคันไหน)

ลองเปรียบเทียบกับ John's car, which he bought two weeks ago, is broken.
ประโยคนี้แม้ไม่เติม relative clause ก็ยังรู้อยู่ดีว่าคือรถคันไหน แบบนี้เราเรียก Non-defining relative clause และสามารถละจากประโยคได้ เพราะมันไม่ได้ให้ข้อมูลจำเป็นอะไรกับเรา และไม่ได้ช่วยเราระบุตัวคำนามที่เราพูดถึง เราจะใช้ comma กั้นประโยคและจะไม่ใช้ that กับ clause แบบนี้

ลองดูตัวอย่างเปรียบเทียบเพิ่มเติม
Everyone gave way for the man who said he was a doctor. (ช่วยระบุว่า the man เป็นใคร เป็น defining relative clause
)
My father, who is a doctor, likes the Game of Thrones series. (ไม่ได้ช่วยระบุ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็น my father ดังนั้น clause นี้จึงเป็น non-defining relative clause)

The book that you gave me is fantastic! (ช่วยระบุว่าคือ the book เล่มไหน clause นี้จึงเป็น defining relative clause)

The book, which I enjoyed very much, is about futuristic technology. (ไม่ได้ช่วยระบุหนังสือแต่อย่างใด เพราะรู้แล้วว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอนาคต clause นี้จึงเป็น non-defining relative clause และสามารถละจากประโยคได้)
______________

จบแค่นี้กับ clause แรก ประมาณนี้แหละ สรุปให้แบบง่าย ๆ เลยนะ
- Relative clause ทำหน้าที่ขยายคำนาม เหมือน adjective (Relative clauses make clear which person or thing we are talking about)
- Relative clasue คืออนุประโยคที่เอามาวางไว้ข้างหลังคำนามเพื่อเพิ่มเติมความหมายให้กับคำนามนั้น (It is a clause to modify a noun)
- Relative pronoun คือคำสรรพนามที่เราใช้เชื่อม clause กับคำนามที่มันขยายเข้าด้วยกัน (Relative pronouns connect the noun and the clause)
- เราสามารถละ Relative pronoun ได้เวลาแต่งประโยค ยกเว้น whose และในกรณีที่กริยาตามหลัง (some relative pronouns can be omitted)
- อย่าเติม Pronoun (him, it, them etc.) เข้าไปซ้ำกับคำนามในประโยค (กลับไปอ่านย่อหน้า 3)
- การเพิ่มเติมความหมายมี 2 แบบคือ Defining (ช่วยระบุคำนาม) กับ Non-defining (ข้อมูลไม่สำคัญ)
- หากเป็น Non-defining relative clause ต้องมี comma กั้นประโยคด้วย

ศึกษาไปเรื่อย ๆ ลองเข้าไปทำแบบฝึกหัดออนไลน์ดูก็ได้นะ

มันอาจจะยาวหน่อย แบ่งอ่านเอาละกัน อ่านจบแล้วเก่งขึ้นแน่นอน
สงสัยตรงไหนคอมเมนต์ถามเลย เรื่องนี้มันอาจจะเข้าใจยากสักนิด อ่านจบก็อย่าลืมทบทวนด้วย

'ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างในวันนี้ รู้มากกว่าเมื่อวานนี้ก็พอ'
รู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกวันที่: www.facebook.com/MyFathersAnEnglishMan (Page: พ่อผมเป็นคนอังกฤษ)
Stay knowledge-hungry
JGC.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  หลักไวยากรณ์ (Grammar) ภาษาอังกฤษ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่