ปิดโรงแรมดุสิตธานี..............สัญลักษณ์ของกรุงมหานครมามากกว่า 50 ปี

โครงการดุสิตธานีเกิดขึ้นจากความคิดของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ที่ได้เริ่มบุกเบิกธุรกิจโรงแรมปริ๊นเซสและได้พบปะพูดคุยกับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวมากมายเกี่ยวประเทศไทย ทำให้เล็งเห็นว่าประเทศไทยก็มีโอกาสจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้และนี่คือที่มาของการสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีมีความหรูหรา ทันสมัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน จึงได้ริเริ่มก่อสร้างโรงแรมดุสิตธานีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะตัวอาคารหลักที่ต้องการให้เป็น "Landmark" สำคัญของกรุงเทพสมัยนั้นมากกว่าเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา จึงได้ว่าจ้างสถาปนิคชั้นแนวหน้าจากญี่ปุ่นมาศึกษาศิลปะสถาปัตยกรรมของไทยก่อนจะกลายเป็นตัวอาคารสัญลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานีที่มีแรงบันดาลใจจากทรงของเจดีย์ไทยและยอดพระปรางค์วัดอรุณ

กว่าจะมาเป็นโรงแรมดุสิตธานีทุกวันนี้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ มากมายตั้งแต่การตั้งชื่อโรงแรม ที่ผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับคำว่า "ดุสิตธานี" ที่อาจจะเรียกยากในหมู่ลูกค้าชาวต่างชาติแต่ท่านผู้หญิงต้องการใช้ชื่อนี้เพื่อให้สื่อถึง "สวรรค์" ตามคติความเชื่อของชาวพุทธและให้เป็นชื่อตามโครงการเมืองจำลองของรัชกาลที่ 6 ซึ่งชื่อนี้เองที่กลับกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของโครงการนี้ที่กลายเป็นตำนานของธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย

เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป กระแสเรียกร้องความเท่าเทียมที่ปกคลุมประเทศไทยทำให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงหยุดงานของคนงานในหลายๆ โรงงาน รวมทั้งที่โรงแรมดุสิตธานีเองที่มีปัญหาพนักงานประท้วงครั้งใหญ่จนทำให้ท่านผู้หญิงชนัตถ์เกือบจะถอดใจจากการบริหารโรงแรมนี้แต่ด้วยการสนับสนุนของผู้บริหารและทีมงานผู้ถือหุ้นก็ทำให้ดุสิตธานีฝ่าฟันปัญหาเหล่านั้นมาได้

ทุกวันนี้กลุ่มดุสิตธานี (DTC) ได้ขยายการลงทุนไปอย่างมากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรม ธุรกิจการศึกษา จนทำให้พอร์ตรายได้หลักมีมูลค่ามากกว่ารายได้จากโรงแรมดุสิตธานีถนนสีลม แต่เมื่อการพัฒนาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โครงการ Landmark กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ทั่วบ้านทั่วเมือง โรงแรมดุสิธานีก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์การแข่งขันโดยจะพัฒนาที่ดินแปลงนี้ให้เป็นอาคาร mixed use โดยการร่วมทุนระหว่างกลุ่มดุสิตธานีและเครือเซนทรัลภายใต้ชื่อโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล ปาร์ค ซึ่งจะประกอบไปด้วยโรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน


วันที่ 5 มกราคม 2562 จะเป็นวันเปิดทำการวันสุดท้ายของโรงแรมดุสิตธานี ก่อนจะปิดกิจการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างอาคาร การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติของการทำธุรกิจ ดังนั้นแม้จะยืนหยัดเป็นสัญลักษณ์แห่งถนนสีลมมาได้กว่าครึ่งศตวรรษแต่โรงแรมดุสิตธานีเองก็เรียนรู้จะยอมถอยเพื่อจะไปต่อ ยอมขาดทุน เพื่อสร้างรายได้ใหม่ที่มากกว่า และยอมเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตของเครือ DTC ดังที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์เคยเขียนไว้ว่า
"คนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนจะมีโอกาสเรียนรู้ได้ตลอด ชีวิตจริงนั้นเรียนไม่จบคนโง่เท่านั้นจึงจะสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต"

Note1: เซลส์แมนคนหนึ่งได้นัดพบกับลูกค้าที่ชั้น 23 ของโรงแรมดุสิตแล้วประทับใจในบรรยากาศร้านกาแฟในโรงแรมมากจึงเอาไอเดียนี้ไปเปิดร้านกาแฟที่จังหวัดชลบุรีบ้านเกิด ก่อนขยายธุรกิจไปยังธุรกิจสตูดิโอถ่ายรูปถ่ายรูปแต่งงาน ร้านอาหารญี่ปุ่นใจกลางทองหล่อ จนกระทั่งเปิดโรงงานขายชาเขียวจนโด่งดังไปทั่วประเทศ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักอดีตเซลส์แมนคนนี้ในชื่อของ "ตัน โออิชิ" หรือคุณตัน ภาสกรนที นั่นเอง

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
Reference: หนังสือคมความคิดเจ้าสัว, รายงานประจำปีบริษัท DTC, หนังสือชีวิตไม่มีทางตัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่