5 เรื่อง”หมูๆ” จากยุคบรรพกาลถึงศักราชดิจิทัล

วันที่ 3 มกราคม 2562 - 14:12 น.

สำนวนหมูๆที่อยู่คู่สังคมไทย ภาพเขียนฝีมือ ส.ณ.พันลือฤทธิ์ กันทะวงศ์ จากเพจ "ห้องสุภาษิต"


แม้ให้อารมณ์เป็นสัตว์ร่วมสมัยชวนให้นึกถึงงานโภชนาการเมนูอาหารเลิศรสมากกว่าคติชนวิทยาและวัฒนธรรมโบราณ แต่แท้จริงแล้วนั้นเรื่องของ “หมู” นักษัตรประจำปีนี้ ช่างมีความเป็นมาอันยาวนาน มากมายด้วยสีสัน อีกทั้งมีบทบาทหลากหลายจากยุคบรรพกาลจวบจนศักราชในยุคดิจิทัล

และนี่คือ 5 เรื่องราวหมูๆ ที่รวบรวมมาให้รู้ในต้นปีกุน 2562

1.สืบบรรพบุรุษ’สุกร’มาจากไหน?

หมูที่เป็นสัตว์เลี้ยงหน้าตาคุ้นชินดังเช่นที่เราเห็น (และกิน)อย่างในทุกวันนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sus scrofa domesticus มีบรรพบุรุษ คือ “หมูป่า” (Sus scrofa) โดยทั่วไปถ้าโตเต็มวัยจะหนักระหว่าง 50-350 กิโลกรัม ความยาวลำตัวอยู่ที่ 0.9-1.8 เมตร เป็นสัตว์กีบคู่ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่มักหม่ำพืชผักมากกว่าสิ่งมีชีวิต จึงมีวิวัฒนาการกระเพาะอาหารใหญ่ขึ้นและลำไส้ยาวขึ้น เนื่องจากพืชย่อยได้ยากกว่าเนื้อ

ในหลุมขุดค้นทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทยยังพบกระดูกหมูหลายแห่ง อาทิ บ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา สะท้อนการมีอยู่และบทบาทหน้าที่ของหมูซึ่งเป็นอาหารของผู้คนมานานนับพันๆ ปี


ศิลปะการตัดกระดาษแบบจีนเป็นภาพหมู โดย Fanghong

สำหรับที่มาของคำว่า “สุกร” ซึ่งเป็นคำสุภาพและทางการ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ไขเงื่อนปมทางภาษาว่า มาจากคำบาลีและสันสกฤต คือ “สูกร” (อ่านว่า สู-กะ-ระ) แปลว่า สัตว์ที่ชอบใช้จมูกทำเสียงดังซู่ๆ

ส่วนที่เมาธ์กันหนาหูว่า สุกร หมายถึง “ผู้มีแขนงาม” โดยมาจากคำว่า สุ (ดี) และ กร (แขน) นั้น ราชบัณฑิตฯ ส่ายหน้าเบรกว่า หาใช่เช่นนั้นแต่อย่างใด ขอให้ปรับทัศนคติใหม่ ณ บัดนาว

นอกจากนี้ ยังมีวาทะ “หมูๆ” คู่ปากคนไทย ในข้อความเชิงเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะใช้เรียกคนรูปร่างอวบอ้วน หรือสิ่งที่ “ง่ายๆ” ว่าหมูมาก หรือ หมูๆ ไม่เพียงเท่านั้น ในคำพังเพยเก่าแก่ก็พาดพิงสัตว์ชนิดนี้เช่นกัน อาทิ

“หมูเขาจะหามเอาคานเข้าไปสอด” หมายถึง คนที่เข้าไปขัดขวางขณะที่ผู้อื่นทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งกําลังจะสําเร็จ

“หมูเขี้ยวตัน” คือ บุคคลที่คิดว่าจะหลอกหรือเอาชนะได้ง่ายๆ แต่กลับปรากฏว่าตรงกันข้าม เช่น นักมวยที่สั่งมาชกโดยคิดว่าจะเป็นหมูกลับกลายเป็นหมูเขี้ยวตันไป

อย่างไรก็ตาม คำเปรียบเทียบและสำนวนเหล่านี้นับวันก็มีคนพูดในชีวิตประจำวันน้อยลงทุกที ไม่วันหนึ่งก็วันใดอาจเหลืออยู่เพียงในพจนานุกรม

2.ปีกุน’ล้านนา’ไม่ใช่หมู แต่เป็น’ช้าง’


ตุงล้านนา ใช้รูปช้างในปีกุน ไม่ใช่หมู (ภาพจาก chiangmailworldheritage.net)

แม้ปีกุน คือปีหมู แต่เจ้าของวัฒนธรรมอันรุ่มรวยเป็นเอกลักษณ์อย่างชาวล้านนาให้สัญลักษณ์ของปีกุนเป็นรูปช้าง โดยมักมีคำอธิบายว่า กุนในที่นี้มาจาก “กุญชร” แปลว่า ช้าง

หากสังเกต “ตุง” หรือธงล้านนาที่ประดับด้วยภาพสัตว์ประจำนักษัตร เมื่อไล่สายตาลงมาถึงปีกุน จะเจอภาพช้าง ไม่ใช่หมูแต่อย่างใด เช่นเดียวกับศิลปหัตถกรรมงดงามชดช้อย เช่น เครื่องเงินต่างๆ ที่ตอกลายสิบสองนักษัตร ก็ตอกภาพช้างในช่องปีกุนอย่างงดงาม ช่างเงินล้านนาบางแห่งอธิบายว่า เพราะช้างเป็นสัตว์สิริมงคล เป็นพระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ จึงนํามาใช้เป็นสัญลักษณ์ของปีกุนแทนรูปหมู

ปักขทืน (ปฏิทิน) ล้านนา พิมพ์ออกมา แน่นอนว่าไม่มีหมู

ส่วนปีหนไทย หรือปฏิทินไทเดิม เรียกว่า ปีไก๊ หรือไค้

3.มหาชินธาตุเจ้าดอยตุง พระธาตุประจำปีกุน

การไหว้พระธาตุประจำปีเกิดเป็นสิ่งมงคลที่หมู่เฮาชาวลุ่มน้ำโขงให้ความนิยมก่อนแพร่หลายสู่คนไทยทั้งประเทศ


พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุประจำปีกุน

มณี พยอมยงค์ ปราชญ์ล้านนา ระบุไว้ในหนังสือประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย ขยายความบ่งชัดว่า พระธาตุประจำปีเกิดนี้ ถือว่าหากผู้ใดเกิดปีไหนแล้วควรไปนมัสการกราบไหว้พระธาตุนั้นๆ ก็จะได้อานิสงส์มาก สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุที่ประจำปีเกิดของตนเดินทางไปไม่ถึง ก็ให้กราบไว้เอาเองหรือไปขอผู้ที่วาดรูปเป็น วาดใส่แผ่นผ้าหรือแผ่นกระดานให้นำมาสักการบูชาก็ได้ หากท่านไปเที่ยวบ้านในภาคเหนือจะพบรูปภาพพระธาตุประจำปีตามบ้านต่างๆ มากมาย

สำหรับพระธาตุประจำปีเกิดของชาวปีกุนทั้งหลาย คือ พระธาตุดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งนักโบราณคดีหญิงแกร่งแห่งแดนล้านนาอย่าง เพ็ญสุภา สุขคตะ เปิดเผยข้อมูลว่า ชื่อทางการของพระธาตุแห่งนี้คือ “พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง” ตำนานระบุว่า เมื่อพุทธศักราช 561 สมัยพระญาอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ถวายให้พระญา

อชุตราช และเลือกหาสถานที่มงคลอันสมควรเพื่อสร้างมหาสถูปตามที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ ณ ดอยดินแดงหรือดอยสามเส้า อันมีลักษณะเป็นดอย 3 ลูกเรียงกันตั้งแต่ใต้ไปทางทิศเหนือ

ดอยลูกแรกคือ “ดอยปู่เจ้า” (ดอยตุง) ถัดไปเป็น “ดอยย่าเจ้า” และ “ดอยทา” อยู่เหนือสุด ถิ่นฐานนี้เป็นของชนเผ่าลัวะ โดยมีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้า

เมื่อรับมอบพระบรมสารีริกธาตุกันแล้ว พระมหากัสสปะก็อธิษฐานคันตุง (ธง) ยาว ๑ โยชน์ กับผืนตุงที่ทอด้วยผ้ายาว 7,000 วา กว้าง 5,000 วา กางบูชาพระธาตุเจ้า ณ ทิศตะวันออกทางขวา และเมื่อผืนตุงปลิวไปถึงจุดใด ให้กำหนดหมายเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ครั้นคนทั้งหลายเห็นตุงทิพย์โบกสะบัดจึงพากันเรียกว่าพระธาตุเจ้าดอยตุง

4.จากเล้าสู่บ้าน เทรนด์หมูเซเลบฮิตหนักมาก


พริซซิลลา อวดโฉมในไอจี prissy pig ที่มีคนตามมหาศาล

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อโลกเดี๋ยวนี้เขามีเทรนด์แฟชั่นการเลี้ยงหมูตัวน้อยแล้วคอยแปลงโฉมให้เป็นคุณหนู เอ้ย! คุณหมูสุดน่ารัก โดยประเทศที่ฮิตหนักมากจนมีการผลิตวลี “mini Pig mania” ก็คือ “รัสเซีย” ซึ่งพากันเลี้ยงหมูแคระบ้างไม่แคระบ้างอย่างประคบประหงมตั้งแต่ปี 2550 (เป็นอย่างน้อย) เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน สลัดภาพหมูหม่ำจุมูมมามแบบเดิมๆ มาใส่สายจุงในชุดฟรุ้งฟริ้งน่ากอด

สำหรับหมูเซเลบตัวจริงในขณะนี้ โลกออนไลน์ชูป้ายไฟให้ “พริสซิลลา” หมูแคระแฟชั่นนิสต้าฟลอริดาที่มาอวดโฉมผ่านอินสตาแกรม prissy_pig พร้อมหมูน้อยน้องชาย “พ็อพเพิลตัน” ซึ่งเจ้าของขยันอัพรูปให้กดหัวใจไม่เว้นแต่ละวัน

หันมาดูวงการบันเทิงไทยก็มี โย่ง อาร์มแชร์ และภรรยาสาวสวยเก๋ ก้อย เซทเทอร์เดย์เซย์โกะ ที่เคยเลี้ยงเจ้าหมูแคระชื่อว่า “ทเวลฟ์” ก่อนโพสต์ไอจีสุดเสียใจเมื่อหมูน้อยเสียชีวิตโดยไม่ทันดูใจ

ไม่ว่าจริงหรือไม่สำหรับข้อมูลที่ว่า หมูเป็นสัตว์แสนฉลาดติด 1 ใน 10 อันดับโลก แต่ความน่ารักของมันก็ชนะใจมนุษย์โลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

5.ตือโป๊ยก่ายกับลูกหมูสามตัว


ตือโป๊ยก่าย ร่างมนุษย์หน้าหมูจากวรรณกรรม “ไซอิ๋ว” ก่อนถูกสร้างเป็นภาพยนตร์

อีกหนึ่งเรื่องหมูๆ ที่เป็นภาพจำในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยคือชายร่างอ้วนมีใบหน้าเป็นหมู ถือคราดเดินตามพระถังซัมจั๋งไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่ชมพูทวีป

ใช่แล้ว “ตือโป๊ยก่าย” คือชื่อของชายดังกล่าวซึ่งเป็นตัวละครสำคัญจากวรรณกรรมจีนเรื่อง “ไซอิ๋ว” โดยมีชื่อเรียกในสำเนียงต่างๆ หลากหลาย อาทิ จู ปาเจี้ย ความเดิมก่อนได้หน้าใหม่เป็นหมูนั้น เดิมตือโป๊ยก่ายเป็นถึงแม่ทัพสวรรค์นาม “เทียนเผิงหยวนซ่วย” มีหน้าที่ดูแลลำน้ำสวรรค์ คุมทหารถึง 85,000 นาย แต่สุดท้ายชีวิตเปลี่ยนเมื่อเมาสุราลวนลาม “ฉางเอ๋อ” เทพธิดาพระจันทร์ ในงานชุมนุมท้อเซียนของเจ้าแม่แห่งตะวันตกซีหวังหมู่

ร้อนถึงเง็กเซียนฮ่องเต้ ต้องสั่งลงโทษให้หลาบจำด้วยการโบยด้วยค้อนทองแดงแบบจัดเต็ม 2,000 ครั้ง ซ้ำยังบัญชาให้จุติลงมายังโลกมนุษย์โดยเกิดในครรภ์สุกร

ภายหลังเจ้าแม่กวนอิมให้ตือโป๊ยก่ายทำความดีไถ่บาปด้วยการเป็นศิษย์พระถังซัมจั๋ง เดินเท้าไปยังชมพูทวีป มีอาวุธคือ คราด 9 ซี่ มีวิชาแปลงกายได้ 36 อย่าง

“พระกวนอิมจึงยกพระหัตถ์ลูบศีรษะยักษ์สุกรนั้น แล้วก็ให้ยักษ์สมาทานศีลห้า จึงตั้งแซ่แลชื่อให้ตามที่ตัวเป็นมนุษย์ หน้าเป็นสุกรว่า แซ่ตือ ตือนั้นคือ สุกร หรือหมู นามนั้นเรียกว่า หงอเหนง ครั้นให้แซ่แลชื่อแล้ว จึงให้กินเครื่องกระยาบวชคือ เครื่องแจ ละเว้นซึ่งการทุจริตในกาย วาจา ใจ” ไซอิ๋ว โดย พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ)

ตือโป๊ยก่าย เป็นที่รัก และที่รู้จักของคนไทยจากละครโทรทัศน์ที่ดังกระฉ่อนข้ามประเทศ สร้างโดย TVB ออกอากาศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2539


นิทาน The Three Little Pigs หรือ ลูกหมูสามตัว ฉบับตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1918

หันไปดูเรื่องหมูๆ ในซีกโลกตะวันตกที่เด็กไทยคุ้นชินมาแต่ครั้งวัยเยาว์ก็เห็นจะเป็นเรื่องราวของ “ลูกหมู 3 ตัว” นิทานปรัมปราของยุโรปที่เล่ากันมาจากรุ่นสู่รุ่นแบบมุขปาฐะ ก่อนจะตีพิมพ์เป็นหนังสือขายดีอีกทั้งการ์ตูนดิสนีย์บันลือโลก ด้วยเรื่องราวเล่าง่ายๆ แต่ชวนให้เด็กๆ ลุ้นตัวโก่งด้วยการเอาใจช่วยลูกหมู 3 ตัวให้รอดจากหมาป่าใจร้ายที่มาทำลายบ้าน ซึ่งสร้างจากฟาง เศษไม้ และอิฐ หวังกินลูกหมูเป็นอาหารมื้ออร่อย


ภาพวาด “ลูกหมูสามตัว” ในหนังสือ English Fairy Tales ของ J.Jacobs พิมพ์ในนิวยอร์ค ค.ศ.1895

นิทานเรื่องนี้ มีฉบับตีพิมพ์ย้อนหลังไปถึง ค.ศ.1840 หรือ พ.ศ 2383 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย แต่เรื่องเล่านี้เก่ายิ่งไปกว่านั้นอีกหลายเท่า แพร่หลายอยู่ในคำบอกเล่าของชาวตะวันตกด้วยเวอร์ชั่นหลากหลายสไตล์วรรณกรรมพื้นบ้าน ถูกปรับเปลี่ยน ดัดแปลงรายละเอียด บางครั้งก็สร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ ให้หมาป่าอีกต่างหาก

สำหรับเวอร์ชั่นซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดปรากฏในหนังสือ English Fairy Tales โดย Joseph Jacobs ซึ่งรวบรวมเทพนิยายอังกฤษจากแหล่งต่างๆ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1890 หรือ พ.ศ.2433 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5

ต่อมาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูน ทั้งโดย “วอลต์ ดิสนีย์” และ “เอ็มจีเอ็ม”

“นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวเปี่ยมสเน่ห์ของสัตว์สัญลักษณ์ประจำปีกุนที่หมุนเวียนมาพบหน้ากันในรอบ 12 ปี”



มติชนออนไลน์

ผู้เขียน
พรรณราย เรือนอินทร์
เผยแพร่
วันที่ 2 มกราคม 2562
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่