รพ. แจง ผ่าตัดเด็กวัยขวบเศษเสียชีวิต เกิดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

รพ. แจง ผ่าตัดเด็กวัยขวบเศษเสียชีวิต เกิดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

รพ. แจงน้องข้าวหอมวัยขวบเศษเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แม้ไม่แสดงอาการแต่เสี่ยงหัวใจวาย ต้องผ่าตัดแก้ไข
ความคืบหน้ากรณีนายอานนท์ เงินเถื่อน อายุ 35 ปี ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ร้องเรียนสื่อมวลชนเนื่องจากติดใจการเสียชีวิตของเด็กหญิงมณีรัตน์ เงินเถื่อน หรือ น้องข้าวหอม อายุ 1 ปี 10 เดือน หลังเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แต่หลังผ่าตัดอาการกลับทรุดลงจนต้องนอนอยู่ในห้องไอซียูนานเกือบ 1 เดือนก่อนจะเสียชีวิต โดยแพทย์ระบุสาเหตุที่น้องข้าวหอมเสียชีวิตเกิดจากโรคประจำตัว

ขณะที่นายอานนท์ และครอบครัวต้องการให้ทางโรงพยาบาลชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตของลูกสาวให้ชัดเจน หลังพยายามสอบถามข้อเท็จจริงและขอประวัติการรักษาของน้องข้าวหอม แต่กลับได้รับสำเนาแฟ้มประวัติการรักษาที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตนเองอ่านไม่ออก

ล่าสุดทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของเด็กหญิง มณีรัตน์ เงินเถื่อน อายุ 1 ปี 10 เดือน มีเนื้อหาระบุว่า

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อญาติและครอบครัวของ ด.ญ.มณีรัตน์ เงินเถื่อน ที่สูญเสียคนอันเป็นที่รัก หลังจากน้องเข้ารับการผ่าตัดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว จึงขอเรียนให้ทราบถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

สำหรับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ชนิดเขียว (Tetralogy of Fallot) ในหัวใจจะมีรูรั่วใหญ่ที่ผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่างร่วมกับลิ้นหัวใจไปปอดตีบมาก (severe valvular pulmonic stenosis) และมีเส้นเลือดไปปอดด้านซ้ายตีบมาก (severe left pulmonary stenosis) ร่วมกับมีเส้นเลือดหัวใจเกิน (patent ductus arteriosus)

ผู้ป่วยรายนี้อาจดูคล้ายไม่มีอาการจากภายนอกเพราะอาการเขียวไม่มากแต่ก็มีระดับออกซิเจนต่ำกว่าปกติ (oxygen Saturation 90%) แล้วสาเหตุที่เขียวไม่มากเป็นเพราะเส้นเลือดที่ไปปอดมีขนาดใหญ่ และมีเส้นเลือดผิดปกติในการช่วยส่งเลือดไปปอด

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังคงมีความดันหัวใจในห้องขวาสูงมาก ทำให้ในระยะยาวถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข จะทำให้มีภาวะหัวใจวายตามมาในอนาคต โรคนี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ปิดรูรั่วผนังหัวใจ ผ่าแก้ไขลิ้นและเส้นเลือดหัวใจตีบ และปิดเส้นเลือดเกิน

โดยทั่วไปจะผ่าตัดแก้ไขภายในครั้งเดียว เนื่องจากผู้ป่วยขนาดหลอดเลือดส่วนปลายมีขนาด เหมาะสมสามารถแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อขยายหลอดเลือดก่อน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องผ่าตัด 2 ครั้ง โดยไม่จำเป็น

เกณฑ์การผ่าตัดมักผ่าตัดหลังขวบปีแรก เมื่อน้ำหนักได้เกณฑ์ (มากกว่า 8-9 กิโลกรัม) และเด็กต้องมีสุขภาพพร้อมก่อนผ่าตัด เด็กได้รับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 29/10/2561 เมื่อ อายุ 1 ปี 8 เดือน (น้ำหนัก 9 กิโลกรัม) ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ทุกประการไม่ได้ทำการผ่าตัดไวกว่าปกติแต่ประการใด

การผ่าตัดเปิดหัวใจ แก้ไขความผิดปกติทั้งหมด (open heart surgery) ดำเนินไปตามแผน แต่เมื่อย้ายผู้ป่วยมายังหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยศาสตร์หัวใจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว (JET) ซึ่งพบได้บ่อย ภายหลังการผ่าตัดชนิดดังกล่าวผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและให้ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะทันที

แต่หลังจากได้รับยาผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจเต้นช้า ได้กระตุ้นการทำงานหัวใจด้วยเครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (pacemaker) หัวใจยังคงทำงานช้าลงเรื่อยๆ จนหัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดไปได้เพียงพอมิได้มีการหยุดเต้นแต่ประการใด ทางทีมแพทย์ได้ทำการปั๊มหัวใจในทันที แต่หัวใจยังไม่กลับมาทำงานตามปกติได้

ทีมผู้รักษาจึงได้ทำการผ่าตัดซ้ำเพื่อใส่สายระบายเลือด เพื่อต่อกับเครื่องพยุงชีพ (Extra corporeal membrane oxygenator; ECMO) หลังแก้ไขเครื่องสามารถช่วยพยุงสัญญาณชีพไว้ได้ แต่การทำงานของสมองได้เสียหายไปบางส่วนจากการขาดเลือดในช่วงที่หัวใจไม่ทำงาน

ทีมแพทย์ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่และต่อเนื่องตลอดในระยะที่นอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องเข้าห้องผ่าตัดไปอีก 4 ครั้ง เนื่องจากต้องเข้าไปใส่สายระบายเลือดออกจากหัวใจเพิ่ม เพราะเครื่องพยุงชีพไม่สามารถระบายเลือดออกได้เพียงพอ

รวมถึงการผ่าตัดซ้ำเพื่อนำสายต่างๆ ออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการรักษา และทีมผู้รักษาได้แจ้งแก่ญาติให้ทราบทุกครั้งและให้ญาติเซ็นต์ใบยินยอมผ่าตัดทุกครั้งเช่นกัน

หลังจากสัญญาณชีพเริ่มคงที่ หัวใจเริ่มกลับมาทำงานได้ดีขึ้น จึงได้เข้าไปผ่าตัดเพื่อเอาเครื่องพยุงชีพออก หลังผ่าตัด หัวใจเริ่มทำงานแย่ลงอีกครั้ง ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจเป็นปริมาณสูง และระบบประสาทยังไม่ฟื้นตัว ผู้ป่วยได้เสียชีวิตลงตามการดำเนินของโรค

ทางโรงพยาบาลโดยทีมแพทย์ได้ช่วยเหลืออย่างดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของทางโรงพยาบาลจะให้ทำด้อย่างเต็มที่แล้ว สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยเป็นไปตามโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยมีอยู่ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจำเป็นต้องรับการผ่าตัดตามขั้นตอนร่วมกับเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมดจากการผ่าตัด

ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ให้ความช่วยเหลือ โดยการยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้น (ม.41 )ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วยและญาติ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

ซึ่งหลังจากนั้น โดยกระบวนการนำเข้าคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งต่อมาทางคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณายกคำขอเนื่องจากเป็นโรคแต่กำเนิดและมีการดำเนินของโรคตามพยาธิของโรค และโรงพยาบาลได้แนะนำให้ติดต่อสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการตามแนวทางของการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น

ด้านนายอานนท์ กล่าวว่า ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ เพื่อนัดหมายไปพบ และรับฟังจากชี้แจงจากทางโรงพยาบาลแล้ว แต่ยังต้องปรึกษากับทางครอบครัวอีกครั้งว่าจะสะดวกเดินทางไปวันไหน เนื่องจากภรรยา คือนางสาว คนึงนิล สินเช้า อายุ 35 ปี ยังอยู่ในอาการโศกเศร้าเสียใจ กระทั่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึงขั้นคิดฆ่าตัวตามตามลูกไป เพราะได้ทำหมันแล้วจึงไม่สามารถมีลูกได้อีก

ส่วนกรณีที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 หลังได้ไปยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 กรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล โดยทางคณะอนุกรรมการฯ แจ้งว่ากรณีการเสียชีวิตของน้องข้าวหอมเป็นไปตามพยาธิสภาพโรค

จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามข้อบังคับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตนเองรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะทราบว่ามีเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลืออยู่ จึงได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไปแล้วแต่ยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาหรือไม่

นายอานนท์ ยืนยันว่า สิ่งที่ต้องการตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนหลังลูกสาวเสียชีวิต คือ การชี้แจงข้อเท็จจริงจากทางโรงพยาบาลฯ เพราะหลังลูกสาวเสียชีวิตก็ไม่เคยได้รับคำอธิบายใดๆ ที่กระจ่างชัดเจน ทำให้ต้องเดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียน

ทั้งที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 กรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล โดยหลังจากนี้หากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะปรึกษากับครอบครัวอีกครั้งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

https://news.mthai.com/general-news/696096.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่