WEH ชี้แจงแล้ว ณพ ณรงค์เดช วางอนาคต “WEH” 5 ปี 2,000 MW DEMCO ว่างัย

กระทู้สนทนา
ณพ ณรงค์เดช วางอนาคต “WEH” 5 ปี 2,000 MW
วันที่ 21 December 2018 - 12:37 น.
https://www.prachachat.net/economy/news-268230
ประเด็นร้อน “ครอบครัวณรงค์เดช” เกี่ยวพันมาถึง “ณพ ณรงค์เดช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ “ณพ” เปิดใจให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปัจจุบัน WEH ถือเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจพลังงานลม ครองส่วนแบ่งตลาดไฟฟ้าพลังงานลม 46% โดยขณะนี้มีการผลิตโรงไฟฟ้าที่ขายเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 537 เมกะวัตต์ และเดือนนี้มีแผนจะ COD โครงการ T4 อีก 90 เมกะวัตต์ ตามด้วยโครงการที่ 8 NKS ซึ่งเป็นโครงการสุดท้ายต้นเดือนมีนาคม 2562

หากครบทั้งหมด 8 โครงการ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 717 เมกะวัตต์ตามแผนที่วางไว้ ซึ่ง WEH จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะมีรายได้ ประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2562 จากปีนี้รายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท

อนาคตแผนการลงทุน 5 ปี

ขณะนี้มีแผนจะลงทุน 5 ปี โดยอยู่ระหว่างให้ทีมงานศึกษาฟิวเจอร์โปรเจ็กต์ ซึ่งมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไปถึง 2,000 เมกะวัตต์ (2 จิกะวัตต์) ในปี 2565 ทั้งในและต่างประเทศ โดยในส่วนของการลงทุนในประเทศยังต้องติดตามการยกร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างการยกร่างก่อนที่จะสรุปแผนการลงทุน

เป้าหมายวินด์ 2 จิกะวัตต์ ขาดอีก 1,200-1,300 เมกะวัตต์ เรามีความคาดหวังว่าจะได้จากพีดีพีรอบใหม่ ซึ่งแผนเปิดมาว่ามีลม 1,400 กว่าเมกะวัตต์ ในปี 2580 เวลานี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะได้อะไรหรือไม่ เรามีความคาดหวังว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยทำก็น่าจะมีข้อได้เปรียบบางอย่างในการจะเข้าไปเสนอ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการทำโปรดักชั่นของโปรเจ็กต์ใช้เวลาพอสมควรตอนนี้แผนพีดีพีช้าพอสมควร ถ้าออก 1-2 ปีที่แล้วป่านนี้อาจจะได้ดีเวลอปแล้ว



ดังนั้น ปีนี้ลืมไปได้เลย ส่วนปีหน้าถ้าพีดีพีออกมาหลังจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการศึกษา และกว่าจะเริ่มทำอีก 1-2 ปี เพราะตอนที่เราทำ 6 วินด์ฟาร์ม ใช้เวลาเกือบ 3 ปี ฉะนั้น เราหวังว่าจะได้ผลจากพีดีพีครั้งนี้ไม่มากก็น้อยในแง่ของพลังงานลม แต่เราคงเปิดกว้างไม่ใช่ลมอย่างเดียว เพราะพลังงานทดแทนไม่ใช่แค่ลมแต่มีอย่างอื่นด้วย ตอนนี้ทีมกำลังศึกษากันอยู่ เราก็อยากได้โซลาร์แต่ก็ไม่รู้จะได้หรือไม่

จุดเปลี่ยนทำ “ไฮบริด”

“ณพ” เล่าว่า นโยบายปรับแผนการลงทุนจากพลังงานลม ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก 100% ไปสู่พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ในรูปแบบที่เรียกว่า “ไฮบริด” นั้น อยู่ระหว่างวิเคราะห์รายละเอียดของโครงการว่าจะเป็นการลงทุนรูปแบบใด เช่น โซลาร์ฟาร์มหรือรูฟท็อป หรือจะผนึกกับพันธมิตรรายใด โดยคาดว่าแผนจะได้ความชัดเจนในปีหน้า อย่างไรก็ตาม บอกได้เลยว่าปีหน้าไม่มีทางเห็น 1,000 เมกะวัตต์ เพราะทางปฏิบัติทำไม่ทัน ปีหน้าจะเป็นการหาโปรเจ็กต์ใหม่ลง และอีก 2-3 ปีเป็นการพัฒนา

เหตุที่ปรับแผนการลงทุนทำไฮบริด เป็นไปตามนโยบายด้านพลังงานเป็นหลัก หากเปรียบเทียบระหว่างลมและโซลาร์แล้ว พลังงานลมมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่าโซลาร์ เช่น โซลาร์ฟาร์มจะได้ 1 เมกะวัตต์ ใช้ที่ 10 ไร่ ขณะที่พลังงานลมใช้ดิน 1-2 ไร่ ไปถึง 90 เมกะวัตต์

ส่วนต้นทุนลม 1 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 2 ล้านเหรียญบวกลบ แต่ถ้าเป็นโซลาร์เซลล์ 1 เมกะวัตต์ เท่ากับ 30 ล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือแค่ 25 ล้านบาทตามระดับประสิทธิภาพของอุปกรณ์ ข้อดี-ข้อเสียมันก็จะต่างกันไป ผมว่ามันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนตามนโยบาย ซึ่งคาดว่าสรุปผลในช่วงภายในไตรมาส 1/2 ปีหน้า

อย่างไรก็ตาม WEH ไม่ได้พลิกไปทำโซลาร์ 100% ในทันที แต่ค่อยเพิ่มสัดส่วนเป็นลักษณะไฮบริดไปด้วยกัน เพราะคอมบิเนชั่นที่ดีที่สุด คือ กลางวันมีแดดใช้โซลาร์ กลางคืนมีลม 60% อีก 40% บวกกันก็จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น ใช้กริดเดียวกัน ถ้าได้โซลาร์ไปบวกด้วยก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า



ปักธงลงทุนนอก

อีกด้านเรากำลังศึกษาโอกาสขยายการลงทุนไปยัง 3-4 ประเทศทั้งในและนอกเอเชีย ในจำนวนนี้มี 2-3 ประเทศที่กำลังศึกษาเชิงลึกว่าจะตัดสินใจลงทุนโครงการขนาดหลายร้อยเมกะวัตต์ ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยรอบด้าน โดยเฉพาะผลตอบแทนการลงทุน IRR เป็นหลัก

หากเทียบต้นทุนแล้วจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ซัพพลายเออร์ก็มีเทคโนโลยีไม่ต่างกัน อินฟราสตรักเจอร์ต่างประเทศต้องไปสร้าง เช่น เราขนใบพัดไปสร้าง ต้นทุนใบพัดทุกคนก็ซื้อในราคาเดียวกัน จุดที่ต่างกันคือ การนำไปตั้งตรงนั้นมีค่าใช้จ่ายต่างกันเท่าไร เสร็จแล้วไปเทียบกับ IRR หรือผลตอบแทนการลงทุนเท่าไร เบสการตัดสินใจอยู่บนปัจจัยพวกนี้เป็นหลัก

งบฯลงทุน 5 ปี 1 หมื่นล้าน

แผนการลงทุนนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ผมว่าตอนนี้ทุกคนเหมือนกัน คือ เงินมี อยากลงทุน แต่พีดีพีไม่ออก คือ ทุกคนหรือส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน ในส่วนของบริษัทยังคงเดินหน้าแผนไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯตามเดิมไม่เคยเปลี่ยน ที่ล่าช้าต้องชี้แจงว่า การไฟลิ่งไม่ได้ดีเลย์ แต่ที่เข้าตลาดไม่ได้เพราะไม่เข้าเงื่อนไขของ ก.ล.ต. ด้วยเกณฑ์ปัจจุบันที่มีอยู่ แม้ว่า 2 โครงการแรกจะ COD ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา แต่มันถือผ่านโฮลดิ้งอีกตัวหนึ่ง ถ้าพูดกันตรง ๆ วินด์ถือ 46% ทาง ก.ล.ต.บอกว่าไม่มีคอนโทรล แม้ว่าเราจะคอนโทรลจริง ๆ เรารอคือ ให้โรงงานที่ 3 ของเรา COD ครบ 2 ปี ใน 24 ธันวาคมนี้

ผนึกกัลฟ์-ก้าวกระโดด

ที่ผ่านมาจะมีข่าวอะไรก็แล้วแต่ เช่น ถ้าเข้าตลาดไม่ได้ จะสร้างวินด์ฟาร์มไม่ได้ แต่ถึงตอนนี้เราพิสูจน์แล้วว่าโครงการของเราก็จะครบตามแผน 8 โรงงานแล้ว การเติบโตด้วยสิ่งที่ควรจะเป็น อย่างที่ตั้งใจตั้งแต่แรกก็คือ ผู้ถือหุ้นเรา 200 กว่าคน เราก็อยากให้เขาสบายใจ เขารอความหวังที่จะเข้าตลาด ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ากัลฟ์อยากจะเข้ามาคุยนั้นยังไม่มีอะไร

เคลียร์ปม ส.ป.ก.-กังหันระเบิด

ประเด็นปัญหาการใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก.ในการตั้งโรงงานไฟฟ้าของกลุ่มวินด์ ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาตรา 44 และออกกฎกระทรวงใหม่ให้สามารถขยายการลงทุนและดำเนินการโรงไฟฟ้าต่อไปได้ โดยขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมดที่มีปัญหา 19 รายรวมถึงวินด์ได้ยื่นเอกสารเข้าไปที่ ส.ป.ก.เพื่อขอใช้พื้นที่ต่อตามกฎหมายตัวใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยกฎกระทรวงใหม่จะมีเรื่องค่าธรรมเนียมรายปีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมกำหนด 35,000 บาทต่อไร่ต่อปีแบบตายตัว ปรับเป็นแบบขั้นบันได 40,000 กว่าบาทต่อไร่ต่อปีปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดระยะเวลาการใช้ที่ดิน เปิดกว้าง ทั้งนี้ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการพิจารณาจะเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เนื่องจากมีหลายธุรกิจที่อยู่ในเรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาพอสมควร แต่หากไม่ทันรัฐบาลชุดใหม่ยังมองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ

นอกจากปัญหาเรื่องที่ดินแล้ว ในส่วนปัญหาอุปกรณ์กังหันขัดข้องในโครงการ T2 อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมานั้น ทางบริษัทได้ตรวจร่วมกับ Vestas ผู้ผลิตกังหันดังกล่าวแล้ว ทราบว่าเป็นผลจาก human error แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้

สร้างความเสียหายให้กับประชาชนบริเวณใกล้เคียง เพราะอยู่ห่างออกไป 6 กม. ล่าสุดทางบริษัท Vestas จะส่งคืนอุปกรณ์ที่เสียหายได้อีก 3 เดือนนับจากนี้ ส่วนมูลค่าความเสียหายเกิดเพียง 1 ต้น กระทบต่อกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ โดยปกติจะใช้ 30 ต้นต่อฟาร์ม ซึ่งวินด์ฟาร์มมีทั้งหมด 270 ต้น 8 โครงการ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่