แชร์ประสบการณ์การประกอบหมอบดิส

กระทู้สนทนา
ขอเอาประสบการณ์ของการประกอบจักรยานหมอบแบบดิสเบรกมาแชร์ครับ สำหรับใครที่คิดอยากสั่งประกอบหมอบดิส สิ่งที่เราต้องรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่จะรวบรวมอะไหล่จากหลายแหล่งหลายร้าน เรียกว่าเลือกเอาแบบถูกใจซึ่งอาจจะหาไม่ได้จากร้านเดียว

1. เฟรม จริง ๆ คงจะไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องคิดมาก เลือกยี่ห้อ/รุ่น/สี/ขนาด ให้ถูกต้องและถูกใจก็แล้วกัน แต่สิ่งที่อยากแนะนำจะได้ไม่เจอปัญหาแบบผม คือ ก่อนรับเฟรมจากร้าน ให้ตรวจดูความสมบูรณ์ของเฟรมและจุดติดตั้งอุปกรณ์ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูน็อตสำหรับยึด caliper ของเบรก เพราะถ้าไม่ตรงเพียงนิดเดียว ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีครับ แม้จะเป็นหนึ่งในร้อย แต่ถ้าเจอแล้วก้อ แก้ปัญหากันยาวเหมือนกันครับ

2. ชุดเบรก ใครที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ประกอบจักรยานที่มีดิสเบรก ก่อนอื่นต้องทราบก่อนครับ สเปกของชุดเบรกที่ต้องดูนอกจากรุ่นแล้ว เราต้องดูขนาดของจานเบรก ; brake rotor ด้วยครับ เอาเฉพาะของ Shimano นะครับ รุ่น 105 มี 4 ขนาด , Ultegra มี 2 ขนาด , Dureace ก็มี 2 ขนาด ครับ ในตลาดทั่วไป ทั้ง 3 รุ่นนี้จะขายกันแค่ 2 ขนาดครับ คือ 140 mm กับ 160 mm ส่วนใหญ่ที่ติดรถ complete bike จะเป็นขนาด 160 mm ครับ แต่สงสัยว่าที่ขายเป็นอะไหล่ส่วนใหญ่จะเป็น 140 mm กันซะเยอะ โดยทฤษฎีแล้วใบดิสขนาดใหญ่ก็จะช่วยในเรื่องการเบรกที่ดีกว่าครับ ที่นี้ตอนประกอบชุดเบรก ถ้าเราใช้จานเบรกขนาด 160 สิ่งที่เราจะต้องหาเพิ่มจากชุดเบรกปกติคือ Flat Mount Adapter (รหัส SM-MA-R160D/D) และนอกจากนี้ขนาดความยาวของน็อตก็ต้องสัมพันธ์กับความหนาของเฟรมและขนาดของจานเบรกที่เราจะใช้ครับ เพราะน็อตที่จะใช้ในชุดเบรกของ Shimano จะมี 3 แบบ Type A : ไว้ยึด Caliper กับตะเกียบหน้า , Type B ไว้ยึด Caliper กับ Flat Mount Adapter , Type C ไว้ยึด Caliper กับ Chain Stay ซึ่งคุณอาจจะเจอปัญหากับน็อตตัวที่สามนี่แหละครับ เพราะ Shimano ใจดีทำมาให้คุณเลือกตามขนาดความยาวของน็อตมีตั้งแต่ 10,15,20,25,30,35 mm ซึ่งก็ต้องแปรตามความหนาของ Chain Stay ด้วยครับ แต่เอาง่าย ๆ เลยน่ะ ถ้าจะซื้อใช้จาน 160mm คุณสั่งน็อตขนาด 35mm มาได้เลยครับ บวกกับเจ้า Flat Mount Adapter แต่ถ้าใช้จาน 140 ให้สั่งน็อตขนาด 25mm หรือ 30 mm ครับ เพราะถ้าสั่งผิด เราจะต้องเสียเงินจ่ายค่าน็อตสองตัวนี้ใหม่ครับ นอกจากเราประกอบร้านที่สั่งอะไหล่ เขาอาจจะรับผิดชอบเปลี่ยนตัวน็อตนี้ให้เรา เพราะราคาค่าน็อตสองตัวนี้บอกได้เลยครับว่าผมยังงงเลยว่ามันทำมาจากวัสดุวาเนเดียมหรือวัสดุต่างดาวแบบไหน มันถึงแพงยิ่งกว่าน็อต titanium ที่เรานิยมซื้อมาแต่งรถกัน

3.ล้อ ประเด็นเรื่องของล้อสำหรับหมอบดิส หลัก ๆ ตอนนี้คือ หาของยาก มีตัวเลือกน้อย หลาย ๆ ร้านไม่สต๊อกอยากได้ต้องสั่ง แต่ละยี่ห้อก็มีแค่ 1 - 2 รุ่นให้เลือกครับ แถมรุ่นล่าง ๆ แทบไม่ต้องหา ตัวที่มีอยู่ในตลาด ราคาเริ่มต้นประมาณ 2x,xxx บางยี่ห้อ ผู้นำเข้าบางรายเอาเข้ามาเฉพาะรุ่นคาร์บอนเลยครับ เช่น DT Swiss , Bontrager , Mavic ของมือสองก็นาน ๆ ที่จะเห็นคนปล่อยตัวติดรถมาสักคู่ครับ หรือไม่สุดท้ายก็ต้องสั่งเองจากเว็บต่างประเทศครับ หรือให้ตัวแทนในไทยสั่งเข้ามาให้ เช่น ถ้าอยากได้ Fulcrum ก็โทรหาพิริยะอินเตอร์ , Mavic ก็โทรหา Worldbike , Campag  มี TCA กะ Central Bike (Campag ผลิตแค่ 2 รุ่น คือ Zonda สำหรับขอบอะลู และ Bora สำหรับขอบคาร์บอน) , DT ก็โทรหา Asiabike แต่ละบริษัทเขาสั่งให้คุณได้อยู่แล้วครับ ถ้าคุณยอมรอ
ประเด็นเรื่องของล้อก็มีแค่ขนาดกับแกนล้อครับ อย่างแรกต้องรู้ก่อนครับ ซื้อล้อหมอบดิสไม่ต้องถามหาแกนปลดนะครับ และไม่ต้องคิดซื้อแกนปลดแบบแต่งครับ เพราะแกนปลดต้องมาตามเฟรมครับ เฟรมแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อมีแกนปลดไม่เหมือนกัน ขนาดเกลียวก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งเวลาเราสั่งเฟรมหรือซื้อ complete bike เจ้าแกนล้อจะมาพร้อมกับเฟรม แต่แม้แกนล้อจะมีหน้าตาแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือขนาด เข้าใจว่าหมอบดิสรุ่นใหม่ ๆ จะใช้แกนมาตรฐาน Thru Axle ครับ คือ ล้อหน้า ดุมกว้าง 100mm  ขนาดแกน 12 mm และล้อหลัง ดุมกว้าง 142mm ขนาดแกน 12 mm แต่ถ้าใครไปเจอล้อหมอบดิสสต๊อกเก่า เอาจจะเจอขนาดล้อหลังดุมกว้าง 135mm ครับ
อีกเรื่องเกี่ยวกับการเลือกล้อ คือ จุดติดตั้งจานเบรก ก็เหมือนกับเสือภูเขาครับ มีทั้งแบบน็อต 6 รู กับแบบ Center Lock

อีกเรื่องที่ต้องรู้ก่อนจะประกอบหมอบดิส คือ คนที่จะประกอบรถให้เรา เท่าที่เคยถาม ไม่ทุกร้านที่จะรับประกอบหมอบดิสรวมถึงเซอร์วิสครับ เพราะขั้นตอนการประกอบจะต้องมีอุปกรณ์จำเพาะในการตัดต่อสายน้ำมันเบรกรวมถึงการไล่น้ำมันเบรก และเทคนิคการไล่น้ำมันรวมถึงการตั้งเบรกครับ
และอีกเรื่องที่ผมได้รู้หลังจากประกอบรถคือ การมีล้อสำรองเฉพาะ event อาจจะไม่เหมาะกับคนใช้หมอบดิสสักเท่าไร เพราะอาจจะมีผลต่อการตั้งผ้าเบรกและจานเบรกครับ นอกเสียจากเราจะหัดตั้งเบรกได้เองก็อีกเรื่องครับ

ก็เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอหลังจากมาประกอบและมาใช้งานหมอบดิส ขอแชร์ให้เป็นข้อมูลสำหรับใครที่คิดจะมาหมอบดิสและคิดจะประกอบเอง ถึงจุดนี้ผมรู้สึกว่า ถ้าไม่ใช่ขาประจำสายเขา หรือไม่ใช่ขาลุยแบบลุยน้ำลุยฝนประจำ หรือใครที่ใช้ล้อคาร์บอนแล้วไม่อยากเจอปัญหาขอบล้อ crack  หมอบดิสไม่จำเป็นเลยครับ เทียบระยะเบรกในทางราบแล้วสั้นกว่าริมเบรกแบบ direct mount ไม่เท่าไรครับ อย่าลืมนะครับ ถ้ามาหมอบดิสเมื่อไร แค่เรื่องน้ำหนักรถ ยังไงก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6 - 7 ขีดเมื่อเทียบกับเฟรมและอะไหล่รถซีรีย์เดียวกัน , ราคาก็แพงกว่าอย่างน้อย 8k - 10k เมื่อเทียบกับเฟรมและอะไหล่รถซีรีย์เดียวกัน อย่าพึ่งไปคิดถึงอนาคตครับยังไง 5 ปีนี้ ริมเบรกก็ยังไม่ตายจากตลาดแน่นอนครับ ดูอย่างเสือภูเขาสิครับ ล้อ 27.5 กะ 29 er ออกมากี่ปีแล้ว ยังฆ่า 26 ไม่ลงสักที หรือเบรกในเสือภูเขากว่าจะนิยมไปดิสก็ใช้เวลามากกว่า 5 - 7 ปี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่