ไทยครองแชมป์อัตราการตายบนถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

WHO : อุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้คนหนุ่มสาวเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนไทยครองแชมป์อัตราการตายบนถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



Getty Images  
ผู้ชายคนหนึ่งกำลังช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร หลังเกิดอุบัติเหตุรถชนในซิมบับเวปีนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 47 คน

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization--WHO) ระบุว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็ก ๆ และคนหนุ่มสาวทั่วโลกเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนไทยครองแชมป์อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

WHO เผยแพร่ตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าทวีปแอฟริกามีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สูงที่สุดในโลก โดยหลายประเทศในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ยังคงไม่มีกฎหมายควบคุมความเร็วที่เพียงพอ

แต่รายงานของ WHO เน้นย้ำว่า อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนที่แปรผันตามจำนวนประชากรโลกกำลังคงที่

รายงานนี้ระบุว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุจากรถยนต์กำลังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มเด็ก และคนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุตั้งแต่ 5-29 ปี


เรียกได้ว่า มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มากกว่าเสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์, วัณโรค หรืออาการท้องร่วง

เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซูส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่า "จำนวนผู้เสียชีวิตเหล่านี้คือราคาความสูญเสียที่ไม่อาจยอมรับได้จากการใช้ยวดยานพาหนะ"

"ไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะไม่ลงมือจัดการ นี่คือปัญหาที่มีหนทางแก้ไข ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้ว"



'ไม่จำกัด'
รายงานของ WHO ระบุว่า แอฟริกามีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนอยู่ที่ 26.6 คนต่อประชากร 1 แสนคน หรือคิดเป็นเกือบ 3 เท่าของยุโรป ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุดในโลก

รายงานนี้ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของ 54 ประเทศในทวีปแอฟริกา ไม่มีกฎหมายควบคุมความเร็ว

บอตสวานา, โกตดิวัวร์ และแคเมอรูน มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น ส่วนอียิปต์, แองโกลา, บูร์กินาฟาโซ และบุรุนดี อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลง

นอกจากนี้ แอฟริกายังมีอัตราการเสียชีวิตของคนเดินเท้าและคนปั่นจักรยานสูงที่สุดด้วย

เพิ่มขึ้นและลดลง

ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าผู้คนราว 1.35 ล้านคน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกในปี 2016 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ๆ ขณะที่ความเสี่ยงของการเสียชีวิตบนท้องถนน สูงกว่าเป็น 3 เท่า ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคอันดับสองรองจากแอฟริกาที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด ตามมาด้วยเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามการแบ่งในรายงานของ WHO ฉบับนี้ ประกอบด้วย บังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มัลดีฟส์, เมียนมา, เนปาล, ศรีลังกา, ไทย และติมอร์เลสเต

แต่แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเหล่านั้น WHO ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกจากอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

WHO เห็นว่าที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะการเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความ ปลอดภัยเพิ่มขึ้น เช่น เลนจักรยาน, การออกกฎหมายเกี่ยวกับความเร็วที่ "ดีขึ้น", การคาดเข็มขัดนิรภัย และมาตรฐานของยานพาหนะ

ทั้งนี้ ยุโรป, อเมริกา และแปซิฟิกตะวันตก มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลดต่ำลง

ไทยครองแชมป์ในอุษาคเนย์

เมื่อพิจารณาอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจากเว็บไซต์ของ WHO พบว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัตเหตุบนท้องถนนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามการแบ่งของรายงานฉบับนี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยแบ่งตามภูมิศาสตร์ พบว่าประเทศไทยยังคงมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุด โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ตามมาด้วยเวียดนาม 26.4 คน, มาเลเซีย 23.6 คน, เมียนมา 19.9 คน, กัมพูชา 17.8 คน, ลาว 16.6 คน, ปาปัวนิวกินี 14.2 คน, ติมอร์เลสเต 12.7 คน, ฟิลิปปินส์ 12.3 คน, อินโดนีเซีย 12.2 คน, สิงคโปร์ 2.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนบรูไน ไม่มีข้อมูล

เมื่อพิจารณาอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแบ่งตามประเภทผู้ใช้ยานพาหนะ เท่าที่รายงานฉบับนี้มีข้อมูล พบว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตของคนใช้รถยนต์, คนใช้จักรยานยนต์ และคนใช้จักรยาน อยู่ที่ 4 คน, 24.3 คน และ 1.1 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ตามลำดับ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของคนเดินเท้าในไทยอยู่ที่ 2.5 คน ต่อประชากร 1 แสนคน เป็นรอง ปาปัวนิวกินี, ศรีลังกา และเมียนมา ซึ่งอยู่ที่ 6.7 คน, 4.3 คน และ 2.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ตามลำดับ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงปลายปีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับภาคเอกชนทำโครงการ รณรงค์ "ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ร่วมรับผิดชอบสังคม" เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีและลดการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับผู้ที่จะเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2562 ที่กำลังจะถึงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งอยู่ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2561-3 ม.ค. 2562
BBC/NEWS/ไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่