การเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์ใช้งบผ่านสื่อมากถึง 127 ล้านบาท ส่วนเพื่อไทยใช้เพียง 21 ล้านบาท

ทีวี-วิทยุอด กม.ห้ามพรรคการเมืองซื้อโฆษณาช่วงเลือกตั้ง คาดสื่อออนไลน์มาแรง
21-12-2018 18:17:04

นักการเมือง และพรรคการเมืองห้ามซื้อสื่อโฆษณาทางทีวีและวิทยุ คาดหันไปซื้อสื่อในช่องทางออนไลน์ และออนกราวน์มากขึ้น หลังกกต.ชี้แจงทำความเข้าใจสื่อ

หลังจาก กสทช.ได้เรียกประชุมบรรดาผู้ประกอบกิจการวิทยุและทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.เรื่อง “ทำความเข้าใจสื่อก่อนการเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้งหรือ กกต เป็นผู้ให้รายละเอียดกับผู้ประกอบกิจการหลายร้อยคน

ในที่ประชุมผู้แทนของกกต.ได้ชี้แจงว่า การเลือกตั้งสส.ทั่วประเทศในปี 2562 นี้ ตามกฏหมายการเลือกตั้งไม่สามารถให้บรรดาผู้สมัครสส. และพรรคการเมืองซื้อสื่อโฆษณาเพื่อหาเสียงในทีวี และวิทยุ ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า สื่อทีวีและวิทยุ เป็นสื่อของรัฐ ที่ได้รับการอนุญาตประกอบกิจการจากกสทช. เพื่อความเป็นกลางและเท่าเทียมกับของทุกพรรคและผู้สมัครทุกคน แต่สามารถไปลงโฆษณาในช่องทางอื่นๆ เช่น ออนไลน์ ได้

จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.วันที่ 12 ก.ย. 2561 ข้อ 69 ระบุว่า มาตรา ๖๙ ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดําเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา ๘๑

มาตรา ๘๑ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกต้ังให้แก่ผู้สมัครและ พรรคการเมือง ท้ังนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด ในการน้ี คณะกรรมการจะขอให้ หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ดําเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้

ในการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจจัดเวทีประชัน นโยบายบริหารประเทศสําหรับพรรคการเมืองได้ด้วย

จากข้อมูลของนีลเส็น งบโฆษณาในช่วงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศไทยในปี 2554 พรรคการเมืองได้ใช้งบโฆษณากันไปทั้งหมดรวมประมาณ 300 ล้านบาท เป็นการใช้สื่อโฆษณาในหนังสือพิมพ์มากที่สุด 50% , ทีวี 46% ,วิทยุ 3% และสื่อกลางแจ้ง 1%

พรรคการเมืองที่ใช้งบซื้อสื่อโฆษณามากที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ ใช้งบ 127 ล้านบาท พรรคชาติไทยพัฒนา 42 ล้านบาท พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 35 ล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 22 ล้านบาท พรรคเพื่อไทย 21 ล้านบาท และพรรคอื่นๆ รวมกัน 44 ล้านบาท

โดยใช้โฆษณาทีวีในช่วงนั้นใช้อยู่ประมาณ 130 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นยุคทีวีแอนะล็อค มีเพียง 6 ช่องเท่านั้น และสื่อออนไลน์ยังไม่เติบโตขนาดนี้

เมื่อกกต.ระบุห้ามการซื้อสื่อทีวี จึงมีการคาดการณ์ว่า งบซื้อสื่อของบรรดาพรรคการเมืองจะหันมาเทลงช่องทาง ออนไลน์ , สื่อนอกสถานที่ บิลบอร์ด จอแอลอีดี หรือการจัดกิจกรรมออนกราวด์ และหนังสือพิมพ์มากขึ้น

นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกที่มีประมาณ 7-8 ล้านคน จึงคาดว่าสื่อออนไลน์ น่าจะเป็นช่องทางที่มียอดโฆษณาเติบโตสูงสุด

ทั้งนี้กกต.ได้เปิดให้บรรดาพรรคเมืองและ ว่าที่ผู้สมัครสส.ทั้งหมด สามารถเริ่มหาเสียงได้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2562 เป็นต้นไป จนกว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุด ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถซื้อโฆษณาทางทีวีและวิทยุได้

ส่วนการจัดรายการทางทีวีวิทยุ ต้องให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง ซึ่งอีกคำถามที่บรรดาผู้ประกอบการสอบถามมากคือ จะสามารถจัดดีเบท เชิญบรรดาแกนนำพรรคใหญ่บางพรรคมาในรายการทีวีได้หรือไม่ ซึ่งตัวแทนกกต.ชี้แจงว่า จะทำได้ในกรณีที่ มีโพลมาประกอบการดีเบท ซึ่งอ้างอิงตามโพลและเชิญตัวแทนพรรคเหล่านั้นมาร่วมรายการ เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง เป็นธรรมมากที่สุด เพราะกฏหมายต้องการให้ทุกพรรคมีโอกาสเท่าเทียมกัน.
https://positioningmag.com/1204561
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่