ทำไมพระนารายณ์ท่านถึงดึงฝรั่งเศสมาถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดาคะ?

คือเราอยากรู้ว่าทำไมต้องเป็นฝรั่งเศส เป็นประเทศอื่นๆไม่ได้เหรอคะ อย่างเช่นอังกฤษ หรือโปรตุเกสก็ได้
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
เดิมอยุทธยาเคยเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุเกสและสเปนซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจทางทะเลอยู่ก่อนแล้ว โดยมีโปรตุเกสเป็นชาติหลักที่ติดต่อกันมานานเป็นหลัก ส่วนสเปนไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกันเท่าไหร่

แต่ในช่วงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมอยุทธยามีปัญหากับโปรตุเกส ก็ไปดึงดัตช์หรือฮอลันดามาคานอำนาจแทน จนถึงสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Verenigde Oost-Indische Compagnie; VOC) ได้กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลจากยุโรปที่กุมอำนาจทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในขณะที่โปรตุเกสและสเปนซึ่งเป็นมหาอำนาจเก่าได้เสื่อมอำนาจในภูมิภาคลงไป ไม่สมารถแข่งบารมีกับดัตช์ได้อีก

VOC รับอำนาจให้มีสิทธิในการทำการค้า การสร้างกองทัพเพื่อใช้ในปฏิบัติการทางทหาร การทำสนธิสัญญาต่างประเทศการผลิตเงินตราใช้เอง รวมถึงตั้งนิคมการค้า (colony) ในคาบสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ จนขึ้นมามีอำนาจแทนสเปนและโปรตุเกสซึ่งเคยเป็นผู้ครอบครองนิคมการค้าทางทะเลอยู่เดิม นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมการค้าเครื่องเทศในเกาะชวาและหมู่เกาะโมลุกกะ (Moluccas) ไว้เป็นสิทธิขาดจนทำให้ VOC สามารถควบคุมการค้าทางทะเลตะวันออกเกือบทั้งหมด และสามารถหาผลกำไรทางการค้าได้อย่างมหาศาล

ผลของการขยายอำนาจทางการค้าของ VOC ทำให้กระทบกระทั่งกับกรุงศรีอยุทธยาซึ่งเป็นอาณาจักรใหญ่และรัฐเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจาก ออกญาพิชิตหรือ อับดุล รัซซัค (Abdu’r-Razzaq) ขุนนางชาวเปอร์เซียซึ่งทำหน้าที่ดูแลการค้าต่างประเทศพยายามขัดขวางการทำการค้าของ VOC อย่างหนัก โดยให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมุสลิมและชาวจีนสูงกว่า และเคยไประรานชาวดัตช์ในอยุทธยา

อับดุล รัซซัค ยังมีเครือข่ายใกล้ชิดกับชาวจีนลูกน้องของเจิ้งเฉิงกง (Zheng Chenggong 鄭成功) หรือ โคซิงกา (Koxinga 國姓爺) ขุนศึกแห่งราชวงศ์หมิงผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิงของชาวแมนจู ซึ่งยึดเมืองท่าฟอร์ตซีแลนเดีย (Fort Zeelandia) บนเกาะไต้หวันไปจาก VOC ใน ค.ศ. ๑๖๖๒ (พ.ศ. ๒๒๐๔) อันส่งผลกระทบต่อการค้าของ VOC อย่างมาก นอกจากนี้ราชสำนักอยุทธยาเองก็ยังติดต่อการค้ากับเจิ้งเฉิงกงด้วย ทำให้ VOC ทีไม่พอใจมาก ที่สำคัญคือยังอาศัยชาวจีนเป็นผู้เดินเรือสินค้าหลวงไปทำการค้ากับญี่ปุ่นได้กำไรมหาศาลแข่งกับ VOC อีก

VOC จึงหาเหตุยึดสินค้าทำลายสำเภาหลวงของอยุทธยาที่ส่งไปที่ญี่ปุ่น แล้วเอาเรือรบเข้ามาปิดปากน้ำบางเจ้าพระยา บีบให้อยุทธยาทำสัญญาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๖๖๔ (พ.ศ. ๒๒๐๗) มีข้อตกลงให้เลิกจ้างลูกเรือชาวจีนลงสำเภาหลวงไปทำการค้ากับจีนและญี่ปุ่นแข่งกับ VOC โดยเด็ดขาด ต้องยอมให้ VOC ผูกขาดการค้าหนังสัตว์ ด้วยเหตุนี้อยุทธยาจึงสูญเสียผลกำไรจากการทำการค้ากับญี่ปุ่นไป ส่งผลให้การค้าต่างประเทศของอยุทธยาซบเซาลงไปในระดับหนึ่ง แม้ว่าภายหลังสมเด็จพระนารายณ์จะส่งทูตไปเจรจากับ VOC ที่ปัตตาเวีย แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง

จนเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งพระราชสาส์นมาเป็นไมตรีประกอบกับที่เหล่าบิชอปคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสได้พยายามกราบทูลเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถและพระอานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ให้ทรงทราบอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเหล่านี้จึงน่าจะเหตุที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่าฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งพอจะทานอำนาจของดัตช์ได้ ตัดสินพระทัยส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในที่สุด  ทั้งนี้บรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสเองก็อยากจะใช้สยามเป็นดินแดนหลักในการเผยแพร่ศาสนา จึงพยายามชักนำฝรั่งเศสเข้ามาอย่างมาก

แต่การส่งคณะทูตมีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไปเพราะว่ามีปัจจัยทางยุโรปมาเกี่ยวข้อง เนื่องจากกำลังเกิดสงครามฝรั่งเศส-ดัตช์ (Franco-Dutch War) ขึ้นในทวีปยุโรปมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๗๒ มีจดหมายเหตุของฝรั่งเศสเรื่อง Relations de la France et du Royaume de Siam de 1662 â 1703 แต่งโดยมองซิเออร์ลันเย (Lucien Lanier) วิเคราะห์ว่าในระหว่างที่เกิดสงครามฝรั่งเศส-ดัตช์ขึ้นในยุโรป สมเด็จพระนารายณ์ทรงคอยผลว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม หากฝ่ายใดชนะก็คงจะทรงทำไมตรีกับฝ่ายนั้น แต่ถึงกระนั้นก็ทรงรับสั่งเอาพระทัยช่วยฝรั่งเศสให้ได้รับชัยชนะอยู่ เหตุที่ทรงสนับสนุนฝรั่งเศสเนื่องจาก

๑. ดัตช์กดขี่การค้าทางทะเลมาก
๒. ดัตช์ขยายอาณาเขตออกไปกว้างใหญ่มากขึ้นทุกที
๓. พวกมิชชันนารีฝรั่งเศสคอยกราบทูลแนะนำและช่วยเหลือไทยอยู่มาก

สงครามฝรั่งเศส-ดัตช์จบลงโดยที่ฝรั่งเศสกับสาธารณรัฐดัตช์ได้ตกลงสงบศึกกัน โดยทำสนธิสัญญาไนมีเกน (Treaties of Nijmegen) ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๖๗๘ ซึ่งตามมาด้วยการทำสัญญากับอีกหลายประเทศ ผลของสนธิสัญญาทำให้ฝรั่งเศสได้มีอำนาจเหนือแคว้นฟร็องช์-กงเต (Franche-Comté) ดินแดนเนเธอร์แลนด์ตอนใต้ของสเปน (Spanish Netherlands) และอีกหลายดินแดน

นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังทรงก่อตั้งหอรวบรวมดินแดน (Chambres des Réunions) เพื่อใช้ตรวจสอบสนธิสัญญาว่าทรงสามารถอ้างสิทธิเหนือดินแดนอื่นเพิ่มเติมอีก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์ได้ครอบครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างสตราสบูร์ก (Strasbourg) และลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) ยิ่งทำให้อิทธิพลของฝรั่งเศสยิ่งทวีสูงขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของยุโรปในยุคนั้น


ฝรั่งเศสเองก็ต้องการขยายอำนาจการค้าทางทะเลแข่งกับ VOC ของดัตช์ จึงได้ก่อตั้งราชบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส (Compagnie Royale des Indes Orientales) ขึ้น แล้วเข้าไปตั้งห้างในอินเดียจนมั่นคงแล้ว พอทราบว่าสมเด็จพระนารายณ์ต้องการส่งคณะทูตไปฝรั่งเศส จึงมองเห็นช่องทางที่จะขยายการค้าไปยังกรุงศรีอยุทธยาต่อไป จึงได้จัดส่ง อ็องเดร เดส์ล็องส์-บูโร (André Deslandes-Boureau) เป็นผู้แทนราชบริษัทไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ เดินทางเข้ามาถึงสันดอนสยามในวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๖๘๐ (พ.ศ. ๒๒๒๓) และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ในเวลาต่อมา ซึ่งได้มีการอนุญาตให้ราชบริษัทฝรั่งเศสตั้งห้างในสยามได้ รวมถึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการค้าโดยอิสระ ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ

รายละเอียดเรื่องความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์ อ่านเพิ่มเติมจากเพจผมได้ครับ
https://www.facebook.com/WipakHistory/photos/a.1050804244983045/1694207590642704/?type=3&theater
https://www.facebook.com/WipakHistory/photos/a.1050804244983045/1697526310310832/?type=3&theater
https://www.facebook.com/WipakHistory/photos/a.1050804244983045/1698561873540609/?type=3&theater


สำหรับอังกฤษ เคยเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมแล้ว แต่ค้าขายไม่ได้กำไรเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยมาสนใจจะมาตั้งห้างทำการค้าในสยาม แล้วก็เคยถอนห้างไปหลายครั้ง ในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ. ๒๒๐๖-๒๒๐๗ ศูนย์กลางของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (Eat India Company ; EIC) ทั้งในลอนดอนและฟอร์ตเซนต์จอร์จในอินเดียก็ยังลังเลที่จะเปิดห้างในสยามใหม่ ส่วนใหญ่จึงมีแต่พ่อค้าเอกชนรายย่อยที่เข้ามาค้าขาย  

ถึงช่วงกลางรัชกาลห้างของ EIC ได้เปิดขึ้นใหม่ อังกฤษเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทอีก แต่ความสัมพันธ์ก็ไม่ได้สู้ดีนัก การค้าไม่ได้กำไรเท่าที่ควร แถมพ่อค้าของบริษัทหลายคนยังออกจากบริษัทไปทำการค้าเองเพราะหากำไรเข้าตัวได้มากกว่าอยู่กับบริษัท หลายคนก็ถูกฟอลคอนดึงไปรับราชการให้สยาม พ่อค้าในอยุทธยาหลายคน (เช่นฟอลคอน) เป็นหนี้ EIC ก้อนโต แต่ EIC ก็ไม่สามารถทวงหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายห้างอังกฤษในสยามก็ต้องปิดตัวลงใน พ.ศ. ๒๒๒๗

พิจารณาแล้ว การเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษในสมัยนั้นคงไม่น่าดึงดูดเท่ากับฝรั่งเศสทีขึ้นชื่อว่าเป็นมหาอำนาจของยุโรปที่เพิ่งชนะสงครามกับดัตช์ไปหมาดๆ ประกอบกับอังกฤษเองไม่ได้สนใจอะไรสยามมากมาย และในราชสำนักอยุทธยาเองก็ไม่ได้มีคนไปล็อบบี้ให้สมเด็จพระนารายณ์สนใจเจริญสัมพันธไมตรีอังกฤษเหมือนกับที่บรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสทำ จึงทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยฝรั่งเศสมากกว่าครับ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประเทศฝรั่งเศส
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่