หมอพัฒนาการเด็ก ลูกไม่ป่วย ก็พาไปหาได้

ลูกเราอายุ 1 ปี 5 เดือนค่ะ เป็นลูกคนแรก และเราเป็นแม่ full-time เรากับสามีคิดตรงกันว่า อยากลองไปพบผู้เชี่ยวชาญสักครั้ง เพื่อประเมินพัฒนาการลูก เพื่อจะได้ดูแลถูกทางค่ะ  อีกอย่างตอนนี้ลูกกำลังเข้า Terrible Two ก็อยากประคับประคองให้ผ่านช่วงนี้ดีๆ ค่ะ

จะพบคุณหมอพัฒนาการเด็กควรจองคิวก่อนนะคะ เพราะคนไข้แต่ละคนอยู่กับหมอเกิน 1 ชม. จึงคิวยาวมาก ๆ ค่ะ ไม่ค่อยมีเวลาเหลือสำหรับ Walk-in เท่าไหร่

เวลาที่ใช้ตรวจรวมประมาณ ชั่วโมงกว่า ๆ ค่ะ โดยห้องตรวจเป็นห้องปูเบาะ ให้เด็กเดินเล่นไปทั่วๆ ห้องได้  พ่อแม่ หมอ ก็นั่งคุยกันบนพื้นด้วยกัน บรรยากาศ relaxed มากค่ะ บ้านที่น้องกลัวคนแปลกหน้า ไม่ต้องกังวลว่าน้องจะร้องไห้นะคะ คุณหมอจะไม่แตะตัวน้องเลย ปล่อยเดินเล่นจนคุ้น แล้วเข้ามาชวนหมอเล่นเอง ระหว่างนี้ก็จะสัมภาษณ์พ่อแม่รอไปก่อนค่ะ บ้านเรา เราเลี้ยงน้องเองค่ะ เลยรู้รายละเอียดทุกอย่างหมด ถ้าใครไม่ได้เลี้ยงเอง เช่น มีพี่เลี้ยง คุณยาย คุณย่า พาไปด้วยก็ดีนะคะ จะได้ให้รายละเอียดหมอได้ถูกค่ะ และจะได้รับทราบแนวทางปฏิบัติพร้อมกันไปเลย

เรื่องที่คุณหมอคุยก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจวัตรทั่วไปของลูก แต่ละวันทำอะไร กิน นอน ไปเนิร์สหรือเลี้ยงที่บ้าน ถ้าเลี้ยงที่บ้านใครเลี้ยงหลัก ให้ดูทีวีที่บ้านมั้ย ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนเริ่มกิจกรรมประเมินค่ะ

การประเมิน มีหลัก ๆ 4 ด้าน คือ ทักษะสังคม กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และทักษะภาษา โดยเฉพาะ 2 ด้านหลัง สำคัญมาก คุณหมอจะเน้น ๆ เลยค่ะ เด็กที่กล้ามเนื้อมัดเล็กและภาษาดี ล้ำหน้ากว่าวัย จะมีไอคิวสูงค่ะ แบบประเมินของคุณหมอ ก็คือของเล่นนั่นแหละค่ะ คุณหมอมีกระเป๋าใบใหญ่ เอาของเล่นออกมาให้น้องลองเล่นทีละชิ้น พร้อมทำเช็กลิสต์ไปด้วย เด็กจะไม่รู้สึกเครียด หรือผิดปกติใด ๆ เลยค่ะ

1.    ทักษะสังคม: คุณหมอจะสังเกตเอา ตอนคุยกับพ่อแม่ช่วงแรกแหละค่ะ ดูว่า น้องมีปฏิกิริยากับคนแปลกหน้า (คุณหมอ) ยังไง น้ำเสียง ท่าทาง เวลาเจอคนแปลกหน้า การทำตามคำสั่ง การโต้ตอบด้วยท่าทาง และการพูด อันนี้ลูกเราไม่มีปัญหาอะไรค่ะ เพราะนางเป็นสาวก๋ากั่น สำรวจห้องเสร็จ มาแอบหลังแม่ ชวนหมอจ๊ะเอ๋อีกต่างหาก คุณหมอเห็นปุ๊บ รู้เลยว่า เป็นเด็กคนเดียวในบ้านแน่ๆ เพราะพฤติกรรมมันฟ้อง คือ เค้าจะชอบชวนคนอื่นเล่นก่อน เริ่มผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ได้ง่ายกว่าเด็กที่มีพี่น้อง หรือมีเด็กหลายคนในบ้านค่ะ

2.    กล้ามเนื้อมัดใหญ่: คุณหมอดูจากท่าเดิน การเคลื่อนไหว ความคล่องแคล่วว่องไว ความทะมัดทะแมง ตลอดเวลาที่อยู่ในห้อง เด็กๆ จะไม่มีพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ล้ำหน้านะคะ มีแต่ตามวัยกับถดถอย เพราะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ต้องใช้เวลาบิลท์ร่างนานค่ะ เด็กวัย 1.5 ขวบ พัฒนาการสำคัญคือ ต้องเดินได้กระฉับกระเฉง ขาตรง ทรงตัวดี ท่าเดินเกือบจะปกติเหมือนผู้ใหญ่ เดินอิสระได้ ไม่ต้องเกาะ จับมือ หรือโยกเยกเหมือนตอนหัดเดินใหม่ๆ และต้องขึ้นบันไดท่ายืนด้วยตัวเองได้แล้ว โดยค่อยๆ จับราวบันไดขึ้นเอง หรือจับมือผู้ใหญ่เดินขึ้นเอง หลังจากนี้ จนถึง 2 ขวบ เด็กจะเริ่มกระโดดค่ะ พอ 2 ขวบ ขาถึงจะลอยจากพื้นได้ค่ะ และหัดยืนขาเดียวได้ ช่วงนี้ คุณหมอแนะนำให้สอนลูกถอดกางเกงหรือเพิร์สเองเองได้แล้วค่ะ โดยทำ 2 step คือ ยืนรูดกางเกงลงให้สุดมือก่อน จับน้องนั่ง แล้วค่อยให้น้องรูดกางเกงหรือเพิร์สออกจากตัวอีกทีนึง พอใกล้ 2 ขวบ ลูกเริ่มยืนขาเดียวได้ ก็จะยืนถอดกางเกงได้เองเลย ถือเป็นการเร่งฝึกการช่วยเหลือตัวเองไปด้วยในตัวค่ะ

และๆๆๆ ไม่ควรปล่อยให้นั่งท่า W-sit นาน ๆ ค่ะ (นั่งทับต้นขาตัวเอง ปลายขาแบะไปข้างหลังเป็นรูป W) ถ้าเห็นให้จับเท้ากางมาด้านหน้าทันที เพราะจะทำให้ข้อสะโพกหลวม และหัวเข่าโก่งเบียดหากันตอนยืนตรงค่ะ
    
3.    กล้ามเนื้อมัดเล็ก: การประเมินด้านนี้คุณหมอใช้อุปกรณ์ (ของเล่น) ให้น้องทดลองทำค่ะ

เราสังเกตว่า ลูกเราเชื่อฟังคุณหมอดีมาก ทำตามทุกขั้นตอน ทั้งที่เจอกันครั้งแรก ไม่มีอาการกรี๊ดสนั่นตอนเก็บของเล่นเหมือนตอนอยู่บ้านเลย คุณหมอแนะนำให้เบี่ยงเบนความสนใจค่ะ อย่าดึงของเล่นจากมือน้องมาเก็บทันที เพราะเด็กวัยนี้จะร้องบ้านแตกทุกคน หมอจะพูดช้า ๆ ชัดๆ เสียงเย็น ๆ และแสดงวิธีเล่นของเล่น ให้ดู 1 ครั้ง ลูกเราก็ทำตามแต่โดยดี ไม่มีร้องเลยตลอดเวลาที่อยู่กับหมอ พอเล่นเสร็จชิ้นแรก ก็จะเอาถุงเล็ก ๆ มาให้ช่วยใส่ของเก็บให้หน่อย ตบมือชม และเอาของชิ้นต่อไปออกมา ชิ้นเก่าหมอจะเอาเก็บใส่กระเป๋าหมอค่ะ น้องก็จะรู้ว่า นี่กระเป๋าหมอ เอามาเล่นไม่ได้  

ของเล่นที่หมอเอามาทดสอบ ทุกชิ้นจะมีขนาดเล็กมาก แค่ 1-2 นิ้ว หรือไม่เกินฝ่ามือของเด็ก ให้สอดคล้องกับขนาดกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กค่ะ  การทดสอบมีดังนี้ ลองเอาไปฝึกเด็ก ๆ ที่บ้านทำได้นะคะ

- ต่อบล็อกไม้ ขนาด 1 x 1 x 1 นิ้ว เรียงต่อกันแนวตั้งให้ได้สูงที่สุด เด็ก 1.5 ปี ขั้นต่ำต้องได้ 2 ชั้นค่ะ ถ้ามากว่านี้ ถือว่าพัฒนาการล้ำหน้า หลาย ๆ บ้านจะมีบล็อกไม้ที่บ้านแล้ว แต่หมอบอกว่า บล็อกสำหรับทดสอบ ต้องขนาด 1 x 1 x 1 นิ้วเท่านั้น

- วาดเส้นด้วยสีเทียนแท่งใหญ่ เด็ก 1.5 ขวบ ต้องลากเส้นตรงบาง ๆ เป็นแนวดิ่งได้ค่ะ พอ 2 ขวบจะลากเส้นตรงขวาง เส้นหนักแน่นขึ้น พอจะ 3 ขวบจะเขียนเส้นก้นหอย เกลียวได้ค่ะ (pre-writing skill) เด็ก 1.5 ขวบ คุณหมอแนะนำสีเทียนแท่งโตค่ะ เพราะมีความฝืดมือ เด็กต้องออกแรง ไม่ให้ใช้สีแบบอื่น ดินสอ หรือปากกา เพราะมันลื่นไปค่ะ แทบไม่ต้องออกแรงก็เขียนติดแล้ว ไม่เห็นความหนักเบาของเส้น ว่าลูกออกแรงเขียนได้มากน้อยขนาดไหน และไม่ต้องใช้สีเทียนแบบสวมนิ้วแล้วค่ะ ให้ใช้แท่งตรงได้เลย แต่แท่งใหญ่หน่อยจะได้จับถนัด วัยนี้ท่าจับยังไม่ซีเรียสนะคะ  พอ 2 ขวบกว่า ค่อยฝึกท่าจับที่ถูกต้อง และไปฝึกต่อที่โรงเรียนตอน 3 ขวบ

- เปิดขวดฝาเกลียวใบเล็ก ขนาดเท่าขวดยาน้ำ เอาของข้างในออก (ห่วงโซ่พลาสติกเล็กๆ ที่เด็ก ๆ เอามาร้อยเล่นหมากเก็บ) แล้วปิดฝา

- ใช้ช้อน (ช้อนพลาสติกขนาดปกติค่ะ) ตักโซ่พลาสติกใส่ถ้วยเล็กๆ (ขนาดใหญ่กว่าถ้วยขนมถ้วยหน่อยนึง) ตักเข้า เทออกตักใหม่ ตักใส่ถ้วยอีกใบ ตักถ่ายไปถ่ายมา

- ให้หยิบตุ๊กตาบารี้ตัวเท่าฝ่ามือเด็ก นั่งเก้าอี้ตุ๊กตา แล้วตักขนม (โซ่) ป้อนน้อง แล้วป้อนตัวเอง สลับกัน

คำแนะนำเพิ่มเติมของคุณหมอคือ แต่ละวันเด็กควรมีช่วง free play เล่นอิสระ และช่วงที่เล่นกับพ่อแม่ค่ะ ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในดงของเล่นตลอดเวลา เพราะเด็กจะไม่มีโฟกัสและไม่สามารถพลิกแพลงการเล่นได้เอง ถ้ามีคนเล่นด้วย และเล่นพลิกแพลงหลาย ๆ แบบในของเล่นชิ้นเดียวกัน จะฝึกให้สมองเด็กทำงานหลายแบบ และมีไอคิวสูงขึ้น เพราะเด็กจะเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับคนที่เล่นด้วย ไม่ใช่จากของเล่นล้วนๆ ค่ะ เช่น บอล ให้เล่นโดยการกลิ้งกับพื้น วิ่งรับส่ง  โยน เด้งพื้น แอบหลังลูกบอลจ๊ะเอ๋ ฯลฯ สารพัดยังไงก็ได้ที่พ่อแม่คิดทำได้ค่ะ ให้ฆเล่นทีละชิ้น เพื่อให้เด็กมีโฟกัส แล้วค่อยเปลี่ยนสลับเล่นชิ้นอื่นค่ะ เล่นซักพักเบื่อแล้ว เอาของเล่นชุดเก่าไปเก็บก่อนก็ได้ค่ะ ผ่านไป 2-3 อาทิตย์ เอากลับมาเล่นใหม่ ก็ตื่นเต้นได้อีก เวียนเทียนกันไป ไม่ต้องมีของเยอะ ^ ^

4.    พัฒนาการด้านภาษา: คุณหมอให้น้องพูดคำเดี่ยวที่มีความหมายให้ฟัง พูดไปเรื่อย ๆ ถ้าน้องยังเขินไม่กล้าพูด ก็จะถามคุณพ่อคุณแม่ค่ะ สรุปคือ เด็กวัยขวบครึ่ง ควรพูดคำเดี่ยวที่มีความหมาย ได้เกิน 10 คำ คำเดี่ยวนั้นจะมีกี่พยางค์ก็ได้ ถ้าพูดคำ 2-3 พยางค์ได้เยอะคำก็ยิ่งดีค่ะ โดยคำที่พูดได้นั้น ต้องมีคำที่แสดงความต้องการตัวเองได้ด้วย โดยเฉพาะ เอา/ไม่เอา  ลูกต้องบอกออกมาเป็นคำได้ค่ะ นอกนั้นก็ควรเป็นคำสำคัญ เช่น กิน นม ชื่อสัตว์ ชื่ออวัยวะต่าง ๆ ฯลฯ

- ถามตอบชื่อสัตว์พร้อมชี้ เอาตุ๊กตุ่นขนาด 1 นิ้ว เป็นตัวหมา แมว เป็ด ปลา ถามให้ตอบว่านี้ตัวอะไร พร้อมชี้

- ถามตอบชี้อวัยวะต่างๆ ให้ตอบว่า นี่อะไร

คำแนะนำคุณหมอ ให้ฝีกเพิ่ม เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาคือ

1.    เริ่มฝึกลูกสร้างประโยคง่าย ๆ ให้มีประธาน + กริยา หรือ กริยา + กรรม เช่น กิน + ข้าว แล้วเปลี่ยนคำ เป็น กิน + นม  กิน + น้ำ ทำนองนี้ค่ะ ลูกจะผสมคำเป็นประโยคแบบนี้ได้ด้วยตัวเอง ประมาณ 2 ขวบค่ะ
2.    กรณีในบ้าน มีเจ้าของภาษา native speaker อยู่ในบ้านด้วย ให้เริ่มพูดภาษานั้น ๆ 100% กับเด็กได้เลย คุณหมอบอกมีของดีที่บ้านต้องรีบใช้ค่ะ ไม่งั้นเสียดายแย่ ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะไม่รู้เรื่อง ก็อาจจะงงๆ ใช้ปน ๆ กันหลายภาษาช่วงแรก แต่จะพูดเป็นเองเร็วมาก และเด็กจะเรียนรู้ได้เอง ว่าพูดกับใคร ต้องใช้ภาษาอะไร การพูดหลายภาษาเป็นการกระตุ้นพัฒนาการอีกแบบค่ะ เพราะสมองเด็กจะถูกฝึกให้ทำงานหลายแบบในแต่ละภาษา
3.    บ้านที่ต้องการให้ลูกพูดภาษาอังกฤษด้วย ก็สามารถเริ่มได้เลยเช่นกัน โดยหากเราไม่ใช่เจ้าของภาษา ก็ไม่ต้องซีเรียส  พูดให้คุ้นไปก่อน และส่งลูกไปฝึกต่อที่โรงเรียนได้ค่ะ
4.    อีกอย่างที่คุณหมอเน้นๆ เลยคือ เด็กจะมีสมาธิดี คือไม่ดูหน้าจอเป็นใด ๆ ก่อน 2 ขวบค่ะ จะดีกับสมอง ไอคิว และพัฒนาการของเด็ก

ลูกเราเริ่มพูดคำเดี่ยว 3 พยางค์ได้ 2-3 คำค่ะ และพูดปน ๆ กันอยู่ ไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ แบบงงๆ 555 คุณหมอเลยแนะนำว่า ให้คุณย่าที่เป็น native ญี่ปุ่น เริ่มพูดญี่ปุ่น 100% กับลูกได้เลย แม่พูดอังกฤษ พ่อพูดไทย แล้วเข้าโรงเรียน 2 ภาษาได้ ก็จะดีมากค่ะ

ลองดูนะคะ เรื่องบางเรื่อง ถ้าไม่ได้คุยกับหมอพัฒนาการ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริง ๆ ลูกเราพัฒนาการเป็นยังไง ล้ำหน้า หรือถดถอย และกรณีที่เด็กไม่ได้มีปัญหาอะไร คุณหมอไม่ได้นัดถี่เลยค่ะ ลูกเรานัดอีกทีก็ 8 เดือนข้างหน้าแน่ะ แถมคุณหมอมีแบบฝึกให้เอามาทำเป็นการบ้านด้วยนะคะ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งเป็นด้านที่ลูกเราเด่น ให้ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก และมีการบ้านของพ่อแม่ ให้เลือกโรงเรียนไปให้หมอดู 2-3 โรงด้วย

ได้คุยกับหมอแล้วดีมากจริง ๆ ค่ะ มัน confirm ความคิดหลายอย่าง ให้เราตัดสินใจไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ เลิกกังวลฝนวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเอง โดยเฉพาะคุณแม่ๆ ทั้งหลายนะคะ ที่ต้องเสียสละตัวเองอย่างมาก เหนื่อยเลี้ยงลูก 24 ชม. 7 วัน ไม่มีวันหยุดตลอดชีพ คุณจะภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองมากๆๆๆ ค่ะ เพราะทุกอย่างมันแสดงออกให้เห็นในตัวของลูกเรา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่